10.สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Republic of the Philippines)
ข้อมูลทั่วไปของประเทศฟิลิปปินส์
ประเทศฟิลิปปินส์ หรือชื่อทางการว่า “สาธารณรัฐฟิลิปปินส์” (Republic of the Philippines) เป็นประเทศที่ประกอบด้วยเกาะจำนวน 7,107 เกาะ ที่สำคัญคือเกาะลูซอน หมู่เกาะวิสชายา และเกาะมินดาเนา และเป็นประเทศเดียวที่มีพรมแดนทะเลที่ติดต่อระหว่างกันยาวมากที่สุดในโลก มีพื้นที่ราว 298,170 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ห่างจากเอเชียแผ่นดินใหญ่ทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร มีประชากรกว่า 91 ล้านคน ฟิลิปปินส์ยังเป็นหนึ่งในชาติที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกมากที่สุด และเป็นชาติเดียวในเอเชียที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ โดยเป็นคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก (83%) นิกายโปรแตสแตนท์ (9%) ศาสนาอิสลาม (5%) ศาสนาพุทธและอื่นๆ (3%) ภาษาทางการคือ ภาษาฟิลิปีโน และภาษาอังกฤษ
ปัจจุบัน ประเทศฟิลิปปินส์จัดการปกครองสาธารณรัฐเดี่ยวระบบประธานาธิบดี โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศ แบ่งการปกครองเป็น 17 เขต 80 จังหวัด และ 120 เมือง โดยแบ่งการปกครองย่อยออกเป็น 1,499 เทศบาล และ 41,969 บารังไก (เทียบเท่าตำบลหรือหมู่บ้าน) มีเมืองหลวง คือ มะนิลา
ในด้านเศรษฐกิจ ฟิลิปปินส์มีพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ มะพร้าว อ้อย ป่านอบากา ข้าวเจ้า ไม้มะฮอกกานี แร่เหล็ก โครไมต์ ทองแดง และเงิน ประชากรร้อยละ 60 มีอาชีพเกษตรกรรม และเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหมู่เกาะ ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกส่วนใหญ่อยู่บริเวณที่ราบต่ำและเนินเขาที่ปรับให้เป็นขั้นบันไดในบริเวณเกาะลูซอน ขณะเดียวกันประชากรฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่นิยมประกอบอาชีพในต่างประเทศ ประเทศฟิลิปปินส์จึงพึ่งพารายได้จากแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศ เพื่อการพัฒนาประเทศเป็นส่วนใหญ่[1]สกุลเงินของฟิลิปปินส์ คือ เปโซฟิลิปปินส์
ประธานาธิบดี : นายเบนิกโน อากีโนที่ 3
ประเทศฟิลิปปินส์เคยเป็นเมืองขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกา จึงรับเอาการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามแบบประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้บริหาร ประเทศ โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข และเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศ ซึ่งประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายเบนิกโน อากีโนที่ 3 หรือ เบนิกโน ซีเมออน โกฮวงโก อากีโนที่ 3 ปัจจุบันอายุ 52 ปี ดำรงตำแหน่งตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 15 ของประเทศฟิลิปปินส์ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2553
นายกรัฐมนตรี : ไม่มี
การเข้าเป็นสมาชิกของอาเซียน
ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นหนึ่งใน 5 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งอาเซียนในปี 2510 โดยการร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพฯ ของนายนาชิโช รามอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สืบเนื่องจาก ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ถูกครอบงำโดยจักรวรรดินิยมตะวันตกมาเป็นเวลานานถึง 425 ปี[2] ภายหลังจากได้รับเอกราชจากสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์จึงได้ดำเนินนโยบายเสรีนิยมและนิยมสหรัฐมาโดยตลอด ทั้งการส่งทหารเข้าร่วมรบในสงครามตัวแทนสมัยสงครามเย็น เช่น สงครามเวียดนาม และสงครามเกาหลี รวมถึงการร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ SEATO เพื่อการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ทำให้ในระยะแรก นโยบายต่างประเทศของฟิลิปปินส์ยังคงตั้งอยู่บนรากฐานของการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นสำคัญ กระทั่งมีความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโลกโดยสหรัฐหันมาสร้างความสัมพันธ์กับจีน ทำให้ฟิลิปปินส์ต้องหันไปคบค้ากับจีน และพยายามแสวงหาการค้ำประกันเกี่ยวกับภาวะความมั่นคงด้านการเมืองและเศรษฐกิจภายในประเทศ ด้วยการเข้ามามีบทบาทในองค์การส่วนภูมิภาคอย่างสมาคมอาเซียน
แม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักต่อการร่วมมือระหว่างประเทศในอดีต (สมาคมอาสา และมาฟิลินโด) แต่ก็ยังคงมีความตั้งใจในการเข้ามาเป็นสมาชิกของอาเซียน เพื่อผลประโยชน์ในการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมและความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิก และเพื่อแสดงถึงการเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของชาวฟิลิปปินส์ ที่มักถูกมองโดยสมาชิกอาเซียนว่าไม่ค่อยจะเป็นคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สักเท่าไหร่ เนื่องจากมีวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงศาสนาเป็นแบบตะวันตก นอกจากนี้ ฟิลิปปินส์ยังมีความเชื่อว่าการเข้าร่วมเป็นสมาชิกอาเซียนจะช่วยรักษาความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารของฟิลิปปินส์ เพื่อเตรียมรับกับการที่สหรัฐจะถอนทหารอเมริกันและยกเลิกฐานทัพในฟิลิปปินส์ การเข้าร่วมอาเซียนจึงเป็นหลักประกันได้ว่าฟิลิปปินส์สามารถที่จะมีกลุ่มประเทศคอยให้การสนับสนุนทั้งทางเศรษฐกิจและทางการทหาร โดยกลุ่มประเทศอาเซียนจะเป็นแหล่งการค้าแหล่งใหม่ให้แก่ฟิลิปปินส์ และจะมีการขยายความร่วมมือด้านการทหารของอาเซียน (ซึ่งข้อหลังนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากสมาชิก)
บทบาทของฟิลิปปินส์ในอาเซียน
ในระยะแรกของการเป็นสมาชิกอาเซียน ฟิลิปปินส์ค่อนข้างมีความความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับอาเซียนอยู่ในระดับต่ำ แม้ว่าฟิลิปปินส์จะเริ่มปรับนโยบายทางเศรษฐกิจโดยการลดการพึ่งพาสหรัฐฯ และพัฒนาประเทศในลักษณะพึ่งตนเอง ภายใต้นโยบาย “เอเชียนิยม” ความเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์กับอาเซียนที่เห็นได้ชัด เกิดขึ้นในปี 2519 เมื่อฟิลิปปินส์ประกาศใช้ยุทธศาสตร์การส่งออกใหม่ (National Export Strategy) โดยมุ่งบุกเบิกตลาดใหม่ รวมทั้งเร่งหาแหล่งผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอื่นๆ เพื่อใช้ถ่วงดุลอิทธิพลของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ในระดับภูมิภาค ฟิลิปปินส์ได้มุ่งเข้าหาอาเซียน โดยคาดหวังที่จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในระยะยาว แต่ด้วยเหตุผลที่ฟิลิปปินส์ผูกพันกับมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างสหรัฐมาเป็นเวลานาน ประกอบกับสถานการณ์การเมืองในภูมิภาคไม่มีเสถียรภาพมั่นคงมากนัก จึงทำให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศสมาชิกอาเซียนในระยะแรก (2510-2520) ไม่ประสบผลเท่าที่ควร แต่ต่อมาในช่วงก่อนปี 2540 ได้มีการขยายตัวทางการค้ากับประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 6.5 และมีการลงทุนจากกลุ่มอาเซียน เช่น ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ (Export Processing Zone และ Freeport Zone)[3]
ในด้านบทบาทการเป็นประธานอาเซียน ประเทศฟิลิปปินส์ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 14-15 ธันวาคม 2530 ที่กรุงมะนิลา และครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 11-14 มกราคม 2540 ที่เมืองเซบู ทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ แต่เนื่องจากมีเหตุการณ์พายุใต้ฝุ่นพัดผ่านจึงทำให้การประชุมจำเป็นต้องเลื่อนออกไปเป็นประชุมในวันที่ 10-14 ธันวาคม ในปีเดียวกันแทน จากผลของการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 12 นี้ ประเทศฟิลิปปินส์ในฐานะประธานอาเซียนได้เร่งผลักดันให้มีการหารือเกี่ยวกับการเร่งการก่อตั้งประชาคมอาเซียนให้เร็วขึ้น โดยนายอัลเบอร์โท โรมูโล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฟิลิปปินส์ ได้กล่าวย้ำถึงความร่วมมือในการจัดตั้งอาเซียนเป็นประชาคมแห่งความมั่นคง ประชาคมทางเศรษฐกิจ และประชาคมทางสังคมและวัฒนธรรม เพื่อสร้างครอบครัวใหญ่ที่แบ่งปันกันและเอาใจใส่รักใคร่กัน