ความหมายของ “สิทธิมนุษยชน” ตอนที่ 2


ลักษณะของสิทธิมนุษยชน และประเภทของสิทธิมนุษยชน

 ลักษณะของสิทธิมนุษยชนในแง่ต่าง ๆ

แนวความคิดทางวิชาการได้อธิบายลักษณะของสิทธิมนุษยชนไว้ในแง่ต่างๆ ดังนี้

-  เป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด โอนให้แก่กันไม่ได้ มีความเป็นสากล ใช้ได้เสมอ ยกเลิกเพิกถอนไม่ได้  และไม่อาจพรากไปจากมนุษย์ได้  นอกจากนี้แล้วในบางกรณียังเป็นเรื่องของความต้องการพื้นฐานอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ [1]

 

- เป็นข้ออ้างเรื่องประโยชน์ที่ต้องได้อย่างน้อย ซึ่งเป็นการอ้างต่อรัฐ [2]

 

- เป็นสิทธิที่ติดตัวมาแต่กำเนิดแล้วรัฐรับรอง  และถ้ารัฐจะจำกัดสิทธิประเภทนี้ต้องอธิบายให้เหตุผลได้อย่างชัดเจน  หากเป็นสิทธิที่รัฐมอบให้  รัฐสามารถจำกัดได้เสมอ [3]

 

ในทัศนะของผู้บรรยายเห็นว่า  สิทธิมนุษยชน  ได้แก่  ประโยชน์อันชอบธรรมซึ่งบุคคลจำเป็นต้องมีเพื่อใช้ในการดำรงอยู่และพัฒนาชีวิต ทั้งนี้ โดยปราศจากอันตรายซึ่งเกิดจากผู้อื่น และเพื่อเลือกแนวทางการเจริญเติบโตของร่างกายและจิตใจ   ผู้อื่นหรือสังคมจะต้องไม่ขัดขวางหรือจำกัดการใช้ประโยชน์ดังกล่าว  นอกจากนี้แล้ว รัฐยังมีหน้าที่คุ้มครอง ดูแล ปกป้องมิให้บุคคลภายนอกขัดขวาง ตลอดจนอำนวยประโยชน์ในสิ่งต่างๆ ที่บุคคลพึงมีพึงได้ แต่ไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง  รวมทั้งเยียวยากรณีที่การใช้สิทธิถูกละเมิด

 

อนึ่ง การพิจารณาว่าสิทธิใดถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชนได้จะต้องใช้เงื่อนไขที่เคร่งครัดประกอบกับความจำเป็นและสำคัญต่อการรักษาชีวิตและการพัฒนาบุคลิกภาพ  ทั้งนี้ เพื่อให้ดำรงอยู่ได้ในสังคมเยี่ยงบุคคลอื่นๆ  ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว  สิ่งที่เข้าข่ายเป็นสิทธิมนุษยชนมีดังนี้

 - สิทธิในชีวิต  รวมถึงร่างกาย  สมอง  สติปัญญา และการแสดงออกโดยสุจริตเพื่อการดำรงชีวิต

- สิทธิในความเสมอภาค  ได้แก่  การที่จะต้องไม่คำนึงถึงปัจจัยซึ่งบุคคลเลือกไม่ได้เมื่อเกิดมา  แต่อาจถูกอ้างเพื่อจะให้หรือไม่ให้ผลดีแก่บุคคล  เช่น  ปัจจัยเรื่องเพศ  สีผิว  ฐานะทางสังคม ฯลฯ

 ในแง่นี้  สิ่งเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์  แต่ไม่มีความสำคัญในลำดับต้นๆ  และไม่มีความจำเป็นถึงขนาดที่จะถือเป็นแก่นของชีวิต  เช่น  สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร  สิทธิในการเลือกตั้ง  ฯลฯ  จึงไม่ควรถือว่าเป็นสิทธิมนุษยชน


[1] ศึกษาผลงานของ ฯพณฯ ปรีดี  พนมยงค์   ศาสตราจารย์ เสน่ห์  จามริก และศาสตราจารย์ กุลพล พลวัน ประกอบ.
[2] ศาสตราจารย์ วิทิต  มันตาภรณ์.
[3] ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ.

 

หมายเลขบันทึก: 50196เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท