ความหิว...เป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด...


ความทุกข์ เป็นมิติที่ไม่มีใครปรารถนาที่จะก้าวเข้าไปสัมผัสไม่ว่าจะทั้งทางตรงหรือทางอ้อม แต่กระบวนการของการดำเนินชีวิตของคนเรานั้นย่อมจะหลีกไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นทุกข์ทางกายหรือทุกข์ทางจิตใจ ยิ่งในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมที่มีความสลับซับซ้อนและมิติของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันและระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นไปอย่างหลวม ๆ เพราะถูกเกราะกำบังของกิเลสตัณหาเข้ามาครอบงำ โดยมุ่งหวังเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ ซึ่งตัวเชื่อมประสานและเครื่องมือเหล่านี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลโดยผ่านกลไกของกิเลส (ความอยาก) ของมนุษย์ เป็นแรงผลักให้ก้าวไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งความทุกข์ให้กับมนุษย์และสังคมโดยรวม

          

        สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ในลักษณะที่ว่า ทุกข์ที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่งของมนุษย์คือ “การกิน” ซึ่งเป็น ๑ ใน ๓ ก. (กิน กาม เกียรติ) การกินหรือการบริโภคนี้ในภาวะปัจจุบันก็เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับ การทำงานเพื่อหาเงินมาแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเพื่อมาตอบสนองต่อความต้องการในรูปแบบของการบริโภค

          “ความหิวเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด”  มีเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล จากคัมภีร์พระพุทธศาสนา :

           กิระดังฟังมาความว่าไว้ ในสมัยหนึ่งแห่งพุทธกาล เมื่อครั้งที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ขณะที่พระองค์ทรงเสด็จประทับ ณ พระเชตวัน ในพระนครสาวัตถี

           วันหนึ่งในตอนเช้า พระองค์ได้ทรงพิจารณาว่ามีคนเข็ญใจคนหนึ่งอยู่ในเมืองอาฬวีที่ห่างไกลออกไป เป็นผู้มีความพร้อม มีอินทรีย์แก่กล้าพอที่จะฟังธรรม พระองค์สมควรที่จะเสด็จไปโปรด ดังนั้น ในตอนสายของวันนั้น พระองค์ก็ทรงเสด็จเดินทางไปยังเมืองอาฬวีที่อยู่ห่างไกลออกไป ๓๐ โยชน์ (ประมาณ ๔๘๐ กิโลเมตร)

           เมื่อเสด็จถึงเมืองอาฬวี ชาวเมืองอาฬวีที่มีความนับถือพระองค์อยู่แล้วก็ต้อนรับ จัดสถานที่เตรียมที่จะฟังธรรมกัน แต่จุดมุ่งหมายของพระองค์นั้นเสด็จไปเพื่อจะโปรดคนคนเดียวที่เป็นคนเข็ญใจนั้น พระองค์จึงทรงรั้งรอไว้ก่อน รอให้นายคนเข็ญใจคนนี้มา

           ฝ่ายนายคนเข็ญใจคนนี้ได้ทราบข่าวว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมา เขามีความสนใจในเบื้องแรกอยู่แล้วที่อยากจะฟังธรรม แต่ในวันนี้พอดีว่ามีวัวตัวหนึ่งของเขาได้หายไป เขาจึงฉุกคิดขึ้นมาว่า เอ! เราจะฟังธรรมก่อนหรือว่าจะหาวัวก่อนดีนะ... เมื่อครุ่นคิดแล้วก็ตัดสินใจได้ว่าจะหาวัวก่อน ครั้นเมื่อหาวัวเสร็จเรียบร้อยแล้วค่อยไปฟังธรรม เขาจึงออกเดินทางเข้าไปในป่าเพื่อไปตามหาวัวของเขา ในที่สุดก็ได้พบวัวตัวนั้นและต้อนกลับมาเข้าฝูงของมันได้ แต่กว่าที่เขาจะทำอย่างนี้สำเร็จก็สุดแสนจะเหน็ดเหนื่อยเป็นอย่างมาก

           ครั้นแล้วเขาจึงคิดว่า เอ! เวลาก็ล่วงไปมากแล้ว ถ้าเราจะกลับไปบ้านเพื่ออาบน้ำ กินข้าวกินปลาก่อนก็จะยิ่งเสียเวลา เราควรจะไปฟังธรรมเลยทีเดียว เมื่อคิดได้ดังนั้น นายเข็ญใจคนนี้ก็ออกเดินทางไปยังสถานที่ที่เขาจัดเตรียมไว้เพื่อการแสดงธรรมของพระพุทธเจ้า เมื่อเข้าไปฟังธรรมแต่ก็มีความเหน็ดเหนื่อยและหิวเป็นอย่างมาก

           สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นนายคนเข็ญใจนี้มา พระองค์ทรงทราบดีว่าเขาเหนื่อยและหิว พระองค์จึงทรงตรัสบอกให้คนจัดแจงทาน จัดหาอาหารมาให้นายคนเข็ญใจนี้ได้กินเสียก่อน เมื่อคนเข็ญใจได้กินอาหารเรียบร้อยอิ่มสบายใจดีแล้ว พระองค์ก็ทรงแสดงธรรมให้ฟัง นายคนเข็ญใจนี้เมื่อได้ฟังธรรมและส่งกระแสจิตตามติดเนื้อความไปก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ก็เป็นอันว่าบรรลุสู่ความมุ่งหมายในการเดินทางของพระองค์

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งนี้เสร็จก็ลาชาวเมืองอาฬวีเสด็จกลับไปยังพระเชตวัน แต่ในระหว่างทางนั้น พระภิกษุสงฆ์ที่เดินทางไปด้วยก็วิพากษ์วิจารณ์พระองค์ว่า เอ๊ะ! วันนี้เรื่องอะไรนะ พระพุทธเจ้าทรงค่อนข้างที่จะวุ่นวายในการให้คนจัดหาอาหารแก่คนเข็ญใจได้รับประทาน

          สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงทราบ ก็ได้ทรงหันมาตรัสชี้แจงแก่พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้น ความตอนหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า คนที่มีความทุกข์จากความหิว ถูกความหิวครอบงำ แม้จะแสดงธรรมให้เขาฟัง เขาก็ยังจะไม่สามารถเข้าใจได้  แล้วพระองค์ก็ทรงตรัสต่อไปว่า  ชิฆจฺฉา ปรมา โรคา เป็นต้น แปลว่า ความหิวเป็นโรคที่ร้ายแรงที่สุด สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ที่หนักหน่วงที่สุด เมื่อทราบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วจึงจะบรรลุนิพพานที่เป็นบรมสุข

          

          มนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่อยากดำเนินชีวิตอยู่อย่างผู้หิวโหย ทุกคนปรารถนาที่จะมีชีวิตภายใต้การกินอิ่มและนอนหลับสบายกันทั้งนั้น การทำงานเพื่อหาเงินมาบำบัดสิ่งดังกล่าวเป็นวิถีที่มนุษย์ในสังคมปัจจุบันดำเนินการกันเป็นปกติ การทำงานถือได้ว่าเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งที่ทุกคนเข้าใจและปฏิบัติ หัวหน้าครอบครัว (สมัยก่อนอาจจะหมายถึงผู้ชาย แต่ในปัจจุบันชาย – หญิง มีความสามารถและเป็นที่ยอมรับไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน) มีหน้าที่ทำงานหาเงินมาบำรุงครอบครัว ซึ่งก็คือ สามี/ภรรยา และลูก ลูกเมื่อโตขึ้นก็มีหน้าที่ทำงานเพื่อบำรุงบิดามารดาเมื่อคราท่านแก่ชรา สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นวัฏจักรที่บ่งชี้ถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และความกตัญญู ที่มีสืบเนื่องมายาวนานในสังคมไทย หากเปรียบในทางเศรษฐศาสตร์ ก็ถือได้ว่าทุกคนเกิดมามีต้นทุนในการดำเนินชีวิต การทำงานก็เปรียบเสมือนเป็นการแปรเปลี่ยนกำลังแรงงานที่เก็บสะสมไว้ไม่ได้ (ทุกคนอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน) ให้กลายเป็นผลิต (จีดีพี)

          ความทุกข์เป็นมิติที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับมนุษย์ทุกคน ซึ่งมนุษย์ทุกคนที่เกิดมาล้วนแล้วแต่แสวงหาหนทางของการดำเนินชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ แต่เมื่อหลีกหนีไม่พ้นมนุษย์ก็ต้องแสวงหาวิธีบริหารจัดการกับความทุกข์นั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่ควรตระหนักก็คือ การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดต้องแก้ที่ต้นเหตุ ซึ่งปัจจัยเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มีหลากหลายปัจจัย แต่ถ้าหากมองลึกลงไปถึงแก่นแท้และรากเหง้าของปัจจัยเหตุแล้ว มูลเหตุ ที่ก่อให้เกิดทุกข์โดยตรงประกอบด้วยความอยาก ๓ อย่าง ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกไว้ในข้อที่สองของอริยสัจจ์ ๔ (สมุทัย) ในฐานะที่เป็นมูลเหตุให้เกิดทุกข์โดยตรง ซึ่งความอยากทั้ง ๓ อย่างนั้น คือ

               กามตัณหา คือ อยากในสิ่งที่ตนรักใคร่พอใจ จะเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อะไรก็ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่น่ารักใคร่พอใจ                      

              ภวตัณหา คือ ความอยากเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตามที่ตนอยากจะเป็น

              วิภวตัณหา คือ ความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น ไม่ให้เป็นอย่างนี้ตามที่ตนอยากจะไม่ให้เป็น

              

         ซึ่งองค์ประกอบของความอยากทั้ง ๓ อย่างนั้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วเป็นเสมือนสะพานที่โรยด้วยกลีบกุหลาบทอดไปสู่ความทุกข์ได้โดยง่าย ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของภูมิคุ้มกันทางกิเลส (ความอยาก) ของแต่ละคนว่ามีมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากมีภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง แล้วก็เปรียบเสมือนเป็นการเหยียบคันเร่งให้ก้าวเข้าสู่วังวนแห่งทุกข์ได้ง่ายเช่นกัน

        การดำเนินชีวิตที่ดำรงอยู่ในสังคมซึ่งแวดล้อมไปด้วยวังวนแห่งความทุกข์ หากว่าเราไม่รู้จักบริหารจัดการกับความทุกข์นั้นก็จะยิ่งทำให้เกิดความทุกข์มาก เช่น อยากได้ทีวีเครื่องใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม อยากได้โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ อยากได้รถใหม่ เป็นต้น ซึ่งความอยากทางด้านวัตถุเหล่านี้ หากว่าเราไม่สามารถที่จะจัดหามาบำบัดความอยากได้ก็จะเกิดทุกข์ (ใจ) หรือแม้แต่หากจัดหามาได้แต่เป็นการสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่อีกทั้งการกู้หนี้ยืมสิน การทำผิดกฎหมาย ก็จะยิ่งทำให้เกิดห่วงโซ่แห่งทุกข์พันธนาการเอาไว้แน่นขึ้นอีก หรือแม้แต่ความอยากที่เป็นไปในนามธรรม เช่น เห็นเพื่อนร่วมงานซื้อรถใหม่ด้วยความอิจฉาเขาก็เฝ้าภาวนาอยากให้รถของเขาได้รับความเสียหายไปต่าง ๆ นานา เมื่อไม่สมปรารถนาก็เป็นทุกข์หรือ กรณีในที่ทำงานหากมีการพิจารณาเลื่อนตำแหน่ง หากเราอิจฉากลัวว่าเพื่อนจะได้เลื่อนตำแหน่งก็เฝ้าภาวนาหรือแช่งรวมทั้งกลั่นแกล้ง เพื่อไม่อยากให้เขาได้เลื่อนตำแหน่งนั้น จะเห็นได้ว่า ความอยากไม่ว่าจะอยากในวัตถุหรืออยากภายในจิตใจ นับเป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ทั้งสิ้น

 

          ในสังคมแห่งความเป็นจริงมนุษย์เกิดมาล้วนตกอยู่ในวงล้อมแห่งความทุกข์เป็นปฐมฐาน แต่จากภาวะของความต้องการที่ได้รับการสนอบตอบทางด้านวัตถุในสังคมเศรษฐกิจได้ปกปิดและบิดเบือนกดทับความทุกข์นั้นเอาไว้ ทำให้หลาย ๆ คนมองข้ามพ้นผ่านกระบวนการสั่งสมในความทุกข์นั้น ตราบใดที่มนุษย์ยังสามารถจัดหาวัตถุมาบำรุงบำเรอได้ตามความต้องการหรือสมปรารถนาก็จะยิ่งนำพาตัวเองเข้าไปเสพติดในกับดักแห่ง “ลัทธิบริโภคนิยม” ที่ผสมปนเปื้อนไปด้วยความสุข (เทียม) ที่ปิดบังอำพราง ซ่อนเร้น ความทุกข์เอาไว้ แม้กระทั่งในการเสพวัตถุที่เป็นปัจจัยพื้นฐาน (จตุปัจจัย) หากไม่รู้เท่าทันสภาวะตามจริงในความต้องการดังกล่าวนั้นก็น้อมนำไปสู่วังวนแห่งทุกข์ได้ ในแง่ของความสัมพันธ์ของความต้องการ (กิเลส) กับความทุกข์นั้น ผู้เขียนขออธิบายผ่านกฎอุปสงค์ – อุปทานของหลักเศรษฐศาสตร์เพื่อให้เห็นเป็นภาพเด่นชัดเจนผ่านความต้องการและการตอบสนองของกิเลสและความทุกข์ดังภาพ 

   

 

            ภาพ ความสัมพันธ์ระหว่างมายาคติแห่งทุกข์และกิเลส

 

โดยที่            ท๑  ความทุกข์เมื่อความต้องการน้อยกว่าปัจจัย ๔

                    ท๐  ความทุกข์ในความต้องการปัจจัย ๔  

                    ท๒  ความทุกข์เมื่อความต้องการมากกว่าปัจจัย ๔

        

          เส้น ต คือ ความต้องการดำเนินชีวิตในสังคมเศรษฐกิจให้มีความทุกข์น้อยที่สุด (ความสุขมากที่สุด) โดยยึดเอาวัตถุ (สินค้าและบริการ) เป็นสิ่งที่นำพามาซึ่งความสุข ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกิเลสในทิศทางตรงกันข้ามกล่าวคือ คนปกติส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันคิดว่า เมื่อความต้องการกิเลสเพิ่มมากขึ้นทำให้มายาคติแห่งความทุกข์ลดลง และเมื่อความต้องการกิเลสลดลงนำพาไปสู่มายาคติแห่งความทุกข์มากขึ้น 

          เส้น ส คือ ความมุ่งตอบสนองต่อความต้องการของคนโดยปกติส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบัน ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมระหว่าง มายาคติแห่งทุกข์และกิเลส มีความสัมพันธ์ในทิศทางเดียวกันกล่าวคือ หากระดับความต้องการ (กิเลส) ของคนในสังคมมีมากขึ้น การสนองตอบต่อความต้องการนั้นก็จะมีมากขึ้นด้วย (มายาคติแห่งความทุกข์มากขึ้น) และหากระดับความต้องการ (กิเลส) ของคนส่วนใหญ่ในสังคมลดลง การสนองตอบต่อความต้องการนั้นก็จะลดลงด้วย (มายาคติแห่งความทุกข์ลดลง)

         จุด ด คือ จุดดุลยภาพทั่วไปที่คนส่วนใหญ่ในสังคมเศรษฐกิจมีอยู่เป็นพื้นฐานกล่าวคือ เป็นจุดที่มนุษย์ส่วนใหญ่ในสังคมพึงต้องการในเบื้องแรกคือ ปัจจัย ๔ อันประกอบไปด้วย อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งจุดนี้แม้จะเป็นความต้องการขั้นพื้นฐานที่พึงมีของมนุษย์แต่ระดับของความทุกข์ก็จะยังคงมีอยู่ที่ ท๐ เกี่ยวเนื่องมาจาก สิ่งเหล่านี้ก็ล้วนนำพามาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น หากว่าเราเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไม่รู้เท่าทันตามจริง เช่น

               - ถึงมีบ้านเป็นที่อยู่อาศัย แต่หากหลังเล็กไปไม่มีความสะดวกสบายก็เกิดความทุกข์ตามมา

               - ถึงแม้จะมีเสื้อผ้า (เครื่องนุ่งห่ม) แต่ไม่ทันยุค – ทันสมัยก็เกิดทุกข์

               - ถึงแม้จะมีอาหารรับประทานแต่อาหารไม่อร่อยถูกปากก็เกิดทุกข์

เป็นต้น

 

          องค์ประกอบของปัจจัยสี่ดังกล่าวนั้น สามารถนำพามาซึ่งความทุกข์หรือสุขก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรานั้นสามารถเข้าถึงและเข้าใจในการบริหารจัดการความพอประมาณ ความสมเหตุสมผล และความสมดุล ในปัจจัยสี่ที่มีอยู่ได้มากน้อยเพียงใด เพื่อที่จะสามารถก้าวข้ามไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันต่อความอยาก (กิเลส) ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ดังพุทธพจน์ที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า :

 

             "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ความทุกข์ทั้งมวลมีมูลรากมาจากตัณหาอุปาทาน ความทะยานอยากดิ้นรน และความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา รวมถึงความเพลินใจในอารมณ์ต่างๆ สิ่งที่เข้าไปเกาะเกี่ยวยึดถือไว้โดยความเป็นของตน ที่จะไม่ก่อทุกข์ก่อโทษให้นั้นเป็นไม่มี หาไม่ได้ในโลกนี้ เมื่อใดบุคคลมาเห็นสักแต่ว่าได้เห็น ฟังสักแต่ว่าได้ฟัง รู้สักแต่ว่าได้รู้ เข้าไปเกี่ยวข้องกับสิ่งต่างๆ เพียงสักว่าๆ ไม่หลงใหลพัวพันมัวเมา เมื่อนั้นจิตก็จะว่างจากความยึดถือต่างๆ ปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบานอยู่"

             "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! เธอจงมองดูโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า มีสติอยู่ทุกเมื่อ ถอนอัตตานุฑิฏฐิ คือความยึดมั่นถือมั่นเรื่องตัวตนเสีย ด้วยประการฉะนี้ เธอจะเบาสบาย คลายทุกข์ คลายกังวล ไม่มีความสุขใดยิ่งกว่าการปล่อยวางและการสำรวมตนอยู่ในธรรม"

            "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ! ไม่มีความสุขใดเสมอด้วยความสงบชนิดนี้สามารถหาได้ในตัวเรานี้เอง ตราบใดที่มนุษย์ยังวิ่งวุ่นแสวงหาความสุขจากที่อื่น เขาจะไม่พบความสุขที่แท้จริงเลย มนุษย์ได้สรรค์สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นไว้เพื่อให้ตัวเองวิ่งตาม แต่ก็ตามไม่เคยทัน การแสวงหาความสุขโดยปล่อยใจ ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ที่ปรารถนานั้น เป็นการลงทุนที่มีผลไม่คุ้มเหนื่อย เหมือนบุคคลลงทุนวิดน้ำในบึงใหญ่เพื่อต้องการปลาเล็กๆ เพียงตัวเดียว มนุษย์ส่วนใหญ่มัววุ่นวายอยู่กับเรื่องกาม เรื่องกิน และเรื่องเกียรติ จนลืมนึกถึงสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถให้ความสุขแก่ตนได้ทุกเวลา สิ่งนั้นคือ ดวงจิต ที่ผ่องแผ้ว เรื่องกามเป็นเรื่องที่ต้องดิ้นรน เรื่องกินเป็นเรื่องที่ต้องแสวงหา และเรื่องเกียรติเป็นเรื่องที่ต้องแบกไว้ เมื่อมีเกียรติมากขึ้นภาระที่จะต้องแบกเกียรติเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งของมนุษย์ผู้หลงตนว่าเจริญแล้ว ในหมู่ชนที่เพ่งมองแต่ความเจริญทางด้านวัตถุนั้น จิตใจของเขาเร่าร้อนอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยประสบความสงบเย็นเลย เขายินดีที่จะมอบตัวให้จมอยู่ในคาวของโลกอย่างหลับหูหลับตา เขาพากันบ่นว่าหนักและเหน็ดเหนื่อย พร้อมๆ กันนั้นเขาได้แบกก้อนหินวิ่งไปบนถนนแห่งชีวิตอย่างไม่รู้จักวาง"

 

            จุด (ก๑, ท๑)

             หากพิจารณาที่เส้น  จุด (ก๑, ท๑) สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมเศรษฐกิจที่มีความคิดและความเชื่อว่า หากมีกิเลสตัณหาเพิ่มมากขึ้นและได้รับการตอบสนองต่อกิเลสและความต้องการของตนแล้วก็จะทำให้ความทุกข์ลดลง (มีความสุขมากขึ้น) จาก ท๐ เป็น ท๑ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านั้นล้วนนำมาซึ่งความทุกข์ทั้งสิ้น เช่น

                - คนส่วนใหญ่เชื่อว่าหากตัวเองมีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายมากกว่าปัจจัย ๔ ก็จะนำพามาซึ่งความสุข ความสบายมากขึ้น สมมติว่า หากเรามีที่อยู่อาศัย (บ้าน) แล้ว โดยการผ่อนบ้าน มีรถยนต์แล้ว (โดยการผ่อน)แต่รู้สึกว่านอนแล้วไม่มีความสบาย พัดลมไม่เย็นพอ จึงไปซื้อแอร์ (เงินผ่อน) เพิ่มขึ้นอีก ซึ่งคิดว่าแอร์นั้นทำให้เกิดความสุข (ความทุกข์ลดลง) แต่แท้ที่จริงแล้วนำพามาซึ่งความทุกข์ทั้งในการต้องหาเงินผ่อน การบำรุง – รักษา การซ่อมแซม เป็นต้น หรือถ้าหากซื้อมาแล้วได้ของไม่ดี เดี๋ยวเปิดเย็นเดี๋ยวเปิดแล้วไม่เย็น ก็นำมาซึ่งความทุกข์ทั้งนั้น

 

           จุด (ก๒, ท๒)

            หากพิจารณาตามเส้น จุด (ก๒, ท๒) สะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่ในสังคมเศรษฐกิจที่มีความคิดและความเชื่อว่า หากเรามีกิเลสตัณหาหรือความต้องการน้อยลง ความทุกข์ในชีวิตก็จะยิ่งมากขึ้น (ความสุขน้อยลง) จากการที่ไม่ได้รับความสะดวกสบายทางกาย ทำให้ความทุกข์เพิ่มขึ้น (ความสุขลดลง) จาก ท๐ เป็น ท๒ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการลด ละ กิเลส ให้น้อยลงดังกล่าวนำพามาซึ่งความสุขเพิ่มขึ้น เช่น

            หากเรามีที่อยู่อาศัย (บ้าน) และรถยนต์ คนส่วนใหญ่ก็จะมองว่าเราน่าจะมีความสุข (ความทุกข์น้อยลง) เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่มีสิ่งเหล่านั้นเป็นของตนเอง แต่แท้ที่จริงแล้วสิ่งของเครื่องใช้ไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็ก – ชิ้นใหญ่  ของแพง- ของถูก ล้วนแล้วแต่นำพาทุกข์มาฝากหรือเจือปนอยู่ด้วยทั้งนั้น เช่น

                -  บ้านและรถหากต้องผ่อนก็เป็นทุกข์ในการหารายได้

                -  บ้านหากอยู่ไปแล้วหลังคารั่วหรือพื้นทรุดก็เกิดทุกข์

                -  รถหากเสียต้องนำไปซ่อมก็เกิดทุกข์

                -  น้ำมันแพงก็เกิดทุกข์

                -  จอดรถยนต์ไว้แม้แต่มีสุนัขมาฉี่ใส่ล้อก็เกิดทุกข์

                                               เป็นต้น

          

           การที่มีกิเลสตัณหาและความต้องการลดลง คนส่วนใหญ่มองว่าทำให้มีความสุขน้อยลง (ความทุกข์มาก) นั้นเนื่องมาจาก มองที่ความสะดวก สบายทางกาย และเข้าไปยึดติดความเป็นตัวเป็นตนของสิ่งเหล่านั้น เป็นสำคัญ แท้ที่จริงแล้วการที่มีกิเลสตัณหาและความต้องการลดลงนำพามาซึ่งความสุขมากขึ้น (ความทุกข์น้อยลง) เพราะไม่ต้องคอยกังวลกับการเก็บรักษาสิ่งของเหล่านั้น หากว่าเรามีสิ่งของที่ต้องดูแลเก็บรักษามากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีความทุกข์ในการกังวลมากขึ้นเท่านั้น กลัวหาย กลัวชำรุด กลัวราคาตก กลัวตกรุ่น เป็นต้น

          ปัจจุบันด้วยมายาคติแห่งทุกข์ที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่า ความต้องการกิเลสตัณหาเพื่อมาสนองตอบต่อความต้องการของตน โดยที่หากได้รับการสนองตอบมากเท่าใด ก็ยิ่งทำให้ความสุขมากขึ้นเท่านั้น (ความทุกข์ลดลง) ทั้ง ๆ ที่จริงแล้ว ยิ่งความต้องการกิเลสตัณหามากขึ้นเท่าใด ความทุกข์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันในสังคมเศรษฐกิจคนส่วนใหญ่กำลังตั้งหน้าตั้งตาวิ่งไล่กวดสะสมความมั่งคั่งทางด้านวัตถุ เพื่อจะนำมาซึ่งความสะดวก สบายทางกาย โดยมองว่าเป็นรูปแบบของความสุขที่สัมผัสได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วนำพามาซึ่งความทุกข์ทั้งทางใจและกาย ในการเก็บรักษาและดูแลสิ่งของเหล่านั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับสิ่งของของตนนั้นก็เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาหรือบางครั้งก็นำพามาซึ่งความทุกข์กาย เช่น วัยรุ่นแต่งรถตามกระแสแฟชั่นความเท่ห์ และโก้เก๋ เพื่อนำไปแข่งตามถนนแล้วเกิดอุบัติเหตุทำให้พิการ เป็นต้น คนส่วนใหญ่ในสังคมปัจจุบันที่ตั้งหน้าตั้งตาปั่นกิเลสตัณหาของตนเองเพิ่มขึ้นเพื่อแสวงหาความสุข แต่แท้ที่จริงแล้วกลับเป็นการวิ่งไล่กวดสั่งสมความทุกข์ให้เพิ่มมากขึ้นตามเส้น ต’ และ ต’’ ... ไปเรื่อย ๆ ตามความต้องการของตนเองไม่มีที่สิ้นสุด

             การที่สังคมเศรษฐกิจในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่มุ่งแสวงหาและสั่งสมความมั่งคั่งทางวัตถุ โดยเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจะนำพามาซึ่งความสุขมากขึ้น (ความทุกข์ลดลง) ทำให้มีพฤติกรรมของการกระทำที่ผิดต่อศีลธรรมและคุณธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อที่จะให้ได้ (วัตถุ) มาสนองต่อความอยากของตนเองทั้งการทุจริต ปล้นจี้ชิงทรัพย์ รวมถึงการยอมขายตัว เป็นต้น เมื่อพฤติกรรมละเมิดต่อศีลธรรมและคุณธรรม (ถึงแม้บางครั้งกฎหมายอาจเอาผิดไม่ได้) มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนส่วนใหญ่ในสังคมชาชินและซึมซับ มองว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องปกติ เช่น นักการเมืองทุจริตคอรัปชั่นถูกมองว่าเป็นเรื่องปกติอยู่ที่ว่าจะมากหรือน้อย หรือแม้แต่สื่อบางครั้งก็สร้างค่านิยมใส่ความเป็นฮีโร่ให้กับคนทำผิดศีลธรรมโดยไม่ตั้งใจ เช่น เรียกผีพนันว่า เซียนพนัน เรียกโจรว่า โจรอัจฉริยะ หรือ โจรหัวหมอ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมเข้ามาแทนที่ทางศีลธรรมและคุณธรรม

        ถึงแม้ว่าจะมีหลาย ๆ คนที่เข้าใจในพระพุทธศาสนาไปในทำนองที่ว่า มีทัศนคติมองชีวิตในเชิงติดลบ (ด้านลบ) หรือเป็นไปในลักษณะของการผูกชีวิตติดไว้กับความทุกข์ แต่ความเป็นจริงในหัวใจหลักของพระพุทธศาสนาหรือแก่นแท้แล้ว สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจจ์นี้มี ๔ ประการ คือ “ทุกขัง อริยสัจจัง” คือ ความทุกข์เป็นสัจจะอันประเสริฐ นั่นย่อมแสดงถึงนัยที่ว่า

           ๑. สอนให้ทุกคนตระหนักรู้ถึงความจริงแห่งทุกข์

           ๒. เมื่อตระหนักรู้ถึงความจริงแห่งทุกข์แล้ว ให้มองว่าความทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ (ไม่ใช่สิ่งเลวร้าย)

           ๓. เมื่อมองความทุกข์เป็นความจริงอันประเสริฐ ทำให้เกิดทัศนคติที่ดี (ด้านบวก) ในการเรียนรู้เพื่อบริหารจัดการกับความทุกข์ ไม่ใช่ ให้ฝังจมอยู่กับกองของความทุกข์นั้น

 

       นี่คือหลักความจริงของพระพุทธศาสนาที่มีทัศนคติในเรื่องทุกข์ ซึ่งสอนให้รู้เท่าทันในความเป็นไปในทุกข์ตามจริงและอยู่กับมันอย่างมีสติ แต่ไม่ใช่ให้ฝังจมชีวิตติดกับดักในทุกข์ หรือบิดเบือน กลบเกลื่อน ไม่มองความจริงแห่งทุกข์จนนำไปสู่ความประมาท รู้ไม่เท่าทันเมื่อถึงคราวถูกบีบคั้น บังคับ จนระงับปิดบังซ่อนเร้นความจริงแห่งทุกข์ไม่อยู่ เมื่อทุกข์เกิดสุกงอมระเบิดออกมาจนทำให้เกิดสติแตกควบคุมสติไม่อยู่ เกิดผลเสียตามมาหลาย ๆ อย่างทั้งในทางตรง (ชีวิตตัวเอง) และในทางอ้อม (ผลกระทบทางสังคม)

       วิวัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่เติบใหญ่ขึ้นมา เพื่อรองรับและสนองตอบกับความต้องการของมนุษย์ได้ทุกอย่าง ถือเป็นก้าวย่างแห่งการอำพรางปิดบังซ่อนเร้น กดทับ “ความทุกข์” เอาไว้ไม่ให้ทำงาน ตราบใดที่ความต้องการของมนุษย์มาบรรจบครบรอบกับการสนองตอบ มนุษย์ส่วนใหญ่จะขาดความรอบคอบ รู้ไม่เท่าทันมองไม่เห็นความจริงแห่งทุกข์ที่มีพัฒนาการเติบโตเสมือนเป็นคู่แฝดกันกับวิวัฒนาการทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ถึงแม้ว่า ความต้องการจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต แต่หากว่า เป็นความต้องการที่เกิดขึ้นจากสุญญากาศแห่งสติก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

********************************************************************************************************************

หมายเลขบันทึก: 503807เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2012 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

 

 

 “ความทุกข์”  .... กดทับ.... เอาไว้....รู้ไม่เท่าทันมองไม่เห็นความจริงแห่งทุกข์ที่มีพัฒนาการเติบโตเสมือน.... เป็นคู่แฝด ....กับวิวัฒนาการ....ในเรื่องต่างๆ ... ไม่เฉพาะเทคโนโลยี....อื่นๆๆ อีกมากนะคะ

ขอบคุณบทความดีดี  มีคุณค่า นะคะ

  • เข้าใจประยุกต์และอธิบายให้เห็นภาพได้ง่าย
  • ขอบคุณมาก
  • มีคนกล่าวว่า
  • คนที่หิวแล้วรู้ว่ามีกิน กับ คนที่หิวแล้วรู้ว่า ไม่มีอะไรจะกิน ความรู้สึกมันต่างกันมากๆ

กิระดังฟังมาความว่าไว้ - เป็นครั้งแรกที่อ่านเจอค่ะ หรูมากค่ะคำนี้ ;)

ระลึกตามพระเมตตาของพระพุทธองค์ที่ทรงเดินทางด้วยเท้าถึง 480 กิโลเมตรเพื่อโปรดชายคนนั้น น้ำตาไหลเลย

การกินเพื่อให้ทุกข์จากความหิวหมดไปต่างจากการกินตามใจอยากมากมายค่ะ

ขอบคุณค่ะ สำหรับบทความคุณภาพอีกเช่นเคย :)

============

ลัทธิบริโภคนิยมมาจากตัณหาของมนุษย์

พระพุทธองค์ตรัสว่า ตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด ไม่สามารถทำให้พอใจได้อย่างแท้จริง แต่จะเพิ่มมากขึ้นทั้งในปริมาณและระดับขั้น นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องให้การศึกษาแก่คน เพื่อที่ว่าเราจะได้มีบางสิ่งที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยให้ตัณหาเกิดความสมดุล

การศึกษาที่ให้ความรู้เช่น เขาสามารถมีความสุขได้ด้วยตนเอง เขาสามารถแยกแยะได้ระหว่าง การหาความสุข กับ การมีความสุข

คนควรรู้ว่าเขาสามารถมีความสุขได้ ไม่จำเป็นต้องไปแสวงหาความสุข และมีความสุขด้วยการทำให้การแสวงหาความสุขนั้นสมดุล

ลัทธิบริโภคนิยมคือวิธีการของผู้แสวงหาความสุข และวิธีของการมีความสุขด้วยการอาศัยสิ่งภายนอก และเนื่องจากตัณหาไม่มีที่สิ้นสุด มันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และขึ้นอยู่กับค่านิยมของสังคม และลัทธิบริโภคนิยมทำให้เกิดค่านิยมทางสังคม

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จากหนังสือ พระพุทธศาสนากับโลกธุรกิจ บทสนทนาระหว่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กับนายลอเรนส์ แวน เดน มิวเซนเบิร์ก

  • ความหิวที่น่ากลัวที่สุดคื็อจิตที่หิวโหย มีแต่ความอยากไม่มีที่สิ้นสุด
  • หากเราเท่าทันความหิวที่จิต จะรู้สึกพอไปหมดเมื่อเห็นสิ่งยั่วยวน
  • โลกสมัยนี้ ลัทธิบริโภคนิยม ทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้นกิเลสที่สำคัญนักแลค่ะ
  • ภูมิคุ้มกันไม่ดีก็ทำให้ความสุขลดลง
  • การเขียนบทความเชิงบูรณาการเศรษศาสตร์และพุทธ ไม่ง่ายเลยคะ มองผิวเผินเหมือนเจตนารมณ์ไม่ไปด้วยกัน แต่เมื่อได้อ่านแล้วกลับพบว่าในความขัดแย้งของตัวมันเอง (paradox) คือความท้าทายที่ต้องทวนกระแสค่ะ

....เห็นทุกข์..ของคน..ฆ่าแม่..เพราะ..หิว..เรื่องจริงหรือเปล่าไม่รู้..เห็นเป็นพระ.ปฐมเจดีย์อยู่จนทุกวันนี้...(ยายธี)

    ขอบพระคุณ อาจารย์P'Ple มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ... :)

                             ดูแลสุขภาพด้วยนะครับ...

ขอบพระคุณ อาจารย์ขจิต มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและข้อคิดดี ๆ อยู่เสมอ... :)

คนที่หิวแล้วรู้ว่ามีกิน กับ คนที่หิวแล้วรู้ว่า ไม่มีอะไรจะกิน ความรู้สึกมันต่างกันมากๆ 

          อาจารย์ขจิต...เปรียบเทียบได้เห็นภาพชัดเจนมากครับ... :)

               รักษาสุขภาพด้วยนะครับ...อากาศเปลี่ยน (บ่อย)

ขอบคุณ คุณปริม มากครับที่แวะมาให้กำลังใจและเติมเต็มผ่านข้อคิดดี ๆ ที่มีให้เสมอมา...

ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) จากหนังสือ เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ ซึ่งท่านเจ้าคุณฯได้พูดถึงนัยความหมายของ ‘ความต้องการ’ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงทั้งในภาคส่วนของทางเศรษฐศาสตร์กับหลักพระพุทธศาสนา เอาไว้คือ :

            ...ทีนี้ มาพูดกันถึงเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ในแง่ความต้องการก่อน ในแง่ความต้องการของมนุษย์นั้น อย่างน้อยเศรษฐศาสตร์ในสมัยใหม่นี้ก็มีความเข้าใจตรงกับพุทธศาสนา ที่ว่า ความต้องการของมนุษย์ไม่จำกัด มนุษย์มี unlimited wants เราบอกว่า ความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด

        ในพุทธศาสนานั้นมีพุทธภาษิตเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมาย เช่นว่า นตฺถิ ตณฺหาสมา นที แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี...

 

        ไฟย่อมไม่อิ่มด้วยเชื้อและมหาสมุทรไม่อิ่มด้วยน้ำ ฉันใด...ความอยาก (ตัณหา) นั้นไซร้...ก็ไม่อาจที่จะอิ่มด้วยการตอบสนอง (อามิส) ได้ฉันนั้น…

 

              

                      คุณ ปริม รักษาสุขภาพด้วยนะครับ... :)

ขอบพระคุณ อาจารย์Sila มากครับ ที่แวะมาให้กำลังใจและมีข้อคิดที่ดี ๆ มาฝากอยู่เสมอ...

   เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ...ความหิวที่น่ากลัวที่สุด...คือจิตที่หิวโหย...

               อาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะครับ...:)

ขอบพระคุณ คุณยายธี (ที่น่ารักของหลาน ๆ) มากครับที่แวะมาให้กำลังใจหลานอยู่เสมอ...:)

                คุณยายรักษาสุขภาพด้วยนะครับ...

ขอบพระคุณ อาจารย์prathan มากครับที่แวะมาให้กำลังใจอยู่เสมอ...

           อาจารย์รักษาสุขภาพด้วยนะครับ...

ขอบพระคุณกำลังใจที่มอบผ่านดอกไม้จากทุก ๆ ท่านมากครับ... :)

               รักษาสุขภาพด้วยนะครับ...:)         

* ขอบคุณข้อคิดดีๆเหล่านี้ค่ะ

* ชีวิตที่เป็นอยู่บนหลักแห่งความพอเพียง ย่อมยังสุขอันยั่งยืน..

คุณจัตุเศรษฐธรรม

หายไปนานมากแล้วนะครับ

..

สังคมที่นี่ระลึกถึงคุณอยู่หลายคนเชียว  รวมทั้งตัวผมด้วย

..

รอการกลับมาเขียนบันทึกนะครับ


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท