การให้บริการปรึกษา


การให้บริการปรึกษา (Counseling Service)

 

 

ความหมายของการให้บริการปรึกษา

 

การให้คำปรึกษาเป็นกระบวนการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ขอรับคำปรึกษาในปัญหาทางด้านการศึกษา อาชีพ ส่วนตัว และสังคมโดยผู้ให้คำปรึกษาซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญจะให้เทคนิควิธีการ เพื่อกระตุ้นและสะท้อนให้ผู้ขอรับการปรึกษาเข้าใจตน เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นและสามารถจะตัดสินใจหรือวางแผน การแก้ปัญหาในอนาคตได้ด้วยตนเอง  ส่วนการจัดบริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) เป็นบริการที่จัดขึ้นเพื่อให้ความช่วยเหลือแก่นักเรียน นิสิตนักศึกษาในการแก้ปัญหาทางด้านการศึกษา ด้านอาชีพ การวางโครงการในอนาคตการกำหนดเป้าหมายของชีวิต การปรับพฤติกรรมและการปรับตัว ตลอดจนการรู้จักแบ่งเวลา และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น บริการให้คำปรึกษาจะช่วยให้นักเรียน นิสิตนักศึกษา สามารถเลือกวางโครงการ และปรับตัวได้เหมาะสมตรงกับความต้องการของเขา บริการให้คำปรึกษาจึงถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดบริการแนะแนว (นิรันดร์ จุลทรัพย์, 2539: 304)

 

จุดมุ่งหมายของการให้บริการปรึกษา

จุดมุ่งหมายของการให้บริการปรึกษามีทั้งจุดหมายในระยะสั้นและจุดมุ่งหมายระยะยาวในอนาคต

 

จุดมุ่งหมายระยะสั้น

ยอร์ชและคริสเตียนี (George and Cristiani, 1990 อ้างในวัชรี  ทรัพย์มี, 2549) ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการให้บริการปรึกษาระยะสั้นว่าครอบคลุมสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้คือ

                      1)  ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

                            จุดมุ่งหมายของการให้บริการปรึกษา คือการส่งเสริมให้ผู้รับบริการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่แนวทางที่พึงปรารถนา เป็นต้นว่า ให้เรียนได้ดีขึ้น มีพฤติกรรมกล้าแสดงออก เพิ่มความรับผิดชอบในการทำงาน ยอมรับฟังคำวิจารณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวเขา ลดความขัดแย้งด้านจิตใจ ได้เข้าทำงาน ประสบความสำเร็จในการทำงาน มีชีวิตสมรสที่ราบรื่น

                            ผู้ให้บริการปรึกษาต่างก็มุ่งให้ผู้รับบริการเปลี่ยนพฤติกรรมไปสู่ทางที่พึงปรารถนาทั้งนั้น โดยมีกระบวนการช่วยให้ผู้รับบริการเปลี่ยนพฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามความศรัทธาในทฤษฎีการให้บริการปรึกษาแบบต่าง ๆ ที่ผู้ให้บริการปรึกษายึดถือ

                      2)  ส่งเสริมความสามารถของผู้รับบริการในการตัดสินใจและวางโครงการอนาคต

                            จุดประสงค์ของการให้บริการปรึกษาไม่ใช่เป็นการตัดสินใจให้ผู้รับบริการ แต่ส่งเสริมให้ผู้รับบริการตัดสินใจได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ โดยประหยัดเวลา พลังงาน กำลังทรัพย์ และมีการเสี่ยงน้อยที่สุด ตลอดจนช่วยให้ผู้รับบริการพัฒนาความสามารถที่จะวางโครงการอนาคตของตนทั้งระยะสั้นและระยะยาวโดยใช้เหตุผลพิจารณาสภาพการณ์ต่าง ๆ อย่างรอบคอบ

                      3)  ส่งเสริมการปรับปรุงสัมพันธภาพ

                            มนุษย์ต้องอยู่ในสังคม ดังนั้น จึงต้องมีการปะทะสัมพันธ์กับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลา หลายคนมีปัญหาด้านสัมพันธภาพ ซึ่งอาจเนื่องจากบุคคลนั้นมีปมด้อย ปมเด่นหรือขาดทักษะทางสังคม ผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องช่วยให้ผู้รับบริการปรับปรุงสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นคนในวัยเดียวกันหรือต่างวัย คนภายในครอบครัวหรือภายนอก การช่วยให้ผู้รับบริการปรับปรุงสัมพันธภาพกับบุคคลอื่น จะช่วยให้เขาสามารถปรับตัวในสังคมได้อย่างมีความสุข

                      4)  ส่งเสริมทักษะของผู้รับบริการในการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิต

                            ในพัฒนาการของชีวิต มีน้อยคนที่จะแก้ปัญหาและเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้โดยสมบูรณ์ การส่งเสริมให้บุคคลเรียนรู้วิธีการและมีทักษะในการแก้ปัญหาจะช่วยให้ผู้รับบริการนำไปใช้กับสภาพการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตของเขาได้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในโรงเรียน ในครอบครัว หรือในชีวิตการทำงาน

 

                จุดมุ่งหมายระยะยาว

                สำหรับจุดประสงค์ระยะยาวในอนาคตคือ  ให้ผู้รับบริการสามารถพัฒนาตนเองอย่างเต็มที่ ช่วยให้ผู้รับบริการเป็นบุคคลที่มีประสิทธิภาพ (the fully functioning person)

                รอเจอร์ส (Rogers, 1961 อ้างในวัชรี  ทรัพย์มี, 2549) ประมวลลักษณะของบุคคลที่มีประสิทธิภาพไว้ ดังนี้คือ

  1. มีการตระหนักรู้ คือ ตระหนักในส่วนดีและส่วนบกพร่อง ตระหนักในแรงจูงใจ ความเชื่อ ค่านิยม และความรู้สึกของตนเอง
  2. มีพฤติกรรมที่สม่ำเสมอ ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
  3. ควบคุมตนเองได้ ไม่วู่วาม หรือวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ ไม่ท้อแท้สิ้นหวัง สงสารตนเอง และปล่อยชีวิตตามยถากรรม
  4. มีความสามารถที่จะดำเนินการกับสภาพการณ์ที่เป็นปัญหาได้อย่างมีเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ ไม่หนีปัญหา
  5. มีความมุ่งมั่นในการกระทำ ไม่จับจด เมื่อตัดสินใจที่จะทำสิ่งใดแล้วก็มีใจจดจ่อและมุ่งมั่นในการกระทำจนสำเร็จลุล่วง

 

     ประเภทของการให้บริการปรึกษา

การให้บริการปรึกษาแบ่งได้เป็น 4 ประเภท (วัชรี  ทรัพย์มี, 2549) ดังต่อไปนี้

1) การให้บริการปรึกษาในภาวะวิกฤต (Crisis Counseling)

“วิกฤตการณ์” (Crisis) เป็นภาวะของการที่ผู้รับบริการพบกับความคับข้องใจอย่างรุนแรงในชีวิต แล้วว้าวุ่นใจอย่างหนักที่จะแก้ปัญหานั้น เช่น การสูญเสียคนที่ตนรัก ไม่สามารถจัดการกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต วิกฤตการณ์ในครอบครัว เช่น การหย่าร้าง การตั้งครรภ์นอกกฎหมาย การตกงาน การล้มละลาย ปัญหาโรคเอดส์

สิ่งที่ผู้ให้บริการปรึกษาพึงปฏิบัติในการให้บริการปรึกษาในภาวะวิกฤตมีดังต่อไปนี้ คือ

ก.        ผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องทำตัวเป็นหลักแก่ผู้รับบริการ โดยให้ผู้รับบริการเกิดความเชื่อมั่นว่ายังมีสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อช่วยลดความวิตกกังวลและต่อจากนั้นจึงให้ผู้รับบริการได้พัฒนาตนเอง

ข.        ผู้ให้บริการปรึกษาจะต้องใจเย็น เพราะผู้รับบริการอาจแสดงอารมณ์รุนแรงต่อผู้ให้บริการปรึกษา เนื่องจากสภาวะจิตที่ว้าวุ่นและความกดดันของเขา

ค.        ปล่อยให้ผู้รับบริการได้พูดเป็นการระบายออก พยายามพิจารณาว่าปัญหาของผู้รับบริการเป็นวิกฤตการณ์เกี่ยวกับเรื่องใด มีความรุนแรงเพียงใด อย่าปล่อยให้ตัวเองเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์หรือเศร้าโศกไปด้วย

ง.         พยายามตั้งคำถามที่เป็นเหตุเป็นผล เพื่อช่วยให้ผู้รับบริการได้คิด

จ.         ดำเนินการกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ส่วนสาเหตุที่เป็นแรงจูงใจในระดับจิตไร้สำนึกนั้นควรเก็บไว้พิจารณาทีหลัง

ฉ.        ให้นึกถึงแหล่งที่จะให้ความช่วยเหลือผู้รับบริการได้ทันท่วงที เช่น โรงพยาบาล สำนักงานกฎหมาย

                            สิ่งที่ผู้ให้บริการปรึกษาไม่ควรทำในภาวะวิกฤตคือ

ก.    ไม่ควรให้กำลังใจผู้รับบริการ โดยบอกว่าปัญหาของเขาไม่ร้ายแรงเท่าที่เขาคิด

ข.    อย่าพยายามแก้ปัญหาและปรับปรุงบุคลิกภาพทั้งหมดของผู้รับบริการในทันที ควรช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน

2) การให้บริการปรึกษาเพื่อส่งเสริมการแก้ปัญหาหรือการปรับตัว (Facilitative Counseling)

การให้บริการปรึกษาประเภทนี้เป็นกระบวนการที่ช่วยให้ผู้รับบริการเกิดความกระจ่างแจ้งในปัญหาของตน พยายามเข้าใจและยอมรับตนเอง ปรับปรุงโครงการแก้ปัญหาหรือโครงการในอนาคตของตน และดำเนินตามโครงการที่วางไว้ด้วยความรับผิดชอบ นอกจากนั้นผู้ให้บริการปรึกษาจะช่วยแก้ไขพฤติกรรมของผู้รับบริการไปสู่แนวทางที่พึงปรารถนา เช่น การปรับตัวกับบุคคลอื่น การปรับปรุงบุคลิกลักษณะ การเพิ่มสมาธิในการเรียนหรือการทำงาน เป็นต้น และยังช่วยให้ผู้รับบริการสามารถวางโครงการเลือกสาขาการเรียนและอาชีพได้อย่างเหมาะสม

3) การให้บริการปรึกษาเพื่อป้องกันปัญหา (Preventive Counseling)

การให้บริการปรึกษาเพื่อป้องกันปัญหาเป็นการให้บริการปรึกษาที่มีโครงการเฉพาะเจาะจง เช่น จัดโครงการให้ผู้รับบริการได้ตระหนักถึงอันตรายของยาเสพติด ฝึกทักษะในการสร้างสัมพันธภาพระหว่างบุคคล จัดโครงการให้ผู้รับบริการรู้จักตนเองเพื่อผลดีต่อไปในอนาคต เป็นการเอื้ออำนวยต่อการเลือกสาขาการเรียนและอาชีพที่เหมาะสมต่อไป

4) การให้บริการปรึกษาเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ (Developmental Counseling)

การให้บริการปรึกษาประเภทนี้เป็นการช่วยเหลือให้ผู้รับบริการมีพัฒนาการที่ดีในแต่ละขั้นของพัฒนาการในชีวิต ช่วยให้ผู้รับบริการมีความรู้สึกนึกคิดต่อตนเองอย่างถูกต้อง ให้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เรียนรู้ทักษะในการตัดสินใจ สำรวจค่านิยมและความสนใจของตน เข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพการณ์ต่าง ๆ เข้าใจกระบวนการต่าง ๆ ของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น ให้ยอมรับความเศร้าโศกและความตาย สามารถดำเนินชีวิตได้ต่อไปโดยไม่ท้อแท้สิ้นหวัง สามารถปรับตัวได้

 

 

 

 

 

บรรณานุกรม

ดวงมณี  จงรักษ์, 2549. ทฤษฎีการให้การปรึกษาและจิตบำบัดเบื้องต้น. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ ส.ส.ท.

นิรันดร์ จุลทรัพย์. 2539. เอกสารคำสอนวิชาการแนะแนวเบื้องต้น. โครงการบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้. 

วัชรี  ทรัพย์มี.  2531.  การแนะแนวในโรงเรียน.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพมหานคร: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

วัชรี  ทรัพย์มี. 2549. ทฤษฎีให้บริการปรึกษา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

หมายเลขบันทึก: 500042เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 12:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 สิงหาคม 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท