Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

สภาทนายความทำอย่างไรเพื่อการพัฒนาสิทธิมนุษยชนทางการศึกษาให้แก่เด็กไร้รัฐ ๓๘ คน แห่งโรงเรียนอิสลามศึกษา แม่สอด ?


ข้อเท็จจริง

ผู้ปกครอง และอดีตผู้บริหารสถานศึกษา ร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ สภาทนายความ ให้ช่วยเหลือเด็กนักเรียน ๓๘ คน ของโรงเรียนอิสลามศึกษา ในจังหวัดตาก ที่เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่เกิดในไทย แต่ไม่ได้รับเงินอุดหนุนการศึกษา

นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้ผลัดถิ่น สภาทนายความ เดินทางไปยังโรงเรียนอิสลามศึกษา อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก หลังได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครอง และอดีตผู้บริหารสถานศึกษาคนหนึ่งว่า มีเด็กนักเรียน ๓๘ คน ที่เกิดในประเทศไทย ไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวด้านการศึกษา ทำให้โรงเรียนต้องแบกรับภาระเรื่องเงินค่าอาหารกลางวันและอุปกรณ์การศึกษาที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เด็กนักเรียนทั้ง ๓๘ คน เกิดในไทยจริง แต่เป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีสถานภาพทางทะเบียน หรือ เลข ๑๓ หลัก จึงไม่ได้รับเงินอุดหนุนรายหัวตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองทั้งระบบ โดยทางสภาทนายความฯ จะเข้าไปช่วยเหลือ และประสานงานไปยังฝ่ายทะเบียน เพื่อให้เด็กนักเรียนได้เลข ๑๓ หลัก แต่ไม่ได้สัญชาติไทย เพื่อให้โรงเรียนได้รับเงินอุดหนุนและเป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยชน

ความเห็นของ อ.แหวว

เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า สิทธิมนุษยชนทางการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เพียงแต่การใช้สิทธินั้นขึ้นอยู่กับการมีสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของทั้งโรงเรียนและเทศบาลแม่สอดที่จะต้องประสานงานกันให้มีการบันทึก "ตัวบุคคล" ของเด็กทั้ง ๓๘ คนใน ท.ร.๓๘ ก. เพื่อที่พวกเขาจะใช้สิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเด็กได้ตามสิทธิที่พวกเขาพึงมีตามกฎหมายระหว่างประเทศ

เราสังเกตได้ว่า รัฐบาลไทยมีนโยบายยอมรับสิทธิทางการศึกษาในลักษณะของ Education for all มาตั้งการมีนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อให้จัดเงินอุดหนุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนทุกคน รวมถึงในโรงเรียนเอกชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับกันทุกคน ต่อมา เมื่อต้น พ.ศ.๒๕๕๕ สำนักงานการศึกษาเอกชน (สช.) จัดระบบใหม่ และไม่จัดเงินรายหัวให้เด็กนักเรียนที่ไม่มีเลข ๑๓ หลัก นำมาสู่ปัญหาดังปรากฏ

คุณสุรพงษ์ กองจันทึก แห่งสภาทนายความจึงได้เริ่มต้นคุยกับเลขาธิการ สช. มาหนึ่งครั้งแล้ว ซึ่งเลขาธิการดังกล่าวก็ได้รับปากว่า จะแก้ไข แต่ผ่านมาเป็นหลายเดือน ก็ยังพบว่า ไม่ได้แก้ไข

มีผู้ให้ข้อมูลว่า “โดยข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สำนักงานนโยบายและแผน สพฐ. กลุ่มงานงบประมาณว่า เด็กต่างด้าวมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนทางการศึกษา ก็ต่อเมื่อโรงเรียนต้องส่งข้อมูลไปให้ทาง สพฐ. โดยมีเลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลัก และต้องส่งตามรอบงบประมาณ”

ต่อข้อมูลดังกล่าว ผู้บันทึกเห็นว่า เด็กมีสิทธิทางการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการย่อมจะต้องรับผิดชอบในความบกพร่องในการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาแก่เด็กทุกคนที่อาศัยในประเทศไทย

หลักคิดที่น่าจะเป็น ก็คือ  (๑) โดยหลัก เด็กทุกคนมีสิทธิมนุษยชนทางการศึกษา Education for all (๒) กระทรวงการคลังของรัฐไทยก็จะโอนงบประมาณรายหัวไปให้ตามชื่อบุคคลที่บันทึกในทะเบียนราษฎรประเภทคนอยู่ ซึ่งจะแสดงว่า บุคคลเป็นนักเรียนที่อาศัยในประเทศไทย (๓) หากเป็นกรณีเด็กไร้รัฐ โรงเรียนก็ต้องประสานไปยังเขต/เทศาบาล/อำเภอเพื่อบันทึกเด็กในทะเบียนราษฎรประเภททะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ แก้ไข พ.ศ.๒๕๕๑ (๔) หากโรงเรียนไม่ทำ หรือเทศบาลแม่สอดไม่ทำ ทั้งสององค์กรก็จะมีการละเลยหน้าที่ตามกฎหมายไทยว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายไทยว่าด้วยด้วยการทะเบียนราษฎร ตลอดจนกฎหมายระหว่างประเทศอีกหลายฉบับที่ผูกพันประเทศไทย โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก (International Convention on Rights of Childs = ICRC) ค.ศ.๑๙๘๙/พ.ศ.๒๕๓๒

ดังนั้น กระทรวงศึกษาก็จะต้องดูแลให้มีการแก้ไขปัญหาการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรเพื่อให้เด็ก ๓๘ คนนี้เข้าสู่สิทธิทางการศึกษา เมื่อมีการละเลยการสำรวจเด็กในตอนต้นปีงบประมาณ จะเอาความบกพร่องของการทำงานมายกเว้นความรับผิดชอบต่อเด็ก ก็คงจะอธิบายลำบากต่อคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติที่รักษาการตาม ICRC

ประเด็นว่า จะอ้างนโยบายใหม่มาปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาของเด็ก ๓๘ คนแห่งโรงเรียมอิสลามศึกษา แม่สอด ดังกล่าว คงจะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ คงชัดเจนกันแล้วว่า ข้อนโยบาย (หากมีและหากเป็น” ไม่อาจขัดต่อกฎหมายของรัฐสภาและกฎหมายระหว่างอันได้แก่  พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร CRC หรือ ICESCR โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีไทยเพิ่งไปยอมรับพิธีสารเกี่ยวสิทธิเด็กมาอีกฉบับในการประชุมสหประชาชาติ  การปฏิเสธสิทธิทางการศึกษาของเด็กไร้รัฐก็คงมิใช่ปรากฏการณ์ที่น่าจะเกิดมิใช่หรือ

ขอขอบคุณ อ.หนอน สุรพงษ์ กองจันทึก แห่งสภาทนายความ ที่ได้พัฒนาสิทธิมนุษยชนทางการศึกษาให้แก่เด็กทั้งหมดนี้ค่ะ น้องไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติทางการศึกษา

และขอบคุณโรงเรียนที่พยายามแบกรับและต่อสู้เพื่อเด็ก

และขอบคุณเทศบาลแม่สอดซึ่งได้ทำหน้าที่ตามกฎหมายระหว่างประเทศในการขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่เด็กไร้รัฐทั้ง ๓๘ คน

โลกคงมีสันติสุขหากมนุษย์รักมนุษย์

------------------------

ข้อเท็จจริงจาก

http://news.thaipbs.or.th/content/%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2-%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%87%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2#.UGhHm8bPQ3c.facebook

------------------------

 

หมายเลขบันทึก: 504124เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท