สุนทรพจน์


ปรองดอง

ความปรองดอง กราบเรียน ท่านคณะกรรมการ และท่านผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ดิฉัน ..................จากโรงเรียนอนุกูลนารี อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 24 มีความยินดีและเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้มาพูดและแสดงออกบนเวทีอันทรงเกียรติแห่งนี้ ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพคะ ปัจจุบัน กระแสโลกาภิวัตน์ได้ถาโถมโหมกระหน่ำเข้ามาท่วมทับชุมชน สังคมทุกแห่งหน ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลาย ทั้งในด้านกายภาพและคุณภาพ วัฒนธรรมที่ไหลบ่าอย่างรวดเร็วรุนแรงเป็นหนึ่งเดียวกับกระแสโลกาภิวัตน์อยู่ในขณะนี้ ได้ส่งผลให้คนเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ เข้าทำนองที่ว่า “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”

จากสถานการณ์ในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะความขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งในระดับบุคคล  ชุมชน สังคม องค์กร ประเทศชาติ หรือแม้แต่ระดับองค์กรระหว่างประเทศ  ทุกวันนี้มนุษย์ในโลกเป็นส่วนใหญ่รู้เห็นและคิดแบบแยกส่วนอันนำไปสู่วิถีชีวิตแบบแยกส่วน ซึ่งทำให้บีบคั้น ขัดแย้ง และวิกฤต ในการมองแบบแยกส่วน โดยไม่มององค์รวมหรือผลประโยชน์ของส่วนรวมนี้จึงเข้าลักษณะ “ตาบอดคลำช้าง”  
เมื่อความขัดแย้งแย่งชิงมาจากความเห็นที่แตกต่างเช่นนี้ จึงแปรเป็นภาวะแห่งความอึดอัดขัดเคือง แตกความสามัคคี วุ่นวายหายนะโดยอัตโนมัติ  ยังความเสื่อมและสูญเสียไม่หยุดหย่อน ชุมชนสังคมที่เคยเข้มแข็ง ประเทศชาติที่เคยมั่นคง กลับกลายเป็นอ่อนแอลงไป  แต่หลายคนหลายฝ่ายที่มีจิตสำนึกอันดีงาม ได้มองเห็นการไกลที่เปรียบเสมือนคน “ตาดี” จึงพยายามแสวงหาแนวทางสร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ ส่งเสริมความรัก ความสามัคคีซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความสันติสุขขึ้นในสังคมมนุษย์อย่างหลากหลายแนวทาง แต่ก็ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพคะ  ความปรองดอง  หมายถึง ความรัก ความเข้าใจ ความสมัครสมานสามัคคีกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ความเอื้อเฟื้อเกี้อกูล ความเอื้ออาทร ความเป็นกัลยาณมิตร ความสมานฉันท์ ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นมูลเหตุหรือต้นธารแห่งความสงบร่มเย็นและสันติสุขทั้งมวล มีประโยชน์ต่อการเมืองการปกครองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  ในการสร้างความปรองดองสมาชิกทุกคนต้องมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ รวมทั้งร่วมประเมินผลในกิจกรรมต่าง ๆ ในลักษณะของการเป็นหุ้นส่วนของกันและกัน 
ในกรณีประเทศไทยของเรา นับว่าเป็นเรื่องที่โชคดียิ่งนัก ที่มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นองค์พระประมุข ที่เปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทรของแผ่นดิน ให้ความร่มเย็นแก่อาณาประชาราษฎร์มายาวนาน พระองค์ทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างนานัปการ เพื่อพสกนิกรของพระองค์ได้อยู่ดีมีสุข ดังนั้น เราในฐานะที่เป็นพสกนิกรที่อยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร จึงควรรู้รักสามัคคี มีความปรองดอง เคารพรักซึ่งกันและกัน อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ท่าน ซึ่งเป็นพ่อหลวงของแผ่นดิน นับจากนี้ไป พวกเราต้องมีความกล้าหาญด้านศีลธรรม โดยมีคารวธรรม สามัคคีธรรม ปัญญาธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตามหลักธรรมาภิบาล ตระหนักในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกันในมวลหมู่สมาชิกด้วยกัน ที่สำคัญต้องรู้จักคิดกว้าง มองไกล ใฝ่สูง มุ่งมั่นในการสร้างความรักสามัคคี ความสมานฉันท์ และความปรองดองอย่างแท้จริง ทุกคนทุกฝ่ายต้องรักชาติ ปฏิบัติตามหลักศาสนา และเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าใจคำว่า สันติภาพ และมิตรภาพที่ถูกต้องตรงกัน อันเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความปรองดอง
ท่านผู้มีเกียรติที่เคารพคะ  
    มาร่วมใจปรองดองอย่าหมองหมาง
มาร่วมสร้างศรัทธาสมานฉันท์
ต้องรู้รักสามัคคีดีต่อกัน
ทุกทุกวัน  ความปรองดองเราต้องทำ.
                    สวัสดีค่ะ

ครูสว่าง / เขียน

คำสำคัญ (Tags): #ปรองดอง
หมายเลขบันทึก: 504216เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 18:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท