พุทธปรัชญากับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน


ชีวิต...คือ...การเดินทาง

(Life is Journey.)

 

 

ตัวอย่างเหตุการณ์               การเดินทางไปเรียนปริญญาโทของข้าพเจ้า
สภาพการณ์                         
เดินทางได้ดี 70% หมายความว่า สามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน  80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ลักษณะของผู้ขับขี่
มีความชำนาญ 60% หมายความว่า ขับขี่ยานพาหนะไม่เกิน 5 ปี
ระยะเวลาที่ใช้                       ไม่เกิน 2 ชั่วโมง
ระยะทาง                              ประมาณ 100 กิโลเมตร

 

ทำไมจึงเปรียบชีวิตกับการเดินทาง
เพราะการเดินทางทุกครั้งย่อมต้องมีจุดหมายปลายทาง เทียบได้กับเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคล การเดินทางบางครั้งอาจพบเจออุปสรรคระหว่างทาง เทียบได้กับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของแต่ละช่วงวัยตั้งแต่ปัญหาขนาดเล็กไปจนถึงปัญหาที่รุนแรง ซึ่งการเดินทางทุกครั้งเราควรต้องตรวจสภาพจิตใจและสภาพยวดยานพาหนะที่ใช้ว่าอยู่ในสภาวะที่ดีพร้อมแก่การใช้งานในการเดินทางได้หรือไม่ เปรียบได้กับการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้ชีวิตสามารถก้าวเดินต่อไปได้อย่างมีความสุข จนถึงเป้าหมายสุดท้ายของการเดินทางเทียบได้กับเป้าหมายปลายทางของการเกษียณอายุอย่างมีความสุข

 

 

 

 

 

การเดินทางแต่ละครั้งมีปัจจัยอะไรมากระทบบ้าง
อย่างแรกสุดคือสภาพของพื้นผิวจราจร หากไม่ดีพอที่จะสัญจรไปมาได้อย่างปลอดภัย ก็เปรียบได้กับสภาพความเป็นอยู่ที่เป็นพื้นฐานของการดำรงอยู่ของชีวิต ตั้งแต่ผู้ให้กำเนิดชาติตระกูล การศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้บุคคลสามารถตั้งมั่นอยู่ในคุณความดีได้ ปัจจัยนี้สามารถแก้ไขได้หากบุคคลนั้นมีบุญเก่ามาเกื้อหนุนไม่ตกไปสู่อบายภูมิ สามารถนำพาตนเองออกจากเส้นทางอันไม่พึงประสงค์ ถ้าหากไร้แล้วซึ่งบารมีเก่าจะมีสิ่งใดที่นำพาให้ออกจากขุมนรกนี้ได้ หากไม่ใช่การศึกษาที่ดี ดังนั้นการศึกษาที่สอดแทรกคุณธรรมที่สามารถฉุดรั้งให้คนที่อยู่ในจุดต่ำสุดของสังคมพลิกฟื้นกลับมายืนได้อย่างภาคภูมิก็น่าจะเป็นหลักธรรมแห่งอิทธิบาท 4 ประการ

คำว่า อิทธิบาท แปลว่า บาทฐานแห่งความสำเร็จ หมายถึง สิ่งซึ่งมีคุณธรรม เครื่องให้ลุถึงความสำเร็จตามที่ตนประสงค์ ผู้หวังความสำเร็จในสิ่งใด ต้องทำตนให้สมบูรณ์ ด้วยสิ่งที่เรียกว่า อิทธิบาท ซึ่งจำแนกไว้เป็น ๔ คือ

๑. ฉันทะ ความพอใจรักใคร่ในสิ่งนั้น

๒. วิริยะ ความพากเพียรในสิ่งนั้น

๓. จิตตะ ความเอาใจใส่ฝักใฝ่ในสิ่งนั้น

๔. วิมังสา ความหมั่นสอดส่องในเหตุผลของสิ่งนั้น

 

ธรรม ๔ อย่างนี้ ย่อมเนื่องกัน แต่ละอย่างๆ มีหน้าที่เฉพาะของตน

ฉันทะ คือความพอใจในฐานะ เป็นสิ่งที่ตนถือว่าดีที่สุดที่มนุษย์เราควรจะได้ข้อนี้เป็นกำลังใจอันแรกที่ทำให้เกิดคุณธรรมข้อต่อไปทุกข้อ

วิริยะ คือความพากเพียร หมายถึง การการะทำที่ติดต่อ ไม่ขาดตอน เป็นระยะยาวจนประสบ ความสำเร็จ คำนี้มีความหมายของ ความกล้าหาญ เจืออยู่ด้วยส่วนหนึ่ง

 

จิตตะ หมายถึงความไม่ทอดทิ้งสิ่งนั้นไปจากความรู้สึกของตัว ทำสิ่งซึ่งเป็นวัตถุประสงค์นั้นให้เด่นชัดอยู่ในใจเสมอ คำนี้รวมความหมายของคำว่า สมาธิ อยู่ด้วยอย่างเต็มที่

วิมังสา หมายถึงความสอดส่องในเหตุและผลแห่งความสำเร็จเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ให้ลึกซึ้งยิ่งๆ ขึ้นไปตลอดเวลา คำนี้รวมความหมายของคำว่า ปัญญา ไว้อย่างเต็มที่

 

ปัจจัยที่เข้ามากระทบเป็นอย่างที่สองก็คือสภาพอากาศในการเดินทางแต่ละครั้ง ก็เทียบได้กับปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นมาตามแต่ละช่วงวัยของชีวิตคนเรา ตั้งแต่เรื่องเล็กน้อยเช่น เพื่อนนักเรียนแกล้ง ครูบาอาจารย์กลั่นแกล้ง (กรณีนี้มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งอาทิครูผู้ชายข่มขืนนักเรียนหญิง และที่เกิดเมื่อไม่นานมานี้ก็คือครูไม่ยอมรับเด็กนักเรียนชายที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ)เพื่อนร่วมงานส่อเสียดหรือใส่ร้ายป้ายสี เพราะกลัวจะได้ดีเกินหน้าตน จนถึงสามีภรรยาประทุษร้ายกันเพื่อแย่งชิงสมบัติพัสถาน บางครั้งที่พี่น้องร่วมอุทรเดียวกันก็ทำร้ายกันจนถึงแก่ชีวิตก็เพราะเหตุผลแห่งความโลภโมโทสันนี้เอง แล้วจะมีคุณธรรมอันใดเล่าที่จักช่วยเยียวยาสังคมอันเหลวแหลกนี้ได้หากไม่ใช่อภิณหปัจจเวกขณ์ 5 ประการซึ่งเป็นข้อที่สตรีก็ตาม บุรุษก็ตาม คฤหัสถ์ก็ตาม บรรพชิตก็ตาม ควรพิจารณาเนืองๆ ดังนี้

1. ชราธัมมตา  ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้

2. พยาธิธัมมตา  ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา ไมล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้

3. มรณธัมมตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้

4. ปิยวินาภาวตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เราจักต้องมีความพลัดพรากจากของรักของชอบใจทั้งสิ้น

5. กัมมัสสกตา ควรพิจารณาเนืองๆ ว่า เรามีกรรมเป็นของตน เราทำกรรมใด ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม จักต้องเป็นทายาท ของกรรมนั้น

 

       ข้อที่ควรพิจารณาเนืองๆ 5 อย่างนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อละสาเหตุต่างๆ มี ความมัวเมา เป็นต้น  ที่ทำให้สัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในความประมาท และประพฤติทุจริตทางไตรทวาร กล่าวคือ :-

       ข้อ 1 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความเป็นหนุ่มสาวหรือความเยาว์วัย

       ข้อ 2 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในความไม่มีโรค คือ ความแข็งแรงมีสุขภาพดี

       ข้อ 3 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความเมาในชีวิต

       ข้อ 4 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความยึดติดผูกพันในของรักทั้งหลาย

       ข้อ 5 เป็นเหตุละหรือบรรเทาความทุจริตต่างๆ โดยตรง

       เมื่อพิจารณาขยายวงออกไป เห็นว่ามิใช่ตนผู้เดียวที่ต้องเป็นอย่างนี้ แต่เป็นคติธรรมดาของสัตว์ทั้งปวงที่จะต้องเป็นไป เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้เสมอๆ มรรคก็จะเกิดขึ้น เมื่อเจริญมรรคนั้นมากเข้า ก็จะละสังโยชน์ทั้งหลาย สิ้นอนุสัยได้ (อนุสัย - กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี 7 คือ  1. กามราคะ ความกำหนัดในกาม   2. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด   3. ทิฏฐิ ความเห็นผิด   4. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย   5. มานะ ความถือตัว   6. ภวราคะ ความกำหนัดในภพ   และ 7. อวิชชา ความไม่รู้จริง)

 

 

ปัญหาทั้งหลายที่พัดผ่านเข้ามาในชีวิตของเราล้วนแล้วแต่ต้องมีเหตุและปัจจัย นั่นก็คือกรรมเป็นตัวกำหนด กรรมคือการกระทำ หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา คือทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เช่น ขุดหลุมพรางดักคนหรือสัตว์ให้ตกลงไปตาย เป็นกรรม  แต่ขุดบ่อน้ำไว้กินใช้ สัตว์ตกลงไปตายเอง ไม่เป็นกรรม (แต่ถ้ารู้อยู่ว่าบ่อน้ำที่ตนขุดไว้อยู่ในที่ซึ่งคนจะพลัดตกได้ง่าย แล้วปล่อยปละละเลย มีคนตกลงไปตาย ก็ไม่พ้นเป็นกรรม)

       การกระทำที่ดีเรียกว่า “กรรมดี”   ที่ชั่ว เรียกว่า “กรรมชั่ว”

 

 

กรรม 2 จำพวก - กรรมจำแนกตามคุณภาพ หรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี ๒ คือ

       1. อกุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล

       2. กุศลกรรม กรรม(การกระทำ)ที่เป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล

 

กรรม 3 จำพวก - กรรมจำแนกตามทวารคือทางที่ทำกรรม มี ๓ คือ

       1. กายกรรม การกระทำทางกาย

       2. วจีกรรม การกระทำทางวาจา

       3. มโนกรรม การกระทำทางใจ

 

เมื่อเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมานี้มีเหตุและปัจจัย และย่อมไม่สามารถทำให้หมดไปได้ แต่หากสามารถทำให้จิตใจเราเป็นสุขขึ้นทั้ง ๆ ที่ยังทุกข์อยู่ ก็เพราะเรามีสติเป็นตัวกำหนดรู้ได้ แล้วตัวสตินี้เขาได้กันมาแต่หนใดเล่า สติเกิดจากการฝึกอบรมจิตให้ตั้งมั่นจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งซึ่งนำไปสู่การเกิดปัญญาเพื่อให้สามารถหาทางออกแห่งปัญหาได้อย่างฉับพลัน ดังนั้นเราจึงควรฝึกอบรมจิตให้ดีพร้อมด้วยการเจริญสติปัฏฐาน 4 เป็นการปฏิบัติที่พระพุทธองค์ท่านตรัสว่าเป็นทางสายเอก(เอกายนมรรค)  เมื่อปฏิบัติอย่างดีงามย่อมเป็นเครื่องสนับสนุนให้โพชฌงค์๗องค์แห่งการตรัสรู้บริบูรณ์ ซึ่งยังให้วิชชาและวิมุตติบริบูรณ์ จึงถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ ดังที่ตรัสแสดงไว้อย่างแจ่มแจ้งในกุณฑลิยสูตร    ในการศึกษาการปฏิบัติทั้งหลายไม่ว่าในทางโลกหรือทางธรรมก็ตามที ต่างล้วนต้องเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เสียก่อน กล่าวคือ ต้องมีปัญญาหรือวิชชาเป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จึงเริ่มลงมือปฏิบัติ จึงถูกต้องดีงาม อันจักยังผลให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างถูกต้องแนวทาง  ดังนั้นจึงควรมีความเข้าใจด้วยการศึกษาธรรมให้เข้าใจจุดประสงค์อย่างถูกต้องด้วย  เพราะเป็นที่นิยมปฏิบัติกันโดยไม่ศึกษาให้ดีงามเสียก่อน  เริ่มต้นปฏิบัติก็มักเพราะเป็นทุกข์กำลังรุมเร้า หรือด้วยความเป็นพุทธศาสนิกชนที่ได้ยินได้ฟังมาอยู่เนืองๆ ก็เริ่มปฏิบัติอานาปานสติหรือสติปัฏฐาน 4 โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจเลย ดังนั้นแทนที่เป็นการฝึกสติ,ใช้สติชนิดสัมมาสติ กลับกลายเป็นการฝึกการใช้มิจฉาสติจึงได้มิจฉาสมาธิแบบผิดๆ อันให้โทษ จึงเกิดขึ้นและเป็นไปตามพุทธพจน์ตามที่แสดงไว้ข้างต้น ดังเช่นการติดสุข คือสุขในวิปัสสนูปกิเลสอันให้โทษ,   จึงอุปมาเหมือนการเรียนเคมี โดยไปปฏิบัติในห้องปฏิบัติการเสียเลย ด้วยเข้าใจว่าไปเรียนไปศึกษาจากการปฏิบัติโดยตรงคงยังให้เกิดความรู้ความเข้าใจขึ้นเอง ด้วยเหตุดั่งนี้เอง จึงเกิดอุบัติเหตุการระเบิดขึ้นได้ด้วยความไม่รู้หรืออวิชชานั่นเอง  จึงสมควรอย่างยิ่งที่ต้องมีการเรียนรู้ให้เข้าใจจุดประสงค์เป็นพื้นฐานบ้างเสียก่อน จะได้ดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางสมดังพุทธประสงค์ คือสัมมาสติที่เป็นไปเพื่อการดับทุกข์ อันเป็นสุขยิ่ง

สติปัฏฐาน 4 จึงเป็นการฝึกสติและใช้สติ สมดังชื่อ ที่ความหมายว่า การมีสติเป็นฐาน, ธรรม(สิ่ง)ที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ  ซึ่งเมื่อเกิดสัมมาสติขึ้นแล้ว ย่อมยังให้เกิดจิตตั้งมั่นอันคือสัมมาสมาธิร่วมด้วยโดยธรรมหรือธรรมชาติ  แล้วนำทั้งสัมมาสติและสัมมาสมาธินั้นไปดำเนินการพิจารณาในธรรมคือเจริญวิปัสสนา ในธรรมทั้งหลายดังที่แสดงในธัมมานุปัสสนา หรือธรรมอื่นใดก็ได้ตามจริต สติ ปัญญา มิได้จำกัดแต่เพียงในธรรมานุปัสสนาเท่านั้น

สติปัฏฐาน ๔ แปลว่า ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งสติ, หรือข้อปฏิบัติที่ใช้สติเป็นประธานหรือหลัก ในการกำหนดระลึกรู้หรือพิจารณาสิ่งทั้งหลาย ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงของธรรม(ธรรมชาติ)นั้นๆ  โดยไม่ถูกครอบงําด้วยความยินดียินร้าย(ตัณหา)ที่ทําให้เห็นผิดไปจากความเป็นจริงตามอํานาจของกิเลสตัณหา  หรือกล่าวได้ว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นธรรมที่ตั้งแห่งสติ

จุดประสงค์เพื่อฝึกสติ และใช้สตินั้นพิจารณาและรู้เท่าทันใน กาย เวทนา จิต และธรรม  เพื่อให้เกิดนิพพิทาความคลายกำหนัดความยึดความอยากจากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสิ่งนั้นๆ จึงคลายตัณหา  จึงเป็นไปเพื่อนำออกและละเสียซึ่งตัณหาและอุปาทานความยึดมั่นถือมั่นในกิเลสด้วยความพึงพอใจหรือสุขของตัวของตนเป็นสำคัญ  ที่มีในสันดานของปุถุชนอันก่อให้เกิดความทุกข์โดยตรงด้วยเป็นสมุทัยเหตุแห่งทุกข์,  พระองค์ท่านแบ่ง สติปัฏฐาน 4 ออกเป็น 4 หมวดใหญ่ด้วยกัน คือ

1. กายานุปัสสนา การมีสติในกายเป็นอารมณ์ คือมีสติกำหนดพิจารณากาย  ให้เห็นกายในกาย คือเห็นตามความเป็นจริงของกาย เช่น "เป็นเพียงการประชุมกันของเหตุปัจจัยอันมีธาตุ 4 ดิน นํ้า ลม ไฟ" (อ่านรายละเอียดในไตรลักษณ์)  หรือการเกิดแต่เหตุที่เป็นของสกปรกปฏิกูลโสโครกประกอบหรือเป็นปัจจัยกันขึ้น(ทวัตติงสาการ)  หรือการพิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายเพื่อให้เกิดนิพพิทา อันล้วนเป็นไปการระงับหรือดับตัณหาและอุปาทานโดยตรงทั้งสิ้น

        ในขั้นแรกนั้น เป็นการฝึกให้มีสติเสียก่อน  โดยฝึกดูลมหายใจที่หายใจเข้า ที่หายใจออก อย่างมีสติ,  หรือการมีสติอยู่ในอิริยาบถของกาย(ไม่ใช้การใช้อิริยาบถของกายเป็นอารมณ์จนเกิดสมาธิโดยไม่รู้ตัว)  แล้วใช้สตินั้นในการพิจารณากายในแบบต่างๆ ตลอดจนการเกิดดับต่างๆของกาย ฯลฯ. ล้วนเพื่อให้เกิดนิพพิทา เพื่อให้จิตลดละความยินดียินร้ายในกายแห่งตนและบุคคลอื่นเมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงของกายนั้นว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา  จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นพึงพอใจหรือหลงใหลในกายแม้ตัวตนของตนหรือบุคคลอื่น  เป็นการตัดกำลังตัณหาและอุปาทานโดยตรงทางหนึ่ง ซึ่งท่านแบ่งเป็น 6 แบบ

        1.1 อานาปานสติ  ขอเน้นว่าจุดประสงค์อยู่ที่สติ โดยให้จิตคือสติกําหนดตามดูหรือรู้ตามลมหายใจเข้าออกแบบต่างๆ  ตลอดจนสติสังเกตเห็นอาการของลมหายใจ  มีจุดประสงค์เพื่อฝึกให้มีสติและเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก  เหตุเพราะลมหายใจนั้นก็สามารถใช้เป็นอารมณ์หรือการวิตกในการทำฌานหรือสมาธิได้ด้วย  ข้อนี้จึงมักสับสนกันอยู่เนืองๆ จนก่อโทษ  จึงทำสติต้องเป็นสติ  สมาธิก็เป็นสมาธิ  กล่าวคือเมื่อทำสติต้องเป็นสติ จึงเป็นสัมมาสติ  เมื่อตั้งใจทำสมาธิแล้วเป็นสมาธิก็เป็นสัมมาสมาธิ   แต่บางครั้งคราวในการปฏิบัติอาจมีการเลื่อนไหลเพราะสติขาดเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งเป็นคราว เป็นเรื่องปกติธรรมดาไม่ต้องกังวล  เนื่องจากบางครั้งฝึกสติก็จริงอยู่ แต่เกิดอาการขาดสติหรือสติอ่อนลงเป็นครั้งคราวบ้างจึงเลื่อนไหลไปเป็นฌานหรือสมาธิแทน  อย่างนี้ไม่เป็นไร  (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอานาปานสติในกายคตาสติสูตร),  การตั้งกายตรง ก็เพื่อช่วยดำรงสติไว้ ไม่ให้เลื่อนไหลไปง่วงหาวนอนได้ง่ายๆในขณะปฏิบัติ

        อานาปานสติ นอกจากฝึกสติแล้วสามารถใช้วิปัสสนาได้เช่นกัน โดยการพิจารณาลมหายใจที่หายใจเข้าออกอยู่นั้นๆว่า เป็นกายสังขาร คือถูกกายปรุงแต่งขึ้น พิจารณาความไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา  ดังเช่น ลมหายใจนั้น เป็นไปในลักษณาการ เกิดดับ เกิดดับ....อยู่ตลอดเวลาที่ยังดำรงขันธ์อยู่  เพียงแต่การเกิดดับเป็นไปอย่างต่อเนื่อง.

        1.2 อิริยาบถ  คือกําหนดสติให้ระลึกรู้ในอิริยาบถอาการต่างๆ ของกาย เช่น เดิน นอน ยืน นั่งฯลฯ. คือมีสติรู้ในอิริยาบถต่างๆ นั่นเอง  มีจุดประสงค์เช่นเดียวกับอานาปานสติคือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก  ไม่ได้มีจุดประสงค์โดยตรงเพื่อใช้เป็นอารมณ์ในการทำสมาธิหรือฌาน (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องอิริยาบถในกายคตาสติสูตร)

        ดังนั้นอานาปานสติจึงใช้ปฏิบัติเมื่อวิเวก   ส่วนอิริยบถอาจใช้โดยทั่วไปได้เนืองๆ ในการดำรงชีวิตประจำวันเช่นเดียวกับสัมปชัญญะ

        1.3 สัมปชัญญะ  ความรู้ตัวคือปัญญาในการให้มีสติต่อเนื่องในการกระทําหรือการเคลื่อนไหว เช่นเดิน ดื่ม กิน ถ่าย วิ่ง ตื่น หลับ ฯลฯ. กล่าวคือมีสติอย่างรู้ตัวทั่วพร้อม  สติระลึกรู้อย่างต่อเนื่องสลับสับเปลี่ยนอิริยาบทกันได้ ตามที่สติระลึกรู้ตามความเป็นจริง มีสติระลึกรู้ไม่เพ่งจนแน่วแน่เพื่อการเป็นสมาธิระดับสูงหรือประณีตแต่อย่างใด ใช้แค่ขณิกสมาธิเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เพราะต้องการฝึกสติเป็นหลัก  ไม่ใช่สมาธิ สมาธิเป็นผลที่เกิดรองลงมาเท่านั้น ซึ่งอาจเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิในระดับประณีตได้โดยธรรมหรือธรรมชาติอีกด้วย แต่ต้องไม่ใช่เจตนาฝึกสติแล้วไหลเลื่อนเป็นฌานสมาธิเสียทุกครั้งไป ดังเช่น การใช้การจงกรมไปในการเจริญสมาธิเป็นสำคัญก็มี กล่าวคือการใช้ท่าการเดินนั้นเป็นอารมณ์เพื่อเน้นให้เกิดความสงบจากฌานสมาธิเสียเป็นสำคัญแต่อย่างเดียว ไม่ได้สนใจสติหรือปัญญาเลย  แล้วไปเข้าใจเอาว่า ความสงบนั้นถูกต้องดีงามแล้ว  มีจุดประสงค์เช่นเดียวกัน คือเพื่อละความดำริพล่านคือฟุ้งซ่านเป็นสำคัญหรือเป็นธรรมเอก (ดังแสดงจุดประสงค์ไว้อย่างชัดเจนเรื่องสัมปชัญญะในกายคตาสติสูตร)   หรือการรู้ตัวทั่วพร้อมในกิจหรืองานที่กระทำนั่นเอง

 

        1.4 ปฏิกูลมนสิการ เมื่อมีสติในสิ่งดังกล่าวข้างต้น จิตย่อมไม่ดำริพล่านออกไปปรุงแต่งฟุ้งซ่าน จึงใช้สติที่ฝึกมานั้นอันย่อมประกอบด้วยสมาธิจิตตั้งมั่นอยู่ในที เนื่องจากการละดำริพล่านลงไปเสีย  จึงนำสติและจิตตั้งมั่นนั้นไปใช้พิจารณาส่วนต่างๆของร่างกายว่าล้วนเป็นสิ่งปฏิกูล ไม่สะอาด โสโครก ต้องเข้าใจว่ากายตน(เห็นกายในกายภายใน) และกายของบุคคลอื่น(เห็นกายในกายภายนอก)ต่างก็เป็นเฉกเช่นนี้ ล้วนเป็นไปเพื่อให้เกิดนิพพิทาเพื่อลดละความยึดมั่นพึงพอใจหลงใหลในกายตนและในกายบุคคลอื่นลง  เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงว่าล้วนแล้วแต่เป็นของปฏิกูลโสโครก เพื่อคลายความหลงใหลรักใคร่ยึดมั่นมันลงไป จึงคลายกำหนัด ดังมีกล่าวแสดงรายละเอียดไว้ในกายคตาสติสูตร  หรือดังภาพที่แสดงในทวัตติงสาการ

        1.5 ธาตุมนสิการ พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงของกายนี้ว่า เป็นเพียงก้อนหรือมวลหรือฆนะของธาตุทั้ง ๔ อันล้วนไม่งาม ไม่สะอาด มาประชุมกันเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดกายนี้ชั่วขณะระยะหนึ่ง ทั้งกายตนเองและบุคคลอื่นเช่นกัน   ดังที่ได้กล่าวไว้ ๒ ลักษณะในการพิจารณาในไตรลักษณ์  และกายคตาสติสูตรโดยละเอียด

        1.6 นวสีวถิกา คือพิจารณาซากศพในสภาพต่างๆ เป็นระยะๆ ๙ แบบหรือระยะ จนผุพังเน่าเปื่อยไปในที่สุด และต้องเข้าใจว่ากายตนแลผู้อื่นต่างก็ล้วนต้องเป็นเฉกเช่นนี้  ไม่เป็นอื่นไปได้ (ภาพอสุภะ) ในทางปฏิบัติของการเห็นกายในกาย คือมีสติระลึกรู้อยู่เนืองๆ ว่า สักแต่ว่ากายตามที่ได้พิจารณาเข้าใจ เพื่อให้บังเกิดนิพพิทาญาณ จึงดับตัณหา

        อนึ่งพึงระลึกรู้ด้วยว่า  การมีสติอยู่กับกาย เป็นเพียงการระลึกรู้เท่าทันกาย ทั้งทางด้านปัญญาด้วยเช่นว่าไม่งามเป็นปฏิกูลเพื่อความนิพพิทา   แต่ถ้าแน่วแน่แต่อย่างเดียวขาดสติการระลึกรู้ก็กลับกลายเป็นสมถสมาธิไปได้โดยไม่รู้ตัว (หมายความว่า มีความตั้งใจฝึกสติ แต่ไปทำสมาธิเสียโดยไม่รู้ตัว)

        อนึ่งพึงทำความเข้าใจให้แจ่มแจ้งว่า การมีจิตอยู่กับกายหรือกายานุปัสสนานั้น มิได้มีความหมายไปว่า ส่งจิตไปแช่นิ่งภายในส่วนกายตน ไม่ได้หมายถึงการมีจิตอยู่ในร่างกายภายในหรือภายนอกตน  เพราะเป็นความเข้าใจผิดอย่างแรงกล้า จนเกิดผลร้ายได้  ก่อให้เกิดอาการจิตส่งใน เป็นที่สุด ที่เลิกได้ยากแสนยาก และเป็นโทษในภายหลังอย่างรุนแรงและที่สำคัญคือโดยไม่รู้ตัวอีกเสียด้วย

(พระอภิธรรม แสดงความหมายของกายภายใน จึงไม่ใช่ การส่งจิตเข้าไปแช่หรือจับจ้องในกายตน หรือจิตส่งใน   และแสดงกายภายนอก)

 

2. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐานคือสติกําหนดพิจารณาเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ที่บังเกิดขึ้นเป็นธรรมดาจาการกระทบคือผัสสะ  ให้เห็นเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วพิจารณาให้เห็นตามความจริงของเวทนาว่า "เวทนาเป็นสักแต่ว่าเป็นการรับรู้ การเสพรสอารมณ์ที่มากระทบสัมผัส(ผัสสะ)ทั้งในทางใจและกายคือใน รูป, เสียง, กลิ่น, รส, สัมผัส, ธรรมารมณ์ เป็นขบวนการธรรมชาติหรือสภาวธรรมแท้อันยิ่งใหญ่ที่มีในมนุษย์ทุกผู้นาม เป็นทุกข์โดยธรรมชาติ  เป็นเพียงกระบวนการรับรู้ในขั้นแรกๆที่เอาข้อมูลมาจากสัญญา(ความจํา)อดีตหรืออาสวะกิเลส    ยังไม่ใช่ความทุกข์จริงๆ   พิจารณาให้เห็นว่าเมื่อมีการผัสสะย่อมเกิดเวทนาอันมี สุขเวทนา ทุกขเวทนาและอทุกขมสุข(ไม่สุขไม่ทุกข์)อย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นเป็นธรรมดาทุกครั้งทุกทีไป  ซึ่งเป็นเวทนาปกติหรือเป็นไปโดยธรรมหรือธรรมชาติ  หลีกเลี่ยงหลบหนีไม่ให้เกิดไม่ให้เป็นไม่ได้ เป็นหลักธรรมชาติธรรมดาๆแต่สูงสุด  จิตจะได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาหรือการเสพรสอารมณ์ ที่บังเกิดนั้นๆ จึงไม่เกิดตัณหาขึ้น จึงเป็นเพียงสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาตามธรรมหรือธรรมชาติแต่ย่อมไม่เร่าร้อนเผาลนดังเวทนาที่ประกอบด้วยอุปาทาน(เวทนูปาทาน)  ดังพุทธพจน์ที่แสดงไว้ให้เข้าใจและรู้เท่าทันในเวทนาดังนี้

        เมื่อเป็นสุขเวทนาก็ให้รู้ว่าเป็นสุขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี

        เมื่อเป็นทุกขเวทนาก็ให้รู้ว่าเป็นทุกขเวทนา เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี

        เมื่อเป็นอทุกขมสุขก็ให้รู้ว่าเป็นอทุกขมสุข เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี

        เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดมีอามิส(เครื่องล่อใจ-เจือกิเลส)ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี

        เมื่อเป็นสุข เป็นทุกข์ เป็นอทุกขมสุข ชนิดไม่มีอามิส ก็รู้ว่ามี เมื่อไม่มีก็รู้ว่าไม่มี

เวทนาเป็นเพียงสักแต่ว่าเวทนาคือความรู้สึกที่เกิดขึ้นและจำต้องรับรู้  ที่แท้จริงก็แค่ความรู้สึกที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทบจึงไม่ควรไปยึดมั่น  เกิดขึ้นและเป็นไปตามธรรมหรือสภาวธรรมหรือธรรมชาติจริงๆ ตามเหตุปัจจัยอันมาปรุงแต่ง หรือมาผัสสะ  จึงเกิดๆดับๆ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่มีตัวไม่มีตนแท้จริง จึงไม่ใช่เราไม่ใช่ของเราอย่างแท้จริงอีกด้วย จึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้,   เห็นเวทนาทั้งในเวทนาตนเอง(เห็นเวทนาในเวทนาภายใน  แต่ไม่ใช่อาการของจิตส่งในแต่อย่างใดด้วยเข้าใจผิด)  และเห็นเวทนาในเวทนาบุคคลอื่น(เห็นเวทนาในเวทนาภายนอก  จึงไม่ใช่อาการจิตส่งออกนอกไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่งแต่อย่างใด)

ในทางปฏิบัติของ เห็นเวทนาในเวทนา คือมีสติรู้อยู่เนืองๆ ว่า เวทนาสักแต่ว่าเวทนา อันย่อมต้องเกิดความรู้สึกจากการรับรู้ในอารมณ์ที่ผัสสะกันเป็นธรรมดาโดยธรรมชาติหรือตถตา  จึงไม่ไม่ยึดมั่นหมายมั่นในเวทนาเหล่าใดเหล่านั้น ด้วยการอุเบกขาไม่เอนเอียงไปนึกคิดปรุงแต่งคือฟุ้งซ่านอันยังให้เกิดเวทนาขึ้นอีก อันจักเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหา อันทําให้เกิดทุกข์ อันเป็นไปตามปฏิจจสมุปบาทธรรม  กล่าวคือไม่ต่อล้อต่อเถียงกับจิต อันเป็นการเปิดโอกาสให้จิต หลอกล่อไปปรุงแต่งต่างๆนาๆให้เกิดเวทนาๆต่างๆนาๆ อันอาจเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดทุกข์อุปาทานโดยไม่รู้ตัวด้วยความไม่รู้คืออวิชชา

(พระอภิธรรม แสดงความหมายของเวทนาภายใน จึงไม่ได้หมายถึงอาการส่งจิตไปแช่นิ่งภายในหรือจิตส่งใน   และแสดงเวทนาภายนอก)

 

3. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน คือการเห็นจิตในจิต หรือสติระลึกรู้เท่าทันหรือพิจารณาจิต (จิตตสังขารหรือมโนสังขารเช่นความคิด,ความนึก คือธรรมารมณ์ต่างๆ) และโดยเฉพาะอาการของจิตหรือกริยาของจิต(เจตสิก) ดังเช่น ราคะ, โทสะ,โมหะ, ฟุ้งซ่าน หดหู่ เป็นสมาธิ ฯ.  ที่ย่อมยังให้เกิดเศร้าหมองหรือผ่องแผ้วเป็นอารมณ์ คือ มีสติระลึกรู้เท่าทันในจิตตสังขาร ตามสภาพเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้นๆ (บ้างเรียกกันว่าเห็นจิตในจิต) เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ก็รู้ว่าจิตมี,  จิตปราศจากราคะ โทสะ โมหะก็รู้ว่าปราศจากราคะ โทสะ โมหะ,  จิตหดหู่ ก็รู้ชัดว่าจิตหดหู่  หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ชัดว่าจิตฟุ้งซ่าน ทั้งในของตนเองและของบุคคลอื่น อันเพื่อเป็นเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ  และพิจารณาการเกิดๆ ดับๆ ว่า เป็นไปตามธรรมคือสภาวธรรมหรือธรรมชาติ ล้วนไม่เที่ยงของจิตตสังขารดังกล่าว

    เห็นจิตในจิต หรือ จิตเห็นจิต  ถ้าเข้าใจขันธ์ ๕ จักเข้าใจได้ว่าหมายถึงการมีสติเห็นจิตตสังขารที่บังเกิดขึ้น (จิตสังขารหรือมโนสังขารในขันธ์๕นั่นเอง ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน)  อันมีตามที่ท่านตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตรดังนี้ คือมี

    จิตมีราคะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยราคะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง ที่ประกอบด้วยความกำหนัดความปรารถนาในกามทั้ง๕ นั่นเอง

    จิตมีโทสะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโทสะ กล่าวคือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความโกรธความขุ่นเคือง นั่นเอง

    จิตมีโมหะ เป็นเจตสิก คืออาการของจิตที่ประกอบด้วยโมหะความหลง หรือกลุ่มของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านที่ประกอบด้วยความไม่รู้จริง นั่นเอง

    จิตหดหู่ ก็เป็นเจตสิกในข้อที่ ๒๕ ในเจตสิก ๕๒  เป็นกลุ่มอาการของความคิดนึกหรือฟุ้งซ่านปรุงแต่งที่ทำให้เกิดความหดหู่ใจ ใจหดห่อ แห้งเหี่ยวใจ

    จิตฟุ้งซ่าน เป็นอาการของจิตอย่างหนึ่ง ที่เรียกอุทธัจจะในข้อที่ ๑๗ ในเจตสิก ๕๒  เป็นอาการของจิตที่ฟุ้งซ่าน หรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งคือผัสสะในสิ่งหรือเรื่องต่างๆ  หรือเปรียบเทียบได้ดั่งองค์ธรรมชรา ในปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

    จิตเป็นฌานหรือมหรคต จิตเป็นฌาณ, จิตอยู่ในกำลังฌาน, จิตประกอบด้วยกำลังของฌานอยู่ (เกิดขึ้นได้แม้ในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน ขึ้นอยู่กับวสีความชำนาญ  และมาจากการสั่งสมประพฤติปฏิบัติจนมักเกิดการเลื่อนไหลไปโดยไม่รู้ตัว)

    จิตเป็นสมาธิ จิตมีความตั้งใจมั่นในสิ่งใดอยู่  แม้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้หมายถึงการไปนั่งสมาธิแต่อย่างเดียว

    จิตมีสิ่งอื่นยิ่งกว่า หมายถึงอาการของจิตเป็นเอกหรือเป็นใหญ่อยู่ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดอยู่ เช่นจิตเป็นเอกอยู่กับการคำบริกรรมพุทโธ  หรือจิตเป็นเอกอยู่ในกิจหรืองานใดๆ,  หรือจิตเป็นเอกในธรรมที่เป็นเครื่องอยู่เครื่องพิจารณา,  หรือจิตหมกมุ่นจดใจจ่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่,  จิตหมกมุ่นกับการส่งออกไปปรุงแต่ง

    จิตวิมุตติหรือจิตหลุดพ้น หมายถึงอาการที่จิตหลุดพ้นจากกิเลสหรือเจตสิกต่างๆ เช่นดังที่กล่าวข้างต้น (เป็นไปในขณะหนึ่งๆ  ยังไม่ได้หมายถึงเป็นการถาวรหรือนิพพาน)

กล่าวคือ ล้วนมีสติระลึกรู้เท่าทัน กล่าวคือมีสติระลึกรู้ "จิต หรืออาการของจิต คือเจตสิกที่บังเกิดขึ้น ณ ขณะจิตนั้นๆ"

อนึ่งอาการของจิตทั้งหลายหรือเจตสิก ดังเช่น ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน ฯลฯ. นั้นมันไม่มีอาการเป็นรูปธรรมเป็นตัวเป็นตนแท้จริง  แต่มันอาศัยแฝงอยู่กับสังขารขันธ์ คือการกระทำต่างๆนั่นเอง  ดังเช่น ความคิด(มโนสังขาร)ที่ประกอบด้วยราคะ,  การทำร้ายผู้อื่นทางกาย(กายสังขาร)ที่ประกอบด้วยโทสะ,  การคิดด่าทอ,ต่อว่า(วจีสังขาร)ที่ประกอบด้วยโมหะคืออาการหลงไปปรุงจนเกิดทุกข์ที่ประกอบด้วยความไม่รู้ตามความเป็นจริง เช่นคิดหรือธรรมารมณ์กระทบใจแล้วจะให้รู้สึกเฉยๆ,  การเกี้ยวพาราสีทั้งด้วยคำพูดทั้งกริยาท่าทางที่ประกอบด้วยราคะ,  จิตคิดฟุ้งซ่านหรือคิดวนเวียนไม่หยุดหย่อนในเรื่องไร้แก่นสาร เช่นคิดไปในอดีต อนาคต ก็คือความคิดที่ประกอบด้วยจิตฟุ้งซ่านหรือส่งจิตออกนอกไปปรุงแต่งนั่นเอง

ใช้วิธีมีสติรู้เท่าทันเวทนาและจิต เป็นหลักปฏิบัติประจําเมื่อปฏิบัติจนชํานาญแล้ว ระลึกรู้และเท่าทันในเวทนา(เวทนานุปัสสนา)อย่างถึงใจ และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว  จิตจักรู้สภาพจิตสังขารหรืออาการของจิต(เจตสิก)ที่เกิดขึ้น คือ เห็น ราคะ โมหะ โทสะ ชัดเจนขึ้น  เมื่อจิตเห็นจิต ซึ่งก็คือ สติเห็นจิตตสังขารนั่นเอง เพราะจิตตัวแรกนั้นหมายถึงสติอันเป็นจิตตสังขารหรือเจตสิกอย่างหนึ่งนั่นเอง  จิตจะเห็นความคิดหรืออาจเห็นเวทนาที่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลาว่าเป็นสภาวธรรมอันไม่เที่ยง ไม่มีแก่นแกนหรือแก่นสาร และก่อให้เกิดทุกข์อย่างชัดแจ้ง อันทําให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในสภาวธรรม   จิตจักได้คลายความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาและจิตที่ไม่เที่ยง คงทนอยู่ไม่ได้จึงเป็นทุกข์ และอนัตตา  อันก่อให้เกิดทุกข์ กล่าวคือ เห็นความคิด(จิตหรือจิตตสังขารนั่นเอง) และการเสวยอารมณ์ต่างๆหรือความรู้สึกสุข,ทุกข์,ไม่สุขไม่ทุกข์ (เหล่าเวทนา) ว่าเป็นไปตามไตรลักษณ์  ดังนั้นเมื่อไปอยากด้วยตัณหา จึงย่อมเกิดการยึดด้วยอุปาทานเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง  ดังนั้นเมื่อไปอยากห

คำสำคัญ (Tags): #ปรัชญาตะวันออก
หมายเลขบันทึก: 503139เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2012 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท