546. การทูตศาสนาและบารมีธรรมของชาวพุทธศรีลังกา


เข้มข้น

 

(ชาวพุทธศรีลังกานับแสนยืนรอเข้าสักการะพระบรมสารีริกธาตุจากอินเดีย)

การทูตศาสนาและบารมีธรรมของชาวพุทธศรีลังกา

ศรีลังกาเป็นประเทศพุทธที่ได้ชื่อว่าคนศรัทธายึดมั่นในพุทธศาสนามากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก นอกจากนั้นด้วยความที่ศรีลังกามีสิ่งศักดิ์สิทธิอยู่ 2 อย่างคือพระเขี้ยวแก้วและต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำให้เป็นดินแดนแห่งการแสวงบุญที่สำคัญถัดจากอินเดีย ในทุกปีมีคนศรีลังกาไปแสวงบุญที่พุทธคยาไม่น้อยกว่า 2 แสนคน

อย่างไรก็ดีนับตั้งแต่อินเดียประกาศไม่เกี่ยวข้องและสนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายพยัคร์ทมิฬอีแลมและตั้งแต่ที่ศรีลังกาปราบปรามอย่างเด็ดขาดและราบคาบ จนทำให้สถานการณ์กลับมาสู่ความสงบอีกครั้งนั้น  ความสัมพันธ์ระหว่างศรีลังกากับอินเดียก็ไม่ได้ราบรื่นซะทีเดียวเพราะมุขมนตรีของทมิฬนาดูของอินเดียยังคงยึดถือแนวทางที่ส่งเสริมกลุ่มทมิฬในศรีลังกาให้เรียกร้องและต่อสู้ต่อไปอย่างเปิดเผย  และในช่วงหลังนอกจากเรื่องสิทธิมนุษย์ชนที่ศรีลังกาไม่พอใจที่อินเดียไม่สนับสนุนตนในเวทีโลกที่เจนีวาแล้ว แม้แต่คนทมิฬที่นับถือคริสต์ที่ไปแสวงบุญในอินเดียก็ถูกขับไล่จากคนในพื้นที่ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศไม่ค่อยราบรื่นเท่าที่ควร

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ทาบทามขอให้อินเดียส่งพระบรมสารีริกธาตุมาให้ชาวพุทธศรีลังกาได้สักการะ ถือเป็นนโยบายการทูตด้านศาสนาที่เหมาะสมกับเวลาและน่าสนใจ การนำพระธาตุมาให้บูชานี้ นับเป็นครั้งที่สองในรอบ 30 กว่าปี คือตั้งแต่ปี 1978 ซึ่งก็มีนักการเมืองอินเดียบางคนถึงกับเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงประธานาธิบดีอินเดียไม่ให้ส่งพระบรมสารีริกธาตุไปศรีลังกา แต่ในที่สุด อินเดียก็ตัดสินใจส่งพระบรมสารีริกธาุตจำนวน 4 องค์ให้ ซึ่งแสดงว่าในระดับผู้นำของทั้งสองประเทศเห็นความสำคัญของนโยบายการทูตด้านศาสนานี้ว่าจะสามารถเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันได้

การนำพระบรมสารีริกธาตุมาในครั้งนี้ได้รับการดูแลและคุ้มกันเป็นพิเศษและอย่างยิ่งยวดเพราะถือว่าพระบรมสารีริกธาตุเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิสูงสุด ได้รับการอารักขาเช่นเดียวกับผู้นำรัฐโดยมีรัฐมนตรีวัฒนธรรม Kumari Selja และผอ.พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติของอินเดียนำมา

พระบรมสารีริกธุตจะประดิษฐานที่ศรีลังกาตั้งแต่ 20 สค. จนถึงต้นเดือนกันยายน (12 กันยายน) เป็นพระบรมสารีริกธาตุที่ค้นพบในพื้นที่ Piprahwa โดยเซอร์คันนิ่งแฮม ผอ.คนแรกของกรมสำรวจโบราณคดีของอินเดียเมื่อ 113 ปีก่อนนี้ 

ในช่วงวันที่ 8 -10 กันยายน พระบรมสารีริกธาตุได้ถูกนำมาที่วัดคงคาราม โคลัมโบซึ่งใกล้กับที่ทำงานของผม ปรากฏผู้คนมาจากทั่วทุกหนทุกแห่งมายืนต่อแถวยาวเป็นกิโล นับเป็นภาพที่น่าศรัทธาและน่าชื่นชมยิ่งนัก ทุกคนแต่งกายชุดขาว พากันมาทั้งครอบครัว ยืนต่อแถวตามฟุตบาตรที่ทอดยาวไปยังวัดคงคารามเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรแต่ยิ่งสายคนยิ่งเพิ่มขึ้นๆ เรื่อยๆ  อย่างไม่น่าเชื่อ ตามข่าวระบุว่าเพียง 3 วันที่ผ่านมาที่วัดคงคารามแห่งเดียวคือ 8-10 กันยายน มีชาวพุทธศรีลังกามาสักการะแล้วประมาณ 4 แสนคน ผมนั่งรถผ่านแถวคนที่ยาวเหยียดนี้ ใจก็นึกว่าเราโชคดีที่ได้มีโอกาสได้สักการะพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าวซึ่งประดิษฐานอยู่ ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่เดลีมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ผมเห็นแล้วก็อดสงสารไม่ได้เพราะกว่าจะได้เข้าไปสักการะน่าจะใช้เวลายืนรอแถวกันทั้งวัน และเห็นรถพยาบาลวิ่งไปมา คงเพราะมีคนเป็นลมหรือไม่สบาย

นี่ละ บารมีธรรมที่คนศรีลังกาได้แสดงให้เราเห็น ว่าหากตั้งใจจริงแล้ว ไม่ว่าจะยากลำบากและมีอุปสรรคเพียงใด ก็สามารถฝ่าฟันไปได้ อนุโมทนาสาธุกับชาวพุทธศรีลังกาในโอกาสนี้ด้วย

วันที่ 10 กันยายน 2555

หมายเลขบันทึก: 501942เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2012 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กันยายน 2012 09:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมมีเพื่อนคนศรีลังกาเขาน่ารักมาก ทำให้นึกถึงนิสัยใจคอคนศรีลังกาที่อ่อนโยนไม่ต่างจากคนไทยสมัยก่อน

เขาเป็นเมืองพุทธจริงๆ น่าศรัทราครับ.....:):)

Blank

ขอบคุณครับ 

จริงครับคนศรีลังกานิสัยดี คล้ายคนไทยสมัยก่อน เขายึดมั่นในศีลมากครับ

สวัสดีคะ

ชาวศรีลังกาก็นุ่งขาวห่มขาวเช่นกันนะคะ ดูพลังศรัทธาแล้วขนลุกเชียวค่ะ

ขอบคุณค่ะ

Blank

คุณหมอครับ มีคำว่า Sea of White วึ่งใช้ได้เฉพาะศรีลังกาเพราะพุทธศาสนิกชนขะแต่งขาวเป็นประจำเวลาไปวัดหรือในทุกวันพระรวมทั้งในทุกวันอาทิตย์ซึ่งมีโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ พลังศรัทธาของคนศรีลังกาขเ้มข้นมากครับ คนไทยน่าจะซึมซับไปบ้าง ของคุณสำหรับความเห็นครับ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท