การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๗)


เชื้อราไตรโครเดอร์มานี้มีประโยชน์ต่อดินคือ ช่วยทำให้ดินดี และมีประโยชน์ต่อพืชผักคือช่วยเสริมให้ส่วนรากของพืชผักที่นักเรียนชาวนาปลูกในแปลงนั้นไม่เน่า เพื่อไม่ให้ประสบกับปัญหาเรื่องรากผักเน่าในดิน

การเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนา (๗)


ขอนำรายงานของมูลนิธิข้าวขวัญ ตอนที่ ๗ มาลงต่อนะครับ ที่จริงในช่วง ๖ เดือนแรกนี้ นักเรียนชาวนาเรียนหลักสูตรจัดการแมลงโดยไม่ใช้สารเคมี แต่ในสภาพความเป็นจริงการเรียนรู้ไม่แยกส่วน ตอนนี้จึงเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับการบำรุงดินโดยไม่ใช้ปุ๋ยเคมี จุลินทรีย์มีส่วนช่วยอย่างมากในเรื่องนี้ และเชื้อจุลินทรีย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ ไตรโคเดอร์มา


ตอนที่ 7 ไตรโครเดอร์มา : เพาะเลี้ยงเพื่อดินดี
ในหลักสูตรการจัดการศัตรูพืชโดยชีววิธี เรื่องต่อมาจะเป็นเรื่องของการดูแลดิน มุ่งเน้นดินในแปลงพืชผัก แปลงผักถือเป็นครัวของคนทั้งบ้านและชุมชนที่ควรต้องเหลียวแลและให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง


เมื่อหันมาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ จึงต้องมาพิจารณาดูสิ่งมีชีวิตตัวเล็กๆที่อาศัยอยู่ในดินแล้วทำให้ดินดี ... กำลังจะกล่าวถึงเชื้อราไตรโครเดอร์มา (Trichoderma spp.) และโรงเรียนชาวนาจึงได้ประสานงานไปยังแหล่งเรียนรู้ที่จะสามารถช่วยให้ความรู้อย่างกระจ่างชัดแจ้งแก่นักเรียนชาวนา โรงเรียนชาวนาบ้านสังโฆได้พานักเรียนชาวนาไปศึกษาดูงานพร้อมอบรมเรื่องนี้โดยเฉพาะ แหล่งเรียนรู้เป็นคลินิกสุขภาพพืช ภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2547 ที่ผ่านมาไม่นานมานี้


การอบรมครั้งนี้ ก็เพื่อจะให้นักเรียนชาวนาได้รู้จักแหล่งการเรียนรู้ต่างๆที่มีการศึกษาวิจัย โรงเรียนชาวนาพยายามจะผลักดันให้นักเรียนชาวนาได้เข้าถึงแหล่งวิชาการ และสามารถนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้ได้จริงในชีวิตชาวนาอย่างสอดคล้องกับการก้าวสู่เกษตรกรรมยั่งยืน


เชื้อราไตรโครเดอร์มานี้มีประโยชน์ต่อดินคือ ช่วยทำให้ดินดี และมีประโยชน์ต่อพืชผักคือช่วยเสริมให้ส่วนรากของพืชผักที่นักเรียนชาวนาปลูกในแปลงนั้นไม่เน่า เพื่อไม่ให้ประสบกับปัญหาเรื่องรากผักเน่าในดิน



ภาพที่ 41 ดร.วรรณวิไล อินทนู เป็นวิทยากรอธิบายเรื่องเชื้อราไตรโครเดอร์มา
ภาพที่ 42 เรียนรู้เพื่อทำความรู้จักกับเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่ใช้ในการเพาะเชื้อราไตรโครเดอร์มา

ตามปกติ เชื้อราโตรโครเดอร์มาเป็นเชื้อราที่เจริญได้ดีในดิน บริเวณเศษซากพืช ซากสิ่งมีชีวิตต่างๆ และวัสดุอินทรีย์ตามธรรมชาติ เชื้อรานี้สามารถใช้ควบคุมโรคพืช อันเกิดจากเชื้อราอื่นเป็นเหตุแห่งโรคพืชในดิน โรคพืชที่ว่านี้ ได้แก่ โรคโคนเน่า โรคเน่าระดับดินของต้นกล้า และโรคเหี่ยว


ดร.วรรณวิไล อินทนู ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมโรคพืชโดยชีววิธี ภาควิชาโรคพืช เป็นวิทยากรที่ให้ความรู้แก่นักเรียนชาวนา ได้อธิบายให้นักเรียนชาวนาว่า “การใช้เชื้อราไตรโครเดอร์มาชนิดสดสามารถควบคุมโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราในดินได้” ถ้าอย่างนั้นแล้ว นักเรียนชาวนาจงเรียนรู้เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ทั้งเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆที่ต้องจัดเตรียม อะไรในบ้านจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้บ้าง ? และที่สำคัญก็คือ จะเพาะเลี้ยงได้อย่างไร ?
การเพาะขยายเชื้อราไตรโครเดอร์มาอย่างง่ายๆ เพื่อให้นักเรียนชาวนาสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
(1) หุงปลายข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า โดยใช้ข้าว 3 ส่วน ต่อน้ำ 2 ส่วน จะได้ข้าวที่มีลักษณะกึ่งแข็งกึ่งนิ่ม
(2) ตักข้าวที่หุงสุกแล้ว ประมาณ 2 ทัพพี ใส่ในถุงพลาสติกที่ทนร้อนได้ ใน 1 ถุง จะได้ข้าว ประมาณ 250 กรัม ในขั้นตอนนี้มีข้อสังเกตและข้อพึ่งระวัง เรื่องการตักข้าว ให้ตักข้าวในขณะที่ยังร้อนอยู่ ทั้งนี้ก็เพื่อช่วยทำลายจุลินทรีย์อื่นๆจากอากาศที่อาจจะปนเปื้อนอยู่ในถุงข้าวด้วย นั่นก็จะส่งผลทำให้ไม่สามารถรักษาเชื้อสดที่ต้องการนี้ไว้ได้นานนัก
(3) กดข้าว (ที่อยู่ในถุงพลาสติกแล้ว) ให้แบน รีดเอาอากาศออกจากถุง ให้ถุงพลาสติกแนบกับข้าว เพื่อลดการเกิดหยดน้ำ (ในถุงพลาสติก) แล้วก็รอให้ข้าวอุ่นหรือเกือบเย็น จึงจะนำไปใส่หัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา)
(4) เหยาะหัวเชื้อ (ไตรโครเดอร์มา) 2 – 3 ครั้ง แล้วรัดยางตรงปากถุงให้แน่นก่อน เขย่าหรือบีบข้าวเบาๆ เพื่อให้ผงหัวเชื้อกระจายทั่วทั้งในถุง
(5) รวบถุงให้บริเวณปากถุงพองก่อน ใช้เข็มแหลมแทงบริเวณรอบๆปากถุงที่รัดยางเอาไว้
(6) กดข้าวในถุงให้แผ่กระจาย ดึงบริเวณตรงกลางถุงขึ้น เพื่อไม่ให้พลาสติกแนบติดกับข้าวและเพื่อให้มีอากาศใหม่เข้าไปภายในถุงอย่างพอเพียง ข้อระวังในขั้นตอนนี้คือ ไม่ควรวางถุงซ้อนทับกัน
(7) บ่มเชื้อทิ้งไว้เป็นระยะเวลา 2 วัน สถานที่ที่บ่มเชื้อต้องมีอากาศถ่ายเทสะดวกและปราศจากสัตว์เลี้ยง รวมถึงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่จะมารบกวนการแผ่เชื้อในถุง
(8) เชื้อชนิดสดที่ได้ ควรนำไปใช้ทันทีหรือเก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา มีอุณหภูมิอยู่ในช่วงระหว่าง 8 – 10 องศาเซลเซียส ข้อระวังในขั้นตอนนี้ก็จะเป็นเรื่องของการเก็บเชื้อที่ไม่ควรเก็บทิ้งไว้นานเป็นแรมเดือน
หลังจากที่นักเรียนชาวนาได้รู้จักและเรียนรู้วิธีการบ่มเชื้อไตรโครเดอร์มาไปแล้ว คราวนี้แหละ...จะเป็นเรื่องสนุกของนักเรียนชาวนาทุกคน จากความสนใจและความตั้งใจของนักเรียนชาวนาผสานกับเทคนิควิธีอย่างง่าย ก็ยิ่งทำให้เส้นทางสู่การก้าวไปให้ถึงเกษตรกรรมยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย


การบ่มเชื้อราไตรโครเดอร์มาโดยใช้ข้าวสุกนี้เป็นวิธีการที่ง่ายๆ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับนักเรียนชาวนา แถมยังสะดวก เพราะวัสดุอุปกรณ์แทบทุกอย่างก็อยู่ในครัวทั้งนั้น แต่ผลลัพธ์ที่ได้ ทุกคนต้องบอกว่าคุ้มเกินคุ้มค่าจริงๆ
คุ้มค่าต่อชีวิตของนักเรียนชาวนา โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี แต่อาศัยธรรมชาติเกื้อหนุนกัน ขอให้รู้จักและทำความเข้าใจกับเทคนิควิธีให้กระจ่าง



ภาพที่ 43 นักเรียนชาวนากำลังเรียนรู้วิธีการเพาะเชื้อราไตรโครเดอร์มา อย่างเอาจริงเอาจังจากวิทยากร
ภาพที่ 44 นักเรียนชาวผลงานการเพาะเชื้อราด้วยความภาคภูมิใจ ยิ้มพร้อมผลงาน

การนำเชื้อราไตรโครเดอร์มาไปใช้ในแปลงผักมีหลักการที่ว่า นำเชื้อราที่เพาะบ่มเอาไว้แล้วนั้นไปผสมกับปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักจึงกลายเป็นอาหารของเชื้อราไปด้วยในตัว เชื้อราจะแผ่เชื้อใน ปุ๋ยหมักไปด้วย จากนั้นจึงนำปุ๋ยหมักไปใส่ดินในแปลงผักตามปกติ ดินที่ได้รับทั้งปุ๋ยหมักและ เชื้อราไตรโครเดอร์มาก็ยิ่งทำให้ดินดีอุดมสมบูรณ์


รายงานตอนนี้ชี้ให้เห็นว่า หน่วยงานวิชาการมีคุณูปการยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียนชาวนา นักเรียนชาวนาต้องสามารถเข้าไปขอเรียนรู้และขอฝึกฝนวิธีการสมัยใหม่ จากสถาบันวิชาการ เอามาปรับใช้ให้เหมาะสมต่อสภาพความเป็นจริงของตน ผมขอแสดงความขอบคุณ ดร. วรรณวิไล อินทนู และ คลินิกสุขภาพพืช ภาควิชาโรคพืช มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ไว้ ณ ที่นี้ด้วย ที่จริงความสัมพันธ์ด้านความรู้ระหว่างสถาบันวิชาการ กับชาวบ้าน ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบที่ความรู้ไหลเวียนทางเดียว แต่ควรเป็นการไหลเวียนสองทาง คือไม่ใช่แค่นักวิชาการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้าน แต่ชาวบ้านก็มีความรู้ที่ตนสร้างขึ้นจากการลองผิดลองถูก เอามาส่งต่อให้นักวิชาการไปสร้างความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ต่อยอด เอากลับไปให้ชาวบ้านทดลองใช้ใหม่ หมุนเวียนเช่นนี้เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ หากสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นเน้นทำหน้าที่นี้ จะเกิดผลดีต่อสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง
วิจารณ์ พานิช
๕ มิ.ย. ๔๘

หมายเลขบันทึก: 500เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2005 02:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2015 11:28 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
เอก (ธนัญพัฒน์) วิโรจน์สกุลชัย

ขอบคุณมาก

ได้ความรู้มากๆ และยัง อยากรู้เพิ่มเติม ตั้งแต่ เบสิคครับ

โดยเฉพาะการปลูกถั่วฝักยาวพันธ์เส้น และ พริกซูเปอร์ฮอท ตั้งแต่เริ่มเลย

ช่วยแนะนำด้วยครับ

ขอบคุณมากๆ

เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท