พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

บทวิเคราห์การใช้เสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ : อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติในประเทศไทย (ตอนที่ 2)


วิเคราะห์การใช้สิทธิเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ อาจารย์ด้านดนตรีผู้มีมากด้วยความสามารถ แต่ยังคงมีสถานะเป็นคนไร้สัญชาติในประเทศ : บทความจากการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่อาจารย์อายุ โดยผู้เขียน (ฉบับวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2555)

บทวิเคราะห์การใช้เสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ : อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติในประเทศไทย (ตอนที่ 2)

บทวิเคราะห์การใช้เสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ นามเทพ : อาจารย์ดนตรีไร้สัญชาติไทยในประเทศไทย (ตอนที่ 1)

 (ต่อ)
4. กฎหมายไทยซึ่งรับรองเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ

การขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับเข้าราชอาณาจักร

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ได้บัญญัติรับรอง เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเดินทางไว้ใน หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 34[1] พร้อมทั้งกำหนดว่าการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางจะกระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

            แม้ว่า เสรีภาพในการเดินทางตาม มาตรา 34 ถูกบัญญัติอยู่ในหมวดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยก็ตาม แต่การตีความว่าบทบัญญัติดังกล่าวให้บังคับใช้กับคนชาติของรัฐเท่านั้นจะเป็นการตีความที่ขัดต่อเนื้อหาแห่งสิทธิของเสรีภาพในการเดินทาง ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน และขัดต่อหลักการของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศซึ่งผูกพันประเทศไทย ดังนั้นอาจารย์อายุ คนต่างด้าวไร้สัญชาติในประเทศไทย    จึงเป็นผู้ทรงสิทธิ ในเรื่องเสรีภาพในการเดินทางตาม มาตรา 34 ด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกัน รัฐไทยก็สามารถจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุได้ อย่างสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานในมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550

            อย่างไรก็ตาม อาจารย์อายุ อยู่ในสถานะคนต่างด้าวสำหรับประเทศไทย จึงอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ที่มีบทบัญญัติกำหนดเรื่องการเดินทางของคนต่างด้าวในประเทศไทย และด้วยสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่ด้วยจำต้องหนีภัยความตายมาจากประเทศต้นทาง รัฐไทยจึงอาศัยบทบัญญัติมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ยกเว้นการผลักดันอาจารย์อายุ กลับประเทศต้นทางตาม มาตรา 54 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และได้อนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้เป็นการชั่วคราว โดยอาจารย์อายุจะถูกกำหนดพื้นที่ควบคุม โดย ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม และแนวทางการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2552  ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เพื่อกำหนดพื้นที่ควบคุมคนต่างด้าว ที่ได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.2548   

            ทั้งนี้หากอาจารย์อายุเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาต ตาม ข้อ 6(3) ประกาศฯ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย สิทธิที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการช่วยคราวตามมาตรา 17 แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ก็สิ้นสุดลง ตามมาตรา 39 แห่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และตาม ข้อ 6[2] แห่งประกาศฯ

            ดังนั้น การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย อาจารย์อายุจะต้องยื่นคำขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยและเดินทางกลับ ต่อสำนักทะเบียนอำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งอาจารย์อายุมีชื่อ ตามหลักเกณฑ์ในประกาศและแนวทางแนบท้ายประกาศ โดยปลัดกระทรวงมหาดไทยซึ่งรักษาการตามประกาศฯ จะเป็นผู้พิจารณาอนุญาต อย่างไรก็ตามอาจารย์อายุจะต้องแสดงเหตุผลความจำเป็นในการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรในครั้งนี้ด้วย ตาม ข้อ 4[3] แห่งประกาศฯ ซึ่งกรณีนี้การเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของอาจารย์อายุ เป็นความจำเป็นเพื่อเข้าถึงการใช้สิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต เนื่องจากเป็นการเพิ่มพูนศักยภาพทางดนตรีของอาจารย์อายุ รัฐไทยจึงไม่อาจปฏิเสธการเดินทางไปต่างประเทศของอาจารย์อายุในครั้งนี้ได้

           

            เอกสารพิสูจน์ตนเพื่อการเดินทางไปต่างประเทศของอาจารย์อายุ

            แม้ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรของอาจารย์อายุ แต่การเดินทางจะเป็นไปไม่ได้จริงหากอาจารย์อายุปราศจาก เอกสารพิสูจน์ตนเพื่อใช้ระหว่างการเดินทางข้ามชาติ

            เมื่ออาจารย์อายุไม่ใช่คนสัญชาติไทย จึงไม่ใช่ผู้ทรงสิทธิที่จะมีหนังสือเดินทาง ตามระเบียบกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ทั้งนี้เนื่องจากอาจารย์อายุ เป็นบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อให้อาจารย์อายุ สามารถเดินทางข้ามชาติได้ รัฐไทยในฐานะที่เป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคลของอาจารย์อายุ จึงควรออกเอกสารเดินทางพิสูจน์ตนระหว่างการเดินทางข้ามชาติให้กับอาจารย์อายุ กล่าวคือ เอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว (Travel document for Aliens) ซึ่งรัฐไทยโดยกองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ จะออกเอกสารดังกล่าวให้กับบุคคลไร้สัญชาติในประเทศไทย โดยอาศัยอำนาจตาม ข้อ 3(3) แห่งกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2545

 

            เอกสารแสดงสิทธิกลับเข้าประเทศไทย ของอาจารย์อายุ

            หลังจากอาจารย์อายุ ได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้เดินทางกลับเข้าราชอาณาจักรไทยได้ อาจารย์อายุมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับเอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa เพื่อแสดงสิทธิดังกล่าวต่อด่านตรวจคนเข้าเมืองในคราวที่กลับเข้าประเทศไทย

            ประการสำคัญ เอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa สำหรับคนไร้สัญชาติแล้วมีความสำคัญ ในแง่ที่จะใช้ประกอบการยื่นขอสิทธิเข้าประเทศที่ต้องการเดินทางไป กรณีของอาจารย์อายุ คือ ขอสิทธิ (ขอ VISA) เข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาโดยสถานทูตอเมริกาประจำประเทศไทย จะไม่พิจารณาให้สิทธิเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาแก่อาจารย์อายุ หากอาจารย์อายุไม่มีเอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa จากประเทศไทยมาแสดง เพื่อยืนยันว่ารัฐไทยยอมรับให้อาจารย์อายุ ซึ่งแม้ไม่ใช่คนสัญชาติไทยสามารถเดินทางกลับเข้ามายังประเทศไทยได้จริง เพราะด้วยสถานะความเป็นคนไร้สัญชาติ อาจจะทำให้ประเทศสหรัฐอเมริกากังวลใจว่าเมื่อสิ้นสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศสหรัฐอเมริกาแล้ว อาจารย์อายุอาจจะไม่มีประเทศให้เดินทางกลับไป

 

  5.  ปัญหา อุปสรรคในการเข้าถึงการใช้เสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ

คนไร้สัญชาติ แม้มีสถานะเป็นราษฎรไทย แต่ก็ไม่ใช่คนสัญชาติไทย ความผูกพันกับประเทศไทยในทางกฎหมายจึงน้อยกว่าคนสัญชาติไทย   ประเทศไทยจึงได้อาศัยเหตุผลความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรในการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของคนไร้สัญชาติที่มีสถานะคนเข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมากกว่าคนต่างด้าวทั่วไป โดยอาศัยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม และแนวทางการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ซึ่งออกตามอำนาจใน มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 กำหนดพื้นที่ควบคุมคนไร้สัญชาติ แต่การควบคุมดังกล่าวก็เปิดโอกาสในคนต่างด้าวสามารถเดินทางได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขการขออนุญาตตามประกาศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางภายในประเทศไทย หรือเดินทางออกนอกประเทศไทย    การจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของคนไร้สัญชาติ ในลักษณะถาวร จนคนไร้สัญชาติเดินทางไม่ได้เลย หรือการจำกัดเสรีภาพแบบไม่ถาวร แต่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขเกินสมควรจนในทางปฎิบัติทำให้คนไร้สัญชาติไม่สามารถเดินทางได้ ย่อมเป็นการจำกัดเสรีภาพที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตามกรณีของอาจารย์อายุ เมื่อต้องการขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทยและกลับเข้ามายังราชอาณาจักรไทย โดยที่การอนุญาตให้อยู่อาศัยในประเทศไทยไม่สิ้นสุดลงนั้น พบประเด็นปัญหาระหว่างการดำเนินการ กล่าวคือ

1.ความชัดเจนของกฎหมาย นโยบายซึ่งกำหนดกระบวนการ หลักเกณฑ์และผู้มีอำนาจพิจารณา การขออนุญาตเดินทางไปต่างประเทศ และเดินทางกลับเข้าราชอาณาจักรไทย

เนื่องจาก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ไม่ได้กำหนดชัดเจนเป็นการเฉพาะในกรณีที่ คนต่างด้าวไร้สัญชาติตามประกาศฯ มีความจำเป็นต้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ควบคุมและเดินทางไปต่างประเทศเพื่อเข้าถึงการใช้สิทธิมนุษยชน ว่ามีกระบวนการยื่นคำขออนุญาตอย่างไร และใครเป็นผู้อำนาจพิจารณาคำขอ

ประเด็นสำคัญ คือหลักเกณฑ์เรื่อง “เหตุผลความจำเป็นเพื่อการอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร” ไม่ได้ถูกกำหนดนิยามไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร แต่เป็นการใช้อำนาจดุลยพินิจ เพื่อตีความเป็นรายกรณีว่ามีเหตุผลควรแก่การอนุญาตหรือไม่

ประเด็นปัญหาดังกล่าว เป็นความไม่ชัดเจนในเรื่องเงื่อนไข หรือกรอบในการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุ ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการเพื่อที่จะได้รับอนุญาตให้เดินทางได้นั้นต้องใช้เวลามาก กว่าที่อาจารย์อายุจะได้เข้าสู่การดำเนินการในกระบวนการถัดไป คือ การขออนุญาตมีเอกสารพิสูจน์ตนระหว่างการเดินทางข้ามชาติ

2.ความชัดเจนขององค์กรภาครัฐซึ่งทำหน้าที่ออกเอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa ให้กับอาจารย์อายุ

            กระบวนการขอรับเอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa ของอาจารย์อายุ ซึ่งเป็นคนไร้สัญชาติที่ได้รับอนุญาตให้อยู่อาศัยชั่วคราวในประเทศไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่าองค์กรภาครัฐใดมีหน้าที่ออกเอกสารดังกล่าว อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้น กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ใช้อำนาจดุลพินิจเพื่อคุ้มครองสิทธิของอาจารย์อายุ ที่จะเดินทางออกนอกราชอาณาจักร และกลับเข้าราชอาณาจักรไทยได้ จึงได้ออกเอกสารดังกล่าวให้กับอาจารย์อายุ

  • 6. องค์กรภาครัฐซึ่งทำหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพในการเดินทางของคนไร้สัญชาติ

            องค์กรซึ่งรักษาการตามกฎหมาย เกี่ยวกับการเดินทางของคนไร้สัญชาติ

            กระทรวงมหาดไทย

 เป็นองค์กรภาครัฐ มีหน้าที่รับผิดชอบต่อการพิจารณาอนุญาตให้อาจารย์อายุ เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและเดินทางกลับเข้ามาในราอาณาจักร เนื่องจากเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจในการออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม

            โดยกรมการปกครอง ส่วนราชการย่อยของกระทรวงมหาดไทย  มีภารกิจเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ และโดยอาศัยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พ.ศ.2545 กรมการปกครองได้แบ่งส่วนราชการย่อยออกเป็นอีกหลายหน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำงานงานกิจการชายแดน งานควบคุมดูแลชาวเขาและชนกลุ่มน้อย ผู้อพยพและผู้หลบหนีเข้าเมือง งานสัญชาติ คือ สำนักกิจการความมั่นคงภายใน ตาม ข้อ 3(ก)(3)

โดยการพิจารณาอนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ควบคุมนั้น ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ได้กำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตดังกล่าวไว้แตกต่างกันขึ้นอยู่กับว่าเป็นการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมใด ทั้งนี้กรณีการขออนุญาตออกนอกราชอาณาจักรไทยและขอกลับเข้ามายังราชอาณาจักร เฉกเช่น อาจารย์อายุ ไม่มีบทบัญญัติกำหนดผู้มีอำนาจพิจารณาไว้เป็นการเฉพาะ แต่ถือเป็นการขออนุญาตออกนอกเขตควบคุมนอกเหนือจากประกาศฯ กำหนดไว้ เมื่อพิจารณาตาม ข้อ 2 แนวทางการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2552 ผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาต ก็คือ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

            กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

โดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ พ.ศ.2545 กรมการกงสุลมีหน้าที่ดำเนินการด้านงานหนังสือเดินทาง และเอกสารเดินทาง เพื่อการเดินทางระหว่างประเทศ ทั้งนี้กรมการกงสุลได้แบ่งส่วนราชการเพื่อรับผิดชอบงานเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าวไว้เป็นการเฉพาะ กล่าวคือ กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว ซึ่งจะพิจารณาออกเอกสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าวให้กับอาจารย์อายุ     ประเด็นปัญหา คือ แม้ว่าอาจารย์อายุ จะได้รับอนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรและกลับเข้ามาในราชอาณาจักรได้ และแม้ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีเอสารเดินทางสำหรับคนต่างด้าว เพื่อใช้เดินทางข้ามชาติได้ แต่อาจารย์อายุก็อาจจะเดินทางกลับเข้าประเทศไทยไม่ได้ในความเป็นจริง เพราะสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ของประเทศไทยจะไม่อนุญาตให้อาจารย์อายุกลับเข้าประเทศ หากปราศจากเอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa ซึ่งการออกเอกสารฉบับนี้ กรมการกงสุลไม่ได้มีหน้าที่ตามกฎหมาย[4]  แต่ผู้มีอำนาจออกเอกสารดังกล่าวให้กับคนต่างด้าวไร้สัญชาติ ซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นการชั่วคราว คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แต่ด้วยสำนักตรวจคนเข้าเมืองปฏิเสธที่จะออกเอกสาร Non-Immigration Re-entry Visa ทางกรมการกงสุล จึงอาศัยดุลยพินิจออกเอกสารดังกล่าว เพื่อให้คนต่างด้าวไร้สัญชาติในกรณีดังกล่าวสามารถเดินทางไปต่างประเทศ และเดินทางกลับเข้าราชอาณาจักรไทยได้จริง เป็นการคุ้มครองสิทธิของคนต่างด้าวไร้สัญชาติในประเทศไทย

            สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ทำหน้าที่ตรวจลงตราเอกสารการเดินทางของบุคคลที่เดินทางเข้าและออกนอกราชอาณาจักรไทย อาศัยอำนาจตาม มาตรา 5 แห่ง พระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม มาตรา 10 แห่ง พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547

ดังนั้น การเดินทางเข้าและออกนอกราชอาณาจักรของอาจารย์อายุ ก็จะต้องผ่านการตรวจลงตราโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

            องค์กรซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ

            กรณีอาจารย์อายุ หากถูกละเมิดเสรีภาพในการเดินทางที่กฎหมายได้รับรองไว้ ก็สามารถร้องเรียนกับหน่วยงานราชการซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบการละเมิดได้ดังต่อไปนี้

            กรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม

            มีภารกิจเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่ประชาชนพึงได้รับตามกฎหมาย ซึ่งกระทำการโดยอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2545  โดยมีกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ ตามกฎกระทรวงฯ ข้อ 3(2) ทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ

            คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

            มีภารกิจในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำ อันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 257

            ศาลปกครอง

ศาลปกครอง โดยอาศัยอำนาจตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 223 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อตรวจสอบการกระทำของรัฐ และเจ้าหน้าที่รับว่าได้กระทำการชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือไม่ ดังนั้นหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเสรีภาพในการเดินทางของอาจารย์อายุใช้อำนาจโดยมิชอบในการพิจารณาไม่อนุญาต หรือพิจารณาล่าช้า เรื่องการเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไทย และกลับเข้ามายังราชอาณาจักรไทย หรือการไม่ออกเอกสารพิสูจน์ตนเพื่อให้อาจารย์อายุใช้เดินทาง อาจารย์อายุก็สามารถฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการกระทำที่ไม่ชอบดังกล่าว

            ศาลยุติธรรม

            โดยอาศัย มาตรา 218 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น  ซึ่งกรณีการเดินทางของอาจารย์อายุ ศาลยุติธรรมจะเข้ามามีบทบาทได้ ในการพิจารณาคดีที่หากอาจารย์อายุ ถูกกล่าวหาว่าออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 81 หรือ มาตรา 82  ซึ่งเป็นอำนาจการพิจารณาคดีของศาลอาญา

7. กลไกทางระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

คณะกรรมการประจำกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนจากบุคคล ในกรณีที่บุคคลนั้นถูกละเมิดสิทธิตามที่กำหนดในกติกา โดยปัจเจกชนซึ่งได้ใช้วิถีทางเยียวยาที่มีอยู่ในประเทศของตนจนหมดสิ้นแล้ว สามารถยื่นคำร้องไปยังคณะกรรมการได้ ตามพิธีสารเลือกรับแห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (Optional Protocol to the International Covenant on Civil and Political Rights )

 คณะกรรมการการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ

มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนจากบุคคล หรือกลุ่มบุคคลในกรณีที่บุคคลหรือกลุ่มบุคคลนั้นถูกเลือกประติบัติทางเชื้อชาติโดยรัฐภาคี ในกรณีที่เป็นไปตามข้อกำหนด



[1] มาตรา 34 วรรค1 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการเดินทางและมีเสรีภาพในการเลือกถิ่นที่อยู่ภายในราชอาณาจักร”

มาตรา 34 วรรค 2 กำหนดว่า “การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือสวัสดิภาพของประชาชน การผังเมือง หรือเพื่อสวัสดิภาพของผู้เยาว์

                               

[2] ข้อ 6 ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นสุดเป็นการเฉพาะรายในกรณีดังต่อไปนี้

(1)       ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล เว้นแต่ความผิดซึ่งได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือ

(2)       คนต่างด้าวตามข้อ 1(1) มิได้ผ่านกระบวนการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.2548

ตามแนวทางที่กำหนด

(3)       เดินทางไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด

[3] ข้อ 4 ให้คนต่างด้าวอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมตาม ข้อ 3 และให้มีการรายงานตัวเพื่อการควบคุมตรวจสอบตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นพยานศาลด้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวนมีหนังสือเรียกตัวจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อการรักษาพยาบาล หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่นคนต่างด้าวจะออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้โดยยื่นคำขอออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้ต่อผู้มีอำนาจ เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็น โดยเร่งด่วนและไม่อาจรอการขออนุญาตได้ให้ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้ แต่จะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจทราบโดยด่วน

[4] ข้อมูลจากการสอบถาม เจ้าหน้าที่กองตรวจลงตราและเอกสารเดินทางคนต่างด้าว กรมการกงสุล กระทรวงมหาดไทย

หมายเลขบันทึก: 504121เขียนเมื่อ 30 กันยายน 2012 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2012 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท