ปลูกบัวอย่างไรให้ได้ใบและดอกที่สวยงาม


พระพุทธเจ้ายังได้ใช้ดอกบัวเป็นคำสอนเปรียบเปรยปุถุชน 4 ระดับกับบัวสี่เหล่า คือ บัวใต้โคลนตม บัวใต้น้ำ บัวปริ่มน้ำ และบัวพ้นน้ำ

 

บัวจัดได้ว่าเป็นไม้ดอกที่มีประวัติอันยาวนาน เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับพุทธประวัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งประสูตร ตรัสรู้และปรินิพพาน ประเพณีวัฒนธรรมทางศาสนาจึงมีดอกบัวเกี่ยวข้องให้ชาวพุทธได้กราบไหว้บูชาในเชิงสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ สะอาดและคุณงามความดี นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ใช้ดอกบัวเป็นคำสอนเปรียบเปรยปุถุชน 4 ระดับกับบัวสี่เหล่า คือ บัวใต้โคลนตม บัวใต้น้ำ บัวปริ่มน้ำ และบัวพ้นน้ำ และอีกหลายๆบทความหลายวรรณกรรมที่มีการนำเรื่องเกี่ยวกับบัวมาเรียงร้อยถ้อยความให้บทความนั้นดูสวยสดงดงามโดดเด่น สื่อความหมายให้บัวเป็นดอกไม้ที่มีคุณค่าน่าบูชามากที่สุด
 
บัวที่นิยมปลูกกันส่วนมากคือบัวหลวงอยู่ในวงศ์ Nymphaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nelumbo Nucefera Gaertn และมีชื่อสามัญ secred Lotus ปัจจุพบมีการปลูกตามความนิยมอยู่ไม่กี่สายพันธุ์คือ บัวพันธุ์ดอกสีชมพู (บัวกหลมชมพู) มีชื่อว่าปทุม ปัทมา โกกระนด หรือโกกนุด,   บัวหลวงพันธุ์ดอกสีขาว (บัวแหลมขาว) มีชื่อว่าบุณฑริกหรือปุณฑริก, บัวหลวงชมพูซ้อน (บัวฉัตรชมพู)  สัตตบงกช,  บัวหลวงขาวซ้อน (สัตตบุตย์) และอื่นๆอีกโดยท่านผู้อ่านสามารถหาอ่านได้จากหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องบัวซึ่งมีผู้แต่งไว้หลากหลายตำราให้เลือกมากมาย
 
การที่จะปลูกบัวให้มีความสวยงามทั้งก้านดอกใบนั้นจะต้องให้บัวได้รับสารอาหารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ปัญหาที่ใบบัวเว้าแหว่ง แห้งเหี่ยวจากเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อนเพลี้ยแป้ง อมโรค ดอกเล็ก หรือไม่ค่อยออกดอกส่วนหนึ่งก็เพราะปัญหาเรื่องการขาดแคลนสารอาหารจากการใส่ปุ๋ยที่ไม่ถูกวิธี เพราะบัวเป็นพืชที่อาศัยอยู่ในน้ำ ถ้าทำการเติมปุ๋ยให้อาหารเหมือนพืชปรกติทั่วไปก็จะไม่ได้ผลเพราะปุ๋ยในประเทศไทยค่อนข้างที่จะละลายสลายตัวเร็ว จึงทำให้บัวไม่สามารถที่จะได้ลิ้มชิมรสปุ๋ยได้อย่างเพียงพอ ปุ๋ยที่จะนำมาใส่เติมเสริมให้แก่บัวควรจะต้องทำให้เป็นปุ๋ยละลายช้าเสียก่อน ปุ๋ยละลายช้าในท้องตลาดที่นำเข้าจากญี่ปุ่นก็มีจำหน่ายในท้องตลาดแต่อาจจะมีราคาแพงเป็นร้อยหรือสองร้อยบาทต่อกิโลกรัม
 
การทำปุ๋ยธรรมดาให้กลายเป็นปุ๋ยละลายช้าก็ทำง่ายเพียงนำปุ๋ยสูตรที่ต้องการ (46-0-0, 15-15-15, 16-20-0) จำนวน 5 กิโลกรัม พรมน้ำพอชื้นหรือจะใช้น้ำจากจุลินทรีย์หน่อกล้วยแทนก็ได้ โกยคลุกเคล้ากลับไปกลับมาให้ความชื้นถ้วนทั่วทุกเม็ดปุ๋ยแล้วนำหินแร่ภูเขาไฟชนิดผง (ชื่อการค้า พูมิช, สเม็คโตไทต์, ไคลน็อพติโลไลท์ ฯลฯ). จำนวนหนึ่งกิโลกรัมโรยเคลือบผสมเม็ดปุ๋ยจนความชื้นแห้งเหือดไปแล้วนำไปเก็บใส่ถุงมัดให้แน่นเก็บไว้ใช้ได้นานเป็นปี หรือถ้าเพิ่มจุลธาตุ (เหล็ก, ทองแดง, แมงกานีส, สังกะสี,  โบรอน, โมลิบดินั่ม,นิกเกิ้ล และซิลิสิคแอซิด) ก็ให้ใส่ซิลิโคเทรซเพิ่มเข้าไปในสูตรดังกล่าวอีกประมาณ 50 หรือ 100 กรัม
 
โดยปรกติดินที่ใช้ปลูกบัวจะต้องเป็นดินเหนียว มีอินทรีย์วัตถุน้อย เพื่อรักษาระดับสภาพน้ำให้ใสสะอาดได้ยาวนาน ไม่ควรใช้ดินที่มีอินทรีย์วัตถุมากเหมือนดินปลูกพืชบนบกทั่วๆไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ง่าย ดินเหนียวซึ่งจะมีธาตุอาหารโพแทสเซียมอยู่ค่อนข้างมาก ทำให้ประหยัดการใช้ปุ๋ยตัวท้ายอาจจะใช้แค่เพียง 16-20-0 ก็เพียงพอ ระดับของเหง้าบัวไม่ควรอยู่ลึกมากเกินไปควรอยู่ที่ระดับประมาณ 4-5 นิ้วหรือ 10-15 เซนติเมตรครึ่งไม้บรรทัดหรือประมาณหนึ่งฝ่ามือโดยประมาณถ้าลึกกว่านี้ก็จะมีปัญหาเหง้าและรากเน่าได้ง่าย สำหรับท่านที่ไม่สะดวกในการใช้หินแร่ภูเขาไฟก็อาจจะใช้กระดาษหนังสือพิมพ์หรือกระดาษทิชชูห่อเม็ดปุ๋ยแล้วนำไปกลบฝังไว้ที่ใกล้ๆรากบัวก็จะช่วยให้บัวได้รับสารอาหารที่ต่อเนื่องไม่ช้าก็จะได้ดอกบัวให้เชยชมอย่างแน่นอนครับ
 
มนตรี บุญจรัส
ชมรมเกษตรปลอดสารพิษ www.thaigreenagro.com
 
 
หมายเลขบันทึก: 501007เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ..ที่สวนหน้าบ้านปลูกบัวสัตตบงกชในอ่างบัว..สังเกตว่า บัวชอบน้ำใส ได้หมั่นเก็บสาหร่ายและฉีดน้ำฝอยทุกเช้า..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท