ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง : 5. ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง


การเรียนแบบรู้จริง ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของเด็ก เพิ่มความร่วมมือระหว่างนักเรียน เพิ่มความมั่นใจตนเองของนักเรียน และช่วยให้โอกาสนักเรียนได้แก้ตัวในการเรียนรู้ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์หากพลาดในรอบแรก

ครูเพื่อศิษย์สร้างห้องเรียนกลับทาง  : 5. ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง

หนังสือ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day บทที่ ๕ ชื่อ Tne Flipped–Mastery Classroom   ซึ่งหมายความว่าเป็นห้องเรียนกลับทางที่นักเรียนได้เรียนรู้แบบสร้างความรู้ขึ้นในสมองของตน

การเรียนแบบรู้จริง (mastery learning) เกิดขึ้นมานานแล้ว คือประมาณ ๙๐ ปี   แต่ไม่มีคนสนใจ   รวมทั้งเป็นภาระแก่ครูมากเกินไป   แต่ปัจจุบัน ไอซีที ช่วยให้การเรียนแบบรู้จริงนี้ทำได้โดยครูไม่ต้องทำงานมากขึ้น

มีผลการวิจัยบอกว่า การเรียนรู้แบบรู้จริง จะช่วยให้เด็กประมาณร้อยละ ๘๐ สามารถเรียนเนื้อหาสำคัญได้   เทียบกับร้อยละ ๒๐ เมื่อใช้วิธีสอนแบบที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

หลักการสำคัญของการเรียนแบบรู้จริง คือ ให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ชุดหนึ่งตามอัตราเร็วของการเรียนรู้ของตน   ไม่ใช่ต้องเรียนตามอัตราเร็วที่ครูหรือชั้นเรียนกำหนด   การเรียนแบบนี้ นักเรียนต้องเรียนวัตถุประสงค์ไล่ตามลำดับพื้นความรู้ก่อนหลัง   คือต้องเข้าใจพื้นความรู้ชุดที่ ๑ เสียก่อน จึงจะสามารถเรียนรู้และเข้าใจบทเรียนที่ ๒ ได้   

ลักษณะสำคัญของการเรียนแบบรู้จริงคือ

  • นักเรียนเรียนเป็นกลุ่ม หรือเดี่ยวๆ ตามอัตราเร็วที่เหมาะสม
  • ครูคอยประเมินการเรียนรู้ (formative assessment) และวัดความเข้าใจ ของศิษย์
  • นักเรียนพิสูจน์ว่าตนเรียนรู้วัตถุประสงค์นั้น เข้าใจอย่างแท้จริง โดยสอบผ่านข้อสอบ (summative assessment)   นักเรียนที่ยังสอบไม่ผ่านวัตถุประสงค์ข้อใด ได้รับการช่วยเหลือ 

ผลการวิจัยบอกว่า การเรียนแบบรู้จริง ช่วยเพิ่มผลสัมฤทธิ์ของเด็ก  เพิ่มความร่วมมือระหว่างนักเรียน  เพิ่มความมั่นใจตนเองของนักเรียน   และช่วยให้โอกาสนักเรียนได้แก้ตัวในการเรียนรู้ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์หากพลาดในรอบแรก

อ่านถึงตอนนี้ ผมคิดว่า นี่คือที่มาของหลักการศึกษาแบบไม่มีการสอบตก   คือนักเรียนต้องได้รับโอกาสให้เรียนและสอบแก้ตัว จนบรรลุผลสัมฤทธิ์จริงๆ

เมื่อเรียนแบบรู้จริงในชั้นต้นๆ พื้นความรู้ก็แข็งพอที่จะขึ้นไปเรียนชั้นสูงขึ้นไปได้โดยไม่ยากลำบาก

เพราะมีวิดีทัศน์ให้ดูเองกี่รอบก็ได้ หยุดบันทึกช่วยความเข้าใจก็ได้ ถอยหลังกลับไปดูบางตอนใหม่ก็ได้   นักเรียนจึงสามารถเรียนวิชาหรือทฤษฎีจนเข้าใจ   หากยังไม่เข้าใจแจ่มแจ้งก็ยังมีชั่วโมงเรียนในชั้นเรียนให้ฝึกทำแบบฝึกหัดโดยมี เพื่อนและครูคอยช่วยเหลือ  

ห้องเรียนแบบกลับทาง จึงช่วยให้การเรียนแบบรู้จริงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เทคโนโลยีคลังข้อสอบ และการสอบโดยใช้ ไอซีที เป็นเครื่องมือ ช่วยให้เด็กสามารถทดสอบความเข้าใจของตนเองกี่ครั้งก็ได้   สอบแต่ละครั้งข้อสอบต่างกัน   ทั้ง formative assessment และ summative assessment จึงไม่เป็นภาระหนักของนักเรียนและครูอีกต่อไป

 

ห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง (flipped-mastery classroom) เป็นอย่างไร 

เป็นการนำเอาวิธีการสองอย่างมาใช้ร่วมกัน   โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วยสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่นักเรียนรู้จริง   มีลักษณะเป็นห้องเรียนที่นักเรียนแต่ละคน (หรือแต่ละกลุ่ม) เรียนบทเรียนของตน ที่ไม่ตรงกับของคน (หรือกลุ่ม) อื่น   แต่ละคน (กลุ่ม) ง่วนอยู่กับกิจกรรมของตน   นักเรียนทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ของตน   ครูเดินไปรอบๆ ห้องเพื่อตรวจสอบการเรียนรู้ของศิษย์แต่ละคน (กลุ่ม)   และคอยช่วยเชียร์หรือให้กำลังใจ หรือช่วยตั้งคำถาม หรือแนะวิธีช่วยตัวเอง ให้แก่ศิษย์

นักเรียนจะหาวิธีแสดงให้ครูเห็นว่าตนเข้าใจวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ขั้นตอนนั้น   โดยอาจไม่ใช่การตอบข้อสอบที่มีอยู่ในคอมพิวเตอร์ก็ได้ 

ในขณะที่ห้องเรียนแบบเดิมจะมีลักษณะเป็นระเบียบเรียบร้อย นักเรียนทุกคนทำกิจกรรมเดียวกัน ทำพร้อมกัน   ห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนให้รู้จริง มีลักษณะไม่เป็นระเบียบ   นักเรียนทำกิจกรรมที่ต่างกัน เรียนไม่พร้อมกัน  แต่ละคนมีอัตราเร็วของการเรียนตามที่เหมาะกับตน

 

ครูต้องรู้เนื้อหาวิชาอย่างรู้จริง

ห้องเรียนแบบกลับทางและเรียนแบบรู้จริงนี้ ครูต้องมีความสามารถเปลี่ยนสวิตช์สมองจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งได้ทันท่วงที   รวมทั้งต้องเข้าใจความเชื่อมระหว่างสาระวิชา

 

ครูต้องไม่อายที่จะสารภาพกับเด็กว่าตนไม่รู้ในบางเรื่อง

นั่นคือครูต้องทำตัวเป็น “ผู้เรียนรู้” มากกว่าเป็น “ผู้รอบรู้”  

 

องค์ประกอบของห้องเรียนกลับทางและเรียนให้รู้จริง

  • กำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ให้ชัดเจน
  • ไตร่ตรองว่าวัตถุประสงค์ส่วนไหนควรเรียนแบบลงมือทำหรือ inquiry  ส่วนไหนควรเรียนแบบรับถ่ายทอด
  • ให้แน่ใจว่านักเรียนเข้าถึงวิดีทัศน์เพื่อเรียนสาระวิชา
  • สร้างกิจกรรมให้นักเรียนลงมือทำเพื่อเรียนรู้ในชั้นเรียน
  • สร้างวิธีสอบหลายวิธีเพื่อพิสูจน์ว่านักเรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุ ประสงค์ ในแต่ละบทเรียน

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ก.ย. ๕๕               

หมายเลขบันทึก: 501941เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2012 20:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มีนาคม 2020 10:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท