พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak)
นางสาว พวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ (Puangrat Patomsirirak) Cherry ปฐมสิริรักษ์

สรุปประเด็นการประชุมระหว่างทีมนักวิชาการ และกระทรวงแรงงาน ในประเด็นแรงงานข้ามชาติ


สรุปประเด็น การประชุมระหว่างทีมนักวิชาการ และกระทรวงแรงงาน ในประเด็นแรงงานข้ามชาติ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 สรุปโดยพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์

สรุปประเด็น การประชุมระหว่างทีมนักวิชาการ และกระทรวงแรงงาน

เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2555 ณ กระทรวงแรงงาน

ผู้เข้าร่วมการเสวนา

            1.คุณอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน

            2. รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

            3.คุณบงกช นภาอัมพร เจ้าหน้าที่ฝ่ายความคุ้มครอง (เพื่อคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล) UNHCR และนักวิจัยโครงการบางกอกคลินิกฯ

            4.คุณโรยทราย วงศ์สุบรรณ เจ้าหน้าที่ IRC

            5.คุณอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่ IRC

            6. คุณศิวานุช สร้อยทอง ผู้ช่วยทางวิชาการของผศ.ดร.สมเกียรติ วรปัญญาอนันต์

            7.คุณพวงรัตน์ ปฐมสิริรักษ์ ผู้ช่วยทางวิชาการของรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และนักกฎหมายโครงการบางกอกคลินิกฯ

 

ทางคุณอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีประเด็นที่อยู่ในความสนใจของกระทรวงแรงงานเพื่อตั้งรับต่อ AEC ที่กำลังจะมาถึง โดยทางกระทรวงแรงงานอยากรับฟังแนวคิดจากคนทำงานด้านแรงงาน ทั้งจากนักวิชาการ ข้าราชการ และNGOs โดยพัฒนาการเพื่อรองรับ AEC นี้ทางกระทรวงแรงงานเห็นว่า ควรมีการตรวจสอบและพัฒนาการในหลายด้าน คือ

  1. ข้อกฎหมาย
  2. นโยบาย
  3. กระบวนการทำงานในระดับปฏิบัติ
  4. การบังคับใช้กฎหมาย

 

ประเด็นที่ถูกเสนอในวงเสวนา

1.แนวคิดเรื่องการนำเข้าแรงงานที่ถูกกฎหมาย กระทรวงแรงงานมีความกังวลเนื่องจากมีประเด็นว่า หลัง 14 ธันวาคม 2555เมื่อกระบวนการพิสูจน์สัญชาติสิ้นสุดตามกำหนดเวลา แต่ยังมีแรงงานที่อาจจะตกค้างไม่ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อ Legalize เช่นนี้ รัฐไทย และรัฐต้นทางควรมีแนวคิดและดำเนินการอย่างไร

            ในประเด็นนี้ นักวิชาการได้นำเสนอ ถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศ คือ ใช้ช่องทางของสถานทูต เนื่องจากเป็นหน้าที่ของสถานทูตที่จะต้องพิสูจน์สัญชาติ คนที่สงสัยว่าจะเป็นคนของชาติตน

2.การ Legalize ผู้ติดตามแรงงาน (เนื่องจากกระบวนการพิสูจน์สัญชาติตาม MOU

ขณะนี้ทางปฏิบัติเปิดช่องให้เฉพาะตัวแรงงาน ทำให้ผู้ติดตามซึ่งส่วนมากเป็นบุตรของแรงงานไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการ Legalize โดยประเทศต้นทางได้

            ในประเด็นนี้ นักวิชาการได้นำเสนอ ถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติซึ่งเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศ คือ ใช้ช่องทางของสถานทูต

            นอกจากนี้ ตามหลักการของกฎหมายคนเข้าเมืองนั้น เด็กผู้เยาว์(ผู้ติดตาม) จะต้องมีสถานะตามบิดามารดา เพราะฉะนั้นหากกรณีแรงงานต่างด้าวผ่านการพิสูจน์สัญชาติ มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย สถานะของบุตรผู้ติดตามก็คือ มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน

3. แนวคิดเรื่องการนำเข้าแรงงานให้สอดรับกับความต้องการแรงงานของประเทศไทย ซึ่งสาระคัญคือ เพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจของประเทศไทยให้เศรษฐกิจเติบโตและอยู่ได้ในระยะยาวด้วย เพราะแนวโน้มในอนาคตกระทรวงแรงงานเกรงว่า จะเกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน โดยอาจจะต้องแก้กฎหมาย หรือนโยบายที่เกี่ยวข้อง (จริงๆแล้วประเด็นนี้ ไม่ได้สะท้อนแค่การคุ้มครองตัวแรงงานให้มีงานทำเท่านั้น แต่จุดประสงค์ระยะยาวเพื่อให้ภาคธุรกิจของไทยอยู่ได้ เพราะการเปิดเสรีด้านการลงทุน การผลิตสินค้า ต้องอาศัยคนทำงาน ทั้ง Skilled labor, unskilled labor , semi-skilled labor)

4. การให้ความสำคัญต่อ “คนทำงาน” เป็นประเด็นที่กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญ

          - แรงงานจ้างทำของ  มีประเด็นว่ากระทรวงแรงงานไม่ได้ดูแลคนกลุ่มนี้ เพราะเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ แต่โดย nature แล้วคนกลุ่มนี้ก็คือ “คนทำงาน (worker)” อยู่ดี ควรจะมีสิทธิประการอื่นๆ เช่นแรงงานหรือไม่ –กระทรวงแรงงานเองก็ตั้งข้อสังเกตว่า ใครคือแรงงาน?? ควรต้องพิจารณาจาก “ความสัมพันธ์ที่แท้จริง” มิใช่พิจารณาจากตัวบท หรือสัญญาที่เท่านั้น เพราะหลายกรณีไม่ได้ใช้คำว่า “นายจ้าง-ลูกจ้าง” แต่สาระสำคัญก็คือ การใช้แรงงานอยู่ดี

            - แรงงานสองสัญชาติ

            -แรงงานที่เหมาะสมกับประเภทงาน เช่น แรงงานลาวกับการทำงานในบ้านน่าจะเหมาะสมกว่าแรงงานจากพม่า เพราะเหตุผลเรื่องภาษาและวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับคนไทยมากกว่า

            -แรงงานไทยในต่างแดน ภาควิชาการเสนอว่า ควรได้รับการดูแลจากประเทศไทยด้วย  กล่าวคือ Thai oversea people ที่รวมถึงตัวแรงงานควรได้รับการดูแลจากรัฐไทย  ในต่างประเทศบางประเทศมีกระทรวง หรือกรมที่ดูแลคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ ตัวอย่างของ oversea people คือ คนที่เคยมีสัญชาติไทย แต่สละหรือเสียสัญชาติ และไม่ทำธุรกิจหรือทำงานในต่างประเทศ ประเทศอาจจะจัดการคนกลุ่มนี้ด้วยการ “ให้สิทธิอาศัยถาวร” ได้เป็นลักษณะของ Special Alien  (ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มแรงงานสัญชาติไทยในต่างแดน แรงงานที่ไม่ใช่สัญชาติไทยแต่เชื้อสายไทย—คุณฟอง เลวันในอดีต คนกลุ่มนี้คือ Thai overseas people)

5.การแก้ไข กฎหมายไทยซึ่งเกี่ยวข้องกับแรงงาน เช่น กฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายเกี่ยวกับเงินทดแทน  กฎหมายประกันสังคมโดยพิจารณาทั้งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง และระเบียบอื่นๆ ให้สอดคล้อง โดยกระทรวงแรงงานเห็นว่าอาจจะเป็นการนำเสนอประเด็นเข้ามาที่กระทรวงแรงงาน โดยคนทำงาน คือ ภาคนักวิชาการ  NGOs ที่เห็นปัญหาข้อเท็จจริง เพื่อแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้สอดรับกับข้อเท็จจริง และไม่ให้ขัดกันเอง และไม่ขัดกับหลักการที่เป็นสากล ตลอดจนไม่ขัดต่อหลักการของอาเซียน

6. การยกเว้น การขอ Work permit ซึ่งเป็นแรงงานที่มีสิทธิในสัญชาติไทย ตามกฎหมายสัญชาติเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่กระบวนการรับรองสถานะคนสัญชาติไทยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรยังไม่เสร็จสิ้น (คือยังไม่ไดบันทึกในทะเบียน) –กรณีนี้โจทย์ของกระทรวงแรงงาน ว่าคนลักษณะนี้เป็นคนไทยหรือยัง ถ้าเป็นแล้วก็ไม่ควรต้องขอ work permit แรงงานเหล่านี้ เช่นแรงงาน กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญคือจะต้องพิสูจน์ข้อเท็จจริงของคนกลุ่มนี้ให้ชัดว่าเป็นไทยหรือไม่ และพยานหลักฐานที่รับฟังได้ว่าเป็นไทยคืออะไร

7. การทำงานของผู้ลี้ภัยนอกค่าย (urban refugees) ซึ่งมักจะเป็น skilled labor เมื่อได้รับสถานะผู้ลี้ภัยและจะต้องไปประเทศที่สาม จะต้องมีกระบวนการ ระหว่างรอไปประเทศที่สามนี้ ประเทศไทยก็ต้องมีมติคณะรัฐมนตรีให้สิทธิอาศัยชั่วคราว และน่าจะต้องให้คนกลุ่มนี้ทำงานในประเภทศไทย ด้วยเหตุผลที่ว่า จะได้ไม่เป็นภาระของประเทศไทยที่จะต้องดูแลคนกลุ่มนี้เพราะพวกเขาจะดูแลตัวเองได้ และประเทศไทยก็จะได้ประโยชน์ในแง่ของการเก็บภาษี –ประเด็นนี้กระทรวงแรงงานเห็นว่ามีความเป็นไปได้ จึงน่าจะมีการตั้งเรื่องเสนอเข้ามา

8. ประเด็นเรื่องการค้าชายแดน กับการจ้างงานชายแดน ตาม มาตรา 14 พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551ภาควิชาการเสนอว่าปัจจุบันการค้าชายแดนขยายตัวอย่างมาก ควรออกกฎกระทรวงตามบทบัญญัติดังกล่าวขึ้นมารองรับ

9.ประเด็น สถานะทางกฎหมายของ MOU การจ้างงาน เป็น International agreement ที่ต้องผ่านกระบวนการตาม มาตรา 190 รัฐธรรมนูญ 2550 (“หนังสือสัญญา ซึ่งจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา” หรือ “มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง”  หรือ “มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน” หรือ “งบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ”) หรือไม่

            ความเห็นต่อประเด็นนี้มีความหลากหลายดังนี้

-                   เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ที่ไม่ต้องผ่านรัฐสภาและกระบวนการตาม มาตรา 190 เพราะ MOU ดังกล่าวเป็นความตกลงที่ทำขึ้นก่อน การบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 (ถ้ากล่าวอ้างว่าต้องผ่านรัฐสภาหรือไม่ ต้องพิจารณาขณะทำความตกลง ซึ่งขณะนั้น มันอยู่ภายใต้บทบัญญัติ มาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญ 2540 แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนุญฉบับนี้ยกเลิกแล้ว จึงไม่สามารถนำมาพิจารณาได้)

-                   หากเกิดการโต้แย้งว่า MOU ต้องผ่านมาตรา 190  เท่ากับ ยอมรับเบื้องต้นแล้วว่า MOU คือ “ความตกลงระหว่างประเทศ” ดังนั้นเมื่อไม่ได้ผ่านรัฐสภา ทำให้ MOU มีปัญหาในเรื่องการนำมาบังคับใช้เป็นกฎหมายภายใน แต่ในแง่กฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อ MOU เป็นความตกลงระหว่างประเทศ ก็ย่อมก่อให้เกิดพันธกรณีต่อรัฐไทยในการทำสนธิสัญญา หากรัฐไทยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะเกิดความรับผิดในทางระหว่างประเทศ (อย่างไรประเด็นนี้ต้องเกิดข้อสรุปเบื้องต้นก่อนว่า MOU คือ ความตกลงระหว่างประเทศ)

-                   เมื่อ MOU สิ้นสุดเวลาการบังคับใช้แล้ว แต่สถานการณ์ความเป็นจริงคือ ความต้องการแรงงานข้ามชาติ และการจัดการแรงงานเหล่านี้ยังต้องมีอยู่ จะทำอย่างไร ??

  • ทำความตกลง MOU ฉบับใหม่ขึ้นมา จะเป็นปัญหาว่า ต้องผ่าน มาตรา 190 และใช้เวลานานอย่างแน่นอน
  • แก้ไข MOU ฉบับเดิม (กรณีนี้นักวิชาการบางท่านเห็นว่าไม่ต้องผ่าน มาตรา 190)

10. โครงการวิจัยไทย-ลาวในโครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างศักยภาพด้านกฎหมายให้แก่ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ/นักศึกษา/แรงงานลาว เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานในบริบทของ ASEAN

            เป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์ คือ วิจัยข้อกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ของทั้งสองประเทศ วิจัยข้อเท็จจริง เพื่อนำไปสู่งานส่วนการพัฒนา คือ นำบทบัญญัติมาบังคับใช้อย่างถูกต้องและคุ้มครองแรงงานได้จริง ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาและแก้ไขกฎหมาย รวมถึงมีวัตถุประสงค์ในการพัฒนาศักยภาพของคนทำงาน

หมายเลขบันทึก: 502363เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2012 19:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 กันยายน 2012 16:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เชอรี่คะ ปลาทองมีตำแหน่งเป็น Ta ของ อ.สมเกียรตินะคะ มิใช่ อ.แหวว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท