อาศัยตัณหาละตัณหา


บันทึกนี้สืบเนื่องมาจากบันทึก ตัณหาสองประการ ในประเด็นที่ว่า ความอยากดับตัณหา เป็นตัณหาหรือไม่

มีคำพูดของพระอานนท์ที่น่าสนใจอยู่ค่ะ ว่า อาศัยตัณหาละตัณหา กับมีหลักธรรมที่ควรพิจารณาอีกหลักธรรมหนึ่งคือ สันโดษ

สำหรับการ อาศัยตัณหาละตัณหา นั้น

ขอนำคำบรรยายของสมเด็จพระสังฆราชมาบันทึกไว้ดังนี้ค่ะ

แม้ว่าต้องการมรรคผลนิพพาน ความต้องการนั้นบังเกิดขึ้นว่า เมื่อไรจะได้มรรคได้ผลได้นิพพานก็เป็นตัณหาเหมือนกัน และแม้ว่าจะได้อริยมรรค อริยผล เป็นพระโสดาบัน เป็นพระอนาคามี ก็ละตัณหาหยาบๆได้ไปโดยลำดับ แต่ก็ยังมีตัณหาในมรรคผลนิพพานที่ยังไม่ได้ เมื่อมีความอยากว่าเมื่อไรจะได้ ก็เป็นตัณหาเหมือนกัน เป็นอย่างละเอียด ก็แปลว่ายังมีตัณหาอยู่ เพราะว่ายังไม่เสร็จกิจ ท่านจึงแสดงว่า ให้อาศัยตัณหาละตัณหา เพราะฉะนั้น ตัณหา จึงเป็นเรื่องที่มีอยู่คู่โลก

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) สัมมาทิฏฐิ หน้า ๙๘

อาศัยตัณหาละตัณหา

ฉะนั้น ตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากของใจ จึงได้แต่สร้างความไม่สงบและความทุกข์ต่างๆให้บังเกิดขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติเพื่อละตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากปรารถนานั้นเสีย สำหรับผู้ที่ต้องการจะพบกับความสงบ และในขั้นสามัญ ก็ได้มีคำสอนแสดงไว้ว่า ให้อาศัยตัณหาละตัณหาเสีย ความอาศัยตัณหาละตัณหานั้นก็หมายความว่า ให้ใช้ความดิ้นรนทะยานอยากในทางที่จะพบกับความสิ้นทุกข์ คือ อยากให้พบความสิ้นทุกข์ อยากบรรลุมรรคผลนิพพาน อันความอยากดังกล่าวนี้ ถ้าเป็นความพอใจใคร่ที่จะปฏิบัติกระทำ ท่านเรียกว่า ฉันทะ เป็นอิทธิบาทธรรมที่ให้บรรลุถึงความสำเร็จ แต่ว่า ถ้าความพอใจที่แรงสักหน่อยหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นความดิ้นรนหรือเป็นความต้องการที่มาก ฉันทะนั้นก็เป็นตัณหา

และเมื่อแสดงอย่างละเอียด แม้ฉันทะดังกล่าวนั้น ก็เป็น ตัณหาอย่างละเอียด อย่างหนึ่ง แต่เป็นตัณหาในทางที่ดี ก็ให้อาศัยตัณหาในทางที่ดีนั้นเพื่อละตัณหาในที่สุด

สมเด็จพระสังฆราช (เจริญ สุวฑฺฒโน) ธรรมกถาในการอบรมกรรมฐาน หน้า ๑๕๙ ๑๖๐

ส่วนในหลักธรรมที่ควรพิจารณาคือ สันโดษ

อันหมายถึง ความยินดี, ความพอใจ, ยินดีด้วยปัจจัย ๔ คือ ผ้านุ่งผ้าห่ม อาหารที่นอนที่นั่ง และยา ตามมีตามได้, ยินดีในของของตน, การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร ประกอบด้วย ๓ ลักษณะ คือ

๑. ยถาลาภสันโดษ ยินดีตามที่ได้ คือ ได้สิ่งใดมาด้วยความเพียรของตน ก็พอใจกับสิ่งนั้น ไม่เดือดร้อนเพราะของที่ตนไม่ได้

๒. ยถาพลสันโดษ ยินดีตามกำลัง คือ พอใจเพียงแค่พอแก่กำลังร่างกาย สุขภาพ และ ขอบเขตการใช้สอยของตน ของที่เกินกำลังก็ไม่หวงแหนเสียดายหรือเก็บไว้ให้เสียหาย หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ร่างกาย

๓. ยถาสารูปปสันโดษ ยินดีตามสมควร คือ พอใจตามสมควรแก่ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน

สันโดษนั้น มีตั้งแต่ขั้นต่ำ คือ พอใจในสิ่งที่ตนพึงมี พึงได้ ตามลักษณะต่างๆทั้ง ๓ นั้น ส่วนในขั้นที่สูงคือ ขั้นเต็มความหวัง เพราะการหวังผลในอนาคต จัดเป็นตัณหา เนื่องจากธรรมชาติของตัณหานั้น เมื่อไม่ได้ ก็ไขว่คว้า เมื่อได้มา ก็ต้องการให้ได้มากขึ้น เลิศขึ้น ดังนั้น ความประสงค์จึงไม่มีโอกาสได้เต็ม ดังนั้น ถ้าจะให้เต็มความประสงค์ ก็ต้องละความหวัง หรือความประสงค์นั้นเสีย

ปฏิบัติดับตัณหา เพื่อความเป็นผู้สันโดษเต็มความประสงค์

เพราะฉะนั้น สันโดษในพุทธศาสนาจึงเป็นสันโดษที่ถูกต้อง และก็มีระดับของสันโดษตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูง ก็คือเต็มความประสงค์ แต่ว่าความประสงค์ที่จะได้ความเต็มความประสงค์นั้น ในเมื่อยังมีความประสงค์อยู่ก็ยังไม่เต็ม เพราะฉะนั้น จึงต้องละความประสงค์ เมื่อปราศจากความประสงค์เสียได้นั่นแหละจึงจะเต็ม ก็คือ ปฏิบัติดับตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก และเมื่อยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากอยู่ นอกจากไม่เต็มความประสงค์แล้ว ยังมีความหวั่นไหวไปต่างๆ อันปรากฏเป็นความทะเยอทะยานดิ้นรนไปต่างๆบ้าง ปรากฏเป็นความกระสับกระส่าย หวั่นไหวไป หวาดระแวงไปต่างๆบ้าง

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) โสฬสปัญหา หน้า ๖๑

จะเห็นว่า แม้เราจะมีความสันโดษคือ พอใจตามสิ่งที่พึงมี พึงได้ ก็ไม่สามารถทำให้บรรลุผลการปฏิบัติอย่างสูงสุดได้แล้ว ต้องสันโดษในระดับสูง คือ ละความประสงค์นั้นเสีย จึงจะบรรลุได้ แต่อย่างไรก็ดี ในขั้นต้น ยังเป็นสันโดษในระดับต้นอยู่ และยังมีตัณหาอย่างละเอียดอยู่ดังที่พระสังฆราชได้อธิบายว่า แม้แต่พระโสดาบัน ก็ยังมีตัณหาในผลการปฏิบัติิยู่ จึงทำให้ยังต้องมีเป้าหมายในการปฏิบัติ เพราะมีเป้าหมาย มีอธิษฐานธรรม จึงทำให้ไม่เฉไฉออกไปนอกเส้นทาง

เมื่อปฏิบัติไป ปฏิบัติไป จนรู้ว่าอยู่บนเส้นทางแล้ว ได้พบสันติ ก็จะค่อยๆวางเป้าหมายลง

คงเหลือเพียง ไม่สันโดษในเหตุคือการปฏิบัติ แต่ สันโดษในผล คือการหวังผลในการปฏิบัติไปเอง

หมายเลขบันทึก: 501745เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2012 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 ตุลาคม 2013 20:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

".....แม้แต่พระโสดาบัน ก้ยังมีตัณหาในผลการปฏิบัติิยู่ จึงทำให้ยังต้องมีเป้าหมายในการปฏิบัติ เพราะมีเป้าหมาย มีอธิษฐานธรรม จึงทำให้ไปเฉไฉออกไปนอกเส้นทาง"

คล้ายกับบทเทศน์หลวงพ่อชาที่ตอบคำถามองคมนตรีที่ว่า....

....พระอนาคามี จิตเป็นประภัสสรหรือไม่.......??

ท่านตอบว่า......"ไม่แน่" .......

ใช่ไหมครับ พี่ณัฐรดา.... Blank

พออาจารย์หมอ PS ถาม เรื่อง "ความอยากดับตัณหา เป็นตัณหาหรือไม่" ผมนึกถึงเรื่องที่หลวงพ่อชาและหลวงปู่เทศน์เช่นกัน....

..........เวลาไปตลาด ไปซื้อกล้วยนั้น คุณซื้อเอาเปลือกมันมาด้วยใช่หรือไม่...... ถ้ามีคนทักว่าจะเอาเปลือกมันมาทำไม ในเมื่อเราไม่ต้องการ..... (น่าคิดมาก เมื่อฟังเทศน์ตอนนี้....) ท้ายที่สุดเราก็ทิ้งเปลือกนั้น รับประทานสิ่งที่เราต้องการ แต่ยังไงก็คงมีเปลือกติดมาก่อน.... (ผมคงอธิบายไม่ละเอียดเท่าครูบาอาจารย์.. ขอให้ท่านไปศึกษาด้วยตนเอง ผมว่าจะเขียนบันทึกเรื่องนี้เช่นกัน แต่พิจารณาแล้ว ข้าน้อยยังไม่เหมาะที่จะกล่าวถึงเรื่องนี้ .....)

เรียน อ.Blank

ขอบพระคุณค่ะที่คัดลอกมาแสดงความเห็น เลยทำให้เห็นว่า ไม่ได้ตรวจทานอักษร

" เพราะมีเป้าหมาย มีอธิษฐานธรรม จึงทำให้ไม่เฉไฉออกไปนอกเส้นทาง"

จึงกลายเป็น

" เพราะมีเป้าหมาย มีอธิษฐานธรรม จึงทำให้ไปเฉไฉออกไปนอกเส้นทาง"

แก้ไขแล้วค่ะ

^_^

....................

ส่วนที่ว่าพระอนาคามีจิตประภัสสรหรือไม่นั้น มองว่าท่านน่าจะมีเวลาที่จิตประภัสสรเป็นส่วนใหญ่กระมังคะ เนื่องจากท่านละสังโยชน์ 5 ข้อแรกได้แล้ว ยังเหลือที่ยังละไม่ได้อีก 5 คือ รูปราคะ ความติดใจในรูปธรรมอันประณีต อรูปราคะ ความติดใจในอรูปธรรม มานะ ความถือว่าตนเป็นนั่นเป็นนี่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน และ อวิชชา ความไม่รู้จริง

มานะนั้น ก็จัดเป็นหนึ่งในอุปกิเลส

นึกถึงประโยค "จิตนี้ประภัสสร เพราะอุปกิเลสจรมาจึงหมองไป" ขึ้นมาเลยค่ะ

ขอบคุณคุณ Blank อ. Blank รวมถึงทุกท่านที่แวะมาด้วยค่ะ

  • ทางธรรม ก็ใช้หลักเกลือจี้มเกลือ..เหมือนกัน(ประมาณนั้น)
  • ไม่ทราบว่า ผมเข้าใจ ใกล้ความถูกต้องบ้างหรือเปล่าครับ

พี่ตุ๊กตาคะ

 

ขอบคุณมากนะคะ

เมื่อสะดวกกว่านี้จะมาอ่านทำความเข้าใจค่ะ

พระพุทธองค์ทรงแนะนำสอนใน อริยสัจ ๔ ว่า (คัดมาจากพระไตรปิฎกบางตอน)

         ดูกรภิษุทั้งหลาย ก็ตัณหานี้นั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่ไหน เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้น เมื่อจะเกิด ย่อมเกิดในที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมต้ังอยู่ในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลกฯ 

         ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

         รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

         จักขุวิญญาณ  โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ  ชิวหาวิญญาณ  กายวิญญาณ  มโนวิญญาณ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

          จักขุสัมผัส  โสตสัมผัส  ฆานสัมผัส  ชิวหาสัมผัส  กายสัมผัส  มโนสัมผัส เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

          จักขุสัมผัสสชาเวทนา  โสตสัมผัสสชาเวทนา  ฆานสัมผัสสชาเวทนา  ชิวหาสัมผัสสชาเวทนา  กายสัมผัสสชาเวทนา  มโนสัมผัสสชาเวทนา  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมต้ังอยู่ที่นี้ฯ

           รูปสัญญา  สัททสัญญา  คันธสัญญา  รสสัญญา  โผฏฐัพพสัญญา  ธัมมสัญญา  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

           รูปสัญเจตนา  สัททสัญเจตนา  คันธสัญเจตน  รสสัญเจตนา  โผฏฐัพพสัญเจตนา  ธัมมสัญเจตนา  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ 

           รูปตัณหา  สัททตัณหา  คันธตัณหา  รสตัณหา  โผฏฐัพพตัณหา  ธัมมตัณหา  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ  

           รูปวิตก  สัททวิตก  คันธวิตก  รสวิตก  โผฏฐัพพวิตก  ธัมมวิตก  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

           รูปวิจาร  สัททวิจาร  คันธวิจาร  รสวิจาร  โผฏฐัพพวิจาร  ธัมมวิจาร  เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อจะเกิดย่อมเกิดที่นี้ เมื่อจะตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ที่นี้ฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขสมุทัยอริยสัจฯ

            ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทุกขนิโรธอริยสัจเป็นไฉน  ความสำรอก และความดับโดยไม่เหลือ  ความสละ  ความส่งคืน  ความปล่อยวาง  ความไม่มีอาลัย ในตัณหาน้ัน  ก็ตัณหานั้น เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่ไหน เมื่อจะดับ ย่อมดับที่ไหน  

           ที่ใดเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหานั้นเมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้  เมื่อจะดับย่อมดับในที่นี้ อะไรเป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ฯ

          ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่รักที่เจริญใจในโลก ตัณหา เมื่อบุคคลจะละ ย่อมละเสียได้ในที่นี้ เมื่อจะดับย่อมดับที่นี้ ฯ

(ข้อความล้อมาจากข้างต้น)

          จะเห็นได้ว่า ตัณหาเกิดที่ใด ก็ต้องดับตัณหาที่นั้น  ด้วยสติปัฏฐาน ๔ จึงจะสำเร็จได้

            

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท