สำนึกของนักเรียนทุน ก.พ.ตามความต้องการของหน่วยงาน: สำนึกของหน่วยงาน


นักเรียนทุน ก.พ.

ได้มีโอกาสหวนกลับแวะเวียนไปยังหน่วยงานเดิม ซึ่งสมัยนั้น ผู้เขียนได้ริเริ่มดำเนินการขอให้ ก.พ.ดำเนินการเกี่ยวกับทุนรัฐบาลด้านกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคภายใต้ความต้องการของหน่วยงาน  กระบวนการตั้งแต่การริเริ่ม การที่ ก.พ.เห็นชอบกับหลักการและเหตุผลของหน่วยงานโดยเปิดสอบให้มีการแข่งขันสอบชิงทุนทั่วประเทศด้านกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และได้บุคคลที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปศึกษาต่อตามความต้องการของหน่วยงานจนกลับมาบรรจุเป็นข้าราชการในหน่วยงานนั้น หนึ่งคนใช้เวลาสามปีในการคัดเลือกได้บุคลากรมา

ผู้เขียนได้ดำเนินการในเรื่องนี้ปีงบประมาณละหนึ่งคนและ ก.พ.ได้เห็นชอบด้วยในความต้องการของหน่วยงาน ซึ่งผู้เขียนตั้งใจไว้ว่าจะขอไว้ปีละสองคนไปศึกษาในแต่ละทวีปเพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (ตอนนั้น ไม่มีใครรุ้เรื่องอาเซียนแม้แต่วิสัยทัศน์ผู้บริหารในขณะนั้น  ความคิดผู้บริหารก็โต้แย้งอีกว่าทำไมขอไว้มาก ให้ขอเพียงคนเดียวด้วยเหตุผลไม่มีอะไรมาก ไม่มีฐานของวิชาการด้านงานบริหารงานบุคคลและอัตรากำลังแต่เพราะกลัว ก.พ.ไม่ให้  ในที่สุด ผู้เขียนก็พยายามที่จะขอทุน ก.พ.ให้มีการเปิดสอบคัดเลือกบุคคลได้เพียงปีละหนึ่งคน ปีถัดไปได้ขอไว้ใหม่ ได้มาสองคน ปีละหนึ่งคน  ระหว่างรอนักเรียนทุนกลับมาบรรจุ หน่วยงานก็ทำท่าก็จะไม่รอเสียแล้วจะเอาอัตรานี้ไปบรรจุเจ้าหน้าที่อื่นโดยอ้างว่าไม่มีคนทำงาน)

หลังจากนักเรียนทุน ก.พ.รายแรกได้กลับมาและได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ หน่วยงานก็ใช้งานไม่ถูกกับคน เอาไปทำงานธุรการงานทะเบียนเสียหนึ่งปี ผู้เขียนหงุดหงิดมากเนื่องจากไม่ได้เอาไปทำงานด้านกฎหมายแต่ประการใด จนต้องพยายามเรียกตัวกลับมาทำงานกับผู้เขียนในฐานะผู้บังคับบัญชาและเป็นเจ้าของโครงการนักเรียนทุน  และในที่สุด ก็รับราชการชดใช้ทุนผ่านไปสามสี่ปีก็ทนต่องานและสิ่งแวดล้อมไม่ได้ ก็เลยลาออกไปทำงานอื่นตามวิถีที่เธอชอบและท้าทายมากกว่า ไม่ว่ากัน เพราะได้คุยกันแล้วเข้าใจตรงกัน และหน่วยงานก็ไม่มีความตั้งใจที่จะรักษาบุคลากรหัวเชื้อเอาไว้กระตุ้นรุ่นน้อง ๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรได้  ทั้ง ๆ ที่หน่วยงานนี้ ไม่เคยมีนักเรียนทุน ก.พ.มาก่อน 

ต่อมา นักเรียนทุน ก.พ.รายที่สอง  รายนี้ หลังจาก ก.พ.ได้สอบคัดเลือกได้บุคคลตามที่หน่วยงานต้องการแล้ว ก.พ.ได้จัดให้มีการพบกันระหว่างหน่วยงานขอขอทุน ก.พ.ไว้ โดยให้ได้มีการพบปะกันระหว่างผู้เขียนในฐานะหัวหน้าในอนาคตหลังจากที่ศึกษากลับมาบรรจุเป็นข้าราชการ และมีการรับประทานอาหารร่วมกันโดยให้มีโอกาสได้มีการถ่ายทอดรุ่นพี่สู่รุ่นน้องเพื่อให้รุ่นน้องได้รับทราบบรรยากาศและบทบาทของนักเรียนทุน ก.พ. เพื่อให้นักเรียนทุน ก.พ.ได้รับรู้บรรยากาศของหน่วยงานและสำนึกถึงกระบวนการได้มาซึ่งนักเรียนทุนซึ่งใช้เวลามากและใช้ภาษีของประชาชนในการไปศึกษาต่างประเทศ เป็นสัญญาใจและสัญญาลูกผู้ชายอีกประการหนึ่งที่จะให้นักเรียนทุน ก.พ.อยู่กับองค์กรเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาหน่วยงานและประเทศชาติให้คุ้มค่ากับเงินภาษีของประชาชน

ระหว่างการศึกษาของนักเรียนทุน ก.พ.รายหลังนี้ ผู้เขียนได้ติดต่อกันเป็นโอกาสในระหว่างการศึกษาเช่นเดียวกับรายแรก และทราบว่าได้ศึกษาจบแล้วในระดับปริญญาโท แต่ไม่ยอมกลับและได้ขอต่อรองเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก  แต่เนื่องจากทุน ก.พ.ดังกล่าวเป็นทุนเพื่อศึกษาในระดับปริญญาโทเท่านั้น แต่หน่วยงานกลับอนุญาตให้เรียนต่อได้เนื่องจากทราบว่า ก.พ.ได้ตอบข้อหารือหน่วยงานไปว่าอยู่ที่ดุลยพินิจของหน่วยงาน

หน่วยงานเลยอนุญาตให้ศึกษาต่อจนถึงปริญญาเอกด้วยทุนส่วนตัว

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ ก.พ.และการอนุญาตของหน่วยงาน

ไม่ใช่จะสกัดกั้นโอกาสที่จะไม่ให้นักเรียนทุนรายนี้ได้ศึกษาต่อในระดับที่สูง แต่เป็นความต้องการของหน่วยงานเดิมซึ่งผู้บริหารหน่วยงานไม่ยืนหลักการตามความต้องการของหน่วยงานเนื่องจากเป็นทุนในระดับปริญญาโทเท่านั้น และไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการได้มาซึ่งทุน ก.พ. ซึ่งนับแต่นั้นมาก็ไม่มีใครดำเนินการเรื่องงานด้านบุคลากรอย่างนี้อีกเพราะไม่มีความคิดหรือเกียจคร้านของเจ้าหน้าที่หรือผู้บริหารก็ไม่อาจทราบได้

และนี่ คือบรรทัดฐานของ ก.พ.ที่แจ้งว่าหากนักเรียนทุน ก.พ.ตามความต้องการของหน่วยงานไม่ยอมกลับแต่จะขอเรียนต่อไปเรื่อย ๆ อยู่ที่ดุลยพินิจของหน่วยงาน ซึ่งต่อไป หน่วยงานต่าง ๆ ก็คงจะใช้อ้างอิงแนวนี้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

ผู้เขียนไม่สนใจเกี่ยวกับสัญญาที่ทำไว้ต่อหน่วยงานหรือทำไว้ต่อ ก.พ.เกี่ยวกับค่าปรับหากมีการผิดสัญญาหรือถ้านักเรียนทุน ก.พ.ใช้ทุนส่วนตัวเรียนต่อปริญญาเอกต่อแล้วกลับมาไม่ไปปฏิบัติราชการตามความต้องการของหน่วยงาน เพราะโดยพื้นฐานรัฐไม่ประสงค์จะเรียกค่าปรับ แต่ก็เป็นเพียงวิธีเดียวที่คิดแบบราชการคือเรียกค่าปรับแล้วจบกันเท่านั้นโดยไม่ตระหนักถึงความเสียหายที่ไม่เป็นตัวเงินต่อภาษีของประชาชนและประเทศชาติ

ค่าปรับเท่าไหร่ก็ไม่พอหรอกสำหรับการเสียเวลากับการสรรหาบุคคลากรหากนักเรียนทุน ก.พ.ผิดสัญญาที่ทำไว้กับราชการ หรืออยู่กับหน่วยงานไม่นานโดยยอมชดใช้ทุน

แต่เป็นเรื่องสัญญาใจที่ทำไว้กับภาษีประชาชนและประเทศชาติที่จะนำความรู้นั้นมาพัฒนาตามความต้องการของหน่วยงานนั้น

ผู้เขียนไม่โทษนักเรียนทุน ก.พ.ที่หากมีพฤติกรรมดังกล่าว

นักเรียนทุน ก.พ.เป็นคนที่เก่ง และได้ใช้ความเก่งเป็นโอกาสในการแข่งขันในสนาม ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบยิ่งนัก

แต่หน่วยงานเองนั่นแหละใช้ไม่ได้  รวมทั้ง ก.พ.เองด้วยสำคัญที่สุด

ขอเรียกร้องให้ ก.พ.ลองทบทวนดูว่า กรณีที่หากมีการผิดสัญญาเรื่องทุน ควรมีมาตรการอื่นใดนอกจากการชดใช้ทางแพ่ง เช่น การขึ้นบัญชีดำ การตั้งข้อรังเกียจ หรือมาตรฐานทางสังคมใดก็ได้ จะดีหรือไม่ ลองไปคิดดูเอา เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้ไม่เป็นตัวเงินและประเมินเป็นตัวเงินมิได้ การชดใช้ทางแพ่งมากเพียงใดก็ไม่พอต่อการเสียโอกาสจากการใช้ประโยชน์จากภาษีของประชาชนที่นำมาใช้เป็นค่าเล่าเรียนของนักเรียนทุน ก.พ.

ผู้เขียนเสียดายสำหรับโอกาสของหน่วยงานและเสียดายเวลาที่ทำงานด้านนี้ที่ได้ให้ไว้สำหรับหน่วยงาน

หมายเลขบันทึก: 502863เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2012 08:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 ธันวาคม 2012 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การทำงานหลังจากเรียนจบแล้ว จะทำให้ได้ประสบการณ์มากกว่า เห็นด้วยค่ะท่าน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท