เมื่ออักษรเปลี่ยนใจ: กรณี ฏ, ต และ ป


คำศัพท์ในภาษาไทยที่มาจากภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีนั้นมีมาก คำเหล่านี้ เรามักเรียกว่า "คำยืม" ซึ่งเป็นศัพท์วิชาการ ที่เราแปลมาจากภาษาอังกฤษ "loan word" หรือ "borrowed word" ก็เรียก (แต่ไม่เห็นมีใครเรียกว่าคำกู้)

 

อันที่จริงไม่ได้ยืมอะไรหรอก แค่หยิบมาใช้ดื้อๆ และเมื่อนำมาใช้ ความหมาย รูปคำ หรือการออกเสียงย่อมแตกต่างไปจากภาษาเดิมบ้าง คล้ายบ้าง เหมือนบ้าง ฯลฯ

 

พยัญชนะไทยนั้นมีด้วยกัน 44 ตัว แต่บาลีมี 33 ตัว สันสกฤตมี 33/34 ตัว  ของไทยเรามีมากกว่า และยังสามารถใช้เขียนแทนพยัญชนะบาลีและสันสกฤตได้ทุกตัว ด้วยเหตุนี้ โดยหลักการแล้ว การนำคำศัพท์บาลีและสันสกฤตมาใช้ในภาษาไทย เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงรูปร่างอะไรเลย สามารถถ่ายทอดมาแบบตัวต่อตัวได้เลย

 

แต่ในความเป็นจริงมิใช่เช่นนั้น

 

อักษรบางตัวในภาษาสันสกฤตและภาษาบาลี เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย มักจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง โดยเฉพาะ อักษร ฏ ต และ ป   จะกลายเป็น ฎ ด และ บ ตามลำดับ

 

ตรัยปิฏก ในภาษาสันสกฤต กลายเป็น ไตรปิฎก (ใช้ ฎ ชฎา)

ตาปส ตารา ตุษฏิ เตช ปัตร     ไทยเราใช้  ดาบส ดารา  ดุษฎี เดช บัตร

 

อักษร ฎ ด บ ในภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีนั้นไม่มี

 

(หากไม่กลัวว่าจะสับสน ก็ขออธิบายเพิ่มเติมว่า แม้สันสกฤตไม่มีอักษร ฎ ด บ แต่มีเสียง ดอ และ บอ นั่นคือ อักษร ท และพ  เช่น ทารก สันสกฤตออกเสียงว่า ดาระกะ, พาลา สันสกฤต ออกเสียงว่า บาลา)

 

ผู้ที่ศึกษาคำสันสกฤตในภาษาไทย เมื่อพบคำที่สะกดด้วย ฏ ด บ ซึ่งไม่มีในภาษาสันสกฤต พึงทราบว่า เป็นการเปลี่ยนรูปมาจากศัพท์เดิม ไม่ทราบว่าเหตุผลเพื่ออะไร แต่เข้าใจว่า เพราะต้องการเสียงในแบบของเรา แทนที่จะออกเสียงตามรูปอักษรว่า ดวงตารา ก็เป็น ดวงดารา  หรือ  แทนที่จะใช้ สมตุล ก็ปรับมาเป็น สมดุล ดูเหมือนเสียงนุ่มนวลกว่า (ที่ว่านุ่มนวลกว่า ไพเราะกว่านี้ เป็นเรื่องของรสนิยม แต่ละคนย่อมคิดไม่เหมือนกัน คนลาวอาจจะเรียกชื่อผมว่า ทะ-วัด-ไซ เพราะเสียงนุ่มนวลกว่า ทะ-วัด-ไช ก็เป็นได้)

 

ยังมีคำศัพท์มากมาย ที่ใช้อักษร ฏ  ต  ป ในภาษาไทย เช่น ตรรกะ, ปรปักษ์,

 

นอกจากอักษร ฏ ต ป แล้ว ไม่ค่อยปรากฏอักษรอื่นที่เปลี่ยนไป  

 

อย่าลืมว่า มิใช่ทุกคำที่มีอักษร 3 ตัวนี้ แล้วจะต้องเปลี่ยนเป็น 3 ตัวนู้น  นั่นคือ ไม่มีกฎที่ชัดเจน  พูดแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ เอาแน่นอนไม่ได้ ว่าเมื่อไรจะเปลี่ยน ฏ เป็น ฎ หรือ ต เป็น ด ฯลฯ

 

นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เรานำศัพท์มาใช้ทั้งสองแบบ เช่น ปิตุลา บิตุลา, กุฏิ กุฎี, (ตาล)ปัตร, บัตร แต่คำศัพท์โดยทั่วไปมักจะมีแบบเดียว

 

สรุป คำศัพท์ภาษาสันสกฤต (และภาษาบาลี) เมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย “บางครั้ง”มีการเปลี่ยนอักษรบางตัว เช่น "ฏ ต ป" เป็น "ฏ ด บ"  ดังนั้น เมื่อต้องการค้นคำศัพท์เหล่านี้ในพจนานุกรม หรือศัพทานุกรมภาษาบาลีหรือภาษาสันสกฤต ก็อย่าลืม นึกไปถึงอักษรเดิม (คือ ฏ ต ป) เพราะภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ไม่มีอักษร ฎ ด และ บ  หาเท่าไรก็ไม่เจอ...

 

 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ฏ#ต#ป
หมายเลขบันทึก: 499732เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2012 09:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 05:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

- ชอบเรื่องภาษาที่ท่านเขียนมากเลยครับ

- เพราะมันเหมือนจะบอกเล่าลึก ๆ ว่า...

- เรามาได้อย่างไร...เราจะเป็นอะไรต่อไป...

- คล้าย ๆ แบบ ทฤษฎีวิวัฒนาการ (Evolution) ที่ผมเรียนมาเลยน่ะครับ

ชยพร   แอคะรัจน์

สวัสดีครับ อ.ชยพร แอคะรัจน์

ขอบพระคุณมากครับ

 

ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตเป็นภาษาที่มีการเติมเสียงเพื่อสร้างคำเป็นหลัก

ทำให้เห็น "วิวัฒนาการ" ได้ง่าย

ถอดชิ้นส่วนข้างนอกออกเรื่อยๆ

ก็เห็นแกนหลักข้างในสุดของมันครับ ;)

อักษรเปลี่ยนใจ...เปลี่ยนไป...ตามวิวัฒนาการ...นะคะ

ขอบคุณค่ะ


สวัสดีครับ อ.Somsri

เป็น 7-11 นะครับ แถมมีสินค้าหลากหลายกว่าด้วย ;)

 

...อักษร ฎ ด บ ในภาษาสันสกฤตและภาษาบาลีนั้นไม่มี...

I wonder if 'dana' (ทาน, ให้) or 'nidaana' (นิทาน) in Pali should 'more accurately' be ดะนะ (as in ดนุ/ทนุ~บำรุง).

We have a curious situation in Thai, the word 'บาล' (in Pali 'paala' means 'protect / guard') and the word 'พาล' (in Pali 'baala' means 'rogue / criminal') are really very different when 'spoken' in Thai and 'spoken in 'Pali' where they come from.

I can't think of an example with the letter 'ฎ'. One curious thing is Thai alphabet has a root in Buddhist Text (Pali) written in devagari script -- without this 'ฎ'--, so there must be Thai reasons for 'inventing ฎ' but what are Thai words with ฎ?

We use ฎ to write some 'Hindi' words eg. ชฎา [chada: (in cpds.) anything that covers; a veil. (m.)]. Can anyone tell us of other Thai words that spell with ฎ?

สวัสดีค่ะคุณครู

บันทึกนี้อ่านแล้วเข้าใจง่ายเชียวค่ะ แสดงว่าเริ่มมีพื้นฐานกับเขาบ้างแล้ว

ขอบคุณค่ะ  :)

 ทะ-วัด-ไซ เพราะเสียงนุ่มนวลกว่า ทะ-วัด-ไช 

ลองอ่านออกเสียงแล้ว เสียงนุ่มกว่าจริง ๆ ค่ะ อาจารย์ทะวัดไซ

:-)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท