ความหมายของ “สิทธิมนุษยชน” ตอนที่ 1


เอกสารประกอบการบรรยายวิชา น.490 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความหมายของ “สิทธิมนุษยชน”

          ความหมายของ “สิทธิมนุษยชน” เริ่มปรากฏหลังจากสมัชชาสหประชาชาติได้ผ่านมติเมื่อวันที่  10  ธันวาคม  พ.ศ.2491  ให้มีปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  แม้ในตัวปฏิญญาฯ มิได้ให้คำจำกัดความไว้  แต่หากพิจารณาเนื้อความแห่งบทบัญญัติก็พอจะทราบได้ว่า  สิทธิมนุษยชนได้แก่ ความเท่าเทียมกัน  สิทธิในการดำรงชีวิต  ในเสรีภาพ  ในร่างกาย และในทรัพย์สิน


          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย นับแต่ปี พ.ศ.2492 จนถึง พ.ศ.2534 ได้นำเนื้อความแห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาบัญญัติไว้ด้วย  แต่ไม่มีคำว่า “สิทธิมนุษยชน” อยู่เลย  คำว่า “สิทธิมนุษยชน” ถูกนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นครั้งแรกใน พุทธศักราช 2540  ซึ่งก็มิได้ให้ความหมายเอาไว้  แต่หากตีความตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดโดยไม่อาศัยกฎหมายอื่นมาประกอบ  อาจกล่าวได้ว่าสิทธิมนุษยชนหมายถึง


         1) สิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนซึ่งนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  ตั้งแต่ พุทธศักราช 2492 จนถึง พุทธศักราช 2534 ที่ปรากฏเด่นชัดคือ ความเสมอภาค


         2) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540  มาตรา 4, 26 และ มาตรา 28


         3) ขอบเขตแห่งสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540  มาตรา 200


         นิยามคำว่า “สิทธิมนุษยชน” จึงยังมีข้อถกเถียงกันว่ามีความหมายอย่างไร  ซึ่งส่งผลถึงการทำความเข้าใจของผู้บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างการร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเช่นกัน  ซึ่งถ้าพิจารณาจากตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เช่น ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หรือกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะไม่พบว่ามีที่ใดให้นิยามศัพท์ไว้  แต่จะระบุลักษณะของสิทธิที่ต้องการคุ้มครอง  เช่น ในข้อ 3 ของปฏิญญาสากลฯ บัญญัติว่า “บุคคลมีสิทธิในการดำรงชีวิต ในเสรีภาพ และในความมั่นคงแห่งร่างกาย”  ดังนั้นผู้ใช้กฎหมายอาจรู้ความหมายโดยอ่านหลักเกณฑ์หรือบทบัญญัติในแต่ละมาตราจะทราบว่าสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองคือ สิทธิมนุษยชน ซึ่งตามตัวอย่างในข้อ 3 ของปฏิญญาสากลฯ ได้แก่ สิทธิในการดำรงชีวิต เป็นต้น


        การให้นิยามความหมายคำว่า “สิทธิมนุษยชน”  จึงมีความคิดเห็นเป็นสองฝ่ายคือ


       (1) หากพิจารณาจากพัฒนาการของแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนจะเห็นว่า ได้รับการพัฒนามาเป็นระยะๆ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1948 จนถึง 2000  ความหมายของสิทธิมนุษยชนขยายตัวจากเดิมไปอย่างกว้างขวางสัมพันธ์กับพัฒนาการของยุคสมัย และประเภทแห่งสิทธิที่ได้รับการรับรองคุ้มครอง    ดังนั้น การให้คำจำกัดความไว้แน่นอน  จะทำให้พัฒนาการของสิทธิมนุษยชนถูกจำกัด  จึงไม่ควรมีคำจำกัดความไว้


       (2) หากพิจารณาจากเจตนารมณ์ของกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน  ประกอบกับผู้บังคับใช้กฎหมายก็มีหน้าที่ต้องตรวจสอบการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  ซึ่งต้องมีความชัดเจนแน่นอน   ดังนั้น  หากไม่มีกรอบที่ชัดเจนจะทำให้การทำงานมีอุปสรรค   เพราะกฎหมายไม่มีความชัดเจนโดยเฉพาะในกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่าการใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ต้องรู้ว่าสิทธิมนุษยชนมีลักษณะขอบเขตเช่นใดเสียก่อน

        เดิมทีเดียว  สิทธิที่เป็นแกนของสิทธิมนุษยชนกำหนดขึ้นโดยกรอบของข้อ 4  วรรค 2 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 ซึ่งบัญญัติห้ามภาคีหลีกเลี่ยงการต้องรับรอง รับรู้ และปฏิบัติตาม  ดังนั้นพื้นฐานของสิทธิมนุษยชนจึงได้แก่  สิทธิในชีวิต  สิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมาน  สิทธิในการที่จะไม่ถูกเอาตัวลงเป็นทาส  สิทธิที่จะได้รับการรับรองว่าเป็นบุคคลในสายตาของกฎหมาย  และสิทธิที่จะแสดงออก  เป็นต้น  ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติก็ได้ตีความโดยพิจารณาตามจารีตประเพณีว่า  สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาด้วยความเป็นธรรมก็จะต้องถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นกัน

หมายเลขบันทึก: 50194เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2006 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 14:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ปรียาภรณ์ ศรีษะเกตุ

อยากได้เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท