โกงข้อสอบผ่านอุปกรณ์พกพา แก้ยังไง? [moodle quiz]


ผลการสำรวจจาก McAfee’s 2012 Teen Internet Behavior Study (บทความที่อ้างถึง) พบว่าเกือบครึ่งของเด็กยอมรับว่าเคยแอบดูคำตอบในการสอบหรือทำแบบฝึกหัดผ่านอินเตอร์เน็ต 22% บอกว่าใช้อุปกรณ์มือถือ ในขณะที่ 23% ของผู้ปกครองห่วงเรื่องการโกงแบบนี้ และมีเพียง 5% ของผู้ปกครองที่เชื่อว่าเด็กโกงข้อสอบ

ไม่ได้มีการรายงานผลว่าครูคิดอย่างไรกับรายงานนี้ แต่ในฐานะครู นักการศึกษา และผู้สังเกตการณ์ทั่วไป มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ ที่เด็กจะแอบดูคำตอบ ความ “พยายาม” จะโกงนั้นมีมานานมากในสังคมบ้านเรา สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง การเรียนการสอนแบบออนไลน์ มีแต่จะทำให้โอกาสในการ “โกง” ทำได้ง่ายขึ้น

เทคนิคที่อาจารย์ออนไลน์แนะนำคือ (1) ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยชี้ตัวคนเขียนงาน เช่น document fingerprint (กรณีที่เป็นข้อสอบข้อเขียน) แต่เทคนิคประเภทนี้ก็ยังอยู่ในขั้นการพัฒนาครับ ยิ่งเป็นข้อสอบแบบปรนัยแล้วล่ะก็ เลิกหวังได้เลยว่าเด็กจะไม่โกง (2) บางแห่งใช้คนคุมสอบทางไกลครับ มีการสแกนลายนิ้วมือ จับภาพแบบ 360 องศาในห้องสอบ (3) บางแห่งก็ใช้คนคุมสอบจริงดูผ่านกล้อง และตรวจสอบพฤติกรรมการพิมพ์ของนักเรียน

เท่าที่ผมทราบและประสบกับตัวเอง ทางมหาวิทยาลัยเรา มีการสอบออนไลน์ ที่จัดในห้องปฏิบัติการ ภายในวิทยาเขตครับ คือให้นักศึกษามาเลือกลงเวลาที่สะดวก และมีคนคุมสอบตัวเป็นๆ ในห้อง มีการกำหนดเวลาให้พอดีๆ กับข้อสอบจริงๆ เพื่อที่นักศึกษาจะได้ตั้งใจทำ ไม่คิดว่ามีเวลาเหลือเฟือเพื่อคิดตุกติก

ส่วนในวิชาผมเอง ผมให้เด็กไปทำข้อสอบในห้อง (วิชาพื้นฐาน) โดยให้สุ่มข้อสอบ และสลับตัวเลือกด้วย บางครั้งก็ให้นักศึกษาไปทำเองที่บ้านเลยก็มี (วิชาระดับกลาง) ด้วยเหตุผลที่ว่า ผมไม่ได้ใช้การสอบออนไลน์เพื่อวัดผลจริงๆ จังๆ แต่ทำเพื่อให้นักศึกษาได้ตรวจสอบความรู้ในระดับพื้นฐาน (ความจำ เข้าใจ) เป็นหลัก

อีกเทคนิคที่ช่วยในการประเมินผลทดสอบคือดูว่าคะแนนมีการแจกแจงแบบปรกติ (normal distribution) หรือไม่ ลองดูรูปประกอบนะครับ

normal_distribution

ต้องยอมรับนะครับว่าการสอบแบบปรนัย มันไม่สามารถจะวัดอะไรได้มากนัก จะให้ถึงขั้นวิเคราะห์ สังเคราะห์ ก็พอจะทำได้ แต่ผู้ออกข้อสอบก็ต้องรู้วิธี ครั้นจะใช้ข้อสอบอัตนัยล้วนๆ บางทีก็เหมือนเป็นการฆ่าตัวตายทางวิชาชีพ ยิ่งในยุคที่การศึกษาการเป็นสินค้าแบบนี้ บางแห่งดีหน่อยมีผู้ช่วยสอน ช่วยตรวจข้อสอบ แต่หลายแห่งไม่มีนะครับ อาจารย์บางท่านสอนเด็กห้องละ 60 คน มีเทอมละ 6 – 7 ห้อง นั่นก็ 400 คน ถ้าจะให้ตอบคำถามแบบว่า จงเปรียบเทียบ จงอธิบาย สักคนละสี่ห้าข้อ ก็แสดงว่าต้องตรวจกันเป็นหลายสัปดาห์เลยทีเดียว

คงต้องเดินสายกลางนะครับ อะไรที่ทำให้ง่ายขึ้น ลดภาระการทำงานเอกสารได้และยังอยู่ในวิสัยที่วัดความรู้ผู้เรียนได้ ตามที่เราต้องการก็ใช้ไป ส่วนทักษะที่สูงขึ้นไป ก็ใช้วิธีวัดผลที่เหมาะสมมากกว่าการสอบปรนัย อย่าเพิ่งไปหวังจะพลิกวงการอะไร ค่อยๆ ทำไปทีละชั้น ทีละเทอม ดีไหมครับ

หมายเลขบันทึก: 500044เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2020 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขนาดไอวีลีก อย่าง ฮาร์วาร์ดยังมีกรณีโกงข้อสอบ (take home) ที่ส่งทางอินเตอร์เน็ตเลยครับ เรื่องแบบนี้มันมีเสมอ เพียงแต่เทคโนโลยีทำให้อะไรๆ ง่ายขึ้น รวมถึง "โกง" ง่ายขึ้นด้วย

เราก็ต้องเอาเทคโนโลยีเข้าช่วยนะครับ ผมเชื่อว่า ณ วันนี้ อาจารย์หลายท่าน ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีที่คอยตรวจสอบว่ารายงานของเด็กนั้นไปลอกจากที่ไหนมาหรือเปล่า เช่น turnitin หรือซอร์ฟแวร์ที่ตรวจสอบการทุจริต (plagiarism prevention)

ใครที่ยังไม่ลอง ถ้าลองแล้วอาจจะตกใจกับข้อมูลนะครับ ^^

ยอมรับในความเป็นไอที..และการออกแบบเครื่องมือตรวจเช็คการทำงาน (เรียนรู้) ของนิสิตนักศึกษาผ่านเทคโนโลยีที่มหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งในโลกตะวันตกใช้กันมายาวนาน และปัจจุบันสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยนำมาใช้มากยิ่งขึ้น...

...

หวังเล็กๆ กับการเรียนรู้ว่าคงมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประมวล ปะติดปะต่อบ้าง..
เพราะนั่นคือ ทางออกที่ไม่สิ้นหวังของการเรียนรู้ในมุมที่ตีบตันของพวกเขา..

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท