ฮอร์โมนไข่ ทำง่ายใช้ทดแทน แพคโคลบิวทราโซนและโพแทสเซียมคลอเรท


ฉีดยัดอัดแน่นสารเคมีต่างๆเหล่านี้ลงไปทั้งดิน น้ำ อากาศ ส่งผลทำให้มะม่วงและลำไยที่ได้รับสารแห่งการทรมานเหล่านี้ล้วนมีอาการคล้ายคนญวนครวญฝนเหลือง

ได้มีโอกาสนำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องฮอร์โมนไข่ไปส่งเสริมให้เกษตรกรได้ใช้ในการเกษตรตั้งแต่ปี 2545 จากคำแนะนำของท่านอาจารย์สุวัฒน์ ทรัพยะประภา ซึ่งเป็นกัลยาณมิตรต่างวัยของท่านอาจารย์ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ โดยทั้งสองท่านได้มีโอกาสประสบพบเจอกันในกิจกรรมทางพุทธศาสนาผมไม่แน่ใจว่าในแง่วิปัสนากรรมฐานหรือกิจกรรมด้านอื่นๆแห่งพุทธพีธีเพราะท่านอาจารย์ดีพร้อมได้เคยบอกไว้นานหลายปี ถ้ามีโอกาสอาจจะต้องสอบถามท่านอาจารย์สุวัฒน์อีกครั้งให้หายคลายสงสัยเป็นแน่แท้ ส่วนจะถามท่านอาจารย์ดีพร้อมนั้นคงหาได้ไม่ เพราะท่านได้จากพวกเราไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปี 2551 โน่น  โดยส่วนใหญ่ท่านอาจารย์สุวัฒน์จะให้เกียรติเรียกท่านอาจารย์ดีพร้อมว่า...”อาจารย์” และให้ลูกศิษย์ลูกหาของท่านเรียกท่านอาจารย์ดีพร้อมว่าอาจารย์ใหญ่อีกทีหนึ่ง นี่ก็เป็นวัฒนธรรมสืบสานประเพณีที่ดีงามที่ลูกศิษย์ลูกหารุ่นต่อๆมาก็ยังให้ความเคารพนพนอบต่ออาจารย์ทั้งสองท่านอยู่ตลอดเวลา เพราะถือว่าทั้งสองท่านนั้นมีวิชาความรู้คุณูปการที่มอบให้แด่พี่น้องเกษตรกรไทยทั้งใหม่เก่าอยู่ตลอดเวลา

ฮอร์โมนไข่นั้นวัตถุประสงค์เริ่มต้นเพื่อบำรุงปรุงแต่งแร่ธาตุวิตามินสารอาหารให้แก่ต้นไม้ที่ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งใช้ในการเปิดตาดอกเป็นสำคัญโดยเฉพาะพืชที่มีแต่ใบไร้เม็ดไร้ผลมาเป็นระยะเวลานานด้วยแล้ว เมื่อนำฮอร์โมนไข่ไปราดรดในอัตรา 20 -30 ซี.ซี. ต่อน้ำ 20 ลิตรทุก 3 หรือ 7 วัน ไม่นานวันต้นที่เหงาเฉาดอกใบก็จะเริ่มมีช่ออั้นกั้นปริ่มที่ปลายยอด ไม่ช้าไม่นานก็แทงดอกออกผลออกมาให้ผู้คนได้ยลชิมลิ้มรสสมปรารถนา เนื่องด้วยในอดีตเทคโนโลยีและนวัตกรรมยังไม่ก้าวหน้ามากนัก (20 -30 ปีที่แล้ว) พืชผักผลไม้แต่ละชนิดล้วนเกิดขึ้นได้ในแต่ละท้องถิ่น ลำไย เงาะ ทุเรียน  จะนำไปปลูกต่างถิ่นก็ให้มีอันเป็นได้แต่ใบ ไร้ผล (ผู้เขียนเคยเห็นคุณปู่นำลำไยจากเพื่อนที่ไปมาหาสู่นำมาปลูกที่บ้านก็มีแต่ใบไม่มีลูก) นำทุเรียน หรือส้มมาปลูกภาคกลาง (จังหวัดอ่าทอง สิงห์บุรี ขัยนาท) ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกแหกความธรรมดา จึงน้อยนักที่ภาคกลางจะมีผลไม้อย่างอื่นๆเข้ามา นอกจากกระท้อน มะม่วง  มะละกอ กล้วย อ้อย แห้ว ฯลฯ  (ต้องขอออกตัวว่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นอันคอดและแคบของผู้เขียนเพียงคนเดียวนะครับ)

ฉะนั้นการที่จะทำให้พืชไร่ไม้ผลเกิดลูกติดดอกนอกฤดูก็จะมีการนำสารเคมีนานาชนิดนำมาทดลองดัดแปลงแต่งเสริมให้เกิดผลลัพธ์กับสิ่งที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะสารแพคโคลบิวทราโซน ที่ใช้ในมะม่วง และโพแทสเซียมคลอเรทในลำไย ที่มักจะได้ยินชินกันทั่วในช่วงสิบกว่าปีมานี้  ทำให้สวนมะม่วงและสวนลำไยส่วนใหญ่ของประเทศที่ถูกมือปืนรับจ้างต่างถิ่นเข้ามาอาสาดูแลจัดการสวน ฉีดยัดอัดแน่นสารเคมีต่างๆเหล่านี้ลงไปทั้งดิน น้ำ อากาศ ส่งผลทำให้มะม่วงและลำไยที่ได้รับสารแห่งการทรมานเหล่านี้ล้วนมีอาการคล้ายคนญวนครวญฝนเหลืองจากประเทศอเมริกาทิ้งบอมสารในกลุ่ม Chlorophenoxy herbicide  ทำให้กิ่งก้านใบเหี่ยว ไหม้ หงิกงอ เจ้าของสวนเดิมจะกลับมาทำอีกก็หมดอาลัยตายอยาก ยากที่จะกู้ฟื้นคืนมาได้ จะเรียกร้องอะไรเสือปืนไวก็หลีกหนีไปไกลห่างแล้ว  เพราะฉะนั้นทางชมรมเกษตรปลอดสารพิษ จึงพยายามที่จะชี้นำส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ฮอร์โมนไข่ทดแทนการใช้สารเคมีดังกล่าว และให้หันมาใช้ระบบการสร้างความสัมพันธุ์ของปริมาณ คาร์บอนและไนโตรเจน (C : N RATIO)ในสัดส่วนที่สมดุลเหมาะสมกับช่วงฤดูกาลมากกว่า เพราะไม่เป็นการทำลายระบบนิเวศน์และทรมานต้นไม้อีกด้วย

มนตรี  บุญจรัส

ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreeangro.com

หมายเลขบันทึก: 504212เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2012 18:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผลผลิตนอกฤดู....มีความสำคัญกับชาวเกษตรมากนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท