ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๔๗. ความไว้วางใจเป็นทรัพย์


 

          วันที่ ๑๕ ส.ค. ๕๕ ผมบอกกรรมการสภามหาวิทยาลัมหิดล ที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่เพิ่งได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเข้ามาใหม่ว่า อยากให้ท่านเข้ามาทำหน้าที่แทนคนไทย ในการกำกับดูแลการดำเนินการของมหาวิทยาลัยมหิดล ให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยมากที่สุด   และในขณะเดียวกัน ก็อยากให้ท่านช่วยสื่อสารแก่สังคมไทย เพื่อให้ผู้คนไว้วางใจ ว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อประโยชน์แก่แผ่นดิน และแก่คนไทย

 

          ผมมีความเชื่อว่า อย่างหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่า “บารมี” คือความน่าเชื่อถือ ไว้วางใจ นี่เอง    ความน่าเชื่อถือจึงเป็น “ทุน” (capital)  หรือ “ทรัพย์” (asset) ทั้งของบุคคล  ขององค์กรและของประเทศ  

 

          ประพฤติตัวอย่างไร จึงจะเป็นที่น่าเชื่อถือไว้วางใจ

 

          ต้องสร้างสมชื่อเสียงความคงเส้นคงวาอย่างไร คนจึงจะเชื่อถืออย่างสนิทใจ

 

          ต้องอดทนอดกลั้นข่มใจ ฝึกฝนตนเอง อย่างไร เพื่อไม่ถูกอำนาจฝ่ายต่ำชักจูงครอบงำ ดำเนินวิถีไปตามทำนองคลองธรรมต่อเนื่องยาวนาน   จนเป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจ    เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนเรียนรู้เอง    สอนกันได้ยาก   โดยเฉพาะการรู้คุณค่าของ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน”   แต่สมัยนี้ เรารู้ว่า เป็นบทเรียนที่ต้องเรียนในกระบวนการศึกษาหรือการเรียนรู้ ทั้งที่เป็นการศึกษาแบบเป็นทางการ และไม่เป็นทางการ   เรียกว่า ฝึกทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑   ซึ่งในกรณีนี้คือ การฝึกฝนวิธีสั่งสมบารมี ให้เกิดความน่าเชื่อถือไว้วางใจ

 

          ในยุคสังคมสื่อสาร ปัจจัยหนึ่งของความน่าเชื่อถือไว้วางใจ คือการเปิดเผยข้อมูล หรือความโปร่งใส   องค์กรที่ทำงานโดยอิงความไว้วางใจของสังคม อย่างธนาคาร มหาวิทยาลัย ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้   และในต่างประเทศเขาถึงกับร่วมกันสร้างองค์กรที่ทำหน้าที่เปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะ   เช่นกรณีของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา มีUCAN, College Portraits   และในสหราชอาณาจักรมีHESAเป็นต้น   องค์กรนี้ต้องทำงานอย่างอิสระ รวมรวม และประมวลข้อมูลเพื่อบอกแก่สาธารณะอย่างแม่นยำถูกต้องตรงไปตรงมา น่าเชื่อถือ

 

          สังคมปัจจุบัน ผมเรียกว่าเป็นยุคตอแหล   คือมักสื่อสารสิ่งที่เป็นกึ่งจริงกึ่งเท็จเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ   และคนส่วนใหญ่ก็ยินดีให้เขาหลอก    สภาพเช่นนี้ไม่มีใครเชื่อถือใครแบบสนิทใจ   สังคมใด องค์กรใด ตกอยู่ในสภาพนี้ พลังความดีของความเป็นมนุษย์จะถูกบั่นทอน   หรือบั่นทอนซึ่งกันและกัน   เรียกว่าสังคม win – lose   สังคมที่ผู้คนเชื่อถือไว้วางใจซึ่งกันและกัน เป็นสังคม win – win

 

          ข้างบนนั้นผมเขียนตอนเช้ามืดวันที่ ๑๕ ส.ค. ๕๕   พอช่วงเช้าวันเดียวกัน ผมไปฟังการนำเสนอผลการวิจัย ชุด “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่ง และโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ที่จุฬาฯ    รศ. ดร. นวลน้อย ตรีรัตน์ นำเสนอผลการวิจัยเรื่อง เครือข่ายผู้บริหารระดับสูงผ่านเครือข่ายทางการศึกษา  ที่ศึกษาหลักสูตรฝึกอบรมผู้บริหารระดับกลางและระดับสูง ๖ หลักสูตร ได้แก่ วปอ. (รวม ปรอ. และ วปม.),  บยส.,  ปปร.,  พตส.,  วตท.,  และ TEPCoT   เพื่อศึกษาหาความหมายของหลักสูตรทั้ง ๖ ว่ามีความหมายต่อสังคมไทยอย่างไร ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง    เห็นชัดว่า หลักสูตรเหล่านี้เป็นช่องทางสร้างคนชั้นนำขึ้นในสังคม   ทำให้เป็นคนที่มีกลุ่ม มีเครือข่าย ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมและไว้วางใจต่อกันและกัน

 

          ทำให้ผมได้เข้าใจว่า ความไว้วางใจ เป็นคำกลางๆ  เป็นสิ่งที่เป็นกลางๆ ไม่ดี ไม่ร้าย   การสั่งสมความไว้วางใจ อาจนำเอาไปใช้ประโยชน์เพื่อตนเองเท่านั้น อย่างเห็นแก่ตัวจัด และเกิดผลร้ายต่อสังคมส่วนรวม ก็ได้    หรือเอาไปใช้ในการทำงานให้แก่สังคม เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ก็ได้   

 

          เนื่องจาก ดร. นวลน้อยศึกษาเรื่อง วปอ. ท่านอ้างถึงบันทึกเรื่อง วปอ. ของผม   ซึ่งตอนแรกผมงง ว่าไปเขียนไว้ที่ไหน   พอค้นด้วย Google จึงพบบันทึกนี้จึงได้หลักฐานยืนยันว่า การเขียนบันทึกลงใน Gotoknow มีประโยชน์ต่อสังคม

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๕ ส.ค. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 502624เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2012 08:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 กันยายน 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียนท่านอาจารย์ การเขียนบันทึกลงใน Gotoknow มีประโยชน์ต่อสังคมมากๆๆโดยเฉพาะของท่านอาจารย์หนูติดตามอ่านอยู่เสมอค่ะขอบพระคุณนะคะสำหรับความรู้ที่แบ่งปัน และขอบพระคุณทุกท่านที่แบ่งปันความรู้ในGotoknow

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท