เกษตรเวียดนาม (1-27)


เวียดนามเพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม (ประกาศเอกราชปี ค.ศ.1945 แต่เป็นที่ยอมรับในปี ค.ศ.1954) ยังต้องพัฒนาอีกมาก พันธุ์ข้าวและดินฟ้าอากาศของเขาสู้ไทยไม่ได้ จึงไม่กล้าตั้งเป้าหมายว่าจะเทียบเคียงกับไทย แต่ทุกปีจะมีการตั้งเป้าหมายการผลิตและพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยเทียบกับปีที่แล้ว และที่ผ่านมาก็ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี นั่นคือไม่แข่งขันกับใคร แต่แข่งขันกับตัวเอง!!!

     

     ผู้เขียนและคณะทำงาน พร้อมทั้งครูภูมิปัญญาไทย (ด้านเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่)  6 ท่าน ร่วมเดินทางกับ “ทัวร์เอเชีย” ไปดูงานด้านเกษตรกรรม เน้นที่การปลูกข้าวที่ จังหวัดเถื่อเทียน-เฮว้ (คนไทยออกเสียง "เว้") ซึ่งอยู่ในภาคกลางของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่าง 10-15 สิงหาคม 2555

 

     สองวันแรกของการเดินทางรู้สึกผิดหวังเล็กน้อยกับโปรแกรมทัวร์ เพราะเน้นหนักไปที่การช้อปปิ้งเป็นหลัก ซึ่งไม่ค่อยสอดคล้องกับนิสัยส่วนตัวที่ชอบของพื้นบ้านแปลกๆ มากกว่ากระเป๋า/เสื้อยืด/ของใช้เลียนแบบแบรนด์ดังๆ (ของปลอม) ของที่ระลึกซึ่งไปทุกที่ก็จะคล้ายๆ กัน แต่ราคาต่างกันหลายเท่า เป็นที่สนุกสนานตื่นเต้นและลับฝีมือ(ปาก) การต่อรองของแต่ละคน  การเดินทางโดยรถยนต์แม้จะเป็นรถทัวร์คันใหญ่ แต่ด้วยจำนวนคนที่มาก รวมกัน 4 คันรถ ทำให้ทุกอย่างชุลมุนวุ่นวาย ผู้เขียนรู้สึกเสียดายเวลา เพราะความตั้งใจในการไปครั้งนี้ ไม่ใช่การไปเที่ยว แต่ต้องการได้ศึกษาเรียนรู้ ดูงาน ด้านเกษตรกรรมของเวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามีความโดดเด่นในเรื่องการปลูกข้าว การพัฒนาพันธุ์ข้าว และการส่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ไม่ด้อยกว่าไทยซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกข้าวพันธุ์ดีที่สุดและส่งออกข้าวมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก

 

     อย่างไรก็ตามที การไปกันเป็นกลุ่มใหญ่ ซึ่งแตกต่างหลากหลาย มีลูกทัวร์ซึ่งมาจากทุกสาขาอาชีพ ทั้งนักวิชาการศึกษา นักวิชาการเกษตร ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าว ชมรมผู้ปลูกมะนาวบ้านแพ้ว  แม่บ้าน เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ทำให้ต้องยอมรับความต้องการของคนส่วนใหญ่ จะมัวแต่ “วิชาการ” อยู่คนเดียวก็กระไรอยู่ คิดได้ดังนั้น ก็เลยวางใจเลยตามเลย เขาพาไปไหนก็ไป (ทั้งที่ไม่ได้กำหนดไว้ในกำหนดการเดิม) ส่วนใหญ่ทัวร์เวียดนามก็ไม่ต่างจากทัวร์จีน นั่นคือการพาไปยังสถานที่คล้ายกับ Outlet ให้ฟังบรรยายถึงขั้นตอน กระบวนการ วิธีการผลิตและแนะนำสินค้า จากนั้นเชิญชวนให้ซื้อสินค้าราคาพิเศษ (แพงกว่าปกติ) ต่อรองราคากันได้ตามชอบใจ ขึ้นกับความสามารถส่วนตัว ส่วนใหญ่แล้วจะบอกราคาเกินจริงไว้ประมาณ 40-50% และจะเสนอลดราคา 30% ไว้โดยไม่ต้องต่อรอง

 

 

ร้านค้าในถนนคนเดินฮอยอัน เมืองมรดกโลกของเวียดนาม

 

      บันทึกไว้เล็กน้อยสำหรับเกร็ดความรู้ที่ ได้มาจากประสบการณ์จริงและการฟังบรรยายจากไกด์กิตติมศักดิ์ (ข้อมูลต่างๆ ทางวิชาการที่อ้างอิงได้นั้น มีอยู่มากมายทั้งในตำรา หนังสือ และอินเทอร์เน็ตแล้ว) ซึ่งจบปริญญาเอกจากประเทศในยุโรป (จำไม่ได้ว่าประเทศอะไร)  “ดร.ดิงวันเยือง” ซึ่งพูดภาษาไทยได้ชัดเจนและใช้ศัพท์แสลงต่างๆ ได้เป็นที่ถูกอกถูกใจของลูกทัวร์ชาวไทยอย่างยิ่ง ท่านเคยเป็นอาจารย์สอนวิชารัฐศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอแบค ในประเทศไทย 4 ปี เวียดนามมีพื้นที่รวม 331,689 ตารางกิโลเมตร (เล็กกว่าประเทศไทยซึ่งมีพื้นที่รวม 513,115 ตารางกิโลเมตร) แบ่งออกเป็น 58 จังหวัด และ 5 เทศบาลนคร  มีประชากรกว่า 89 ล้านคน ใช้ระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ มีประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำในการบริหารประเทศ มีเมืองหลวงคือ “ฮานอย” ใช้ภาษา “เวียดนาม” ในการสื่อสาร  ชาวเวียดนามมีบรรพบุรุษคือชาวจีน มีแนวคิด วัฒนธรรม และความเชื่อคล้ายชาวจีนในยุคก่อนการปฏิวัติ คือนับถือศาสนาพุทธ ลัทธิมหายาน (ปัจจุบันกว่า 80% ของคนเวียดนามไม่มีศาสนา)

 

 

การจราจรในตัวเมืองฮอยอัน
ใช้้จักรยานเป็นส่วนใหญ่ และเสียงแตรรถสนั่นเมือง

 

        วันที่ 13 สิงหาคม 2555 ได้ไปเยี่ยมดูงานที่ สำนักงานเกษตรจังหวัดเถื่อเทียน-เฮว้ มีท่านผู้อำนวยการเกษตรจังหวัดและผู้เกี่ยวข้องมาต้อนรับและให้ข้อมูล รวมทั้งตอบข้อซักถามของบรรดานักวิชาการและผู้สนใจอย่างเข้มข้น

 

     

สรุปสาระย่อๆไว้กันลืม (สำหรับตัวเอง) ดังนี้

 1. นโยบายของเวียดนาม ให้ความสำคัญ 3 เรื่องหลัก เรียงตามลำดับ คือ

1.1 ชลประทาน : เพราะรายได้หลักของเวียดนามคือ การขายข้าวและการท่องเที่ยว

1.2 คมนาคม : เส้นทางคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำทุกสายในเวียดนามสะดวกและมีสภาพดีเมื่อ เทียบกับประเทศข้างเคียง ทุก 20 กิโลเมตร จะมีสะพานเนื่องจากมีแม่น้ำจำนวนมากในเวียดนาม

1.3 วิทยาศาสตร์ : เวียดนามให้ความสำคัญกับการศึกษาและการคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์ เด็กเวียดนามได้รับรางวัลชนะเลิศการแข่งขันระดับโลกมากมาย

 

2. การเกษตร

จาก การตอบคำถามของผู้ไปศึกษาดูงานว่าเวียดนามตั้งเป้าหมายไว้อย่างไรกับการเป็น ผู้ส่งข้าวออกอันดับหนึ่งของโลก (ออกจะเป็นคำถามที่ชี้นำด้วยอคติเกินไปหน่อย...ฮาๆๆ) ผู้อำนวยการสำนักงานเกษตรจังหวัด ฯ ตอบอย่างถ่อมตัวและคมคายว่าเวียดนามเพิ่งฟื้นตัวจากสงคราม (ประกาศเอกราชปี ค.ศ.1945 แต่เป็นที่ยอมรับในปี ค.ศ.1954) ยังต้องพัฒนาอีกมาก พันธุ์ข้าวและดินฟ้าอากาศของเขาสู้ไทยไม่ได้ จึงไม่กล้าตั้งเป้าหมายว่าจะเทียบเคียงกับไทย แต่ทุกปีจะมีการตั้งเป้าหมายการผลิตและพัฒนาพันธุ์ข้าวโดยเทียบกับปีที่แล้ว และที่ผ่านมาก็ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทุกปี

นั่นคือไม่แข่งขันกับใคร แต่แข่งขันกับตัวเอง!!!


 

ทุ่งนาสาธิตทดลองพันธุ์ข้าว


      ช่วงที่เจ้าหน้าที่เกษตรด้านการปลูกข้าวของเวียดนามพาชมแปลงสาธิตทดลอง พันธุ์ข้าว เขาเล่าว่าในแต่ละปีจะมีการนำผลการพยากรณ์อากาศ ความชื้น ปริมาณน้ำ และแนะนำพันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับดินฟ้าอากาศให้แก่ชาวนาเพื่อปลูกในแต่ละปี เวียดนามปลูกข้าวเฉลี่ยปีละ 3 ครั้ง (บางพื้นที่ 2 ครั้ง บางพื้นที่ 4 ครั้ง) ผลผลิตข้าวประมาณ 880-980 กก./ไร่ (เทียบกับของไทย ประมาณ 430 กก./ไร่)  ไม่ว่าจะนั่งรถผ่านไปเส้นทางไหนในเฮว้ (คนไทยออกเสียงว่า "เว้") ไม่เคยเห็นที่ว่างหรือป่ารกร้าง แต่เป็นที่นาเขียวขจีปลูกข้าวทุกตารางนิ้ว เวียดนามใช้แรงงานคนและควายในการทำนา 70% อีก 30% ใช้แรงงานจากเครื่องยนต์ ไกด์เล่าว่าเป็นที่นาของเวียดนามน่าสงสารเพราะแทบไม่ได้พักเลย

         ประเด็นการบำรุงดินและการใช้ปุ๋ยของเวียดนาม (ขอบคุณอาจารย์.ธ.วััชชัยที่สอบถาม) เท่าที่สอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งพาชมพื้นที่นาสาธิต จะเป็นการใช้ปุ๋ยหมักชีวภาพ/ปุ๋ยคอกกว่า 70%  อีก 30% ใช้ปุ๋ยเคมี ผู้ให้ข้อมูลบอกอย่างถ่อมตัวว่าปุ๋ยเคมีทำให้มีต้นทุนสูง เกษตรกรจึงอาศัยปุ๋ยหมัก/ปุ๋ยชีวภาพที่หมักเอง ครูภูมิปัญญาไทยซึ่งเชี่ยวชาญด้านเกษตรชีวภาพที่เดินทางไปด้วย คือ คุณครูอินสอน สุริยงค์ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้และบอกว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังรณรงค์และพยายามลดการใช้ปุ๋ยเคมีและเพิ่มการใช้ปุ๋ยชีวภาพ เนื่องจากมีความปลอดภัยกว่า เรื่องการบำรุงดินนั้น ผู้เขียนอนุมานเองว่าการใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักชีวภาพก็เป็นการดูแลรักษาดินอยู่แล้วในตัว ในขณะที่เจ้าหน้าที่ตอบว่าดินของเวียดนามนั้นไม่มีโอกาสพัก เช่นเดียวกันกับเกษตรกร เพราะจะไม่มีการทิ้งที่ดินให้ว่างเว้นจากการทำประโยชน์เลย

           เมื่อถามถึง “ผักผลไม้” ไกด์บอกว่าผลไม้ส่วนใหญ่ของเวียดนามปลูกทางภาคเหนือ คือที่ลุ่มแม่น้ำแดง (เวียดนามมีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ 2 ตอน คือ ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง) ส่วนผักนั้นจะปลูกผักพื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ ผู้เขียนจึงเลิกแปลกใจ เพราะผักที่ขึ้นโต๊ะเกือบทุกมื้อคือ “ผักบุ้ง” และมีผักขมต้นเล็กๆ และผักปลังซึ่งมีก้านแดงๆ ด้วย รวมทั้งไข่เจียว (ที่แบนแฟบเพราะใช้น้ำมันน้อยมากในการทอด) รสชาติของอาหารเวียดนามที่ได้ลิ้มรสในร้านอาหารและภัตตาคารที่ทัวร์จัดให้ นั้น ต้องบอกว่าต่างกับอาหารเวียดนามในเมืองไทยมาก เพราะค่อนข้างจืดๆ ไม่ค่อยใช้น้ำมันในการปรุงอาหาร นับเป็นอาหารสุขภาพจริงๆ ผลไม้ที่ได้ลิ้มลองคือลำไย พุทรา เงาะ แตงโม ซึ่งจะจัดมาเป็นจำนวนชิ้นที่พอดีกับจำนวนคนในโต๊ะ ไม่ขาดไม่เกินและรสชาติรวมทั้งขนาดของผลไม้นั้นห่างไกลจากของไทยมาก (ไม่อร่อยและไม่สดเลย)

 

แกงจืดผักปลังใส่หมูสับ

 

          ผู้เขียนสอบถามถึงการยกย่องให้เกียรติกับผู้ทำคุณประโยชน์ในด้านการเกษตรของเวียดนาม เพราะของไทยมีการยกย่อง ครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรกรรม ปราชญ์เกษตร เกษตรกรดีเด่น ฯลฯ เขาตอบว่า สำหรับเวียดนามผู้ที่คิดค้นและทำคุณประโยชน์ให้ชาติโดยเฉพาะด้านเกษตรถือ เป็น “วีรชนด้านเกษตร” ซึ่งมีอยู่จำนวนหนึ่งในขณะนี้ มีการประกาศเกียรติคุณ ให้สิทธิพิเศษในการเดินทางไปเป็นวิทยากรบอกเล่าประสบการณ์ทั่วประเทศ แต่ไม่มีโล่หรือเงินรางวัลใดๆ เพราะถือว่าเป็นการปฏิบัติภารกิจเพื่อชาติ

 

          เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศสังคมนิยม พื้นที่ทุกตารางนิ้วเป็นของรัฐ แต่เดิมประชาชนทำนาเก็บเกี่ยวผลผลิตและขายแล้ว ต้องจ่าย “ภาษี” ให้แก่รัฐบาล ในปัจจุบันมีการจัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรเพื่อทำการเพาะปลูก โดยไม่เก็บภาษี (เพิ่งยกเลิกภาษีที่ดินเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว) การถือครองที่ดินได้ตามแรงงานที่ทำงานได้ และมีการจัดสรรกรรมสิทธิ์ที่ดินใหม่ทุก 5-10 ปี ตามความเหมาะสมในแต่ละท้องถิ่น นั่นคือมีสิทธิ์ครอบครองทำกินได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ส่งต่อเป็นมรดกให้รุ่นลูกหลาน

 

 

3. วัฒนธรรมและภาษา

ผู้เขียนเป็นลูกหลานจีน แม้จะเกิดในเมืองไทย แต่มีความคุ้นเคยกับวัฒนธรรมชาวจีนโพ้นทะเล สังเกตเห็นว่าความเป็นอยู่ของชาวเวียดนาม ไม่แตกต่างจากชาวจีนโพ้นทะเลในเมืองไทย นั่นคือเป็นครอบครัวขยาย นับถืออาวุโสในครอบครัว ไหว้เจ้า ใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหาร และมีการฝังศพในสุสานหรือที่เรียกว่า “ฮวงจุ้ย” และที่แปลกตาคือ ฮวงจุ้ยของชาวเวียดนามใหญ่โตสวยงาม และมีอยู่ทั่วไปในที่สาธารณะ นั่งรถผ่านไประหว่างทางจะเห็น “ฮวงจุ้ย” เรียงรายตามริมทางและใกล้ๆ กันนั้นก็เป็นที่นาและบ้านพักอาศัยที่อยู่กันอย่างกลมกลืนอีกด้วย (ซึ่งในประเทศไทย ฮวงจุ้ยของชาวจีนจะเป็นสถานที่เฉพาะไม่ค่อยอยู่ในที่สาธารณะเปิดเผย) นอกจากนี้ยังมีศาลเจ้าและวัดจีนซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวมากมายให้เห็น

 

สุสาน/ฮวงจุ้ยของชาวเวียดนามที่เห็นได้ทั่วไปในที่สาธารณะ

 

 

ธูปในศาลเจ้า ที่ห้อยแขวนไว้บนเพดานแทนการปักในกระถาง

 

        ในวันที่ลงพื้นที่เพื่อชมแปลงสาธิตการทดลองปลูกข้าว โชคดีที่ได้เห็นพิธี “ทำขวัญข้าว/ขอบคุณแม่โพสพ” หลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแรกของฤดูกาลด้วย ของเซ่นไหว้แม่โพสพ มีข้าว ขนมเส้น (คล้ายขนมจีน) ขนมปัง ไก่-ไข่ต้ม แกงจืด ผลไม้ เหล้า ขนมถั่วเคลือบสีต่างๆ ทั้งขาว ชมพู เหลือง คล้ายขนมจันอับบ้านเรา และที่ขาดไม่ได้คือ “บุหรี่” กลุ่มนักวิชาการเกษตรที่ไปด้วยบอกว่าบุหรี่เวียดนามแรง มีกลิ่นฉุนกว่าของไทยและราคาถูกมากด้วย

ข้าวปลาอาหารของเซ่นไหว้ในพิธีขอบคุณแม่โพสพ

 

         ชาวเวียดนามใช้ภาษา “เวียดนาม” ในการติดต่อสื่อสารและเป็นภาษาราชการ  ปี ค.ศ. 1920 วงการวิชาการเวียดนามได้ลงประชามติที่จะใช้ตัวอักษรโรมัน (quoc ngu) แทนตัวอักษรจีน (Chu Nom) ในการเขียนภาษาเวียดนาม (อุตส่าห์เรียนภาษาจีนขั้นต้น ใช้ไม่ได้ที่นี่เลย) ระหว่างนั่งอยู่บนรถจะเห็นป้ายคำว่า “Co'm” ซึ่งเป็นที่ตื่นตาตื่นใจว่าเวียดนามมีร้านคอมพิวเตอร์มากมาย ไกด์บอกว่าออกเสียงว่า “เกิม” แปลว่า “ข้าว” นั่นคือเป็นร้านอาหาร ไม่ใช่ร้านคอมพิวเตอร์ (ฮาๆๆ) นอกจากนี้เนื่องจากเคยอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสและมีสงครามกับทั้ง ฝรั่งเศสและอเมริกันนานเกือบ 20 ปี ชาวเวียดนามในภาคบริการจะใช้ภาษาอังกฤษได้ในระดับดี นอกจากภาษาไทยที่ใช้ต่อรองราคาของได้แล้ว ทุกที่จะสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษได้ด้วย

 

ป้ายด้านล่างซ้ายมือของภาพ "Co'm" คือ ร้านอาหาร

 

      ห้องน้ำในเวียดนามค่อนข้างไม่สะดวกและไม่สะอาดเหมือนบ้านเรา นอกจากนี้ยังหายาก ร้านค้าใหญ่โตอลังการ แต่เมื่อเข้าไปในห้องน้ำจะคล้ายห้องน้ำบ้านเราตามชนบทเมื่อ 20 ปีก่อนทั้งสภาพและกลิ่น...(ฮาๆๆ) มีเอกชนหัวใสทำห้องน้ำไว้ระหว่างจุดพักรถ เก็บค่าเข้าห้องน้ำคนละ 10 บาท สำหรับคนไทยซึ่งใช้ห้องน้ำฟรีและสะอาดตามปั้มต่างๆ พากันเสียดายเงินและบ่นอุบไปเลย

 

       ความจริงคือ การได้เห็นคนอื่นแล้วย้อนกลับมามองตนเอง ถือเป็น “กำไร” อย่างหนึ่ง ในตอนแรกผู้เขียนรู้สึกผิดหวังหลายเรื่องกับทัวร์เวียดนามครั้งนี้ แต่พอย้อนคิดว่าก็ดีเหมือนกัน เพราะอย่างน้อยก็ได้รู้ว่าตัวเองยังติดความสะดวกสบายและติดกรอบวิชาการมากเกินไป เกือบพะบู้กับผู้จัดทัวร์ เพราะโปรแกรมต่างไปจากที่กำหนดไว้  อากาศที่ร้อนอบอ้าวและการประหยัดไฟฟ้าของเวียดนามเป็นสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย(เวียดนามต้องซื้อไฟจากจีนเพราะผลิตกระแสไฟได้ไม่พอใช้ในประเทศ) แม้ลอบบี้โรงแรม 5 ดาว ก็ยังไม่มีการเปิดแอร์ ทุกคนเหงื่อตกหน้ามันด้วยความร้อน ภายในห้องพักไม่มีผ้านวม มีเพียงผ้าบางๆ เมื่อร้องขอ เขาก็ทำหน้างงๆ บอกด้วยเสียงห้วนๆ ว่าไม่หนาวหรอก ก็จริงดังเขาว่าล่ะ จะไปเปิดแอร์จนเย็นฉ่ำแล้วต้องหาผ้าหนาๆ มาห่มอีก ทำไมไม่เปิดแอร์พอเย็นๆ จะได้ไม่ต้องห่มผ้าหนาๆ ก็ได้นี่นา ...ฮาๆๆๆๆ

 

       และที่คิดว่าควรจะได้บันทึกไว้คือ บุคลิกภาพของคนเวียดนาม ผู้เขียนพบว่าคนเวียดนามถ่อมตัวและขยันมากถึงมากที่สุด ซึ่งคุณลักษณะเช่นนี้เชื่อได้ว่าในไม่ช้าเวียดนามจะกลายเป็นผู้นำที่เข้ม แข็งในภูมิภาคเอเชีย  ในฐานะคนไทยก็อดที่จะคิดต่อไปไม่ได้ว่า ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยจะเปิดหูเปิดตาเปิดใจ มองเพื่อนบ้านรอบๆ ตัว แล้วมองหาจุดที่ควรเร่งพัฒนาตัวเอง แทนการนั่งภูมิอกภูมิใจกับความเจริญก้าวหน้า (ทางวัตถุ) แบบกลวงๆ ในยุคทุนนิยมเช่นนี้.

จากซ้ายไปขวา : คุณรัตนา ข้าราชการจากสกศ., คุณครูบุญเกิด พิมพ์วรเมธากุล, ดร.ดิงวันเยือง,ผู้เขียน,คุณครูอินสอน สุริยงค์

หมายเลขบันทึก: 499295เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 18:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กันยายน 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

เป็นการ จัดการความรู้ คู่กับบริบท อย่างมากๆ เลยนะคะ ต้องยกความชาญฉลาด ให้เขาเลย

ขอบคุณบทความดีดีนี้นะคะ

เคยอ่านพบในหนังสือ และญาติเคยไปทำงานที่เวียดนาม เป็นประเทศที่พัฒนาได้ไม่ยาก วินัยดี ภาษาดี การศึกษาเข้มแข็ง ถ้าไม่ติดเรื่องภัยธรรมชาติ น่าจะแซงหน้าเราได้แน่นอน

ขอบคุณพี่Blank Somsri มากค่ะที่แวะมาอ่านบันทึกยาวๆ นี้

ความทุกข์ยากในสงครามทำให้คนเวียดนามมีคุณลักษณะที่อดทน มุ่งมั่น ขยันมากเลยค่ะ อยากให้คนไทยได้เห็นและได้ฉุกคิดถึงความโชคดีของเราค่ะ

 

สวัสดีค่ะอ.Blank ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

คณะที่ไปด้วยกัน และไกด์ก็กล่าวในทำนองเดียวกันกับอาจารย์กล่าวค่ะ ภาษาอังกฤษของเขาดีมากและใช้กันทั่วไป ในปีพ.ศ. 2558 เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้ว เวียดนามจะได้เปรียบมากเลยค่ะ 

สวัสดีครับ

ไปไม่กี่วัน ยังได้เรื่องราวมาเล่าเยอะ อย่างนี้น่าจะไปเที่ยวสักอาทิตย์สองอาทิตย์ อิๆๆ

 

เคยดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับประเทศเวียดนาม

น่าไปเที่ยว แต่ก็คิดเหมือนกันว่า ถ้าไปช้อปๆ คงไม่ชอบ

แต่จะไปโน่นนี่เราก็ไม่ค่อยรู้ที่รู้ทาง...

 

ได้ยินเรื่องปลูกข้าวว่าปลูกกันมาก สงสัยว่าเขาใช้ปุ๋ยหรือบำรุงดินกันอย่างไร

 

นึกถึงบ้านเรา พื้นที่ปลูกข้าวลดลงทุกทีๆ ตามทางหลวงต่างๆ เห็นชัดเลย

อีกปีสองปี ถ้ามีโอกาส ผมจะลองปลูกข้าวดูบ้างครับ ;)

 

ป.ล. พุทธา น่าจะเป็น พุทรา

- เทอมนี้ ผมได้สอนนักศึกษาเวียดนาม สามคนครับ...

- ขยัน เอาใจใส่ กล้าแสดงออกได้ดีครับ

- ภาษาอังกฤษปานกลางครับ

- บทความนี้ ดีมาก ๆ เลยครับ

ชยพร   แอคะรัจน์

สวัสดีค่ะคุณครู Blank ธ.วั ช ชั ย

แก้ไขคำผิดแล้วตามที่กรุณาบอกไว้ค่ะ นึกว่าครั้งนี้จะไม่ผิดแล้วเชียว... :)

อ่านคอมเม้นท์แล้ว เลยเพิ่มเติมเนื้อหาเรื่องการบำรุงดินและปุ๋ยเพิ่มเติมไว้ค่ะ

หากจะปลูกข้าวบอกด้วยนะคะ จะแนะนำคุณครูภูมิปัญญาไทยด้านเกษตรที่เชี่ยวชาญเรื่อง "ข้าวเกษตรอินทรีย์" ให้คุณครูได้รู้จักค่ะ

ขอบคุณค่ะ คราวนี้ตั้งใจว่าบันทึกทุกครั้งจะไปตามคุณครูมาตรวจ...เอ่อ...มาอ่าน จะได้ผิดน้อยลงๆๆๆ จนสักวันหนึ่งคงไม่มีที่ผิดนะคะ  :)

สวัสดีค่ะพี่ Blank ชยพร แอคะรัจน์

ขอบคุณที่แวะมาอ่านและให้ข้อมูลไว้ค่ะ

ตอนเขียนบันทึกนี้เสร็จก็คิดถึงอยู่สองสามท่านที่อยากให้มาอ่าน ซึ่งก็มาอ่านแล้วทั้งหมด  หนึ่งในนั้นคือพี่ค่ะ  :)

...ไกด์บอกว่าผลไม้ส่วนใหญ่ของเวียดนามปลูกทางภาคเหนือ คือที่ลุ่มแม่น้ำแดง (เวียดนามมีที่ราบลุ่มแม่น้ำขนาดใหญ่ 2 ตอน คือ ตอนเหนือเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง และตอนใต้เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง) ... I think that guide is not accurate. Others say the Mekong delta is THE main/major agricultural region. The point of contention is the climates and hence the different produce that may come in competition with Thailand's produce in the world markets.

เพียง ๙ ปี หลังฟื้นจากสงคราม เวียดนามไปไกลกว่าไทยเรา มากเลยนะครับ

คุณBlankหยั่งราก ฝากใบ

 

เกือบจะจีบสาวเวียตนามแล้ว ต้องกำลังเรียนปริญญาตรีที่นี้

สวัสดีค่ะคุณ Blank sr

ขอบคุณสำหรับข้อคิดเห็นที่น่าคิดค่ะ ทำให้คิดว่าควรเพิ่มเติมเนื้อหาอีกบางเรื่องไว้ในบันทึกนี้อีกสักหน่อยคือคุณภาพของข้าวและผลไม้ที่ได้ลิ้มรสในเวียดนาม ซึ่งเป็นประเด็นที่แปลกใจ ข้อมูลเท่าที่ทราบจากไกด์นั้น หลายเรื่องก็ไม่ตรงกับที่ได้รับรู้มาก่อน จึงบันทึกไว้ว่าเป็น "เกร็ดความรู้ที่ได้จากไกด์" เนื่องจากยังไม่มีเวลาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อมูลนั่นเอง

และข้อคิดเห็นของคุณ Blank sr ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามการไปดูงานแม้ในช่วงสั้นๆ ก็ทำให้เราได้มีประสบการณ์จริงจากตา หู สัมผัสของเราเอง ส่วนจะเชื่อหรือไม่มากน้อยเพียงใด คงต้องใช้วิจารณญาณต่อไป ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนาร่วมกัน เพราะส่วนตัวเชื่อว่าประชาคมโลกต้องร่วมมือกันเืพื่อให้โลกเดินไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่แข่งขันเอาชนะกัน...จริงไหมคะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณ Blank ครูอนันต์

ความทุกข์ยากลำบากมักมีสิ่งดีๆ เป็นผลตอบแทนเสมอ

เราอาจโชคดีที่ไม่เคยประสบกับสงครามที่ยาวนานและรุนแรงเช่นเวียดนาม แต่สิ่งที่เราอาจไม่โชคดีเท่าเขาคือ เราไม่รู้ถึงคุณค่าของโชคดีที่เรามีนะคะ 

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะพี่ Blank คนบ้านไกล

สาวเวียดนามส่วนใหญ่รูปร่างดีและผิวสวยค่ะ คงเพราะอาหารและการดูแลตัวเองอีกส่วนหนึ่งด้วย สาวเวียดนามจะรักษาผิวมาก ทั้งปลอกแขนกันแดด หมวกญวน ผ้าคลุมหน้า และที่ฮิตกันมาก ๆ คือ  mask ปิดปาก-จมูก ครั้งแรกก็ทึ่งว่าเขาช่างรักษาอนามัย ใช้ mask กันทั่วเมือง ไกด์บอกว่าเป็นวิธีหนึ่งในการกันแดดและฝุ่นค่ะ  :)

ดิฉันเป็นชาวนาได้ 3 เดือนแล้วคะ เราต้องตื่นตัวเร่งขยายพื้นที่ทำนาให่้มากขึ้น เลิกทะเลาะกันได้แล้วนคนไทย ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย ถ้าเก่งจริงลองทำให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษให้ได้ทั่วประเทศซิคะ ให้ชาวนาเป็นใหญ่ไม่ใช่พ่อค้าคนกลาง จะยอมยกนิ้วให้ และร่วมอุดมการณ์ด้วย

  • ในอาเซียนก็คงจะมีแต่เมืองไทยนี่แหละ
  • ที่ดูเหมือนจะพอใจในสิ่งที่มีอยู่  และ  เป็นอยู่
  • ย่ำอยู่กับที่ไปซะเกือบๆๆๆ ทุกเรื่อง
  • ขอบคุณที่นำสิ่งดี ๆ มาฝากนะจีะ

สวัสดีค่ะคุณ Blank อัจฉราวรรณ ภิบาล

ยินดีที่ได้รู้จักกระดูกสันหลังของชาติค่ะ

ส่วนตัวเห็นคุณค่าและเคยคิดจะชวนพี่ๆหลานๆไปทำนา แต่ไม่มีใครเห็นดีด้วย เพราะนอกจากไม่มีความรู้ความชำนาญแล้ว ก็ยังหนังบางกระดูกเปราะแพ้แดดแพ้หญ้า สรุปกินข้าวได้แต่ไม่มีปัญญาปลูกข้าวค่ะ

ขอบคุณที่มาเป็นแนวร่วมค่ะ :)

สวัสดีค่ะคุณBlank คุณมะเดื่อ

การพอใจในสิ่งที่มีที่เป็น เป็นคุณสมบัติที่ดี แต่ย่ำอยู่กับที่นี่ อาจไม่เหมาะกับยุคสมัยปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเป็นรายวินาทีค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาอ่านบันทึกยาวๆนี้ค่ะ  :)

เป็นบันทึกที่ละเอียดให้ความรู้มาก ทั้งเกร็ดเล็ก ๆ บรรยายได้อ่านเหมือนผู้อ่านอยู่ในเหตุการณ์ มีความรู้เกี่ยวกับเวียดนาม มากขึ้น โชคดีที่ได้แวะมาอ่าน หากมีโอกาสไปเที่ยว จะได้รู้ว่า ร้าน อาหาร การบริการห้องน้ำ ...ผมอ่านเหมือนได้นั่งดู T.V. ...สวัสดีครับ

ขอบพระคุณ อ.Blank แว่นธรรมทอง ค่ะ

เป็นบันทึกที่ยาวมากสำหรับตัวเองที่ได้เขียนมาค่ะ ส่วนตัวชอบอ่านเรื่องสั้นๆ กระชับๆ จึงตั้งใจจะไม่เขียนยาวๆ แต่จะสกัดเฉพาะสาระ แต่บันทึกนี้ไม่มีเวลาสกัดสาระ เลยใส่ไปตามใจคิดค่ะ

ดีใจที่อาจารย์ชอบค่ะ 

ขอบคุณค่ะที่ได้อ่านเรื่องราวจากการไปเที่ยวศึกษาดูงานที่เวียดนาม คือว่าดิฉันกำลังจะไปดูงานในวันที่ 26 มีนา นี้ อ่านแล้วทำให้ได้รู้จักเวียดนามก่อนเข้าประเทศเขาได้มากที่เดี่๋ยว  ซึ่งดิฉันเป็นสมาชิสภาเกษตรกรจังหวัดพนครศรีอยุธยา และเป็นเกษตรกรที่ทำนาอยู่ประมาณ 60 กว่าไร่ คิดว่าน่าจะได้ความรู้แปลกๆใหม่ๆที่ เวียดนามบ้าง  ขอบคุณค่ะ


พอดีพึ่งได้เข้ามาอ่านครับ...สนใจเรื่องข้าวเวียดนามอยู่เหมือนกัน พอดีว่าตอนนี้ทำงานอยู่เวียดนามครับ ทางตอนใต้ของฮานอย ที่ไทยบิ่น ความเป็นอยู่ของคนที่นี่ค่อนข้างจะเรียบง่าย ประชาชนส่วนใหญ่จะทำนา เพราะพื่นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาหมดมีคลองส่งน้ำอยู่ทั่วตลอดทุกนา พอดีมีโอกาศได้เห็นกรรมวิธีทำนาของคนเวียดนามที่ค่อนข้างจะแตกต่างกับคนไทยเป็นอย่างมาก ที่บอกว่าแตกต่างเพราะบ้านผมก็ทำนาเหมือนกัน เริ่มตั้งแต่การเตรียมกล้าเลยที่เวียดนามเค้าจะเพาะกล้าบนแปลง ทำเหมือนแปลงผักบนที่ดอน รดน้ำให้ชุ่ม หว่านเมล็ดข้าว แล้วคลุมด้วยพลาสติกใส ทำเป็นกระโจม แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้กล้าโต แต่ละบ้านจะเห็นทำไว้ บ้านละสาม สี่กระโจม ช่วงนี้เค้าจะปล่อยน้ำเข้ามาเต็มแปลงนาก็จะจัดการ กระบวนการไถแปลเตรียมดินไว้ เค้าจะเพาะกล้าไม่นานประมาณ15-20 วันก็นำไปปักดำแล้ว เค้าดำในขณะที่กล้ายังเล็ก วิธีการดำนาเค้าจะใช้เชือกขึงแนว แล้วดำตามเชือก เค้าจะดำถี่มาก หลังจากปักดำเสร็จประมาณหนึ่งอาทิตย์ก็จะใส่ปุ๋ย เท่าที่สังเกต จากการนั่งรถผ่านทุกวัน เค้าใช้น่าจะเป็นปุ๋ยคอก เผลอแป๊บเดียวมาสังเกตอีกที ข้าวโตแล้ว สูงเลยหัวเข่าแล้ว โตเร็วมาก ถ้าเปรียบกับเมืองไทย ปลูกแบบนี้น่าจะโตเร็วกว่า ฟื้นตัวได้เร็วกว่า เพราะการปลูกข้าวของชาวนาไทย แค่เพาะกล้าก็ใช้เวลาเกือบสองเดือนละกว่าจะถอนมาปลูกอีก กว่าข้าวจะตั้งตัวได้อีก ในขณะที่เวียดนามปลูกข้าวตอนยังเล็ก มีเวลาในการตั้งตัวนานกว่า กว่าจะออกรวง ข้าวที่นี่ยอมรับเลย ชาวนาเค้าเอาใจใส่มาก ลงแปลงนาทุกวัน ในแปลงนาจะไม่มีต้นหญ้าเลย แล้วเค้าจะใช้พลาสติกใส ล้อมรอบแปลงนาทุกแปลง อันนี้ล้อมเพื่ออะไรก็ไม่ทราบเหมือนกัน แต่เมล็ดข้าวที่นี่จะสั้นป้อมๆไม่เหมือยที่บ้านเรา มาอยู่ที่นี่ได้เห็นเค้าปลูกข้าวสองรอบแล้ว เกี่ยวเสร็จประมาณครึ่งเดือนก็จะปลูกต่เลย พื้นที่ว่างตามหน้าบ้าน เล็กๆน้อยๆก็จะเต็มไปด้วยผักต่างๆ ไม่มีพื้นที่ว่างเลย แม้กระทั่งที่สาธารณะ อย่างเกาะกลางถนน ก็เต็มไปด้วยผัก พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นนากะน้ำ ตรงไหนว่างนิดหน่อยก็จะมีแต่ผักเต็มไปหมด ผักตระกูลกะหล่ำที่นี่จะปลูกได้ดีมาก อากาศหนาวนาน ฝนก็ดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท