สรุปเหตุการณ์และความเป็นมา กรณีการลอบสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ


คดีซึ่งมีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพล กำลังถูกเบี่ยงเบนให้กลายเป็นคดีทะเลาะวิาทที่ไม่สมเหตุสมผล

สรุปเหตุการณ์และความเป็นมา กรณีการลอบสังหาร พระสุพจน์ สุวโจ

รวบรวมและเรียบเรียงโดย กลุ่มพุทธทาสศึกษา

 

หลังจากพระภิกษุ กลุ่มพุทธทาสศึกษาซึ่งประกอบด้วย พระสุพจน์ สุวโจ พระมหากิตติ ธัมมปาโล พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ พระทวีศักดิ์ จิรธัมโม และพระมหาเชิดชัย กวิวํโส ได้โยกย้ายจากวัดธารน้ำไหล(สวนโมกขพลาราม) อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ มาจำพรรษาที่สถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม บ้านห้วยงูใน หมู่ ๕ ตำบลสันทราย อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ตามคำอาราธนาของพระอาจารย์สิงห์ทน นราสโภ(ดร.สิงห์ทน คำซาว) และนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ โดยความเห็นชอบของท่านเจ้าคุณโพธิรังสี รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ (ในขณะนั้น)เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม ตลอดจนเผยแผ่ศาสนา ตามแนวทางของท่านพุทธทาสภิกขุ และแนวปฏิบัติของสวนโมกขพลารามได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มถูกจับตาจากผู้ประสงค์ต่อที่ดินจำนวนกว่า ๑,๕๐๐ ไร่ ที่พระอาจารย์สิงห์ทนมอบให้อยู่ในความดูแลของสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้

ด้วยเหตุที่ที่ดินดังกล่าวเดิมถูกดร.สิงห์ทน คำซาว ซื้อมาแบบมือเปล่า ตั้งแต่ประมาณ พ..๒๕๒๓ จากชาวบ้านหลายราย และหลายครั้ง ซึ่งภายหลังออกหนังสือแสดงสิทธิ์ เป็นเอกสาร สปก ๔ ๐๑ ในนามคนงานและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเคยทำงานกับพระอาจารย์สิงห์ทน ครั้งยังมิได้อุปสมบทแทบทั้งสิ้น จึงเป็นที่หมายตาของผู้มีอิทธิพล ที่จะเข้ามาข่มขู่เพื่อบีบบังคับให้ชาวบ้านอนุญาตให้เข้าไปทำการเกษตรเชิงเดี่ยวขนาดใหญ่ได้โดยง่าย  นอกจากบริเวณที่จัดไว้เป็นเขตสังฆาวาสประมาณ ๗๕ ไร่เศษเท่านั้น ที่มีหนังสือแสดงสิทธิ์ นส.๓ ก. ในชื่อนายสิงห์ทน คำซาว

นับตั้งแต่ต้น ก็มีความพยายามจากผู้มีอิทธิพลและนักเลงอันธพาลในพื้นที่ ในการข่มขู่คุกคามทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้อยู่อาศัยในสถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรม มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจุดไฟเผาป่า ส่งคนมาลอบยิงปืนใกล้กุฏิพระ ส่งคนมาลักลอบตัดฟันต้นไม้และพืชสมุนไพร ที่ทางคณะสงฆ์พยายามปลูกไว้เพื่อฟื้นฟูสภาพป่า เป็นต้น

ในปี ๒๕๔๒ คณะสงฆ์ในสถานปฏิบัติธรรมจึงหารือร่วมกับเจ้าของที่ดิน เพื่อยกที่ดินจำนวน ๘๐๐ ไร่ ให้เป็นป่าชุมชน และแบ่งบางส่วนเป็นที่พักสงฆ์(ซึ่งเป็นพระในพื้นที่)ขึ้นอีกที่หนึ่ง เพื่อลดปริมาณการถือครอง ไม่ให้มีมากเกินไป แต่การคุกคามก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด

ในปี ๒๕๔๓ จึงได้จัดตั้งมูลนิธิ เมตตาธรรมรักษ์ขึ้น และได้รับใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ในวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๓ (ใบอนุญาตเลขที่ ก..๑๐๖๔ )โดยมี นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นายพิภพ ธงชัย นายอนันต์ วิริยพินิจ นายสุรสีห์ โกศลนาวิน เป็นกรรมการชุดแรก เพื่อให้สถานปฏิบัติธรรมอยู่ภายใต้การดูแลของทางมูลนิธิที่จดทะเบียนอย่างถูกต้อง

ในปี ๒๕๔๔ (โดยประมาณ) เจ้าของที่ดิน(พระสิงห์ทน นราสโภ) ได้มอบอำนาจในการจัดการที่ดิน การดูแลสถานปฏิบัติธรรม ตลอดจนผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ แก่พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มพุทธทาสศึกษาและตัวแทนคณะสงฆ์ที่จำพรรษาอยู่ที่นั่น โดยกำหนดไว้ชัดเจนว่า เพื่อให้ดูแลและจัดการให้เป็นไปโดยประโยชน์ของการเผยแผ่พระศาสนาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม อาจเป็นเพราะคณะสงฆ์และมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ได้มีกิจกรรมและดำเนินการไปอย่างมั่นคง จึงได้มีการกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลอย่างรุนแรงยิ่งขึ้น กลางปีนั้นเอง ได้มีนายทหารนอกราชการ เช่น รอ.ณรงค์ การสะสม สมาชิก อบต.ชื่อนายเพชร โพธารา นายตำรวจนอกราชการ(ไม่ทราบชื่อ) และผู้กว้างขวางในพื้นที่ เช่น นายมนู ส่างสุ นายป๊อก(น้องชายนักการเมืองระดับชาติ) นายแดง(น้องชายนางสุรางค์ สว่าง(ผู้ต้องหาคดียาเสพติดกว่าหนึ่งล้านสองแสนเม็ด ซึ่งต่อมาศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต) ได้ชักชวนให้กลุ่มคนจำนวนหนึ่ง มารุมทำร้าย นายไพบูลย์ เมืองสุวรรณ อดีตลูกศิษย์และผู้ดูแลสถานที่ของ พระสิงห์ทน นราสโภ และนายไซ คนงานเชื้อสายปะหล่องผู้อาศัยอยู่ในสวนเมตตาธรรม จนได้รับบาดเจ็บ ขณะเดียวกัน ก็มีการเรียกเก็บหนังสือแสดงสิทธิ์ สปก.-๐๑ จากชาวบ้านรอบๆ สถานปฏิบัติธรรม สวนเมตตาธรรมเพื่อดำเนินการจัดสรรที่ดินใหม่สปก. -๐๑ ขึ้นใหม่อีกด้วย

ปี ๒๕๔๕ คณะสงฆ์แห่งสถานปฏิบัติธรรมสวนเมตตาธรรมและเจ้าของที่ดิน ได้มอบหมายให้ พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ เป็นตัวแทนเพื่อแจ้งความดำเนินคดี ทั้งในกรณีการบุกรุกที่ดิน และการข่มขู่คุกคาม  ตลอดจนการลักทรัพย์ของสถานปฏิบัติธรรม แต่ไม่ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่แต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้มีอิทธิพล ได้แสดงความเหิมเกริมอย่างไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง ด้วยการลักทรัพย์ของสถานปฏิบัติธรรม เช่น เครื่องสูบน้ำ หรืองัดแงะกุฏิสงฆ์หลายครั้งหลายคราว กระทั่งในที่สุดก็บุกรุกเข้าตัดไม้แล้วแผ้วถาง เพื่อตัดแบ่งที่ดินบางส่วนประมาณ ๗๐-๘๐ ไร่ ในการดูแลของสถานปฏิบัติธรรม ขายที่ดินให้กับคนนอกพื้นที่ เพื่อให้ทำสวนส้ม ซึ่งระยะนั้นเริ่มเป็นที่สนใจ และมีการขยายพื้นที่ปลูกกันอย่างกว้างขวาง เป็นที่นิยมของนายทุนการเกษตรขนาดใหญ่แพร่หลายไปทั่วพื้นที่อำเภอฝาง

เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทนความรบเร้าจากคณะสงฆ์แห่งสถานปฏิบัติธรรมไม่ได้ จึงเข้ามาจับกุมคนลักลอบตัดไม้ไป ๑ ครั้ง แต่ทราบภายหลังว่ามีญาติของนักการเมืองระดับชาติ แสดงตัวข่มขู่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยผู้ต้องหา และคืนของกลางไป(หลังจากนั้นทราบภายหลังว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมก็ถูกย้ายออกจากพื้นที่ไป)

พร้อมๆ กันนั้น นายมนู ส่างสุ และ รอ.ณรงค์ การสะสม นายทหารนอกราชการ ก็เข้ามาข่มขู่พระกิตติศักดิ์ กิตติโสภโณ และพระสุพจน์ สุวโจ  ถึงในบริเวณกุฏิสงฆ์ ด้วยการกล่าวว่า ให้พระเลิกเกี่ยวข้องกับที่ดิน และให้ออกนอกพื้นที่เสียโดยเร็ว มิเช่นนั้นจะไม่รับรองความปลอดภัยพร้อมทั้งพยายามแสดงให้เห็นว่าตนมีอาวุธครบมือ พร้อมที่จะทำร้ายหรือเข่นฆ่าได้โดยง่าย โดยกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า ถึงแม้เป็นพระก็อย่าคิดว่าตนจะไม่กล้าทำอะไรรุนแรง

เมื่อพระกิตติศักดิ์เดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ก็ถูกบ่ายเบี่ยง ปฏิเสธความรับผิดชอบ คณะสงฆ์จึงเห็นพ้องกันให้ร้องเรียนต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ...ทักษิณ ชินวัตร ด้วยหนังสือเป็นลายลักขณ์อักษร ซึ่งต่อมา สำนักนายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตั้งกรรมการสอบสวน อันเป็นที่มาของการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และรับแจ้งความดำนินคดีในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายผู้มีอิทธิพล ยังมิได้เกรงกลัว กลับลักลอบเข้ามาตัดฟันไม้และจุดไฟเผาป่าในที่ดินซึ่งเป็นที่รกร้างไปกว่า ๒๐ ไร่ กระทั่งทางคณะสงฆ์ ต้องติดต่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ..ฝาง มาติดตั้งตู้แดงเป็นจุดตรวจ และส่งกำลังเจ้าหน้าที่มาตรวจตราในเขตสถานปฏิบัติธรรม แม้ว่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึงเดือนละ ๑,๕๐๐ บาท ก็ตาม

เหตุการณ์ดำเนินไปด้วยความตึงเครียดมากว่า ๓ ปี(๒๕๔๕-๒๕๔๘) ในที่สุด ประมาณ ๓ เดือนก่อนหน้านี้เอง ก็มีกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่ง บุกรุกเข้ามาไถเกรดปรับสภาพที่ดิน และพยายามจะปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ล่าสุด ในที่ดินเดิมที่ยังมีกรณีพิพาท

เมื่อชาวบ้านใกล้เคียงทราบข่าว ก็ได้แจ้งให้พระสุพจน์ สุวโจ ทราบ พระสุพจน์จึงได้ประสานงานไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ส่งเจ้าหน้าที่สายตรวจมาตรวจสอบในที่เกิดเหตุ ซึ่งต่อมาทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปห้ามปรามและตักเตือนคนขับรถไถ ตลอดจนคนดูแลการทำงาน พร้อมทั้งแนะนำให้คนเหล่านั้นมาขออนุญาตจากพระสุพจน์เสียก่อน

พร้อมๆ กันนั้น มูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ ก็อนุมัติให้ทางคณะสงฆ์ใช้งบประมาณของมูลนิธิ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ ตลอดจนขุดลอกสระน้ำ และจัดทำแนวทางเดิน รวมทั้งถนนในเขตสถานปฏิบัติธรรมทั้งหมด เพื่อเตรียมการณ์เคลื่อนย้ายสำนักงานมูลนิธิในส่วนกลาง มาเปิดสำนักงานใหม่ขึ้นในบริเวณสถานปฏิบัติธรรม ซึ่งกำหนดไว้โดยเบื้องต้น ว่าจะดำเนินงานต่างๆ อย่างเต็มรูปแบบ หลังการฉลอง ๑๐๐ ปีชาตกาลพุทธทาสภิกขุ ในปี ๒๕๔๙พ

อาจเป็นด้วยมูลนิธิเมตตาธรรมรักษ์ กลุ่มพุทธทาสศึกษา และกลุ่มเสขิยธรรม เริ่มมีการเตรียมการ มีการประสานงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจน มีการจัดกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มจะเปิดโครงการอื่นๆ  ตามมาอีก ทำให้ในที่สุด ก็คล้ายกับว่า ความตื่นตัวเหล่านั้นทำให้ผู้ประสงค์ร้าย ตัดสินใจลงมือสังหารพระสุพจน์ สุวโจ ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๔๘ (ไม่ทราบเวลาแน่ชัด)ในจุดเกิดเหตุซึ่งห่างจากกุฏิสงฆ์ออกมาไม่น้อยกว่า ๓๐๐ เมตร อันเป็นเขตอับสายตารู้เห็น ทั้งจากคนในสวนเมตตาธรรม และจากรถที่วิ่งผ่านไปมาบนถนนระหว่างหมู่บ้าน ด้วยอาวุธของมีคม ซึ่งเป็นที่มาของบาดแผลฉกรรจ์ และผลงานแสดงความโหดเหี้ยมของฆาตกร ด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของผู้ตายโดยแท้

ด้วยเหตุผลที่ว่ามาแล้วในเบื้องต้น การมรณภาพของ พระสุพจน์ สุวโจ จึงมีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องในหลายระดับ อีกทั้งโดยรูปการณ์ ก็น่าจะมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากประกอบไปด้วยอกุศลเจตนา และการวางแผน-เตรียมการทั้งทางตรงและทางอ้อม มาอย่างเป็นระบบ ด้วยความโหดร้ายอำมหิต ที่หากปล่อยไว้ก็อาจเป็นแบบอย่างกับผู้ร้ายรายอื่นๆ ต่อไปตลอดจนอาจส่งผลกระทบความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต-ทรัพย์สินของคนทั่วไปได้โดยง่าย เพราะหากกระทั่งพระภิกษุ ก็ยังสามารถกระทำทารุณกรรมได้อย่างไม่ละอายหรือเกรงกลัวต่อบาปแต่อย่างใดแล้ว

อย่างไรก็ตาม การมรณภาพของ พระสุพจน์ สุวโจ นั้น มิได้มีความหมายเพียงแค่ชีวิตและการตายของใครสักคนหนึ่งเพียงสถานเดียว หากยังส่อสะท้อนให้เห็นถึงความเข็มแข็งหรืออ่อนแอของภาครัฐ  ตลอดจนภาคประชาชน และประชาสังคมต่างๆ ทั้งในการติดตามดูแลรัฐ การปกป้องคุ้มครอง และ/หรือ การติดตามแก้ปัญหา การสอบสวน-ศึกษา ตลอดจน การแก้ไข ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนการดูแล-อำนวยความสะดวก ให้แก่ศาสนิกชน ในการแสวงหาสถานที่เพื่อศึกษาและปฏิบัติธรรม อย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญต่อไป

 

..............................

หมายเหตุ ข้อมูลสรุปเหตุการณ์ฉบับสมบูรณ์ จะนำมาเผยแพร่ในโอกาสต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 494เขียนเมื่อ 27 มิถุนายน 2005 01:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท