Praepattra
ผู้ช่วยศาตราจารย์ Praepattra Kiaochaoum

บทบาทของประเทศบรูไนกับอาเซียน


 

9.บรูไนดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)
         

               ประเทศบรูไน มีชื่อเป็นทางการว่า "เนการาบรูไนดารุสซาลาม" มีเมือง "บันดาร์เสรีเบกาวัน" เป็นเมืองหลวง ถือเป็นประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เพราะมีพื้นที่ประมาณ 5,765 ตารางกิโลเมตร ปกครองด้วยระบบสมบูรณาญาสิทธิราช โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มีประชากร 381,371 คน (ข้อมูลปี พ.ศ.2550) โดยประชากรเกือบ 70% นับถือศาสนาอิสลาม และใช้ภาษามาเลย์เป็นภาษาราชการ

 

ข้อมูลทั่วไปของประเทศบรูไน

 

ประเทศบรูไน หรือชื่อทางการว่า “รัฐบรูไนดารุสซาลาม” (State of Brunei Darussalam) หรือในภาษามาเลย์ว่า เนการาบรูไนดารุสซาลาม ในอดีตเคยเป็นรัฐในอารักขาของอังกฤษเมื่อปี พ.ศ.2431 ภายหลังได้รับเอกราชอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2527 ประเทศบรูไนตั้งอยู่บนเกาะบอร์เนียว ชายฝั่งทางด้านเหนือจดทะเลจีนใต้ พรมแดนทางบกที่เหลือถูกล้อมรอบด้วยรัฐซาราวัคประเทศมาเลเซีย มีพื้นที่ราว 5,765 ตารางกิโลเมตร มีประชากรกว่า 408,146 คน (สำรวจปี 2553) ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม (67%) ศาสนาพุทธ (13%) ศาสนาคริสต์ (10%) และศาสนาฮินดู ภาษาทางการ คือ มาเลย์ บรูไนถือเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยมาก ขณะเดียวกันก็เป็นประเทศที่มีค่าครองชีพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก

 

ปัจจุบัน ประเทศบรูไนปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มีสุลต่านเป็นประมุข และดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แบ่งการปกครองเป็น 4 เขต มีเมืองหลักคือ เมืองบันดาร์ เสรี เบกาวัน (เมืองหลวง) เมืองท่ามูอารา และเซรีอา

 


 

พระมหากษัตริย์ และนายกรัฐมนตรี: สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์

         ประเทศบรูไน ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำหนดให้สุลต่านทรงเป็นอธิปัตย์ คือเป็นทั้งประมุข นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โดยรัชกาลปัจจุบัน คือ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ ทรงเป็นพระราชาธิบดีพระองค์ที่ 28 แห่งบรูไน มีพระชนมายุ 66 พรรษา เสด็จขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2510 ดำรงพระอิสริยยศเป็นพระประมุขแห่งรัฐ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และผู้นำทางศาสนาอิสลามแห่งเนการาบรูไนดารุสซาลาม

 

ในด้านเศรษฐกิจ บรูไนเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าหลัก แต่เนื่องจากการคาดการณ์เกี่ยวกับปริมาณน้ำมันสำรองของบรูไนที่จะหมดลงในราวปี 2558 จึงทำให้บรูไนหันมาให้ความสนใจกับทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ  เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ สัตว์น้ำ และพื้นที่ทางการเกษตร เพื่อเร่งรัดการพัฒนารูปแบบของการลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สัมพันธ์กับภาคเกษตร ป่าไม้ และการประมง เพื่อทดแทนอุตสาหกรรมน้ำมัน สกุลเงินของประเทศบรูไน คือ ดอลลาร์บรูไน

 

การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน

               ประเทศบรูไน ดารุสสลาม ได้เข้าเป็นสมาชิกลำดับที่ 6 เมื่อวันที่ 7 มกราคม พ.ศ.2527     การเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของประเทศบรูไนนั้น มีปัจจัยที่สนับสนุนอาจแยกได้เป็น 2 ประการ คือ

 

1)    ด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ แม้บรูไนจะเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อพิจารณาในแง่การพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อาจกล่าวได้ว่าการที่บรูไนเข้าร่วมในสมาคมอาเซียนจะยังประโยชน์ให้แก่บรูไนเป็นอย่างมาก เพราะประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ มีความพร้อมในเรื่องเศรษฐกิจสูงกว่าบรูไน สำหรับในด้านการเมืองและความมั่งคงนั้น บรูไนมีความมั่นใจในระดับหนึ่งว่า หลักการเกี่ยวกับการไม่แทรกแซงกิจการภายใน (non-interference) ของอาเซียน จะเป็นเครื่องค้ำประกันเสถียรภาพของบรูไนจากการแทรกแซงของประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียได้

 

2)    ด้านสถานภาพในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ถือเป็นการยกฐานะของประเทศในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยเหตุที่บรูไนเป็นรัฐขนาดเล็กและเพิ่งได้รับเอกราชใหม่ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างสถานภาพและความเชื่อถือขึ้นในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และการเข้าร่วมกับอาเซียนนั้นก็น่าจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะเพิ่มบทบาทและชื่อเสียงของบรูไนให้เป็นที่รู้จักกันในวงการเมืองระหว่างประทศได้อย่างกว้างขวาง

 

บทบาทของบรูไนในอาเซียน

 

เมื่อพิจารณาในด้านผลประโยชน์ที่อาเซียนจะได้รับจากบรูไน จะพบว่าอาเซียนได้ผลประโยชน์จากความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจที่ได้จากทรัพยากรน้ำมันของบรูไนตามสมควร โดยในช่วงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในเอเชีย (2540) บรูไนได้เข้ามาช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในอาเซียน โดยได้ให้ความช่วยเหลือการแทรกแซงตลาดการเงินภายในภูมิภาคด้วยการระดมทุนจากภายนอกประเทศ ในการซื้อเงินสกุลริงกิตมาเลเซียและเหรียญสิงคโปร์ เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินของภูมิภาค รวมถึงได้แสดงเจตจำนงที่จะมุ่งเน้นนโยบายการลงทุนสู่ประเทศในกลุ่มอาเซียนมากขึ้น และยังได้ให้การช่วยเหลือประเทศอินโดนีเซีย และไทยในลักษณะการให้กู้ยืมเงินเพื่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ความพยายามในการช่วยเหลือประเทศในกลุ่มอาเซียนดังกล่าว ได้เพิ่มบทบาทของบรูไนในอาเซียนมากขึ้น และเป็นการสร้างหลักประกันความมั่งคงให้กับบรูไนอีกทาง

 

เนื่องจากบรูไนเป็นประเทศเล็ก ศักยภาพทางการเมืองและอำนาจต่อรองทางการเมืองไม่สูง ดังนั้น บรูไนจึงมีความพยายามในการเสริมสร้างผลประโยชน์ทางการเมือง เศรษฐกิจและความมั่งคงระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นความเป็นภูมิภาคนิยมมากขึ้น จากเดิมที่มักให้ความสำคัญกับชาติตะวันตกอย่างอังกฤษเจ้าอาณานิคม[1]

 

สำหรับด้านการเมือง การที่อาเซียนมีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเท่ากับเพิ่มน้ำเสียงของอาเซียนในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้หนักแน่นขึ้น ยิ่งกว่านั้น นอกจากบรูไนจะเป็นประเทศที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจด้วยทรัพยากรน้ำมันแล้ว บรูไนยังเป็นสมาชิกองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ อาทิ กลุ่มประเทศเครือจักรภพและองค์การที่ประชุมอิสลาม เป็นต้น จึงมีช่องทางที่จะโน้มน้าวให้ประเทศสมาชิกองค์การต่างๆ เหล่านี้คล้อยตามอาเซียนได้ไม่อยากนัก ดังนั้น การสมัครเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนของบรูไนจึงเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ทั้งบรูไนและอาเซียน[2]

 

ในด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศบรูไนได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 5-6 พฤศจิกายน 2544 ที่เมืองบันดาร์ เสรี เบกาวัน โดยผู้นำบรูไนได้ประนามการก่อวินาศกรรมในสหรัฐฯ พร้อมได้ร่วมลงนามในปฏิญญาการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนว่าด้วยการป้องกันการก่อการร้ายร่วมกัน โดยเป็นความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เพื่อต่อต้านการก่อการร้ายอย่างรอบด้าน และเพื่อที่จะทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดจากภัยคุกคาม ความร่วมมือนี้ได้จะนำมาซึ่งสันติภาพ เสถียรภาพและความมั่นคง ถือเป็นปัจจัยต่อการพัฒนา และความมั่งคั่งยิ่งขึ้นในอาเซียน

 

 อ่านข้อมูลของประเทศบรูไนได้ที่นี่



[1] สุริชัย หวันแก้ว และคณะฯ. อาเซียน : สิ่งท้าทายใหม่และการปรับตัว. (กรุงเทพฯ : สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2548). หน้า 105-106

[2] พิษณุ สุวรรณะชฎ. สามทศวรรษอาเซียน. (กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, 2540). หน้า 103-104.

คำสำคัญ (Tags): #e-trust#อาเซียน
หมายเลขบันทึก: 503324เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2013 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ะึดเ้่าสวมทืิอแปแอิืทมใฝวนรีัะพำกดเ้่าส

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท