Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

ปัญหาและอุปสรรคกับพัฒนาการความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียนในอดีต


ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการสอน รหัสวิชา 2000111 วิชาอาเซียนศึกษา (ASEAN Studies) 2555 โปรแกรมสังคมศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม

1. ความร่วมมือทางด้านการเมือง

               ภายหลังจากที่ประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ได้ก่อตั้งสมาคมประชาชาติอาเซียนในปี พ.ศ.2510 ความเคลื่อนไหวและบทบาทของอาเซียนทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ก็ได้เพิ่มมากขึ้น จนกลายเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีกิจกรรมด้านการเมืองอย่างต่อเนื่องและได้รับการยอมรับจากนานาประเทศมากขึ้น และแม้ว่าในปฏิญญากรุงเทพฯ จะระบุถึงวัตถุประสงค์ของอาเซียนในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อความเจริญของประเทศในภูมิภาค  แต่เมื่อพิจารณาถึงกิจกรรมและท่าทีของอาเซียนหลังจากก่อตั้งสมาคม จะพบว่าอาเซียนได้ให้ความสำคัญที่เน้นหนักเฉพาะทางด้านการเมือง เพื่อสันติภาพ เสรีภาพ เสถียรภาพและความมั่นคงของภูมิภาค โดยเฉพาะภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง รวมทั้งปัญหาที่เกี่ยวกับฐานทัพต่างชาติ สิ่งเหล่านี้เป็นตัวแปรหลักที่มีอิทธิพลให้เกิดความร่วมมือก่อตั้งอาเซียน ผลสำเร็จของอาเซียนในความร่วมมือทางด้านการเมืองในอดีตที่สำคัญ คือ

 

 ความพยายามในการแก้ไขปัญหากรณีพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก

 

                  1) การระงับปัญหาซาบาห์ ปัญหาซาบาห์เป็นกรณีพิพาทระหว่างมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2506 เมื่อฟิลิปปินส์ประกาศอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนซาบาห์ ซึ่งมาเลเซียต้องการที่จะรวมดินแดนซาบาห์นี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์ นำไปสู่การตัดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเดือนมีนาคม 2511 สภาวะทางตึงเครียดทางการเมืองของมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ได้มีผลกระทบต่อเอกภาพของอาเซียน ทำให้ไทยและอินโดนีเซียพยายามเข้าไกล่เกลี่ย จนท้ายที่สุดทั้ง 2 ประเทศก็ได้หันกลับมารื้อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตขึ้นใหม่ภายหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีอาเซียนครั้งที่ 3 ณ ประเทศมาเลเซีย ในวันที่ 17 ธันวาคม 2512

 

                  2) ความขัดแย้งระหว่างสิงคโปร์-อินโดนีเซีย เริ่มประทุขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2511 เมื่อสิงคโปร์สั่งลงโทษประหารชีวิตนาวิกโยธินอินโดนีเซีย 2 คน ข้อหาก่อวินาศกรรมในสิงคโปร์ โดยไม่มีการลดหย่อนโทษ แม้จะมีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย ส่งผลให้ชาวอินโดนีเซียในกรุงจาการ์ตาประท้วงและบุกทำลายสถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ ณ กรุงจาการ์ตา นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าและจำกัดจำนวนนักท่องท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียที่เดินทางเข้าไปยังสิงคโปร์ เพื่อตอบโต้สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองฝ่ายได้ยุติปัญหาความขัดแย้ง เนื่องจากความมีสำนึกร่วมในฐานะการเป็นสมาชิกอาเซียน ทำให้ผู้นำทั้งสองพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยความรอมชอม

 

                  3) ความขัดแย้งระหว่างมาเลเซีย-สิงคโปร์ สืบเนื่องจากความหวาดระแวงที่มีต่อกันหลังจากสิงคโปร์ประกาศแยกตัวออกจากสหพันธรัฐมาเลเซียในปี 2508 แต่เมื่อทั้ง 2 ประเทศเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ได้ทำให้เกิดความพยายามในการปรับความเข้าใจต่อกัน โดยผู้นำสิงคโปร์  (นายลี กวน ยู) เดินทางเยือนมาเลเซียเป็นครั้งแรก ในปี 2511 ซึ่งในระยะเวลาต่อมาความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีการทำความตกลงร่วมกันหลายฉบับ เช่น ข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้เงินตราประเทศหนึ่งในอีกประเทศหนึ่งได้เมื่อปี 2516 เป็นต้น

 

บทบาทของประเทศสมาชิกในการเมืองระหว่างประเทศ

 

               นอกเหนือจากความสำเร็จในการแก้ไขข้อขัดแย้งภายในระหว่างภาคีสมาชิกด้วยกัน อาเซียนยังมีบทบาทสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ โดยได้กำหนดให้มีการประชุมปรึกษาหารือเกี่ยวกับปัญหาทางการเมืองที่อาจมีผลกระทบต่อเสถียรภาพขององค์การ เช่น การหารือเกี่ยวกับความร่วมมือในการบูรณะและฟื้นฟูอินโดจีน การร่วมหารือเกี่ยวกับการรับรองรัฐบาลสหภาพแห่งชาติกัมพูชาในฐานะรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย หลังจากที่สถานการณ์ในกัมพูชาคลี่คลายลง นอกเหนือจากปัญหาการเมืองในภูมิภาคแล้ว สมาคมอาเซียนยังได้ให้ความสำคัญกับปัญหาระหว่างประเทศในภาคพื้นที่ห่างไกล เช่น ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอาหรับ-อิสราเอล โดยอาเซียนได้ประกาศปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความขัดแย้งระหว่างอาหรับ-อิสราเอล (ASEAN Declaration on Arab-Israel Conflict) เพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพและปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติว่าด้วยการแก้ไขปัญหาในตะวันออกกลาง และตำหนิการกระทำของอิสราเอล ประณามการแผ่ขยายเขตแดนโดยใช้กำลังซึ่งขัดกับหลักการตามกฎบัตรแห่งสหประชาชาติ พร้อมกับย้ำถึงสิทธิตามกฎหมายของชาวปาเลสไตน์ในดินแดน[1]

 

การสถาปนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตสันติภาพเสรีภาพและความเป็นกลาง

 

จากสภาวะทางการเมืองภายในภูมิภาคที่กำลังผันผวนอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสหรัฐฯ ประกาศถอนตัวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2512 เป็นผลให้จีนและสหภาพโซเวียตต่างแข่งขันกันขยายอำนาจเข้าสู่ภูมิภาค จึงนำไปสู่แนวทางการปฏิบัติของภูมิภาคที่ต้องจำกัดบทบาทและขอบเขตของนโยบายต่างประเทศให้ตั้งอยู่บนหลักของความเป็นกลางตามกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ภาคีอาเซียนทั้ง 5 ประเทศจึงได้ร่วมกันลงนามปฏิญญาว่าด้วยการกำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตสันติภาพเสรีภาพและความเป็นกลาง (Zone of Peace, Freedom and Neutrality-ZOPFAN) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างประเทศ เรียกร้องให้มีการเคารพต่ออธิปไตย ละเว้นการคุกคาม และการใช้กำลังในการยุติข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี        ไม่แทรกแซงกิจการภายในของรัฐอื่น และให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกลางอย่างเคร่งครัด

 

ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหากัมพูชา

 

               สืบเนื่องจากเวียดนามได้เข้ารุกรานกัมพูชา โดยการส่งทหารราว 2 แสน คน เข้าสนับสนุนขบวนการล้มล้างรัฐบาลกัมพูชาประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2521 และเข้ายึดกรุงพนมเปญกับพื้นที่ส่วนใหญ่ของกัมพูชาไว้ได้ในปีต่อมา โดยได้แต่งตั้งนายเฮง สัมริน และนายฮุน เซน เป็นรัฐบาลกัมพูชา เหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความตื่นตัวให้แก่บรรดาสมาชิกอาเซียนและภูมิภาคต่อความมั่งคงของแต่ละประเทศ นำไปสู่ความร่วมมือกดดันเวียดนามทางการเมืองอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2522 โดยนำปัญหากัมพูชาเข้าสู่การพิจารณาของสหประชาชาติและได้ยกร่างข้อมติประณามการแทรกแซงทางทหารและการยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม เรียกร้องให้มีการถอนทหารต่างชาติทั้งหมดออกจากกัมพูชา และเปิดโอกาสให้ประชาชนกัมพูชาได้ใช้สิทธิในการเลือกตั้งเสรี โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกภายใต้การควบคุมของสหประชาชาติ นอกจากนี้ อาเซียนยังได้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลผสมกัมพูชาประชาธิปไตย (Coalition Government of Democratic Kampuchea – CGDK) ได้เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนมิถุนายน 2525

               ในช่วงปี 2530 จนถึงการลงนามในสนธิสัญญาสันติภายกรุงปารีสเพื่อยุติปัญหากัมพูชาเมื่อเดือนตุลาคม 2534 อาเซียนได้มีบทบาทสำคัญโดยร่วมกับสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในการรณรงค์เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับปัญหากัมพูชา ทั้งการเป็นตัวกลางในการประสานความขัดแย้งให้กัมพูชา รวมทั้งโน้มน้าวประเทศที่พัฒนาแล้วและองค์การระหว่างประเทศให้ระงับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจแก่เวียดนาม เพื่อเพิ่มแรงกดดันเวียดนามให้ถอนทหารออกจากกัมพูชา ความพยายามร่วมกันของอาเซียนในการแก้ไขปัญหากัมพูชาและการกดดันเวียดนามทางการเมืองเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว ถือเป็นความสำเร็จทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ของอาเซียน และส่งเสริมความเป็นปึกแผ่นของอาเซียนอีกทางหนึ่งด้วย

 

อาเซียนกับการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

จากปัญหาความขัดแย้งในกัมพูชาในช่วงปี 2521-2534 ได้ทำให้เกิดการบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงในภูมิภาค แม้ว่าปัญหาดังกล่าวจะยุติลง แต่อาเซียนยังมีความกังวลใจในประเด็นความขัดแย้งภายในภูมิภาคบางประเด็นที่อาจขยายวงกว้างได้ เช่น ปัญหาหมู่เกาะสแปรตลีย์ ปัญหาระหว่างจีน-ไต้หวัน ปัญหาความขัดแย้งบนคาบสมุทรเกาหลี ส่งผลให้อาเซียนขยายมุมมองทางด้านความมั่นคงออกไป จากเดิมที่จำกัดอยู่เฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นครอบคลุมถึงเขตเอเชีย-แปซิฟิก

 

ยิ่งกว่านั้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอกภูมิภาค ทั้งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต การถอนตัวจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหรัฐ  การพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ของจีน รวมถึงความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมหาอำนาจ เหล่านี้ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ผลักดันอาเซียนจำเป็นต้องเร่งปรับตัวและร่วมกันพิจารณาปัญหาที่จะกระทบต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค นำไปสู่ “การประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก” (ASEAN Regional Forum – ARF) ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 โดยได้รับความร่วมมือจาก 17 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ลาว ปาปัวนิวกินี จีน รัสเซีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอีก 1 กลุ่มประเทศ คือ สหภาพยุโรป ผลจากการประชุมได้เกิดสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นแบบแผนการปฏิบัติ และกลไกทางการทูตเพื่อสนับสนุนการทูตเชิงป้องกัน และความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง รวมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจระหว่างสมาชิก ARF

 

อาเซียนกับสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

               ในช่วงสงครามเย็น อาเซียนต้องประสบกับอุปสรรคในความพยายามให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ เนื่องจากอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ แต่ภายหลังสงครามเย็นจบลง สถานการณ์ระหว่างประเทศเริ่มเอื้อต่อเจตนารมณ์ของอาเซียนในการคัดค้านการทดลอง ผลิต พัฒนาและการครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ โดยได้รับความร่วมมือจากทุกประเทศในภูมิภาค ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 5 ที่กรุงเทพฯ ปี 2538 ผู้นำอาเซียนทั้ง 7 ประเทศ รวมทั้งนายกรัฐมนตรีลาว กัมพูชาและพม่า ได้ร่วมลงนามใน “สนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Treaty on Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone – SEANWFZ) มีสาระสำคัญ คือ “การจัดตั้งเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยภาคีสมาชิกจะต้องไม่พัฒนา ผลิต หรือครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ และไม่ให้รัฐอื่นเข้ามาพัฒนา ผลิตหรือเก็บอาวุธนิวเคลียร์ไว้ในดินแดนตน เว้นแต่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้พลังงานปรมาณูเพื่อสันติที่มีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของชาติสมาชิก”

 

2. ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ

 

2.1 ร่วมมือด้านอุตสาหกรรม

               1) โครงการอุตสาหกรรมของอาเซียน (AIP) จากการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 1 ที่บาหลี ในปี 2519 บรรดา 5 สมาชิกอาเซียนผู้ก่อตั้งได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการอุตสาหกรรมร่วมของอาเซียน (ASEAN Industrial Project : AIP) เพื่อให้แต่ละประเทศดำเนินการด้านอุตสาหกรรมตามประเภทที่ได้ตกลงแบ่งสรร โดยอินโดนีเซียและมาเลเซียรับโครงการผลิตปุ๋ยยูเรีย ฟิลิปปินส์รับโครงการผลิตปุ๋ยฟอสเฟต สิงคโปร์รับโครงการผลิตเครื่องยนต์ดีเซล และไทยรับโครงการผลิตเกลือหินและโซดาแอช ทั้งนี้มีข้อตกลงว่าผลผลิตจากโครงการจะต้องจำหน่ายผลิตให้แก่ประเทศสมาชิกโครงการในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลก เพื่อเป็นการช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากความไม่มันใจของประเทศเจ้าของโครงการเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการขาดทุนในการขายผลผลิตให้แก่สมาชิกในราคาที่ต่ำกว่าตลาดโลก อีกทั้งปัญหาการเลือกสรรโครงการที่ไม่คำนึงถึงข้อจำกัดและความเหมาะสมภายในประเทศ เช่น กรณีฟิลิปปินส์ที่ต้องขอเปลี่ยนแปลงประเภทโครงการอุตสาหกรรมหลายครั้งเนื่องจากขาดความพร้อม เป็นต้น

 

               2) โครงการแบ่งการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบเกื้อหนุน (ASEAN Industrial Complementation Scheme : AICS) คือ การชักนำภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทในความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค โดยอยู่ภายใต้กรอบของสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของอาเซียน ผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยพบว่า การผลิตจำกัดอยู่ในประเภทของอุตสาหกรรมวงแคบ ไม่มีการขยายผลความร่วมมือในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพิ่มเติม

 

               3) โครงการร่วมทุนทางอุตสาหกรรม (ASEAN Industry Joint Venture : AIJV) มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ลักษณะโครงการคือ การให้สิทธิทางภาษีแก่นักลงทุนด้วยการได้รับลดหย่อนภาษีนำเข้าสำหรับการค้าภายในอาเซียนด้วยกัน และการได้รับการคุ้มครองการผลิต ซึ่งผลการดำเนินงานของโครงการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร โดยนับตั้งแต่เริ่มโครงการในปี 2527 มีผู้สนใจเข้าร่วมลงทุนไม่มากนัก สืบเนื่องจากกลไกของตลาดและโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศอาเซียนมีลักษณะไม่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เช่น ผลผลิตทั้งในด้านวัตถุดิบและด้านอุตสาหกรรมของอาเซียนมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศพยายามปกป้องตลาดภายใน อีกทั้งนโยบายเศรษฐกิจของทุกชาติมีลักษณะเศรษฐกิจระบบเปิด จึงยากที่ตลาดของแต่ละประเทศจะอุดหนุนซึ่งกันและกันโดยการแลกเปลี่ยนผลผลิตที่คล้ายคลึงกัน

 

2.2 ความร่วมมือด้านการค้า

 

ภายหลังการประชุมสุดยอดอาเซียนที่บาหลี ในปี 2519 ประเทศสมาชิกอาเซียนในขณะนั้นได้มีการลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการให้สิทธิพิเศษทางการค้าของอาเซียน (Agreement on ASEAN Preferential Trading Agreement : ASEAN - PTA) เพื่อเพิ่มปริมาณการค้าระหว่างอาเซียนด้วยกัน โดยการลดภาษีขาเข้าระหว่างกันในอัตราต่ำกว่าปกติ หรือการทำสัญญาซื้อขายระยะยาว การให้การสนับสนุนด้านการเงินในอัตราดอกเบี้ยต่ำ เป็นต้น ผลของความร่วมมือดังกล่าว พบว่า ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากแต่ละประเทศยังพยายามรักษาผลประโยชน์ทางการค้าของตนอย่างเหนียวแน่น ทำให้ระบบสิทธิพิเศษทางการค้าที่กำหนดไม่ได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการเพิ่มมูลค่าการค้าอย่างแท้จริง

 

2.3 ความร่วมมือทางเศรษฐกิจรูปแบบอื่นๆ

 

นอกจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปของโครงการอุตสาหกรรมอาเซียน (AIP) การร่วมลงทุน (AIJV) การแบ่งการผลิตทางอุตสาหกรรมแบบเกื้อหนุน (AICS) ตลอดจนความร่วมมือทางด้านการค้า (PTA) อาเซียนยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น ความร่วมมือในการปรับระบบการติดต่อสื่อสารและโทรคมนาคมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เพื่อเอื้อต่อการสัญจรและการค้า มีโครงการที่สำคัญ คือ โครงการให้ประโยชน์จากดาวเทียมสื่อสารปาลาป้า (Palapa) ของอินโดนีเซียสำหรับการสื่อสารร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด หรือโครงการวางสายเคเบิลใต้นำเชื่อมโยงระหว่างประเทศอาเซียนทั้งหมด ในด้านทรัพยากรการผลิต เช่น โครงการให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดวิกฤติการณ์พลังงานในประเทศอาเซียนชาติใดชาติหนึ่ง โครงการส่งเสริมความร่วมมือในการสำรวจและขุดค้นแหล่งน้ำมันปิโตรเลียม ในด้านการเงินและการธนาคาร เช่น การจัดตั้งกลไกในการบรรเทาปัญหาสภาพคล่องระหว่างประเทศ ในปี 2520 และความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนในการสถาปนาความสัมพันธ์กับประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วในลักษณะของคู่เจรจา

 

ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกรูปแบบหนึ่ง คือ เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ริเริ่มโดยไทย ก่อตั้งในปี 2535 มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ในฐานะฐานการผลิตที่สำคัญในการป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก และการเปิดการค้าเสรีด้วยการลดภาษีและอุปสรรคทางการค้าต่างๆ ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีการรวมกลุ่มในระดับอนุภูมิภาค (sub-regional cooperation) เพื่อร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นรูปธรรมและรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น โครงการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจระหว่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ (ก่อตั้งปี 2530) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย (ก่อตั้งปี 2535) เขตความเจริญเติบโตในอาเซียนตะวันออก มีประเทศมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน (ก่อตั้งปี 2537) เป็นต้น

 



[1] เป็นที่น่าสังเกตว่า ปฏิญญาฉบับนี้ลงนามโดย นายอาดัม มาลิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย    ในนามของอาเซียนแต่เพียงผู้เดียว นับเป็นปฏิญญาฯที่ไม่ได้รับการลงนามโดยผู้นำชาติอาเซียนทั้งหมด ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นความริเริ่มของอินโดนีเซีย ที่เป็นหนึ่งในจำนวนสมาชิกที่ประชุมกลุ่มประเทศอิสลาม ที่มีชาติอาหรับในตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่

คำสำคัญ (Tags): #e-trust
หมายเลขบันทึก: 503327เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 14:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2012 14:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท