8.สาธารณรัฐสิงคโปร์ (The Republic of Singapore)
ข้อมูลทั่วไปของประเทศสิงคโปร์
สิงคโปร์ หรือในชื่อทางการว่าสาธารณรัฐสิงคโปร์ (Republic of Singapore) เป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตั้งอยู่ทางใต้ของคาบสมุทรมาเลย์ มีอาณาเขตติดกับรัฐยะโฮร์ประเทศมาเลเซีย และอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตราประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีลักษณะพิเศษและมีเงื่อนไขทางการเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่เหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่นใดในภูมิภาค กล่าวคือ ในทางการเมือง สิงคโปร์เป็นประเทศเอกราชค่อนข้างใหม่ เมื่อเทียบกับสมาชิกผู้ก่อตั้งอาเซียนอื่นๆ โดยเพิ่งมีการแยกตัวเป็นอิสระจากสหพันธ์มาเลเซีย จัดตั้งเป็นสาธารณรัฐสิงคโปร์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2508 และต้องบริหารการจัดการทุกอย่างรวมทั้งการป้องกันประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้ความมั่นคงของสิงคโปร์อยู่ใต้การค้ำจุนของอังกฤษ
ในทางเศรษฐกิจและสังคม สิงคโปร์เป็นประเทศเล็กที่มีอาณาเขตเพียง 697 ตารางกิโลเมตร แต่มีประชากรค่อนข้างมาก (ประมาณ 5 ล้านคนเมื่อปี 2553) และมีสภาพภูมิประเทศเป็นเกาะไม่มีทรัพยากรธรรมชาติสำคัญทางด้านเศรษฐกิจที่ใช้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศ อีกทั้งสิงคโปร์ยังมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ทั้งชาวจีนซึ่งเป็นประชากรส่วนมาก (60%) ชาวมาเลย์ (7%) ชาวอินเดีย (23%) ชาวปากีสถานและประชากรเชื้อชาติอื่นๆ อาศัยอยู่ในประเทศ ความหลากหลายของประชากรดังกล่าวทำให้สิงคโปร์มีภาษาพูดหลายภาษา เช่น แมนดาริน อังกฤษ มลายู และทมิฬ ในด้านศาสนา ประชาชนในสิงคโปร์มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รองลงมาคืออิสลาม และมีศาสนาคริสต์และฮินดูรวมอยู่ด้วย[1] ภาษาทางการ คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีนกลาง ภาษามาเลย์ และภาษาทมิฬ
แม้ประเทศสิงคโปร์จะมีข้อจำกัดหลายด้านภายในประเทศ แต่สิงคโปร์ก็สามารถพัฒนาเป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และมีจุดแข็งที่โดดเด่นหลายด้าน กล่าวคือ นับตั้งแต่สิงคโปร์ได้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศอาณานิคมอังกฤษและแยกตัวออกจากมาเลเซีย ประเทศสิงคโปร์ได้พัฒนาประเทศของตนในหลายด้านจนกลายเป็นประเทศที่ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเยี่ยม และมีรายได้ของประชากรต่อปีสูงเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียน และติดอันดับ 15 ของโลก มีระบบการเมืองภายใต้การปกครองในระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่มีเสถียรภาพ เป็นศูนย์กลางทางการเงินระหว่างประเทศ ศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม ด่านสินค้า การศึกษา อีกทั้งแรงงานมีทักษะสูง มีความชำนาญด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลและธุรกิจ และมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่เอื้อต่อการเป็นศูนย์กลางการเดินเรือที่สำคัญทั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน[2]
ขณะเดียวกันก็พบจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศสิงคโปร์ คือ สิงคโปร์เป็นประเทศที่นำเข้าวัตถุดิบสูงและขาดแคลนแรงงานระดับล่าง และมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจสูง สิ่งเหล่านี้จึงผลักดันให้สิงคโปร์พยายามที่จะขยายโครงสร้างทางเศรษฐกิจมายังภาคบริการมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกสินค้า[3]
รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาประเทศสู่เศรษฐกิจที่มีพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ (knowledge - based economy) และดำเนินนโยบายต่างๆ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและพัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สกุลเงินของสิงคโปร์ คือ ดอลลาร์สิงคโปร์
ประธานาธิบดี : นายโทนี ตัน เค็ง ยัม
ประเทศสิงคโปร์ ปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายโทนี ตัน เค็ง ยัม ปัจจุบันอายุ 72 ปี เพิ่งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554 หลังจากทำคะแนนเฉือนชนะคู่แข่งในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสิงคโปร์ ไปเพียง 0.34% จึงได้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสิงคโปร์ คนที่ 7 นับแต่นั้นมา
นายกรัฐมนตรี : นายลี เซียน ลุง
นายลี เซียน ลุง ปัจจุบันอายุ 60 ปี เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศสิงคโปร์ ต่อจากนายโก๊ะ จ๊ก ตง ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 3 ของประเทศ ทั้งนี้ นายลี เซียน ลุง เป็นบุตรชายคนโตของ นายลี กวนยู อดีตนายกรัฐมนตรี
การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน
ประเทศสิงคโปร์เป็น 1 ใน 5 สมาชิกผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซียน โดยการร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ของนายเอส ราชารัตนัม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ การเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมอาเซียนของสิงคโปร์ ในปี พ.ศ.2510 มีปัจจัยสนับสนุนหลายประการด้วยกัน คือ
1) ความต้องการแสดงตนในเอกราช สืบเนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีประวัติศาสตร์ด้านการเมืองการปกครองที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของอาณานิคมชาติตะวันตกหลายชาติมาเป็นระยะเวลายาวนาน ทั้งโปรตุเกส ฮอลันดา และอังกฤษ โดยเคยเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกส ในราวปี พ.ศ.2041 (ค.ศ.1498) และตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอลันดาในช่วงศตวรรษที่ 17 และในปี พ.ศ.2369 (ค.ศ.1826( สิงคโปร์ได้ต้องถูกอังกฤษปกครองภายใต้ระบบสเตรตส์เซ็ตเติลเมนท์ (Straits Settlement)[4] ซึ่งรวมอยู่กับเมืองท่าสำคัญ คือ ปีนัง และมะละกา และเมื่ออังกฤษให้เอกราชแก่มาเลเซีย สิงคโปร์มีความจำเป็นต้องผนวกรวมเข้ากับสหพันธรัฐมาเลเซียตามข้อสนับสนุนจากอังกฤษ (พ.ศ.2506) ทั้งๆ ที่สิงคโปร์และมาเลเซียเองต่างก็มีความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา และมีการเหยียดชนชาติ โดยมาเลเซียได้รับรองสิทธิของชาวมาเลย์เหนือชนชาติอื่นๆ ซึ่งสิงคโปร์ไม่เห็นด้วย ทำให้พรรคกิจประชาชน (People’s Action Party) ของสิงคโปร์ต้องประกาศตนเอกราชจากมาเลเซีย ในวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ.2508 (ค.ศ.1965) และมีอำนาจอธิปไตยของตนเอง ปกครองในรูปของสาธารณรัฐตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังนั้นการสร้างพลังในเอกราชของประเทศสิงคโปร์ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อเน้นย้ำบทบาทและตัวตนของประเทศสิงคโปร์เอง อาเซียนจึงเป็นเวทีที่ตอบสนองให้สิงคโปร์สามารถแสดงตนในเอกราชได้อย่างดี และยังสะท้อนบทบาทและสิทธิที่ทัดเทียมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย อีกด้วย
2) ความหวาดระแวงภัยจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ ภัยจากประเทศอินโดนีเซีย สืบเนื่องจากปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างสหพันธ์มาเลเซียกับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ในสมัยที่สิงคโปร์รวมอยู่กับสหพันธ์มาเลเซีย ในกรณีที่อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์คัดค้านการรวมรัฐซาบาห์และ ซาราวัคเข้าเป็นสหพันธ์มาเลเซียร่วมกับสิงคโปร์ตามการสนับสนุนจากอังกฤษ[5] ทำให้อินโดนีเซียประกาศตัดสัมพันธ์ทางการทูตและการค้ากับสิงคโปร์ ทั้งยังส่งหน่วยก่อกวนเข้าไปบ่อนทำลายในสิงคโปร์ มีการวางระเบิดหลายจุดทำให้ประชาชนเสียชีวิต ซึ่งสิงคโปร์หวั่นกลัวว่าอาจรุกรามจนถึงขั้นทำลายสะพานเมอร์เดก้า และท่อส่งน้ำจืดขนาดใหญ่จากรัฐยะโฮร์มาสู่สิงคโปร์ อันจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีความกังวลใจเกี่ยวกับความพยายามของอินโดนีเซียในการผนวกมาเลเซียเข้าร่วมกับอินโดนีเซียสู่การเป็นอาณาจักรชาติมาเลย์ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งอาจเป็นภัยต่อประเทศสิงคโปร์ที่เป็นประเทศเล็กและมีประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวจีน (ร้อยละ 80) ดังนั้นการรวมตัวกับกลุ่มอาเซียนจึงเป็นหนทางในการสนับสนุนสถานภาพของสิงคโปร์ให้เท่าเทียมกับเพื่อนบ้าน เป็นที่ยอมรับในสังคมภูมิภาคและสังคมโลก ที่สำคัญคือสิงคโปร์จะปลอดภัยจากการรุกรานของรัฐมาเลย์
3) ปัญหาภัยจากคอมมิวนิสต์ ในช่วงก่อนหน้าที่สิงคโปร์จะได้รับเอกราช ผู้นำสิงคโปร์มีความกังวลใจเกี่ยวกับการขยายอิทธิพลของลัทธิคอมมิวนิสต์ต่อประชาชนชาวจีนที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ โดยมีพรรคบาริซาน โซเซียลลิสต์ (Barisan Socialist) พรรคฝ่ายซ้ายของสิงคโปร์เป็นผู้เผยแพร่ลัทธิดังกล่าว นอกจากนี้สิงคโปร์ยังได้รับภาวะกดดันที่สำคัญจากการเผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์จากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยเหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนถึงภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ในสิงคโปร์ คือ เหตุการณ์จลาจลจากลุ่มกรรมกรนิยมคอมมิวนิสต์ชักธงสาธารณรัฐประชาชนจีนและ ชูรูปของเหมา เจ๋อ ตุง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปราบปรามอยู่นานกว่าเหตุการณ์จะสงบลง ดังนั้น ผู้นำสิงคโปร์จึงเห็นความจำเป็นในการเข้ารวมตัวกับกลุ่มอาเซียนที่ต่างมีความรู้สึกต่อต้านภัยคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับตน การเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนนั้นถือเป็นสิ่งที่แสดงได้ถึงบทบาทของสิงคโปร์ในการพัฒนาประเทศสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่เป็นฝ่ายตรงข้ามกับคอมมิวนิสต์ในจีน แม้ประชาชนส่วนใหญ่ของตนจะเป็นชาวจีนก็ตาม
4) ความต้องการตลาดเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ภายหลังจากการได้รับเอกราชนั้น สิงคโปร์ต้องประสบกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เช่น ปัญหาคนว่างงาน เหตุเพราะมีการประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วถึงร้อยละ 4 ต่อปี นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศมีพื้นที่และทรัพยากรธรรมชาติไม่เพียงพอสำหรับการเกษตรกรรม ทำให้เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขับเคลื่อนไปด้วยภาคของโรงงานอุตสาหกรรมผลิตวัตถุดิบที่ส่งมาจากต่างประเทศหลายแห่งให้เป็นของสำเร็จรูป ซึ่งต้องประสบปัญหาการขาดแหล่งตลาดรองรับสินค้าจากโรงงานอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากการแยกตัวจากมาเลเซีย ส่งผลให้ลดการซื้อสินค้าจากสิงคโปร์ลงมาก อีกทั้งการเผชิญหน้ากับอินโดนีเซียมีผลให้อินโดนีเซียลดการซื้อสินค้าจากสิงคโปร์เพื่อแสดงการต่อต้านในระยะนั้นด้วย สิงคโปร์จึงขาดตลาดส่งสินค้า ดังนั้น อาเซียนจึงเป็นความหวังในแหล่งตลาดทดแทน กล่าวคือ หากสิงคโปร์เข้ารวมสมาคมอาเซียน จะสามารถกลับไปหาตลาดเดิมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซีย บวกกับตลาดใหม่อย่างไทยและฟิลิปปินส์ด้วย นอกจากนี้การรวมกลุ่มอาเซียน อาจช่วยสนับสนุนด้านการต่อรองขอความช่วยเหลือจากประเทศภายนอกที่ย่อมทำได้ง่ายกว่าการขอจากประเทศๆ เดียว ดังนั้น การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนในทัศนะของสิงคโปร์จึงมีแต่ผลในทางบวกมากกว่าลบ
บทบาทของสิงคโปร์ในอาเซียน
ในระยะ 20 ปีแรกของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียน เมื่อพิจารณาประเด็นความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ สิงคโปร์เป็นประเทศสมาชิกในอาเซียนที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมทันสมัยล่ำหน้าประเทศสมาชิกอื่นๆ โดยมีโรงกลั่นน้ำมันและมีเทคโนโลยีก้าวหน้า ระบบเศรษฐกิจของสิงคโปร์ที่เจริญกว่าประเทศอื่น สะท้อนได้จากในขณะที่เพื่อนสมาชิกอาเซียนพยายามพัฒนาเพื่อเป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่สิงคโปร์ได้ก้าวไปในระยะการพัฒนาหลังการเป็นประเทศอุตสาหกรรม และกำลังก้าวสู่ขั้นเทคโนโลยีชั้นสูง ทั้งทางอุตสาหกรรมและด้านบริการ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ พยายามดูแลแรงงานไม่ให้ว่างงาน แต่สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวในขณะนั้นที่จ้างคนงานต่างประเทศที่มีทักษะต่ำเข้ามาทำงานในประเทศ เนื่องจากสิงคโปร์มีโครงสร้างทางการขนส่งคมนาคม และมีรากฐานทางการศึกษาที่อังกฤษปูทางไว้ค่อนข้างดี สิ่งเหล่านี้ช่วยให้สิงคโปร์เน้นการอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และไม่ต้องพึ่งพาแรงงานคนมากนัก ประกอบกับการเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก ทำให้สิงคโปร์สามารถรับวัตถุดิบมาผลิตและส่งออกได้อย่างรวดเร็ว และมีรายได้หลักจากการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจึงเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสิงคโปร์ ดังจะสังเกตได้ว่าการปรับนโยบายต่างประเทศของสิงคโปร์แต่ละครั้งล้วนมีเหตุมาจากภาวะกดดันทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เช่น ในปี พ.ศ.2514 สิงคโปร์ถูกนานาชาติโจมตีว่าเอารัดเอาเปรียบทางการค้าและถูกต่อต้านจากรอบด้าน ทำให้สิงคโปร์หันมากระชับความร่วมมือกับอาเซียน หรือเมื่อครั้งเกิดวิกฤตการณ์น้ำมันในเดือนตุลาคม 2516 สิงคโปร์ได้หันไปกระชับสัมพันธไมตรีกับโลกอาหรับอย่างเร่งด่วนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
ด้านความสัมพันธ์กับอาเซียนในระยะแรกเริ่ม สิงคโปร์ได้ละเลยและไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ที่มีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าและยังติดอยู่กับมหาอำนาจโดยเฉพาะเมืองแม่สมัยอาณานิคม ซึ่งยังไม่พร้อมกับการพัฒนาในหลายๆ ด้าน ส่งผลให้สิงคโปร์ถูกตอบโต้จากบรรดาประเทศสมาชิก เช่น อินโดนีเซียเร่งสร้างโรงกลั่นน้ำมั่นเพื่อไม่ต้องส่งน้ำมันไปกลั่นที่สิงคโปร์ รวมถึงไทยและมาเลเซียต่างเร่งขยายโรงกลั่นภายในประเทศ ส่งผลให้รายได้ของโรงกลั่นในสิงคโปร์ลดลง [6] ในทางกลับกัน ในมุมมองของบทบาทของสิงคโปร์ในด้านความร่วมมือทางการเมืองและความมั่นคงในอดีตที่ผ่านมา สิงคโปร์ได้ให้ความร่วมมือกับอาเซียนอย่างเข้มแข็ง โดยตระหนักถึงความอยู่รอดของประเทศที่ขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของประเทศสมาชิกอื่นๆ ดังจะเห็นได้จากเมื่อครั้งที่เวียดนามรุกรานกัมพูชา สิงคโปร์ได้ให้ความร่วมมือกับอาเซียนอย่างเต็มที่ต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประเทศเล็กจากการแทรกแซงของมหาอำนาจหลักการของสหประชาชาติและตามกฎหมายระหว่างประเทศ [7]
ในระยะต่อมา สิงคโปร์ได้แสดงบทบาทในการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนถึง 2 สมัย โดยทำหน้าที่ในการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 วันที่ 27-29 มกราคม 2535 และครั้งที่ 13 วันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2550 ทั้งยังมีท่าทีและนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มหันสู่ความต้องการที่จะเติบโตไปพร้อมกับอาเซียน สะท้อนได้จากคำสัมภาษณ์ ของนายออง เค็ง ยอง (Ong Keng Youn) อดีตเลขาธิการอาเซียนในปี 2551 ได้เน้นย้ำถึงการพัฒนาประเทศให้สอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกและอาเซียน และความต้องการเห็นอาเซียนมีความเจริญทั้งทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมตามกฎบัตรอาเซียน สิงคโปร์จะอยู่แบบเก่งคนเดียวเด่นคนเดียวก็ไม่ได้ หากประเทศหนึ่งประเทศใดในอาเซียนมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านใดด้านหนึ่ง สิงคโปร์ก็จะมีปัญหาตามไปด้วย เพราะสิงคโปร์ต้องพึ่งพาอาเซียนเป็นประชาคมร่วมอุดมการณ์เดียวกัน สิงคโปร์จึงจริงจังมุ่งมั่นกับการเป็นสมาชิกอาเซียนมาก โดยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2550 ได้ผลักดันให้พม่าเปิดประตูเพื่อรับความช่วยเหลือและข้อเสนอใหม่จากประเทศสมาชิกอาเซียนและสหประชาชาติมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยเหลือพม่าที่ประสพภัยจากพายุไซโคลนนากิส และประสานงานกับพม่าได้ดีในฐานะประธานอาเซียน[8] ยิ่งกว่านั้น สิงคโปร์ยังแสดงความต้องการที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับพม่ายิ่งขึ้นหลังจากเศรษฐกิจและการเมืองของพม่าได้รับการปฏิรูปมากขึ้น โดยสิงคโปร์ไม่ได้มีการกำหนดเส้นทางและตั้งข้อแม้กับพม่าเพื่อผลักดันให้พม่าปฏิรูปก่อนการเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานอาเซียนของพม่าในปี 2557 เนื่องจากต้องคงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกในฐานะประธานอาเซียน สะท้อนได้ถึงบทบาทของสิงคโปร์ในเวทีอาเซียนที่ยังคงไม่แทรกแซงเรื่องภายในตามแนวทางอาเซียน ขณะเดียวกันสิงคโปร์ก็ได้แสดงจุดยืนต่อการปฏิรูปในพม่าที่เป็นไปตามดุลยพินิจของพม่าเอง นอกจากนี้ ในปลายเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมาผู้นำสิงคโปร์ นายลี เซียน ลุง ยังได้ร่วมหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในประเด็นการร่วมกันแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ที่จีนถือเป็นคู่พิพาทใน 2 หมู่เกาะสำคัญในทะเลจีนใต้ ได้แก่ หมู่เกาะ Spratlys ที่เป็นความจัดแย้งระหว่างจีนกับอาเซียนทั้ง 4 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย บรูไน และเวียดนาม และหมู่เกาะ Paracel ที่เป็นความขัดแย้งกับเวียดนาม โดยเห็นว่าควรยึดถือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและคำประกาศขององค์การสหประชาชาติในปี 1982[9]
[4] Straits Settlement คือ การปกครองที่อังกฤษตั้งขึ้นเพื่อสถาปนาอาณานิคมบนแหลมมลายู โดยเข้าครอบครองเมืองท่าสำคัญ 3 แห่ง คือ ปีนัง มะละกาและสิงคโปร์รวมเข้าด้วยกัน เพื่อขยายการค้าของอังกฤษและอินเดียในบริเวณดังกล่าว
[5] อย่างไรก็ดี สหพันธ์มาเลเซียก็ได้รับการสถาปนาได้สำเร็จเมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2506 โดยมีสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของสหพันธ์มาเลเซีย
[6] วนิตา ศุกรเสพย์ และคณะฯ, อาเซียนในการเมืองโลก. (กรุงเทพฯ : สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528) . หน้า 438.
[7] วนิตา ศุกรเสพย์ และคณะฯ, อาเซียนในการเมืองโลก. (กรุงเทพฯ : สถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2528). หน้า 442-443.
[8]สมเกียรติ อ่อนวิมล .สิงค์โปร์กับไทย และอาเซียน. สืบค้นเมื่อ 23 มิถุนายน 2555 จาก http://www.aseanvision.com/news-top-detail.jsp?id=20091127110106549334&mm=11&yy=2009
ผมให้ 3/5 เพราะข้อมูลน้อย พร้อมกับการที่มุ่งเน้นสอนเด็กเรื่องภาษา ธงชาติ และอื่นๆ เพียงเล็กน้อยจะทำให้เด็กปรับตัวไม่ทันในการเรียนระดับชั้นต่อไป
ผมให้ 3/5 เพราะข้อมูลน้อย พร้อมกับการที่มุ่งเน้นสอนเด็กเรื่องภาษา ธงชาติ และอื่นๆ เพียงเล็กน้อยจะทำให้เด็กปรับตัวไม่ทันในการเรียนระดับชั้นต่อไป