รู้จักกันที่gotoknow...........เชื่อมต่อบนรอยที่ขาดหาย


มีมหาวิทยาลัยชาวบ้านเป็นที่ฝึกงาน

  ตามที่บอกแล้วว่าสถานีอนามัยนั้น ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชนบทลึกๆ บางครั้งยังไม่มีไฟฟ้า ถนนเป็นดินลูกรัง มีรถโดยสารเข้าเมืองวันละเที่ยว ไปแต่เช้าตรู่ กลับถึงบ้านเย็นพอดี ต่อให้แต่งตัวสวยงามขนาดไหนเมื่อโดยสารด้วยรถเที่ยวนี้ เราก็เหมือนหนุมานคลุกฝุ่น เพราะไม่ใช่รถแอร์ ทุกหน้าต่างเปิดระบายลม หรือรับฝุ่นด้วยก็ไม่รู้ ตัวเราจะถูกเกาะไปด้วยละอองดินสีแดง สีตามพื้นถนนระยะเวลานานนับหลายชั่วโมงเพราะรถวิ่งได้ช้า ต้องรับคนตลอดเส้นทาง และถนนก็เต็มไปด้วยหลุ่มบ่อ

 เวลามีคนไข้ที่ต้องส่งเข้าโรงพยาบาลจังหวัด ผู้เขียนก็อาศัยรถโดยสารคันนี้ และนั่งไปกับเขาด้วย

 ด้วยความที่สถานีอนามัยตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่จังหวัดชลบุรีที่ผู้เขียนรับราชการครั้งแรก มีผลงานดูแลรักคนไข้จำนวนมาก และอยู่ห่างไกลเมืองสุดๆ ในปีพ.ศ.2524 คุณหมอสุจินต์ ผลากรกุล ท่านเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลชลบุรี ได้เห็นความสำคัญของพื้นที่นี้ และริเริ่มโครงการ พอ.สว.ทางอากาศขึ้น ประกอบกับช่วงนั้น คุณหมอบุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ ปัจจุบัน เป็นนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดราชบุรี ท่านเป็นแพทย์อินเทิร์น มาฝึกงานที่นี่ แล้วเกิดประทับใจเห็นว่าพื้นที่อย่างนี้ น่าจะต้องมีการดูแลเป็นพิเศษ จึงรายงานให้อาจารย์หมอสุจินต์ทราบ และเกิดโครงการนี้ขึ้น

 รูปแบบ พอ.สว.ทางอากาศก็คือ จะมีโรงพยาบาลชลบุรีเป็นแม่ข่าย สถานีอนามัยเป็นลูกข่ายสื่อสารโดยการใช้ วิทยุที่ตั้งเสาสูงมากเป็นของ พอ.สว.   เมื่อมีปัญหาก็สามารถขอคำปรึกษาไปยังแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการได้24ชั่วโมง จะมีวิทยุติดตามตัวแพทย์อาสาสมัครทุกคน และมียาแยกเฉพาะที่ใช้เฉพาะแพทย์สั่งด้วย การสื่อสารนั้นดีมาก ไม่ต้องกลัวสัญญาณไม่มีเหมือนโทรศัพท์ในปัจจุบัน ไม่เสียเงิน และเมื่อทุกคนทำด้วยใจอาสา ความสมบูรณ์ของงานที่ออกมาจึงสำเร็จสวยงามทุกเคสไป บางค่ำคืนผู้เขียนรับคนไข้หนักตามลำพัง แต่ก็รู้สึกมั่นใจ เพราะมีอาจารย์หมอหลายท่าน พร้อมให้คำปรึกษาทันที เพียงเราต้องตรวจคนไข้ให้ละเอียด แล้วรายงานให้ครบถ้วน   ผู้เขียนและเพื่อนมีความสุขกับโครงการนี้มาก ทำอยู่หลายปี จนสถานีอนามัยยุบลง เพราะมีงบประมาณมาสร้างโรงพยาบาลชุมชน ในเวลานั้นมีผู้ใหญ่จากกระทรวงลงมาดูก็หลายครั้ง นับเป็นการร่วมพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้กับหลายๆฝ่ายได้ดี ที่สุดชาวบ้านนั้นแหละโชคดีที่สุด

  นึกถึงคราวใดก็มีความสุขใจ การได้ทำงานร่วมกันตามโครงการ พอ.สว.ทางอากาศนี้ และการที่มีแพทย์พร้อมทีมเยี่ยมบ้าน ทีมห้องผ่าตัด เภสัช ลงมาปฏิบัติงานทุกวันอังคารที่สถานีอนามัย เป็นสิ่งที่ควรบันทึกจดจำ และทำได้อย่างไรก็ไม่รู้ ผู้เขียนมองว่า ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญ ให้การสนับสนุนทุกอย่าง ผู้น้อยมีจิตอาสานั่นเอง และที่คนพื้นที่อย่างผู้เขียนปลื้มใจมากๆก็คือ ทุกคนที่มาดูมีความสุข ตั้งใจและสอนงานคนอนามัยไปด้วย เป็นการได้รับความรู้เหมือนได้เรียนต่อเพิ่มเติม โดยมีมหาวิทยาลัยชาวบ้านเป็นที่ฝึกงาน

 อีกเรื่องหนึ่ง ที่อาจารย์หมอสุจินต์ ผลากรกุล ได้จัดการให้หมออนามัยมีสุขเพิ่มขึ้น ด้วยการซ่อมแซมบ้านพักที่เก่าโกโรโกโส่ให้ทั้งหมด ติดมุ้งลวด เปลี่ยนบานหน้าต่าง ต่อระบบนำ้ใช้ภายในบ้าน ทาสี ผู้เขียนและเพื่อนเลยเหมือนได้บ้านใหม่ไปเลย ท่านบอกว่าเจ้าหน้าที่ยังอยู่ไม่มีความสุขเลย แล้วจะให้ไปดูแลความทุกสุขของชาวบ้านได้อย่างไร ซึ่งความคิดนี้ต่อมาเมื่อผู้เขียนได้เป็นผู้บริหาร ก็นำมาใช้เป็นอันดับแรกๆ

 รอยต่อที่จางๆระหว่างหน่วยงานสาธารณสุขที่เราต้องเชื่อมโยงกัน ได้กลายเป็นรอยหมายสำคัญชัดเจน จนใครๆก็มองเห็น และสามารถเติมรอยต่อแต่ละจุดให้ชัดได้ทุกร่องรอยไป สถานการณ์วันนั้นกับวันนี้ ยังมีหลายเรื่องที่นำมาปัดฝุ่นกันใหม่ได้ ขอให้บันทึกนี้ ได้เก็บเรื่องราวสำคัญที่ชาวสาธารณสุขจะได้เอาไปปรับปรุงใช้ได้บ้าง เป็นความตั้งใจของผู้เขียนอย่างแท้จริงค่ะ

หมายเลขบันทึก: 499181เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2012 08:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 สิงหาคม 2012 18:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสกดีค่ะคุณเอก จตุพร การมีโครงการ พอ.สว.ทางอากาศ ช่วยให้สถานีอนามัยรู้สึกอุ่นใจขึ้นมาก ทั้งเป็นการช่วยเหลือคนไข้ได้ทันท่วงที และทุกวันอังคารก็มีแพทย์จากโรงพยาบาลชลบุรีลงมาตรวจคนไข้ด้วย คล้ายๆกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพทุกวันนี้ แต่ทำไมบรรยากาศมันไม่เหมือนก็ไม่รู้ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ อ.นุ

ขอบคุณนะคะที่ยังติดตามอ่านเรื่องของหมออนามัยเรื่อยมา ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นชนบทไทยเรายังลำบากอยู่มาก ยิ่งยามเจ็บป่วยยิ่งเป็นแัญหาใหญ่ ดูจะเดือดร้อนไปทั้งหมู่บ้าน บางทีพากันขึ้นรถไปส่งคนไข้ที่โรงพยาบาล หมอรับตัวไว้และให้ญาติๆกลับบ้าน ปรากฏว่ารถคว่ำขณะเดินทางกลับ เสียชีวิต พิการก็มีค่ะ ไม่รู้จะบอกว่าอะไรดี

สวัสดีค่ะคุณนงรัตน์ ครั้งแรกที่ออกไปอยู่ในชนบทโอกาสเรียนต่อน้อยมาก เพราะการเดินทางก็ไกล เคยลงเรียนที่ ม.รามคำแหง ได้ สองเทอม ก็หมดแรง เพราะกลับบ้านต้องโบกรถเข้าหมู่บ้าน เกือบสามทุ่ม รู้สึกว่าอันตรายมาก เลยเลิกเรียน แล้วก็มุ่งทำงานอย่างเดียว แต่โครงการ พอ.สว.ทางอากาศนี้ อาจารย์หมอหลายท่านได้ให้ความรู้มากมาย จนไม่รู้สึกว่าตัวเองด้อยโอกาสเลยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นาง นางนาท พี่คะ เวลาหน่วยมาที่สถานีอนามัยคุณหมอจะให้เกียรติหมออนามัยมาก โดยการให้พวกหนูเป็นคนตรวจ และถ้าสงสัยอาการให้คุณหมอตรวจซ้ำ หรือบางทีคุณหมอตรวจพบอาการผิดปกติ แล้วให้พวกหนูตรวจซ้ำว่าได้ผลเหมือนกันไหม แบบนี้ ทำให้หนูมีความชำนาญมากขึ้น และเพราะหนูเองก็เพิ่งจบมาด้วยค่ะ เป็นโอกาที่ดีเหลือเกินค่ะพี่

สวัสดีค่ะคุณทิมดาบ อ่านบันทึกนี้แล้วคล้ายๆปัจจุบันเหมือนกัน ที่มีนโยบายเอาแพทย์ พยาบาลลงไปช่วยตรวจรักษาคนไข้ แต่อย่างที่บอกว่าบรรยากาศมันไม่ใช่ น้องทิมดาบช่วยวิเคราะห์หน่อยนะคะ

สวัสดีค่ะคุณคนบ้านไกล ขอบคุณนะคะที่ติดตามอ่านบันทึก สังเกตได้ว่า คนปฏิบัติธรรมมักอารมณ์ดี จริงนะคะ เพราะคุณคนบ้านไกลมีบันทึก ฮา ฮา เสมอเลย ช่วยทำให้หมออนามัยรู้สึกแจ่มใสตามไปด้วยค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ ธ.วั ช ชั ย

ขอบคุณนะคะที่กรุณามามอบดอกไม้กำลังใจให้ สถานีอนามัยวันนั้น มาจนถึงวันนี้ ก็ได้รับการพัฒนาไปมาก แต่ความพิเศษของอนามัยก็ยังคงอยู่นะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท