คิดเรื่องสันโดษหลังพวงมาลัยรถเบนซ์


น่าประหลาดว่า คนไทยพุทธเราเองแท้ๆ กลับเข้าใจหลักศีลธรรมสำคัญของศาสนาระดับหัวใจ ผิดเพี้ยนไปมากหลาย   เรื่องหลักอนัตตา ซึ่งต้องปีนกะไดฟังนั้นไม่ต้องพูดถึงก็ได้ เอาเพียงแค่หลักพื้นๆ เช่น สันโดษ ก็ไขว้เขวกันมากหลายแล้ว 

 

ส่วนใหญ่เข้าใจไปว่า การสันโดษ คือการไปอยู่คนเดียว กลางป่าเขา ปลีกวิเวก กินอยู่แต่พอเพียง  ....อะไรเทือกนั้น

 

 

แต่วันนี้ผมจะมาเสนอว่า ผิดนะคร๊าบ เพราะคุณขับ benz 500SEL กินเหล้าเคล้านารี จนเมาวิ่งชนตำรวจตาย คุณก็ “สันโดษ” ได้ ....ตราบเท่าที่ สิ่งของทั้งหลายที่คุณได้มานั้น คุณได้มาด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

 

คนไทยจำนวนมากแปลคำว่า  สันโดษ ว่า มักน้อย พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ปลีกตัวออกไปอยู่เงียบๆคนเดียว  ใครที่มีพฤติกรรมแบบนี้เรามักบอกกันว่า "เขาเป็นคนสันโดษ"  จากนั้นตีความไปในทางลบต่อไปว่า ธรรมข้อนี้ไม่ดีเพราะทำให้ไม่ขวนขวายหาทางร่ำรวย  ทำให้โลกไม่เจริญ(ตามหลักทุนนิยม) 

 

ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการให้ความหมายที่ผิดเพี้ยนไปจากเจตนาเดิมของคำนี้อย่างมากๆ  ซึ่งน่าจะเป็นผลพวงของ “ทุนนิยม”  ที่มากลบ “บุญนิยม” เสียหมดสิ้น

 

ผมค้านต่อไปด้วยว่า ยิ่งคนรักสันโดษเท่าไร ก็ยิ่งจะรวยมากเท่านั้น .....เพราะเมื่อไม่โกง ไม่โลภ ไม่เอาเปรียบลูกค้า ลูกค้าก็ยิ่งเืชื่อใจ ยิ่งวิ่งมาหา ก็ยิ่งรวยยิ่งกว่าพวกโลภมากที่โกงกินเสียอีก(เพราะลูกค้าหนีหมด) 

 
คำว่า สันโดษ น่าจะหมายถึง ความพอใจในสิ่งของของตน ไม่โลภอยากได้ของผู้อื่น (พระไตรปิฎกฉบับสำหรับประชาชน..สุชีพ ปุญญานุภาพ )    .....ส่วนท่าน ป.อ. ปยุตโต  ก็อธิบายว่า คือ การยินดีในสิ่งที่หามาได้ด้วยตนเองโดยสุจริต  ไม่โลภริษยาใคร (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ๒๕๔๓) ....สำหรับพระไตรปิฎกนั้นจะเอ่ยคำว่า "สันตุษฐีธรรม"  ลองไปคีย์ค้นหาอ่านกันดูนะครับ

 

 

ดังนั้น..บุคคลอาจเป็นนักธุรกิจใหญ่ ขับรถเบนซ์ไปทำงาน รับโทรศัพท์ ประชุมทั้งวัน ตกเย็นก็ไปกินข้าวในภัตตามคารหรูกับลูกค้า แต่เขาก็อยู่อย่างสันโดษได้ ถ้าเขาเป็นนักธุรกิจที่ซื่อสัตย์ ทำกำไรได้เท่าไรก็เอาเท่านั้น พอใจในสิ่งที่ทำได้ตามกำลังของตัว ไม่ไปโกงไปละโมภหาส่วนเกินจากลูกค้า หรือ ของคู่แข่ง

 

คนเราแม้รวยล้นเพียงใดก็อาจเป็นคนสันโดษได้  ถ้าไม่โกงหรือโลภเสียอย่าง ...ส่วนคนที่ “มักน้อย”  แต่โกงเอาของผู้อื่นมาเป็นของตน แม้เป็นศิลปินใหญ่ ใส่เสื้อม่อฮ่อม ไว้หนวดผมให้ดูเท่ห์อย่างไร   อยู่ริมป่ากระต๊อบไม้ไผ่แบบ “พอเพียง” อย่างไร  ก็อาจไม่สันโดษก็เป็นได้

 

อนึ่งธรรมในพุทธศาสนานั้นไม่พึงมองแบบจำเพาะเจาะจง แต่พึงมองแบบเชื่อมโยง (บูรณาการ)  กับธรรมข้ออื่นด้วย เช่น อิทธิบาทสี่ ให้มีวิริยะ (ความเพียร) ซึ่งตรงข้ามกับความเกียจคร้านที่คนเรามักตีความยัดเยียดให้เป็นผลพวงของ ความสันโดษ กันอย่างโง่เขลาที่สุด   ซึ่งเป็นไปตามการชี้นำของปัญญาระดับทุนนิยม

 

หากโลกไร้  ซึ่งความ  สุขสันโดษ

สังคมคง ชั่วโฉด โหดฉิบหาย

จะโกงกิน ส่วนเกิน กันวอดวาย

สิ่งสุดท้าย ก็จบ ที่รบกัน

 

....คนถางทาง (๑๙ กย. ๒๕๕๕)

 

หมายเลขบันทึก: 502831เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 21:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กันยายน 2012 12:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

คนรักสันโดษ มักจะอยู่กะตัวเองเยอะ จนรู้สึกเบื่อสังคมรึป่าวคะ. .

คุณรัชนีครับ คนรักสันโดษ ไม่จำเป็นต้องอยู่กะตัวเองเยอะนะครับ เป็นนักร้องนักแสดงอยู่่ท่ามกลางแควนขลับ ก็สันโดษได้ (ถ้าไม่โำกงเพลง)

อา... แสดงว่าคำว่า "สันโดษ" ที่จริงแล้วไม่ได้แปลว่า ascetic หรือ solitude สิครับ แล้วมีคำไหนในทางพุทธที่แปลตรงกับ ascetic lifestyle ไหมครับ

ดร. ธ. ครับ ประมาณว่า อัตตกิโลมถานุโยค ครับ คือพวกชอบทรมานตนเพื่อนำสู่การบรรลุ พวกนี้พพจ. ทรงตำหนิ ไม่สรรเสริญ

สันโดษ ศัพท์เดิมแปลตรงๆ ว่า ความพึงพอใจ หรือความสุขสงบ (satisfaction, contentedness with...)

ในทางศาสนาใช้เป็นศัพท์เทคนิค โดยอธิบายเพิ่มอีกนิดหน่อย

แสดงว่า ascetic ในทางพุทธนี่คือในระดับการทรมาณตน แล้วถ้าอยู่ในระดับ solitary lifestyle หรือ reclusive lifestyle มีคำในทางพุทธเปรียบเทียบไหมครับ

ท่าน ดร. ธ. ครับ ก็พวกปลีกวิเวกไงล่ะครับ (ซึ่งจิตใจของเขาอาจไม่สันโดษก็ได้นะครับ แต่พวกนี้จริงๆ แล้วมักจะสันโดษด้วย)

ท่าน ธ. ครับ ผมอยากจะแปล สันโดษ ว่าพอใจในสิ่งที่ตนหามาได้ (ไม่ใช่พอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ เหมือนตอนเรียนศีลธรรม) พอพอใจก็ไม่โลภมาก ใจก็เป็นสุข อีกทั้งยังวางอุเบกขาได้ด้วย แต่นักธุรกิจ วาณิชกรทุกวันนี้เขาไม่พอใจ เขาว่ามันน้อยไปอยู่เสมอ ต้องหาให้ได้มากกว่านั้น จิตก็ว้าวุ่น แล้วยังอาจนำสู่การทุจริตได้นานัปการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท