โยคาจาร


คำว่า โยคาจาระ มาจากคำว่า โยค แปลว่า มีลักษณะกระตือรือร้นที่จะไต่สวน และคำว่า อาจาระ แปลว่า ความประพฤติที่ดีงาม หมายความว่า ความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติข้อประพฤติที่ดีงาม

นิกายโยคาจาระ

เรียบเรียงโดย พระปลัดสมรักษ์  ธีรปญฺโญ (ศรีแก้ว)

 

          คำว่า โยคาจาระ มาจากคำว่า โยค แปลว่า มีลักษณะกระตือรือร้นที่จะไต่สวน และคำว่า อาจาระ แปลว่า ความประพฤติที่ดีงาม หมายความว่า ความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติข้อประพฤติที่ดีงาม ในที่บางแห่งให้เหตุผลว่า การที่นิกายนี้ได้ชื่อว่า โยคาจาระ เพราะสอนให้บำเพ็ญโยคะซึ่งได้แก่ วิธีฝึกจิตเพื่อบรรลุความหลุดพ้น และให้มีความประพฤติที่ดีซึ่งได้แก่การเข้าสู่ภูมิธรรมทั้งสิบของพระโพธิสัตว์จนหยั่งถึงพุทธจิตในที่สุด

          นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วิชญาณวาท เพราะเน้นสอนว่า จิตเท่านั้นที่เป็นจริงเพียงสิ่งเดียว โยคาจาระที่ยอมรับความจริงแท้ของจิตหรือวิญญาณเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นซึ่งมีลักษณะเป็นจิตสูงสุดในฐานะ สิ่งสัมบูรณ์มากกว่าจะมีฐานะเป็นจิตบริสุทธิ์ตามที่อสังคะและวสุพันธุสอน ดังนั้น จึงมี คำเรียกนิกายนี้รวมกันว่า โยคาจาร-วิชญาณวาท โยคาจาระยังมีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า ธรรมลักษณะ ซึ่งหมายถึง การให้ความสำคัญที่ลักษณะของธรรม แต่ไม่ว่าจะอย่างไร โยคาจาระก็ยังมีหลักการสำคัญอยู่ที่การยอมรับจิตว่าเป็นความจริงเดียวที่มีอยู่ ไม่มีความจริงอื่นนอกจากจิต

          นิกายโยคาจาระเป็นนิกายสำคัญที่เป็นคู่ปรับของนิกายมาธยมิกะโดยท่านไมเตรยนาถะ เป็นอาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดนิกายในปลายพุทธศตวรรษที่ ๘ และได้เขียนคัมภีร์ไว้หลายเล่ม เช่น อภิสมยาลังการะ มหายานสูตราลังกา เป็นต้น แต่บางตำนานบอกว่า โยคาจาระเริ่มพัฒนาขึ้นอย่างช้าๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๗๐๐ เป็นต้นมา และพัฒนาถึงขีดสูงสุดประมาณปี พ.ศ. ๙๐๐ มีพื้นฐานทฤษฎีอยู่บนระบบการตีความเนื้อหาคัมภีร์ที่สำคัญ เช่น สันธินิรโมจนสูตร และลังกาวตารสูตร เป็นต้น

          นิกายโยคาจาระเจริญที่สุดในสมัยของท่านอสังคะ และท่านวสุพันธุ สองพี่น้องผู้แต่งตำราออกเผยแผ่มากมาย โดยท่านอสังคะพี่ชายเป็นศิษย์คนสำคัญของท่านไมเตรยนาถะเป็นผู้อธิบายปรัชญาโยคาจาระอย่างเป็นระบบต่อจากท่านไมเตรยนาถะ ส่วนน้องชายคือวสุพันธุแต่เดิมบวชเรียนอยู่นิกายสรวาสติวาท หรือไวภาษิกะ มาภายหลังจึงหันมานับถือมหายานนิกายโยคาจาระตามท่านอสังคะผู้เป็นพี่ชาย

          อสังคะเรียกชื่อนิกายฝ่ายตนว่า นิกายโยคาจาระ เพราะใช้วิธีบำเพ็ญโยคะหรือการฝึกจิตเพื่อบรรลุโพธิ (การรู้แจ้งความจริง) ส่วนวสุพันธุเรียกว่า นิกายวิชญาณวาท เพราะยึดถือหลักการที่ว่า จิตเท่านั้นที่เป็นจริงสูงสุด (จิตตมาตรหรือวิชญาปติมาตร) พูดง่ายๆ ว่า ยอมรับเฉพาะจิตหรือวิญญาณเพียงประการเดียวว่าเป็นจริง สิ่งต่างๆ นอกนั้นเป็นเพียงความคิดหรืออาการกิริยาของจิต ดังนั้น นิกายโยคาจาระจึงใช้ปรัชญาไปในทางปฏิบัติ ส่วนวิชญาณวาทใช้ปรัชญาไปในทางกะเก็งความจริง

          หลักคำสอนสำคัญ  นิกายโยคาจาระ มีหลักคำสอนที่สำคัญ ดังต่อไปนี้

๑ ทัศนะเรื่องจิตเท่านั้นเป็นความจริงแท้

          นิกายโยคาจาระมีทัศนะว่า จิตเท่านั้นที่เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียว และเป็นสิ่งเดียวที่มีอยู่จริง ดังนั้น จึงมีเรียกแนวความคิดแบบโยคาจาระอีกอย่างหนึ่งว่า จิตตมาตร ซึ่งแปลว่า จิตหนึ่ง หรือ จิตเดียว  เพราะนิกายโยคาจาระมีหลักการสำคัญ  คือ  การยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดมา

จากจิต หรือ สรรพสิ่งคือจิต จิตเป็นตัวสร้างปรากฏการณ์ทั้งหลาย ความรู้ ความจริงหรือแม้แต่ความหลุดพ้นล้วนแล้วเกิดขึ้น ดำเนินไปและจบสิ้นที่กระบวนการทำงานของจิตทั้งสิ้น สิ่งที่ปรากฏภายนอก (บางครั้งอาจเรียกว่าอารมณ์หรือวัตถุ) ไม่อาจยืนยันได้ว่ามีหรือไม่มีอยู่จริง ทัศนะที่ว่าสิ่งทั้งปวงมีอยู่และทัศนะที่ว่าสิ่งทั้งปวงไม่มีอยู่เป็นทัศนะที่ผิด เพราะในทัศนะของพุทธศาสนาสิ่งทั้งปวงเราไม่สามารถสรุปได้ว่ามีอยู่หรือไม่มีอยู่ เพราะสรรพสิ่งที่เราสัมผัสอยู่ในชีวิตประจำวันมิได้มีตัวตนอยู่ต่างหากจากจิต จิตคือผู้สร้างสรรพสิ่ง  

          โลกทางกายภาพที่เราสัมผัสได้อยู่ทุกวันนี้มีได้เพราะมีจิต หากไม่มีจิต สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่มี เพราะสิ่งที่มีอยู่จริงก็คือ กระบวนการรับรู้ของจิต ทุกครั้งที่เราเห็นด้วยหรือโต้แย้งหลักการใดๆ เพราะเราใช้จิตของเราในการรับรู้คิดพิจารณาหรือรู้สึก  พฤติกรรมทุกอย่างของมนุษย์จึงผ่านกระบวนการรับรู้ของจิตมาแล้วทั้งสิ้น

          ตามทัศนะของนิกายโยคาจาระ สรรพสิ่งทั้งหมดในจักรวาลประกอบด้วยสิ่งๆเดียวนั้น คือ จิต เพราะสำหรับนิกายโยคาจาระแล้ว ร่างกาย แขนขาของมนุษย์จะมีไม่ได้ ถ้าไม่มีจิต ทรัพย์สมบัติบ้านเรือนของเราจะมีไม่ได้หากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง สิ่งเหล่านี้เมื่อลดทอนลงจนถึงที่สุดแล้วก็คือผลผลิตของจิตนั่นเอง จักรวาลจึงมีเพียงจิตกับผลผลิตของจิตเท่านั้น การที่นิกายโยคาจารปฏิเสธว่า สรรพสิ่งไม่ได้มีอยู่จริง ต้องทำความเข้าใจว่า สรรพสิ่งในที่นี้หมายถึงสรรพสิ่งที่ไม่ได้ปรากฏแก่การรับรู้ของจิต ดังนั้น นิกายโยคาจาระจึงยืนยันแนวความคิดว่า สรรพสิ่งคือจิต หรือสรรพสิ่งที่ไม่ใช่จิตหาได้มีอยู่ต่างหากจากจิตไม่ หากแต่คือผลผลิตของจิตเท่านั้น

          ๒ ทัศนะเรื่องวิญญาณ

          นิกายโยคาจาระมีทัศนะว่า จิตมีฐานะเป็นทุกสิ่งทุกอย่าง การทำความเข้าใจเรื่องจิตจึงมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดเรื่องวิญญาณหรือการรับรู้ของจิต โดยทั่วไปมักมีความเข้าใจว่า จิตและวิญญาณมีความหมายเท่ากัน แต่ตามทัศนะของโยคาจาระ จิตมีความหมายกว้างและเหนือกว่าคำว่าวิญญาณ จิตและวิญญาณจึงมีความหมายไม่ตรงกัน

          วิญญาณ หมายถึง หน่วยของความรู้สึก หรือตัวสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีหน้าที่รับรู้ แยกแยะความแตกต่าง ไตร่ตรอง และตัดสิน ส่วนจิตหมายถึง ระบบของความรู้สำนึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นและดำเนินไปตามกฎเกณฑ์หรือหน้าที่ตามธรรมชาติ จิตจึงเป็นระบบการทำงานของวิญญาณ วิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของจิต จิตครอบคลุมการเกิดขึ้นและทำหน้าที่ต่างๆของวิญญาณ นิกายโยคาจาระมีทัศนะเรื่องวิญญาณ โดยสรุป ดังต่อไปนี้

๒.๑ ประเภทของวิญญาณ

          นิกายโยคาจาระแบ่งประเภทของวิญญาณไว้ ๓ กลุ่ม มีจำนวนของวิญญาณไว้ ๘ ดวง ดังต่อไปนี้คือ

          (๑) ประพฤติวิญญาณ ทำหน้าที่ในการรับรู้โลกภายนอก มีจำนวน ๖ ดวง

          (๒) กลิษฏมโนวิญญาณ ทำหน้าที่ในการรับรู้โลกภายใน วิญญาณกลุ่มนี้มีหน้าที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างจากวิญญาณดวงอื่น มีจำนวน ๑ ดวง เท่านั้น

(๓) อาลยวิญญาณ เป็นวิญญาณที่เป็นจุดรวมของทุกวิญญาณ มีเพียง ๑ ดวงเท่านั้น

๒.๒ หน้าที่ของวิญญาณ

          (๑) ประพฤติวิญญาณ มี ๖ ดวง คือ จักขุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ และมโนวิญญาณ หมายถึง การรับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ วิญญาณ ๕ ดวงแรกนั้น เรียกว่า ปัญจวิญญาณ ทำหน้าที่รับรู้ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้นและกาย โดยการกระทบหรือรับอารมณ์หรือวัตถุภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสต่างๆ ที่เรียกว่า อายตนะภายนอก การทำงานของวิญญาณเหล่านี้จะเป็นไปโดยธรรมชาติ เมื่อรับรู้แล้ว วิญญาณดวงสุดท้าย คือ มโนวิญญาณ จะทำหน้าที่คิด ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสิ่งที่รับรู้หรือโลกภายนอก มโนวิญญาณจึงทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างปัญจวิญญาณกับกลิษฏมโนวิญญาณ ความแตกต่างระหว่างปัญจวิญญาณกับมโนวิญญาณ คือ ปัญจวิญญาณรับอารมณ์ได้แต่ในปัจจุบัน ส่วนมโนวิญญาณสามารถรับรู้อารมณ์ได้ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

          (๒) กลิษฏมโนวิญญาณ บางครั้งรียกว่า มนัส ทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างมโนวิญญาณกับอาลยวิญญาณ อยู่เหนือระดับของความคิด ไม่รับรู้อารมณ์ จะรับรู้และพิจารณาเฉพาะอารมณ์ภายในเท่านั้น กล่าวคือ จะยึดถือเฉพาะอาลยวิญญาณเท่านั้น ทำให้เกิดความคิดเรื่องตัวตนขึ้นมา

          การเกิดขึ้นของกลิษฏมโนวิญญาณเริ่มต้นจากความไม่รู้ในความเป็นธรรมชาติอันเดียวกันของจิต จึงแยกตัวเองออกมาจากอาลยวิญญาณ และสะท้อนอาลยวิญญาณว่าคือตัวตน ท่านเปรียบเทียบเหมือนคนส่องกระจกแล้วเข้าใจว่าในกระจกมีคนอีกหนึ่งคนที่แยกจากตัวเอง มนัสทำหน้าที่คล้ายกระจกสะท้อนภาวะต่างๆของอาลยวิญญาณในฐานะเป็นตัวรู้ จากนั้นก็ไปรับรู้และสร้างโลกโดยผ่านประพฤติวิญญาณ กลิษฏมโนวิญญาณจึงทำให้อาลยวิญญาณเข้าใจว่าเป็นตัวรับรู้ เพราะยึดถืออาลยวิญญาณว่าเป็นตัวตนตลอดเวลา จึงทำให้มโนวิญญาณสามารถมีความโน้มเอียงไปในทางดีและชั่วได้ เพราะมีการยึดถือว่าเป็นตัวตนก็ทำให้เกิดความรู้สึกยึดถือในเรื่องต่างๆว่าเป็นของตนเองขึ้นมาตามลำดับ กล่าวคือ มนัสสร้างตัวตนหรือตัวฉัน (Me) ขึ้น มโนวิญญาณและปัญจวิญญาณก็สร้างสิ่งที่เข้าใจว่าเป็นของของตนขึ้น (Mine)

          (๓) อาลยวิญญาณ หมายถึง ธาตุรู้ หรือ ความรู้สึกสำนึกที่เป็นแหล่งรวบรวมเมล็ดพันธุ์แห่งกรรม มีฐานะเป็นจิตไร้สำนึก (อุตตรภาพ) เป็นรากฐานของวิญญาณอื่นๆ ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น อาลยวิญญาณมีหน้าที่หลัก ๓ ประการ คือ

          ๓.๑ หน้าที่เก็บ ได้แก่ เก็บรอยประทับต่างๆ (หรือที่เรียกว่า พีชะ) ของกรรม อาลยวิญญาณในหน้าที่นี้เปรียบเหมือนยุ้งฉางที่เก็บข้าวเปลือกต่างๆ เป็นต้น

          ๓.๒ หน้าที่ก่อความยึดถือว่าเป็นตัวตน ได้แก่ สร้างการยึดถือให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เกิดเป็นผู้รับรู้และสิ่งที่ถูกรับรู้ต่างๆขึ้นมา การที่อาลยวิญญาณเข้าใจตนเองว่าแยกออกมาทำหน้าที่รับรู้ตัวเองเช่นนี้ ทำให้ดูเหมือนแยกตัวออกมาเป็นวิญญาณดวงใหม่ จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กลิษฏมโนวิญญาณ

          ๓.๓ หน้าที่ปรุงแต่ง ได้แก่ การปรุงแต่งอารมณ์ไปตามกระบวนการของเหตุและผล ซึ่งเอื้อต่อการกระทำกรรมใหม่ตามรอยประทับที่มีอยู่ เช่น ถ้ามีรอยประทับที่เป็นกุศลหรือความดีมาก (กุศลพีชะ) ก็ทำให้จิตปรารถนาจะทำความดีมากกว่าความชั่ว โดยอาลยวิญญาณจะปรุงแต่งอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจซึ่งเป็นวิญญาณที่ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ต่างๆ ทำหน้าที่สร้างโลกและความรู้ต่างๆ

          ๓ ทัศนะเรื่องความจริง

          ตามทัศนะของนิกายโยคาจาร ยอมรับความจริงสองอย่าง คือ สมมติสัจจะ ภาษาสันสกฤตใช้คำว่า สังวฤติสัตยะ และปรัมัตถสัจจะ ภาษาสันสกฤตใช้ปรมารถสัตยะ โดยที่สมมติสัจจะ คือ สิ่งที่ปรากฏในฐานะสิ่งที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้และสิ่งถูกรู้ (ทวิภาวะ) ไม่มีความเป็นจริง เป็นความจริงสมมติ เป็นฉากกั้นที่ปกปิดความจริงสูงสุด จึงเรียกว่า สังวฤติ คือ เครื่องปกปิดหรือเครื่องหุ้มห่อ เพราะการปกปิดนี้ ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่มันเป็นจริง ส่วนสิ่งที่เป็นความจริงคือจิตที่ไม่มีทวิภาวะ ดังนั้น สิ่งที่เป็นความจริงจึงถูกปกปิดโดยสิ่งที่ปรากฏ สมมติสัจจะปกปิดสิ่งที่เป็นจริง ทำให้บุคคลเข้าใจสิ่งที่ไม่มีอยู่จริงว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง (อภูตปริกัลปะ) สรรพสิ่งต่างๆในโลกเป็นความจริงสมมติทั้งสิ้น เพราะสรรพสิ่งเหล่านั้นไม่มีอยู่จริงเหมือนรูปมายาที่นักมายากลสร้างขึ้น สิ่งที่ถูกสมมติว่ามีอยู่นั้นเป็นเหมือนภาพลวงตา ไม่มีอยู่จริง เพราะสิ่งเหล่านั้นตกอยู่ภายใต้ความจริงที่เป็นสมมติสัจจะ

          สิ่งที่มีอยู่นั้นมีสองอย่าง คือ สิ่งที่ปรากฏและสิ่งที่มีอยู่เหนือสิ่งที่ปรากฏ สิ่งมีอยู่ที่เป็นปรากฏการณ์เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ (ทวิภาวะ) เป็นความมีอยู่แบบสมมติ เพราะไม่มีอยู่โดยลักษณะที่แท้จริง ส่วนสิ่งที่มีอยู่เหนือปรากฏการณ์ไม่มีทวิภาวะ เป็นความจริงที่อยู่เหนือปรากฏการณ์ (โลกุตตระ) เป็นสิ่งที่ไม่มีสาเหตุ เป็นหนึ่งไม่มีสอง ดังนั้น ความจริงจึงมีสองอย่าง คือ ความจริงสมมติและความจริงสูงสุด

          สิ่งที่เป็นจริงมีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ ปรมัตถสัจจะ ส่วนสมมติสัจจะเป็นความจริงที่เป็นปรากฏการณ์ ไม่มีอยู่จริง เป็นเหมือนความฝันและภาพลวงตา แต่ปรมัตถสัจจะก็มิใช่ความจริงอื่นจากสมมติสัจจะ แต่เป็นแก่นแท้ของสมมติสัจจะ เพราะสิ่งที่ปรากฏซึ่งปราศจากความเข้าใจผิดว่าเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็คือ ปรมัตถสัจจะหรือสิ่งสัมบูรณ์นั่นเอง หลักการเรื่องสมมติสัจจะเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะแม้มันจะไม่มีความเป็นจริงในตัวเอง แต่ก็ควรจะรู้ เพราะการปฏิเสธสมมติสัจจะก็คือการปรากฏของปรมัตถสัจจะ สิ่งสัมบูรณ์เป็นไปอยู่ภายในสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏจึงไม่ใช่สิ่งที่ควรถูกปฏิเสธทั้งหมด

          นอกจากแบ่งความจริงออกเป็น ๒ ระดับ คือ สมมติสัจจะหรือความจริงสมมติ และปรมัตถสัจจะหรือความจริงสูงสุด ดังกล่าวแล้ว นิกายโยคาจาระยังได้อธิบายความจริงทั้ง ๒ ระดับ นั้น ให้ละเอียดออกไปอีก โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ดังนี้ คือ

          (๑) ปริกัลปิตะ หมายถึง สิ่งที่เกิดจากจินตนาการ ไม่มีอยู่จริง เป็นเพียงมายาหรือภาพลวงตา เป็นสิ่งที่ไม่จริงแม้ในระดับของสิ่งที่ปรากฏ ลักษณะที่แท้จริงของมันเป็นเพียงการจินตนาการ ที่ไม่มีอยู่จริง ปริกัลปิตะเป็นพื้นฐานของความเชื่อในการมีอยู่ของสิ่งที่ไม่มีอยู่ ทั้งที่แท้จริงแล้วมันไม่มี จะมีอยู่ก็เป็นเพียงนามหรือชื่อเท่านั้น

          (๒) ปรตันตระ หมายถึง สิ่งที่ปรากฏในฐานะความสัมพันธ์ (ทวิภาวะ) ระหว่างผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ รูปแบบของการปรากฏเป็นสิ่งที่ไม่จริง แต่สิ่งที่สร้างสิ่งต่างๆให้ปรากฏนั้นเป็นจริง ปรตันตระ คือ การรับรู้ที่แปรเปลี่ยนไปเป็นรูปแบบต่างๆ

          (๓) ปรินิษปันนะ หมายถึง ความจริงสูงสุด มีฐานะเท่ากับสิ่งสัมบูรณ์ เป็นสภาวะที่ไม่มีทวิภาวะ อยู่เหนือการบรรยายด้วยคำพูด ไม่สามารถเข้าถึงได้แม้โดยความคิด เป็นความจริงที่ตั้งมั่น ปริกัลปิตะ เป็นเพียงการจินตนาการ เป็นเพียงสิ่งลวงตา จึงไม่มีอยู่

          ตามทัศนะของอสังคะ ความจริงมีลักษณะ ๒ ประการ คือ ลักษณะที่เป็นความจริงสูงสุด และลักษณะที่มีมลทินของความจริงสูงสุดนั้น ปริกัลปิตะอย่างเดียวเท่านั้นเป็นสิ่งไม่จริง จิตหรือสิ่งสัมบูรณ์ได้รับผลกระทบโดยสิ่งที่เป็นภาพลวงตา จึงถูกเข้าใจว่าเป็นสรรพสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏในโลก และถูกรวมลงในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์   แต่ตัวมันเองไม่ใช่ปรากฏการณ์นั้นๆ   ลักษณะเช่นนี้คือปรตันตระของความจริงสูงสุด ปรตันตระเมื่อถูกทำให้บริสุทธิ์แล้วย่อมกลายเป็นปรินิษปันนะ

          ดังนั้น สิ่งที่ปรากฏทุกอย่าง จึงไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ปรินิษปันนะและปรตันตระจึงเป็นลักษณะ ๒ ประการของความจริงสูงสุด กล่าวคือ สภาวะที่บริสุทธิ์และไม่บริสุทธิ์ตามลำดับ ส่วนปริกัลปิตะเป็นเพียงสิ่งลวงตาและเป็นสิ่งที่ไม่จริง

          คัมภีร์ลังกาวตาระแสดงความจริงทั้ง ๓ ไว้ว่า ปริกัลปิตะเป็นเพียงการจินตนาการ ปรตันตระเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์และขึ้นอยู่กับสาเหตุและปัจจัยต่างๆ อยู่ภายใต้ขอบเขตของปรากฏการณ์ ส่วนปรินิษปันนะเป็นความจริงสูงสุด อยู่เหนือภาวะของผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ และตั้งอยู่บนพื้นฐานการรู้แจ้งจิตสำนึกบริสุทธิ์

          จากที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด สรุปได้ว่า ความจริงทั้ง ๓ อย่างไม่ได้หมายถึงระดับความจริงที่แตกต่างกัน เพราะความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว คือ สิ่งสัมบูรณ์หรือจิต ไม่มีความจริงใดที่เป็นจริงหรือเท็จโดยส่วนเดียว ปรตันตระไม่ใช่ความจริงที่มีระดับต่ำกว่าปรินิษปันนะ แต่คือปรินิษปันนะ เมื่อกำจัดการจินตนาการที่ครอบงำการเปลี่ยนแปลงของมันได้แล้ว ปริกัลปิตะเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่โดยแท้จริง ส่วนปรตันตระเป็นเพียงรูปแบบของการปรากฏในลักษณะผู้รู้และสิ่งที่ถูกรู้ซึ่งไม่มีอยู่จริง เป็นสิ่งที่มีอยู่เพราะการปรากฏว่ามีอยู่เท่านั้น แต่โดยแก่นแท้แล้วไม่มีอยู่จริง ปรินิษปันนะจะเข้าถึงได้โดยการรู้แจ้งความไม่มีอยู่ของทวิภาวะนั้น ความจริงทั้ง ๓ ระดับนั้นจึงมีลักษณะเป็นการปฏิเสธเช่นเดียวกัน สิ่งที่ถูกขนานชื่อโดยคำพูดต่างๆของชาวโลกถูกสร้างขึ้นโดยปริกัลปิตะซึ่งมีปรตันตระเป็นพื้นฐาน ส่วนปรินิษปันนะเป็นสภาวะที่ปฏิเสธความจริงอันนั้น

นิกายโยคาจารนี้บางครั้งก็เรียกว่า วิชญาณวาท หรือวิญญาณวาท มีความเห็นที่ตรงกันข้ามกับนิกายศูนยวาท  และเป็นนิกายคู่ปรับของนิกายศูนยวาทอย่างมาก คณาจารย์ผู้เป็นต้นกำเนิดของนิกายนี้คือ พระไมตรียนาถ มีสานุศิษย์ที่เด่นอยู่ท่านหนึ่งชื่อว่า พระอสังคะ ท่านได้แต่งตำรามากมาย เช่น โยคาจารภูมิศาสตร์ เป็นต้น และมีน้องชายอีกหนึ่งคนชื่อว่า วสุพันธุ ท่านอสังคะและวสุพันธุเดิมนั้นเป็นนักบวช เรียนอยู่ในนิกายสรวาสติวาท มาภายหลังได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นมหายาน

นิกายโยคาจารมีหลักปรัชญาว่า  “สรรพสิ่งในโลกล้วนเป็นภาพสะท้อนออกไปจากดวงจิต เรียกว่า อาลยวิญญาณ” อาลยวิญญาณคือธาตุรู้ มีหน้าที่อยู่ ๓ ประการ คือ

๑.มีหน้าที่รู้เก็บ คือเก็บเอาพลังของการกระทำทุกอย่างไม่ให้ขาดตกบกพร่อง สิ่งต่างๆ ที่ถูกนำมาเก็บไว้ในอาลยวิญญาณนี้เรียกว่า  “พีชะ” เช่น กุศลพีชะ อกุศลพีชะ อัพยากตพีชะ เป็นต้น

๒.มีหน้าที่รู้ก่อ คือก่อสร้างอารมณ์ต่างๆ ออกมา เช่น อารมณ์ โลภ โกรธ หลง เป็นต้น เป็นปรากฏการณ์ของอาลยวิญญาณทั้งสิ้น รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นต้น

.มีหน้าที่ปรุงแต่ง คือปรุงแต่งอารมณ์ให้วิจิตรพิสดารออกไป เป็นไปตามกระแสแห่งตัณหา ปรุงแต่งกรรมดีบ้าง กรรมชั่วบ้าง ก่อให้เกิดผลวิบาก ส่งผลเป็นพีชะเข้าไปเก็บไว้ในอาลยวิญญาณอีก วนเวียนอยู่อย่างนี้จนกว่าจะสิ้นภพหมดชาติ

สรุปได้ว่า นิกายโยคาจารเป็นพวกประเภท จิตนิยม (Idealism) เพราะนิกายนี้ถือว่าจิตเป็นสิ่งสำคัญกว่าร่างกายหรือวัตถุ โดยสอนว่าโลกวัตถุเป็นเพียงมโนภาพ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกปรุงแต่งออกไปจากพีชะในจิต ถ้าไม่มีอาลยวิญญาณเสียแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวงก็ไม่มี เหมือนกับดวงอาทิตย์ ความจริงแล้วมีดวงเดียว แต่ปรากฏเป็นหลายดวงแก่คนพิการ เป็นต้น มันเป็นภาพสะท้อนออกไปจากพีชะในจิตนั่นเอง เพราะบางสิ่งบางอย่างในโลกนี้เกิดจากสหกรรมของมนุษย์และสัตว์ดิรัจฉานร่วมกัน ย่อมมีกำเนิดแหล่งที่ชัดเจน จะมาสับเปลี่ยนภายหลังตามความชอบใจของใครคนใดคนหนึ่งไม่ได้เลย นี้คือทัศนะของนิกายโยคาจาร

เอกสารอ้างอิง

สุมาลี  มหรณรงค์ชัย,พุทธศาสนามหายาน,พิมพ์ครั้งที่ ๒,(กรุงเทพมหานคร: ศยาม,๒๕๕๐),หน้า ๙๖

สุมาลี มหณรงค์ชัย, อ้างแล้ว : ๑๐๖

สมภาร พรมทา ,พุทธศาสนามหายาน : นิกายหลัก,(กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,๒๕๔๐),หน้า ๑๑๓,๑๑๕

สุมาลี มหณรงค์ชัย, อ้างแล้ว : ๑๐๖-๑๐๗

๕๑อภิชัย โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์,พระพุทธศาสนามหายาน,(กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,๒๕๕๑),หน้า ๑๖๒

อภิชัย  โพธิ์ประสิทธิ์ศาสต์,อ้างแล้ว,หน้า  ๑๕๓-๑๖๑

 

หมายเลขบันทึก: 501548เขียนเมื่อ 7 กันยายน 2012 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 20:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท