Good day Toronto 9


All I feel is pain. I have to go through each shift, with pain and fight with it.

Patient – patient

ฉันมักมาก่อนเวลานัดเสมอ ด้วยความกังวลว่าจะมาสาย ก็จะตื่นแต่เช้า ปลุกนาฬิกา (หมายถึงตื่นก่อนนาฬิกา แล้วรอปลุกนาฬิกาให้ปลุก) ออกจากหอแต่เช้า ใช้เวลาเดินทางประมาณ 45 – 50  นาที ถ้ามาถึงก่อนเวลาเยอะ ฉันก็จะไปยึดแผนกผู้ป่วยนอกของ Oddette cancer center เป็นที่มั่น นั่งสังเกตผู้คนที่นั้น ภาพที่เห็นซ้ำๆจนชินตา คือคนไข้มาแต่เช้า นั่งรอ ร้อ รอ และ รอ อย่างอดทน รอพบแพทย์ รอให้ใครสักคนแวะมาถาม รอลุ้นว่าผลการนัดครั้งนี้จะเป็นอย่างไร ถ้าจะสรุปง่ายๆ ก็คือ “patient (noun) – patient (adjective)”  ...ผู้ป่วย-อดทน... ระหว่างรอ คนไข้บางคนก็จะอ่านหนังสือ นั่งเงียบๆ อย่างอดทนแต่ใจจดใจจ่อ ซึ่งที่ลานแผนกผู้ป่วยนอกจะมี อุปกรณ์ถักนิตติ้งวางไว้ มีนิตยสาร หนังสือความรู้หรือแม้แต่ในปลิวเชิญชวนเข้าร่วมโครงการวิจัย    การจัดวางแบบศิลป์ๆ ไม่เป็นทางการ  ให้ดูน่าหยิบขึ้นมาอ่าน

วันหนึ่งตามเยี่ยมคนมะเร็งระยะสุดท้าย ป้าคนนี้เป็นสาวมั่นมาก ชัดเจนในการตัดสินใจ ป้ารู้ถึงพยากรณ์ของโรค แกตัดสินใจไม่ทำอะไรกับชีวิตแล้ว หมายถึงการรักษาที่ซับซ้อน เช่นการได้รับเคมีบำบัด ขอเพียงให้มีความสุขในแต่ละวัน ได้รับการจัดการอาการที่ดี ป้ามีปัญหาเรื่องของความปวด เมื่อ Sharon ไปเยี่ยมและประเมินเกี่ยวกับการได้รับการจัดการความปวด  ป้าบอกว่า “All I feel is pain. I have to go through each shift, with pain and fight with it.” ได้ยินแล้วมันเจ็บปวดหัวใจ เพราะมันก็สะท้อนถึงคุณภาพการดูแลเหมือนกัน

ยิ่งใช้เวลาในการเปิดตา และเปิดหู สังเกตพฤติกรรมและฟังคำบอกเล่าคนไข้นานขึ้น ก็รู้สึกว่า ความทุกข์ความกังวลใจของคนไข้ ไม่ว่าที่ไหนก็เหมือนกัน สีหน้าคนเมื่อป่วยก็บอกได้ว่าทุกข์ กังวลใจ แต่สิ่งที่ต่างคือ คนไข้ของแคนาดา เขาแสดงออกถึงความรู้สึกให้คนอื่นรับรู้ได้มากกว่า กังวลก็บอกไปตรงๆ ว่ากังวล เปิดเผยทุกเรื่องเหมือนกับว่า ฉันบอกเธอแล้วนะ เธอแก้ปัญหาให้ฉันด้วย นอกจากนี้ ฉันว่าคนไข้ที่นี่รับรู้สิทธิของตัวเองมากกว่า เขาบอกความต้องการ จะถามทุกอย่างทุกเรื่อง และแสวงหาคำตอบในสิ่งที่เขาต้องรู้จากแพทย์และพยาบาลจนได้ มีคนไข้รายหนึ่ง เป็นมะเร็งระยะลุกลาม แพทย์ใช้เวลานั่งคุยกับเขาและสามีนานเกือบชั่วโมง แพทย์ให้ข้อมูลถี่ยิบ มีหลักฐานเชิงประจักษ์ บอกผลการตรวจ การตอบสนองต่อการรักษา แผนการรักษาต่อไป นอกจากนี้การแสดงออกของคนไข้หรือญาติที่นี่ก็ตรงไปตรงมา แต่ สำหรับบ้านเรา คนไข้จะเงียบกว่า เป็นผู้ฟังที่ดีและไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นหรือสอบถามข้อมูลจากแพทย์เท่าไร เรื่องของความเกรงใจและให้แพทย์ตัดสินใจแทน ตามใจหมอแล้วกัน ฝากชีวิตไว้กับหมอแล้วมักเป็นเรื่องที่ได้ยินบ่อยๆ

อีกสิ่งที่คิดว่าต่างคือ ไม่ว่าจะเครียดอยู่ในภาวะกดดันเท่าใดจากการได้รับข่าวร้าย ฉันสังเกตเห็นคนแคนาดา (ไม่อยากใช้คำว่าฝรั่งเพราะว่า มีหลายชาติเหลือเกิน) เหมือนกับว่า เขาจะต้องเผชิญกับมันและผ่านมันให้ได้ เพราะเป็นหน้าที่ที่เขาจะต้องรับผิดชอบชีวิตของตนเอง เวลาเครียดสุดๆ คนอยู่เคียงข้างมากที่สุดคือคู่ชีวิต ส่วนพ่อแม่หรือลูกก็ห่างๆ ก็มาเยี่ยมเยียนเฉยๆ ถ้าไม่มีใคร ก็ด้วยลำแข้ง แต่สำหรับคนไทย เรายังมีมืออีกหลายมือคอยค้ำจุน สนับสนุนให้กำลังใจ ปลอบใจ คอยปลอบไม่เป็นไรนะ ไม่รู้เหมือนกัน คิดยังไม่ชัด แต่รู้สึกว่า เวลาเราโดดเดี่ยว เราไม่รู้สึกถูกทิ้งให้อยู่คนเดียวเท่าไร

ในความเหมือนของคนไข้ในแคนาดา ก็มีความต่างอยู่บ้างเหมือนกัน มีคนไข้หลายคนที่ฉันพบ และได้ติดตามเยี่ยมกับพยาบาล ถ้าเป็นคนไข้สูงอายุที่เพิ่งอพยพย้ายถิ่นมาอยู่ในแคนาดา คนไข้เหล่านี้ก็จะมีลักษณะการแสดงออกที่แตกต่างจากกลุ่มที่มาย้ายและเติบโตอยู่ที่นี่นานแล้ว คนอพยพที่สูงอายุจะมีภูมิหลังทางวัฒนธรรมดั้งเดิมแสดงออกให้เห็น บางคนไม่สามารถพูดสื่อสารกับพยาบาลได้ ก็จะบอกความต้องการผ่านล่ามที่มีบริการให้อยู่ สำหรับกลุ่มวัยผู้ใหญ่ วัยรุ่นที่เติบโตในแคนาดา ยังเห็นภาพที่ไม่ชัด แต่สัมผัสได้ว่าในความเหมือนแต่มีความต่าง   

 

นางฟ้า แถวๆ โรงแรม Fourseason (?) ที่ถนน University avenue

คำสำคัญ (Tags): #ความปวด#ผู้ป่วย
หมายเลขบันทึก: 503304เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2012 10:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขออนุญาตเล่าให้ฟังว่า แม่เป็นมะเร็งตับ ได้รับการรักษาโดยการทำ TACEมา 3 ครั้ง แม่มีความสุขกับการรักษาของแพทย์ที่รพ  โดยอาการทางตับไม่ได้ทรุดลง แต่มีปัญหาว่าหกล้มแล้วปวดขามาก เดินไม่ได้ไปตรวจเอกซเรย์ ที่รพ ใกล้บ้านแพทย์บอกว่าไม่เป็นอะไร กระดูกไม่แตก  กลับไปบ้านนอนไม่ได้ ปวดขามาก กินยาแก้ปวดtramal 50mg ก็ไม่หายไปรพ ใกล้บ้านอีกรอบเพื่อจะพึ่งแพทย์เรื่องช่วยให้หายทรมานจากอาการปวด แพทย์ที่รพนั้นบอกว่า ทำอะไรไม่ได้แล้ว ให้ยาแก้ปวดไม่ได้ เพราะจะทำให้คนไข้เลือดออกได้ง่าย และคนไข้เป็นมะเร็งตับ ที่นี่รักษาไม่ได้ คืนนั้นแม่ต้องนอนทรมานกับความปวดอยู่ทั้งคืน ในรพ ชุมชนแห่งนั้น โดยแม่ไม่ได้รับยาแก้ปวดเลยแม้แต่เข็มเดียว

เกิดอะไรขึ้น ทำไมแพทย์ไม่ได้ใส่ใจเรื่องความปวดของผู้ป่วยเลย เรารู้ว่ามะเร็งตับรักษาไม่หาย แต่เราอยากให้ช่วยจัดการอาการปวดที่เกิดขึ้นให้ทุเลาลงแค่นั้น เศร้ามากกับการกระทำของแพทย์ที่ไม่กล้าให้ยาแก้ปวด เนื่องจากกลัวอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น และปล่อยให้คนไข้ทรมาน

ที่สำคัญพยาบาลทีดูแลผู้ป่วยก็ไม่ได้มีส่วนช่วยในการทำให้ผู้ป่วยบรรเทาทุกข์ทรมานจากความปวดเลย

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท