พุทธศาสนาในเกาหลี


พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้าไปในเกาหลีในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ และได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วเข้าไปในคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด คาบสมุทรเกาหลีมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในตะวันออกไกล เพราะเป็นสื่อกลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น

 

ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลี

นางสาวธิดารัตน์     เพียรดี

 

พระพุทธศาสนาได้แผ่ขยายเข้าไปในเกาหลีในตอนต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๔ และได้แพร่หลายอย่างรวดเร็วเข้าไปในคาบสมุทรเกาหลีทั้งหมด คาบสมุทรเกาหลีมีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในตะวันออกไกล เพราะเป็นสื่อกลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นได้รับพระพุทธศาสนาจากเกาหลีก่อนพระไตรปิฎกภาษาจีนยุคแรกที่สุด ซึ่งเข้าใจกันว่ามีอยู่เพียงฉบับเดียวในเกาหลีในเวลานั้นก็ได้มีการนำไปยังประเทศญี่ปุ่นด้วย เกาหลีในขณะนั้นแบ่งออกเป็น ๓  รัฐ คือ  รัฐโกคุริยุ (Koguryu) ในภาคเหนือ  รัฐปักเฉ (Pakche) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้  และรัฐสีลละ (Silla) ในภาคตะวันตกเฉียงใต้รัฐทั้งสามนี้ได้แก่งแย่งเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ในการนี้รัฐโกคุริยุได้ดำเนินวิเทโศบายผูกสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเจียนจิ้น เป็นหนึ่งในจำนวนอาณาจักรจีน ๑๖ แว่นแคว้น  และได้รับความสนับสนุนในการรบกับแคว้นอื่น ครั้งหนึ่งรัฐโกคุริยุ (เรียกอีกอย่างว่าโกมา) คงหวังจักกระชับความสัมพันธไมตรีนั้นให้มั่นคงยิ่งขึ้น จึงได้ส่งราชทูตไปยังราชสำนักเจียนจิ้น ทูลขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ไปโปรดสัตว์ในรัฐโกคุริยุ ท่านพระศาสนทูตซุนเตาได้เดินทางมาเผยแพร่พุทธธรรมในดินแดน ที่เรียกในปัจจุบันว่าเกาหลี พร้อมด้วยพระคัมภีร์และพระพุทธรูป เป็นต้น อันเป็นวัตถุเคารพบูชาที่สำคัญของพระศาสนา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น เมื่อพุทธศักราชล่วงได้ ๙๑๕ ปี นับเป็นจุดเริ่มต้นแห่งประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในเกาหลี

พุทธธรรมที่พระศาสนทูตได้นำมาเผยแพร่ ได้แพร่หลายไปในหมูชนชาติเกาหลีและได้รับความเคารพนับถืออย่างรวดเร็ว ภายในระยะเวลาเพียง ๒๐ ปี ก็ได้มีประจักษ์พยานแห่งการประดิษฐานมั่นคงของพระพุทธศาสนาโดยแสดงออกในรูปวัตถุ แม้เพียงในนครหลวงแห่งเดียวมีพุทธศาสนาถึง ๙ วัด

เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าสู่รัฐโกคุริยุ ประมาณ ๑๓ ปี แล้ว ทางฝ่ายรัฐปักเฉ (เรียกอีกอย่างว่า กุดารา) ก็ได้รับพระภิกษุชาวอินเดีย นามว่า “มรนันทะ”  เข้าไปเผยแพร่พุทธธรรมในดินแดนของตนบ้าง พระพุทธศาสนาในอาณาจักรนี้ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นเป็นอย่างมากจนเป็นศาสนาประจำชาติ และได้ส่งพระศาสนทูตไปเผยแพร่ถึงประเทศญี่ปุ่น แต่กาลล่วงมาหลักคำสอนและการปฏิบัติได้หันเหไป กลายเป็นลัทธิแห่งแบบแผน พิธีกรรมต่างๆ ใส่ใจแต่ในการก่อสร้าง และการเผยแพร่ในดินแดนต่างถิ่น ครั้นอาณาจักรเสื่อมลงในกาลต่อมาก็คงเหลือศิลปวัตถุ เช่น พระพุทธรูป เจดีย์ และวัดวาอารามเป็นอนุสรณ์

ทางด้านรัฐสีลละ (เรียกอีกอย่างว่า ชิราคิ) ผู้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปมิใช่ผู้ปกครองบ้านเมืองเช่นกับสองอาณาจักรข้างต้นหากแต่เกิดจากความเสื่อมใสของประชาชนที่แผ่กระจายออกไป เป็นเหตุผลักดัน ตำนานกล่าวว่าพระภิกษุจีนนามว่า “อาเต๊า”  ได้เดินทางมาจากรัฐโกคุริยุและเผยแพร่พระพุทธศาสนาแก่ประชาชน เบื้องต้นผู้นับถือได้ถูกขัดขวางและบีบคั้นอย่างรุนแรง แต่ในที่สุดการใช้อำนาจก็พ่ายแพ้แก่ศรัทธาอันมั่นคง พระมหากษัตริย์ได้ตัดสินพระทัย หันมาสนับสนุนพระพุทธศาสนา จนกระทั่งเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยมองเห็นประโยชน์ในส่วนนโยบายปกครองบ้านเมืองเพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประเทศชาติ เพราะคำสอนทางพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือในการให้การศึกษาแก่ประชาชน และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชน สร้างความสามัคคีพร้อมเพรียงขึ้นในชาติ

กาลต่อมา พุทธศักราชล่วงได้ ๑,๒๑๑ ปี รัฐสีลละประสบชัยชนะ รวบรวมอาณาจักรทั้งสามเข้าเป็นอันเดียวกัน ข้อนี้ เป็นเหตุให้เกิดความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างรากฐาน ที่จะยึดเหนี่ยวความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อความมั่นคงของรัฐ ด้วยให้มีภาษาพูดอันเดียวกันและมีศาสนาสำหรับเป็นหลักศรัทธาและแนวคิดเป็นอย่างเดียวกัน แม้ภารกิจอันนี้ก็ได้อาศัยพระภิกษุสงฆ์ เป็นผู้เดินทางไปเยี่ยมเยียนสำนักและวัดสำคัญต่างๆ ทั่วทั้งสามอาณาจักรดั้งเดิม ได้รวบรวมนำเอาพระคัมภีร์และตำราต่างๆ มาจัดวางรูปแบบเสียใหม่ ให้ประสานเข้าเป็นระบบแบบแผนอันเดียว

เมื่อบ้านเมืองรวมเป็นปึกแผ่นแล้ว พระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรมก็รุ่งเรืองยิ่งขึ้น การศึกษาหลักธรรมแพร่หลายไปทั่ว ชาวพุทธต่างกลุ่มต่างหมู่ศึกษาธรรมจากแง่ต่างกัน ศึกษาหนักในด้านใดก็ยึดมั่นความเห็นไปในด้านนั้น เป็นเหตุให้แยกออกเป็นนิกายต่างๆ เป็นอันมาก เฉพาะที่สำคัญรวมได้ ๕ นิกาย เช่น นิกายที่ศึกษาเป็นพิเศษในเรื่องอรรถแห่งนิพาน ก็แยกเป็นนิกายหนึ่ง ผู้ที่ศึกษาหนักในด้านวินัย ก็แยกเป็นนิกายวินัย เป็นต้น ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมต่างๆ ก็เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น พระภิกษุสงฆ์ได้มีส่วนในกิจการบ้านเมือง โดยการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคง ฝ่ายบ้านเมืองก็ช่วยถวายความอุปถัมภ์แก่พระภิกษุสงฆ์เช่นในการจารึกคัมภีร์ศาสนาเป็นจำนวนกว่าห้าหมื่นเล่มเป็นต้น แม้การพิมพ์พระไตรปิฎก ๑๖,๐๐๐ หน้า ด้วยตัวพิมพ์ไม้แกะอันเป็นของใหม่ในประวัติศาสตร์ก็สำเร็จได้ด้วยราชูปถัมภ์ ความเจริญของพระพุทธศาสนาเป็นไปด้วยดีนับแต่แผ่นดินยังแยกเป็น ๓  รัฐ จนกระทั่งรวมกันได้ในรัฐสีลละ

ต่อมาใน พ.ศ. ๑๔๗๘ รัฐสีลละ พ่ายแพ้แก่  หวั่งกอน  ผู้ตั้งราชวงศ์ที่ซองโค  (ปัจจุบัน คือ กีซอง) และสถาปนาดินแดนเกาหลีในนามใหม่ว่า “โกริโอ” (Koryo) เป็นที่มาแห่งคำว่า โกเรีย (Korea) หรือเกาหลีในปัจจุบัน ตลอดราชวงศ์นี้ แผ่นดินไม่สู้มีความสงบสุขและความเจริญรุ่งเรืองเท่าใด แต่พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่อย่างมั่นคงตลอดเวลา ๔๕๗ ปี

 

การเข้ามาของลัทธิขงจื้อ

 

พุทธศักราชล่วงได้ ๑๙๓๕ ปี แผ่นดินเกาหลีได้เปลี่ยนราชวงศ์ใหม่อีกวาระหนึ่ง ราชวงศ์โซซอน ประสงค์จะเชิดชูลัทธิขงจื้อให้เป็นศาสนาประจำชาติ จึงกดขี่บีบคั้นพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จนทำให้พระสงฆ์ต้องปลีกตนหลบลี้อยู่โดยสงบตามเมืองบ้านนอก และป่าเขา ในระยะเวลานานถึง ๕๑๘ ปีของราชวงศ์นี้ ได้มีการรุกรานจากต่างประเทศคือชาวจีนและญี่ปุ่น แม้พระสงฆ์จะได้มีบทบาทในการป้องกันประเทศถึงกับออกช่วยรบพุ่ง และในยามสงบจะได้ช่วยเหลือในสังคมสงเคราะห์ต่างๆ เป็นการช่วยบ้านเมืองอย่างมาก แต่ก็หาได้ทำให้ราชวงศ์หันมาอุ้มชูพระศาสนาอย่างจริงจังไม่ ช่วยได้เพียงลดการบีบคั้นกดขี่ให้น้อยลงเท่านั้น ตลอดราชวงศ์นี้มีกษัตริย์อยู่เพียง ๒ พระองค์ คือ พระเจ้าเซซอง ผู้ประดิษฐ์อักษรเกาหลี และกษัตริย์เซโจเท่านั้น ที่ได้ทรงส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยจัดให้มีการแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากภาษาจีนเป็นภาษาเกาหลี กษัตริย์อื่นนอกนั้น ทั้งก่อนและภายหลัง ล้วนแต่ทรงบีบคั้นพระพุทธสาสนาทั้งสิ้น พระภิกษุสงฆ์จึงเพียงแต่ทำหน้าที่รักษาหลักคำสอนในพระพุทธศาสนาและศิลปวัฒนธรรมไว้ให้เป็นมรดกตกทอดถึงชนรุ่นหลังเท่านั้น

ใน พ.ศ. ๒๔๕๓  แผ่นดินเกาหลีใต้ตกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศญี่ปุ่น ราชวงศ์เกาหลีสิ้นอำนาจลงโดยสิ้นเชิง ญี่ปุ่นได้ออกระเบียบข้อบังคับควบคุมวัดวาอาราม และได้พยายามก่อสร้างความเสื่อมโทรมให้เกิดขึ้นแก่คณะสงฆ์ เช่น ส่งเสริมให้พระสงฆ์มีครอบครัวและดำรงชีวิตเหมือนอย่างฆราวาส ทั้งนี้เพื่อจะทำลายความรู้สึกชาตินิยมที่วัดช่วยรักษาไว้ให้หมดสิ้นไป อันเป็นนโยบายกลืนชาติอย่างหนึ่ง

ตอนปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพโซเวียตและกองทัพสหรัฐฯ ได้เคลื่อนเข้ามาในดินแดนเกาหลี ในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ โซเวียตเข้าทางเหนือ สหรัฐเข้าทางใต้ การปกครองของญี่ปุ่นได้สิ้นสุดลง และแผ่นดินเกาหลีได้ถูกแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ นับแต่ครั้งนั้นมาทางฝ่ายเกาหลีใต้ ทันทีที่ได้รับเอกราช ชาวพุทธโดยเฉพาะพระภิกษุสงฆ์ก็เริ่มเคลื่อนไหว ในการที่จะชำระกิจการคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์พระภิกษุและภิกษุณีได้นัดประชุมใหญ่ และได้ลงมติที่เป็นข้อสำคัญๆ คือให้ยกเลิกข้อบังคับต่างๆ อันขัดแย้งต่อพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ได้ตราธรรมนูญปกครองคณะสงฆ์ฉบับใหม่ขึ้น การชำระคณะสงฆ์ให้บริสุทธิ์ได้ทำกันอย่างจริงจัง จนสำเร็จเรียบร้อยสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๐๕ ต่อมาคณะสงฆ์เกาหลีเป็นคณะสงฆ์ที่ก้าวหน้าเท่าทันต่อเหตุการณ์ตื่นตัวในทุกด้าน ในจำนวนพลเมืองเกาหลี ๒๒ ล้าน ๕ แสนคนนั้นส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา ในด้านการศึกษามีโรงเรียนปริยัติธรรม รวมถึงมหาวิทยาลัยพุทธศาสนา อันเก่าแก่ของเกาหลี มีชื่อว่า “ดงกุก” ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๙  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๗ คณะสงฆ์เกาหลีได้เริ่มตั้งโครงการแปลและจัดการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลี ตามโครงการนี้ตีพิมพ์พระไตรปิฎกแปลเป็นเล่มออกเดือนละ ๑ เล่ม รวมทั้งสิ้น ๒๔๐ เล่ม ภายในเวลาทั้งหมดประมาณ ๔๕ ปี  ปัจจุบันพระพุทธศาสนาในเกาหลีเป็นแบบนิกายเซน เจือด้วยความเชื่อในพระอมิตาภะพุทธเจ้าบ้าง พระเมตไตรยโพธิสัตว์บ้าง

 

มหายานในประเทศเกาหลี

 

เอกสารประวัติศาสตร์ของจีน ให้รายละเอียดว่า พระพุทธศาสนาได้แผ่จากจีนสู่ประเทศเกาหลีราว ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว โดยเข้าไปเผยแผ่ที่รัฐโกคุริยุ ในปี พ.ศ. ๙๑๕ และอีกไม่นานก็เข้าสู่รัฐปักเฉ และสุดท้ายแผ่ไปถึงรัฐสีลละ  มหายานได้รุ่งเรืองในอาจักรรัฐโกคุริยุมากสุด และกระแสพุทธศาสนามหายานมีความชัดเจนเจนกว่าอาณาจักรอื่น

๑.ระยะแรก (พ.ศ. ๙๑๕) ภิกษุชื่อว่า ซันเตา (Shun Tao) หรือ ซันโด (Sundo) ในภาษาเกาหลี ท่านรูปนี้เดินทางมาจากจีน เข้ามาเผยแผ่ในรัฐโกคุริยุ (อยู่เหนือสุดติดกับจีน)  ต่อมาในปี พ.ศ. ๙๒๘ ภิกษุชาวอินเดียชื่อ “มาลานันทะ” ก็ได้จาริกผ่านประเทศจีนไปยังรัฐปักเฉ ทางตอนใต้ของประเทศเกาหลี ประมาณ ๕๐ ปีหลังจากนั้น ภิกษุอีกรูปได้จาริกผ่านรัฐโกคุริยุ ไปถึงรัฐสีลละ ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ ได้ทำการเผยแผ่พุทธศาสนา ทำให้กษัตริย์และประชาชนเลื่อมใสเป็นอันมาก มีการสร้างวัดถึง ๙ วัด รวมถึงมีศึกษาและปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังในระหว่างนี้ ส่งผลให้มีพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

หลังจากนั้น ท่านคณาจารย์วันฉัก ซึ่งเป็นชาวรัฐสีลละ ในประเทศเกาหลีได้ประกาศปรัชญาของท่านเอง ชื่อว่า “ปรัญาวันฉัก”  นับเป็นปรัชญาที่สูงส่งและสมบูรณ์ที่สุดในเกาหลี เพราะเกี่ยวข้องกับเกาหลีอย่างใกล้ชิด ส่วนหลักธรรมนั้น ท่านเฉียมเป็นผู้เผยแผ่แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๑๒๕๕ ท่านบับซังได้ดำเนินการตั้งนิกายวิชญาณวาทินนี้สำเร็จ โดยการช่วยเหลือจากท่าน อีเสียง ชาวรัฐสีลละ ท่านบับซังก็กลายเป็นปราชญ์นามอุโฆษของนิกายนี้หลังจากที่ท่านได้ศึกษาอย่างจริงจังกับคณาจารย์เฉียมซึ่งเป็นภิกษุจีน พระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลีในปัจจุบันมีการสืบเนื่องมาจากนิกายวิชญาณวาทินนั่นเอง

ต่อมา ท่านวันเอี้ยว ได้ก่อตั้งเผยแผ่นิกายใหม่ขึ้นอีกต่างหาก นิกายใหม่นี้เรียกว่า “นิกายเอ้ตึง” หรือนิกายบุนหว่าง ในระยะแรกๆ ท่านวันเอี้ยวได้ศึกษาในสำนักของท่านอี้เชียงและไปศึกษาเพิ่มเติมในสำนักท่านเฉียง ดังนั้น ท่านจึงมีความแตกฉานมาก นิกายเอ้ตึงจึงเป็นนิกายเดียวเท่านั้นที่เข้มแข็งได้บรรจุหลักปรัชญาไว้สมบูรณ์ที่สุด

.ระยะที่สอง (พ.ศ. ๑๔๗๘-๑๙๗๕) ในยุคนี้ แม้ลัทธิขงจื้อจะเฟื่องฟู แต่พุทธศาสนายังคงรักษาความเป็นศาสนาประจำชาติไว้ได้ เมื่อพุทธศาสนาเจริญมากยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งเกิดความประมาทประพฤติตนไม่เหมาะสม ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาตามลำดับ ขณะที่สงฆ์อีกกลุ่มหนึ่งได้พยายามฟื้นฟูภาพลักษณ์ของพุทธศาสนาขึ้นมาใหม่ และในระหว่างนี้ พระอุยซอน (โอรสของพระเจ้ามนจง)โดยได้เดินทางไปยังจีนเพื่อศึกษา ตอนกลับได้นำวีธีแบบเซ็น และคัมภีร์อวตังสกสูตร และได้จัดตั้งโรงเรียนซ็อนแท  ณ วัดเกาะกังฮวา และให้มีการพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับเกาหลีด้วยเทคนิควิธีที่ดีเยี่ยม

หลังจากนั้น เซ็นก็ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้น เป็นที่แพร่หลายในเกาหลีในเวลาต่อมา อาจกล่าวได้ว่า มหายานที่ปรากฏชัดเป็นรูปธรรม มี ๒ ช่วง โดยช่วงแรกนั้นไม่ทราบว่าเป็นมหายานนิกายใด สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นมหายานอย่างที่นับถือกันในจีน และต่อมานั้น เป็นแบบเซ็นที่เข้ามาโดยการนำของพระอุยซอน ทำให้มหายานหยั่งรากลึกลงในเกาหลีอย่างแน่นแฟ้น นอกจากสองช่วงนี้แล้ว มหายานในเกาหลีสมัยหลัง ๆ จนถึงปัจจุบัน มีแต่ทรงกับทรุด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ทำให้นิกายที่ยังคงเหลืออยู่เพียงเซ็นแบบนิกายสุขาวดี ซึ่งเกิดจากการผสมผสานกัน ด้วยเหตุผลที่จะนำเสนอข้างหน้านี้

 

แนวคิดแบบเซ็นที่เกิดการการผสานกับสุขาวดี

 

สารัตถะของเซ็นแนวใหม่ (ผสมสุขาวดี) เซ็น เป็นภาษาญี่ปุ่น แปลว่า ฌาน ในภาษาบาลี ที่ฌานกลายเป็นเซนไป เพราะญี่ปุ่นออกเสียงได้เพียงแค่นั้น เกาหลีออกเสียงเป็น ซ็อน วีธีการปฏิบัติของซ็อนหรือเซ็นนั้น มุ่งให้มองเห็นศักยภาพแห่งพุทธะที่แต่ละคนมี เรียกว่า จิตเดิมแท้ หรือ พุทธภาวะ (Buddhahood) บนรากฐานความเชื่อที่ว่า ทุกคนมีพุทธภาวะเหมือนกันหมด และสิ่งนี้เองที่ทำให้คนเข้าถึงธรรมและก้าวสู่ความหลุดพ้น ทว่าพุทธภาวะดังกล่าวนี้ถูกบดบังด้วยอวิชชา ทำให้มองไม่เห็นธรรมชาติอันแท้จริงนี้ ทำให้ต้องทำการค้นหาจากภายในจิต โดยต้องไม่สนใจธรรมชาติภายนอกของจิต แต่มุ่งสู่ระดับจิตที่ลึกลงไปกว่านั้น โดยเชื่อว่าถ้าจิตตัวนี้ผ่านกระบวนการฝึกฝน จะสามารถหยั่งถึงความหลุดพ้นได้  ดังนั้น สิ่งที่เซ็นสอนทั้งหมดจึงเป็นไปเพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้จิตอย่างสมบูรณ์ (จิตเดิมแท้) หันมาดูสุขาวดีว่าเป็นอย่างไร สุขาวดีนั้น(เจ่งโท้วจง) มีรากฐานมาจากจีน นิกายนี้มีจุดเน้นให้คนพึ่งอำนาจภายนอก มากกว่าปัญญาของตน อำนาจภายนอกที่สุขาวดีหมายถึงคือ พระอมิตาภะ ที่สถิตย์ อยู่ ณ แดนสุขาวดี เรียกว่า พุทธเกษตรสุขาวดี หากผู้ใดที่ปรารถนาจะไปเกิดในร่วมกับพระอมิตาภะ จะต้องมีศรัทธาในพระองค์ หรือเพียงเปล่งพระนามองค์อมิตาภะด้วยจิตเลื่อมใสก็ได้ เชื่อกันว่าผู้ที่สถิตย์ ณ แดนสุขาวดีไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก และจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ แดนสุขาวดี  แนวคิดดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมแพร่หลายในดินแดนต่าง ๆ


          แนวคิดแบบเซ็นที่เกิดการการผสานกับสุขาวดี จะเห็นว่า แนวคิดแบบเซ็นให้ความสำคัญกับภาวะทางนามธรรม คือ พุทธจิต ซึ่งเป็นจิตที่คนทั่วไปไม่อาจหยั่งเห็นได้ จึงเป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจสำหรับชาวเกาหลีพอสมควร บวกกับยุคหลัง ๆ เกาหลีประสบกับปัญหาหลายอย่าง เช่น วิกฤติทางการเมือง เป็นต้น ตลอดถึงสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เป็นปัจจัยให้อุปนิสัยในธรรมอ่อนลง ไม่สามารถรับแนวคิดอันลึกซึ้งแบบเซ็นดังเดิมได้ ขณะที่ภาพรวมแนวคิดแบบสุขาวดีนั้น ดูง่ายในมุมมองของชาวบ้านทั่วไป จึงเป็นที่แพร่หลายในทุก ๆ ประเทศ แม้แต่เกาหลีเองก็ได้รับอิทธิพลจากสุขาวดี สมัยหลัง ๆ เซ็นอับแสงลง เพราะสถานการณ์บ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้คนกำลังต้องการที่พึ่งทางใจ ในภาวะเช่นนั้น สุขาวดีจึงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเกาหลี


          ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เซ็นเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ทำให้เซ็นเป็นเหมือนยาขม พวกเขาจึงพยายามเชื่อมแนวคิดแบบเซ็นให้เห็นเป็นเรื่องเดียวกันกับสุขาวดี (ซึ่งอาจดูเป็นคนละเรื่อง) ว่า “พุทธเกษตรที่แท้จริงก็คือธรรมชาติจิตเดิมแท้ เมื่อรู้แจ้งจิตเดิมแท้แห่งตน ก็เท่ากับว่าได้เดินทางถึงสุขาวดี” (เคยเกิดในจีน) และยังแสดงให้เห็นอีกว่า ผู้ที่จะเข้าถึงสุขาวดีจำเป็นต้องอาศัยกระบวนการของเซ็น เพราะการมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในพระอิมตาภะ จำเป็นต้องขจัดความสงสัยที่เกิดในจิต มิฉะนั้น จะเข้าถึงสุขาวดีไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะเซ็นได้อาศัยหลักการที่ปรากฏในสุขาวดีวยูหสูตร ตอนหนึ่งว่า


          ดูก่อนสารีบุตร สัตว์ทั้งหลายย่อมบังเกิดในพุทธเกษตรของพระอมิตายุตตถาคตเจ้า มิใช่ด้วยกุศลมูลเพียงเล็กน้อย อนึ่ง กุลบุตรหรือกุลธิดา จักได้สดับพระนามของพระอมิตายุตตถาคตเจ้านั้น ครั้นสดับแล้วจักมนสิการ จักมีจิตไม่ชัดส่ายตลอดราตรีหนึ่ง หรือ ๒ ราตรี หรือ ๓, ๔, ๕, ๖, ราตรี เมื่อกุลบุตรหรือกุลธิดาจักสิ้นชีพ พระอมิตายุตตถาคตเจ้านั้น อันสาวกสงฆ์แวดล้อม มีหมู่พระโพธิสัตว์ตามหลัง จักปรากฏเบื้องหน้าเขาผู้กำลังสิ้นชีพ เขาย่อมมีจิตสงบสิ้นชีพไปบังเกิดใหม่ในสุขาวดีโลกธาตุ อันเป็นพุทธเกษตรของพระอมิตายุตถาคตนั้นแล


          จะเห็นว่า เมื่อเซ็นอาศัยหลักการดังกล่าวนี้ ได้เกิดการเชื่อมกันสนิทกับสุขาวดีอย่างแนบแน่น และพยายามปรับในส่วนอื่น ๆ โดยทำให้เห็นว่า เป้าหมายของเซ็นคือสุขาวดี อาจกล่าวได้ว่า เซ็นคือวิถีทางเข้าถึงสุขาวดี ในข้อว่า เซ็นคือวิถีทางเข้าถึงสุขาวดี คำว่า สุขาวดี ในทัศนะของเซ็น น่าจะมี ๒ นัยยะ คือ๑. พุทธจิต หรือ พุทธภาวะ ๒. พุทธเกษตร ดินแดนของพระอมิตาภพุทธเจ้าจะเห็นว่า เซ็นได้มีการประยุกต์คำสอนให้เข้ากับสุขาวดี แต่จะเป็นนัยยะที่ ๑ หรือที่ ๒ ยังไม่ทราบชัด อย่างไรก็ดีเซ็นเองคงไม่ยอมละทิ้งอุดมการณ์ของตน ยังคงต้องถือตามนัยที่ ๑ แต่เมื่อเนิ่นนานไป สุขาวดี (พุทธจิต) ก็ได้กลายเป็นพุทธเกษตร (The Pure Land) อาจเพราะแนวคิดแบบแรกนั้นเป็นภาวะนามธรรมที่ไม่อาจจับต้องได้ จึงยากไปสำหรับชาวเกาหลี ส่งผลทำให้เซ็นแบบผสมสุขาวดี มีแต่เนื้อหาของสุขาวดีล้วน ๆ ในที่สุดเกาหลี ก็กลายเป็นศูนย์กลางของสุขาวดีแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งค่อนข้างหนักไปในทางพิธีกรรมเสียมากกว่าที่จะเป็นหลักปฏิบัติอันบริสุทธิ์แบบดั้งเดิม

 

สรุปมหายานในประเทศเกาหลี

 

          พระพุทธศาสนาได้เข้าสู่ประเทศเกาหลีโดยสมณทูตจากจีนชื่อซุนเตา เป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๙๑๕  แต่การเผยแผ่ในระยะแรกยังไม่แพร่หลายนัก จากประวัติที่กล่าวมาเบื้องต้นนั้น เราจะมองเห็นได้ว่า สมัยหนึ่งพระพุทธศาสนาได้เป็นศาสนาประจำชาติเกาหลี ในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๐ อารยธรรมของพระพุทธศาสนาก็มีอิทธิพลเหนือชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวเกาหลีในเวลาต่อมา นับตั้งแต่กษัตริย์ลงมาจนถึงสามัญชน โบสถ์วิหารมีอยู่ทั่วไปในนครน้อยใหญ่ แต่ภายหลังได้ถูกอิทธิพลของลัทธิขงจื้อเบียดบังให้เสื่อมลง ต่อมาได้ถูกรัศมีของคริสต์ศาสนาด้วย ในยุคที่เกาหลียังตกอยู่ในอำนาจของญี่ปุ่นพระพุทธศาสนาทำท่าทีจะรุ่งเรืองขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ สมัยราชวงศ์หวั่ง (Wang dynasty) พุทธศาสนาในเกาหลีได้ถึงซึ่งความเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด เนื่องจากความเลื่อมใสศรัทธาของกษัตริย์ที่ทรงยึดมั่นและถือเป็นที่พึ่งอันสูงสุด ตลอดจนการทำนุบำรุงอย่างจริงจัง พระพุทธศาสนาในเกาหลีจึงได้เจริญรุ่งเรืองมาเป็นลำดับตลอดระยะเวลา ๑,๐๐๐ ปี

          ในสมัยปัจจุบัน พุทธศาสนาในเกาหลีมีแต่ทรงและทรุดเท่านั้น เป็นผลทั้งนี้เป็นผลเนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ นิกายของพุทธศาสนาในปัจจุบันที่ยังมีอยู่จึงเป็นแบบผสมผสานระหว่างเซ็นกับนิกายสุขาวดี ชาวพุทธก็ยังหวังว่า พุทธศาสนาในเกาหลีอาจกลับเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีก

อย่างไรก็ดีพระพุทธศาสนาในประเทศเกาหลีเหนือนั้นไม่สามารถที่จะรู้สถานการณ์ได้ เพราะประเทศเกาหลีเหนือปกครองด้วยลัทธิคอมมิวนิสต์ ซึ่งไม่สนับสนุนพระพุทธศาสนา ดังนั้นพระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองในประเทศเกาหลีใต้มากกว่า แต่ในประเทศเกาหลีใต้มีการขัดแย้งระหว่างนิกายโชกาย (นิกายถือพรหมจรรย์) และนิกายแตโก (นิกายไม่ถือพรหมจรรย์) แก่งแย่งวัดกัน ภายหลัง ไม่ว่าวัยรุ่นหรือวัยไหนๆ ก็หันมานับถือศาสนาคริสต์กันขนานใหญ่ ศาสนาพุทธจึงตกต่ำลง จนนิกายโชกายต้องหาวิธีให้ชาวเกาหลีมองเห็นว่าพระพุทธศาสนามีความสำคัญก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถทำให้ชาวเกาหลี มีทัศนคติที่ดี แก่พระพุทธศาสนา เนื่องจากพระสงฆ์มีการติดต่อกับชาวบ้านน้อยมาก  แต่ปัจจุบันเริ่มมีการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาบ้างแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

พระมหา ดร.อดิศวร  ถิรสีโล,พระพุทธศาสนาในอินเดียและต่างประเทศ, (กรุงเทพฯ :จงเจริญการพิมพ์, ๒๕๕๒) หน้า ๑๕๕ 

พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), พระพุทธศาสนาในอาเซีย (กรุงเทพฯ: ธรรมสภา,๒๕๔๐) หน้า ๔๐-๔๒

พระธรรมปิฎกพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต),พิมพ์ครั้งที่ ๕ พระพุทธศาสนาในอาเซีย (กรุงเทพฯ: มิตรเจริญการพิมพ์,๒๕๓๗) หน้า ๓๒

พระธรรมปิฎกพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต),พิมพ์ครั้งที่ ๕ พระพุทธศาสนาในอาเซีย (กรุงเทพฯ: มิตรเจริญการพิมพ์,๒๕๓๗) หน้า ๓๓-๓๗

สืบค้นข้อมูลจาก http://www.crs.mahidol.ac.th/thai/mahayana41.htm (วันที่  ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕)

อภิชัย โพธิประสิทธิ์ต์, พระพุทธศาสนามหายาน,(กรุงเทพน : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๕๑) หน้า๓๐๒-๓๐๓

สืบค้นข้อมูลจาก http://www.geocities.com/buddhist_studies/index91.htm  (วันที่  ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕)

เสถียร โพธินันทะ ,ปรัชญามหายาน, พิมพ์ครั้งที่ ๔ , (กรุงเทพฯ : มหามกุฏราชวิทยาลัย , ๒๕๔๑) หน้า ๔๒-๔๓

อภิชัย โพธิประสิทธิ์ต์, พระพุทธศาสนามหายาน,(กรุงเทพน : สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๕๑) หน้า๓๑๒-๓๑๓

หมายเหตุ หนังสือแต่ละเล่มเขียนชื่อรัฐทั้งสามในเกาหลีแตกต่างกัน จึงเลือกใช้เล่มใหม่ ซึ่งเขียนโดย พระมหา ดร.อดิศวร  ถิรสีโล,พระพุทธศาสนาในอินเดียและต่างประเทศ, ๒๕๕๒

เกาหลีในขณะนั้นแบ่งออกเป็น ๓  รัฐ คือ  รัฐโกคุริยุ (Koguryu) ในภาคเหนือ  รัฐปักเฉ (Pakche) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้  และรัฐสีลละ (Silla)ในภาคตะวันตกเฉียงใต้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 501552เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 21:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท