สามชั้นของสัมมาทิฏฐิ


คำว่า ปัญญา นั้น หมายถึงความรู้ชัดเจน, ความรู้ทั่ว, ความเข้าใจหยั่งแยกเหตุผลได้ ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ, ความรู้ที่จะจัดแจง จัดสรร หรือ จัดการ

ปัญญานั้น สงวนไว้ใช้ในทางที่ดีเท่านั้น หากบุคคลผู้มีความสามารถ ใช้ความรู้ในการคิดจัดการ จัดแจง แต่เป็นไปในทางที่ไม่ดี เช่น วางแผนกระทำความชั่ว ความรู้ที่ใช้จัดการนี้จะไม่เรียกว่าปัญญา แต่จะเรียกว่า เฉโก แทน

ปัญญามีหลายชื่อ มีหลายระดับ เช่น ปัญญาในระดับต้นแฝงอยู่ในศรัทธา ปัญญาในระดับกลาง คือ สัมมาทิฏฐิ ปัญญาในระดับที่สูงขึ้นไปคือ ญาณ, วิชชา เป็นต้น

สำหรับปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินั้น สามารถแยกออกได้เป็น ๓ ระดับ

เมื่อว่าด้วยสัมมาทิฏฐิ โดยทั่วไปแล้วก็มี ๓ อย่าง คือ

เป็นสัมมาทิฏฐิชั้นมโนกรรมอย่างหนึ่ง

เป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์แห่งอริยมรรคอย่างหนึ่ง

เป็นสัมทิฏฐิที่เป็นตัวพระอริยมรรคอย่างหนึ่ง

พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) มรรคธรรม หน้า ๖๑

สัมมาทิฏฐิที่เป็นมโนกรรม นั้นได้แก่สัมมาทิฏฐิที่เป็นไปในเหตุผลว่า บาปบุญมีจริง สัตว์โลกทำกรรมอย่างไรก็ได้รับผลตามนั้น บุญคุณของบิดามารดามีจริง นรก สวรรค์ มีจริง สมณพราหมณ์ผู้รู้โลกนี้โลกหน้ามีจริง *

เมื่อมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็ระงับทุกข์ได้มากมายแล้ว เช่น เมื่อมีผู้ว่ากล่าวเรา หากเราเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่ากล่าว ก็ไม่เดือดร้อน เพราะรู้ว่าใครทำอย่างไรก็ได้รับผลตามนั้นตาม ธรรมดา หาก เราทำดี ก็ย่อมได้รับผลดีตามธรรมดา ไม่ใช่รับผลร้ายตามคำกล่าวว่าของใคร ส่วนผู้ว่ากล่าวด้วยความเห็นผิดนั้น หากเขาไม่ยอมรับฟังเหตุผล ไม่คิดอย่างแยบคาย ไม่คิดโดยปราศจากอคติ ผลเสียก็ย่อมตกแก่ตัวเขาเอง ทั้งที่ทำให้เดือดเนื้อร้อนใจเอง และยังอาจถูกตำหนิจากผู้อื่นเพราะการกล่าวร้ายนั้นอีกด้วย

แม้สัมมาทิฏฐิระดับนี้จะช่วยให้พบความสุขได้มากมายแล้ว ก็ยังจัดเป็นสัมมาทิฏฐิที่ทำให้ยังวนอยู่ในโลก เป็นสัมมาทิฏฐิที่เป็นโลกิยะ เนื่องจาก ยังมีความเห็นว่าเป็นตน ยังมีผู้รับผลของการกระทำอยู่ เช่น ตนทำบุญ เพราะหวังผลบุญตอบแทนแก่ตน เพราะยึดมั่นในของตน จึงเป็นเหตุให้มีตัวตน วนไปรับผลอันเป็นของตนนั้น

Tiny_img_2137-1

สัมมาทิฏฐิที่เป็นองค์ของอริยมรรค ได้แก่ความรู้ในอริยสัจจ์ ๔ นั่นเอง คือ รู้เห็นว่าเหล่านี้เหล่านั้นคือทุกข์ นี้คือสมุทัย นี้คือนิโรธ นี้คือมรรค แต่เห็นทีละอย่างไม่พร้อมกัน เมื่อเห็นทุกข์ ทุกข์ก็บังสมุทัย หรือเมื่อเห็นสมุทัย สมุทัยก็บังนิโรธ บังมรรค เป็นต้น เห็นแต่อย่างสองอย่าง จึงงดจากเหตุให้เกิดทุกข์อย่างนี้ แต่ไปทำเหตุให้เกิดทุกข์อย่างใหม่ จึงทำให้ยังวนอยู่ในทุกข์อยู่

การเห็นอริยสัจจ์ในระดับนี้ จึงเป็นการเห็นด้วย สัจจญาณ คือ รู้เห็นว่าอะไรเป็นอะไร แต่ยังเชื่อมโยงถึงกันไม่ได้ หรือเชื่อมโยงถึงกันได้บ้าง แต่ไม่ตลอดเส้นทาง หรือเพราะไม่รู้ทั่วว่า อริยสัจจ์ ๔ นอกจากจะมีความหมายถึงอะไรแล้ว ยังมีงานอะไรต้องทำบ้าง หรือ อาจเพราะไม่ได้นำธรรมมาปฏิบัติในชีวิตจริงอย่างเพียงพอในช่วงชีวิตนั้นๆ

การที่เห็นไม่หมดทุกอย่างนี้ เพราะจิตไม่มีสมาธิเป็นพื้นฐาน หรือ สมาธิที่เป็นพากพื้นอ่อน เนื่องจาก ในยามที่จิตเป็นสมาธิ หากนำเหตุให้เกิดทุกข์ขึ้นมาพิจารณา ก็จะรู้เห็นได้ตามที่เป็นจริง (แต่เห็นตามระดับ ญาณ ของตน ไม่สามารถรู้เห็นเกินระดับได้) หากฝึกพิจารณาด้วยโยนิโสมนสิการไปเรื่อยๆ ประกอบกับการนำธรรมอื่นมาใช้ในชีิวต ก็จะเห็นกว้างขึ้น ลึกขึ้นเรื่อยๆ

Tiny_img_2137-1

สัมมาทิฏฐิที่เป็นตัวอริยมรรค ได้แก่สัมมาทิฏฐิที่เห็นทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นเอง แต่เห็นพร้อมกันตลอดหมด เมื่อเห็นทุกข์ ก็เห็นตลอดทั้งสมุทัย ทั้งนิโรธ ทั้งมรรค

เนื่องจากเป็นการเห็นอริยสัจจ์ที่ครอบคลุมทั้ง ๔ และเห็นปริวัฏฏ์ หรือการหมุนวนด้วยญาณทั้ง ๓ จนมีอาการ ๑๒ คือหมุนวน ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ด้วย โอกาสจะพ้นทุกข์จึงมีได้

ซึ่งปริวัฏฏ์ ๓ นั้นคือ

สัจจญาณ (ญาณหยั่งรู้ความหมายของอริยสัจจ์ทั้ง ๔ คือ รู้ว่าอะไรคือทุกข์ รู้ว่าอะไรคือสมุทัย อะไรคือนิโรธ อะไรคือมรรค)

กิจญาณ (ญาณหยั่งรู้กิจหรือหน้าที่ในอริยสัจจ์ คือ รู้ว่าหน้าที่ต่อทุกข์คือกำหนดรู้ หน้าที่ต่อสมุทัยคือละ หน้าที่ต่อนิโรธ คือทำให้แจ้ง หน้าที่ต่อมรรค คือเจริญ หรือทำให้เกิด หรือ ให้พัฒนาขึ้น)

กตญาณ (ญาณหยั่งรู้กิจที่ควรทำนั้นๆ ตนกระทำแล้ว เช่น กำหนดรู้แล้วว่าสิ่งนั้นๆคือทุกข์ ละสิ่งที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์นั้นๆแล้ว ปฏิบัติตามวิธีที่ทำให้เหตุแห่งทุกข์ดับแล้ว และพบความสงบเพราะละเหตุแห่งทุกข์นั้นๆได้หมดแล้ว)

ผู้ที่ทำกิจที่ตนควรทำแล้ว เรียก กตกิจฺโจ (ผู้มีกิจอันทำแล้ว) ซึ่งกิจที่ควรทำทั้งหมดนั้น แยกเป็นกิจในอริยสัจจ์ ในโสดาปัตติมรรค ๔, ในสกทาคามิมรรค ๔, ในอนาคามิมรรค ๔ และ ในอรหัตมรรค ๔

รวมกิจทั้งหมดเป็น ๑๖ เรียกว่า โสฬสกิจ กิจ ๑๖ เนื่องมาจากอริยสัจจ์ ๔

ผู้ใดทำกิจขั้นที่ ๔ เสร็จแล้ว ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้เสร็จกิจในโสฬสกิจแล้ว

Tiny_img_2137-1

.........................

* สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร

คือ เรากล่าวสัมมาทิฏฐิว่า มี ๒ ได้แก่

๑.สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ

๒.สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค

สัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ เป็นอย่างไร

คือ ความเห็นว่า ทานที่ให้แล้วมีผล ยัญที่บูชาแล้วมีผล การเซ่นสรวงที่เซ่นสรวงแล้วมีผล ผลวิบากแห่งกรรมที่ทำดีและทำชั่วมี โลกนี้มี โลกหน้ามี มารดามีคุณ บิดามีคุณ สัตว์ที่เป็นโอปปาติกะมี สมณพราหมณ์ผู้ประพฤติปฏิบัติชอบ ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งก็มีอยู่ในโลก นี้เป็นสัมมาทิฏฐิที่ยังมีอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลคืออุปธิ

สัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค เป็นอย่างไร

คือ ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ สัมมาทิฏฐิองค์แห่งมรรคของภิกษุผู้มีจิตไกลจากข้าศึก ม่จิตหาอาสวะมิได้ เพียบพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่ นี้เป็นสัมมาทิฏฐิอันเป็นอริยะ ที่ไม่มีอาสวะ เป็นโลกุตตระ เป็นองค์แห่งมรรค ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฏฐิ ยังสัมมาทิฏฐิให้ถึงพร้อม ความพยายามของภิกษุนั้น เป็นสัมมาวายามะ ภิกษุนั้นมีสติ ละมิจฉาทิฏฐิ มีสติเข้าถึงสัมมาทิฏฐิอยู่ สติของภิกษุนั้นเป็นสัมมาสติ ธรรม ๓ นี้ คือ (๑) สัมมาทิฏฐิ (๒) สัมมาวายามะ (๓) สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อมคล้อยตามสัมมาทิฏฐิของภิกษุนั้นไป ด้วยประการฉะนี้

ม.อุ.(แปล) ๑๔/๑๓๖/๑๗๕ ๑๗๖

หมายเลขบันทึก: 502770เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2012 10:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

"ความอยาก" ที่จะให้เกิด "ปัญญา" รอบรู้ เบื้องต้นคงต้องให้มีก่อน.....(คิดอย่างนี้ไม่รู้ได้หรือไม่ ครับ พี่ณัฐรดา?)

บทที่จะพิสูจน์ "ปัญญา" ของตน เราวัดกันเป็นระดับๆ หรือบางทีเรา "คิด" ไปเอง...? (ทำให้ต้องย้อนกลับมาตั้งต้นใหม่ คือ สงสัยใน "ปัญญา" วนเวียน) 

  • เป็นเรื่องที่น่าเรียนรู้มาก
  • ขอบคุณพี่มากๆครับ

สาธุ..เจ้าค่ะ...(มีหนังสือ..ใหม่เล่มหนึ่ง..ของหลวงแม่..มีผู้ส่งเมล์มาให้ทราบ..รู้สึกว่า..จะชื่อ.."ธรรมะ..ต้อง..ธรรมดาๆนะ...")..สนใจลองหาดูนะเจ้าคะ..หากยายธี..กลับเมืองไทยไม่ได้ปีนี้..จะได้ทราบว่ามีอยู่ที่คุณ..ณัฐรดา..เจ้าค่ะ..หาก..เขาขายหมด..น่ะเจ้าค่ะ...ยายธี

พี่ตุ๊กตาคะ ศีล สมาธิ ปัญญา 

ปัญญา ณ ที่นี้คือ นามธรรม คือ รู้ หลุดพ้น

 

น้องขอถามว่า ปัญญา ขั้นต้น ที่เป็นอานิสงส์ จากการปฏิบัติธรรมดังกล่าว(ศีล สมาธิ) ที่เป็นรูปธรรม มีอะไรบ้าง อย่างไร ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

อ. Blank คะ

อ่านความเห็นของอาจารย์แล้ว คิดถึงเพื่อนคนหนึ่งค่ะ เธอบอกว่าเวลาทำบุญ จะอธิษฐานขอให้มีปัญญา

จำได้ว่าเล่าให้เธอฟังว่า พระพุทธองค์ตรัสว่า ปัญญาเกิดเพราะการหมั่นตามประกอบ หมั่นพิจารณา ถ้าเพียงอธิษฐาน ไม่ทราบว่าจะช่วยได้หรือไม่

ขอบคุณสำหรับความเห็นของอาจารย์จังค่ะ เพราะทำให้กำลังงงอยู่ว่า

"ความอยาก" ที่จะให้เกิด "ปัญญา" รอบรู้ เบื้องต้นคงต้องให้มีก่อน"

นี้ควรเป็นอะไรดี

ควรนำความหมายของสัมมาทิฏฐิเองมาจับ หรือ บุพนิมิตแห่งมรรคมาจับ หรือ หลักสันโดษมาจับ หรือ อธิษฐานธรรมมาจับ หรือ  ............  อะไรดีอยู่น่ะค่ะ

ขออนุญาตนำไปหาข้อมูลต่อนะคะ

ส่วนที่ว่าเราจะรู้ได้ยังไงว่าเรามีปัญญา (หมายถึงปัญญาที่จะทำให้พ้นโลก) ระดับไหน แม้อรรถกถาจารย์ท่านให้การวัดผลด้วยโสฬสญาณ (ญาณ ๑๖) แต่มองว่า อาจไม่ต้องไปกังวลก็ได้ค่ะ

เพราะเข้าใจว่า หากเราปฏิบัติแล้วมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เข้าใจองค์ธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ ทำในสิ่งที่ควรทำมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำมากลงเรื่อยๆ ก็คงพอแล้วมังคะ

นึกถึงอินทรีย์ ๕ ขึ้นมาได้น่ะค่ะ ว่าทุกอย่างต้องสมดุลย์กัน

เพราะ ศรัทธามากไปก็งมงาย วิริยะมากไปก็เคร่งเครียด ปัญญามากไปก็ฟุ้งซ่าน สมาธิมากไปก็เกียจคร้าน จึงต้องใช้สติเป็นตัวดึงให้ทุกอย่างสมดุลย์กัน

ขอบพระคุณอาจารย์มากนะคะ ที่แวะมาสม่ำเสมอค่ะ

***

 

ขอบคุณ อ.Blank เช่นกันค่ะ

 

มาเยี่ยมกันเสมอ

***

 

 

คุณBlank คะ

 

สำหรับเรื่องปลายปีนี้ คงเป็นโอกาสอื่นมังคะ

 

อันที่จริง ไม่กำหนดขันธ์ส่วนอนาคตก็ดีนะคะ จะได้ไม่ทุกข์ค่ะ

 

ขอบคุณค่ะ

***

น้องหมอ Blank คะ

ขอแปะโป้งไว้ก่อนนะคะ

จำได้ว่ามีพระสูตรอยู่ว่า อย่างไรบ้างที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ ขอค้นก่อนค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาค่ะ

 

  • สวัสดีค่ะท่านBlank ณัฐรดา
  • หวังว่าท่านคงจะสบายดีนะคะ
  • ขอบคุณ สำหรับบทความดีๆค่ะ
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท