KM Workshop วพบ.สระบุรี (๓)


แม้ดู VCD เรื่องเดียวกัน แต่ละกลุ่มก็สามารถดึงประเด็นสำคัญๆ ที่ไม่เหมือนกันและช่วยเสริมเติมเต็มให้ความเข้าใจสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันอาทิตย์ที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๙

เราเริ่มการประชุมตั้งแต่ ๐๘.๐๐ น. คุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณนำผู้เข้าประชุมออกกำลังกายในท่าของภาคอิสาน “เพิ่มพลังยามเช้า”

หลังจากนั้น ๐๘.๓๐-๑๐.๐๐ น. เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้หน้าห้อง คุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณช่วยกันเป็น “คุณอำนวย” มี “คุณกิจ” ๕ คนตามที่มอบหมายไว้ตั้งแต่เมื่อวานนี้ ดิฉันขอให้อาจารย์ปิ่นนเรศทำหน้าที่ “คุณลิขิต” (อาจารย์ปิ่นนเรศกระซิบภายหลังว่าทำหน้าที่ “คุณลิขิต” ก็ยากเหมือนกัน) จากเรื่องเล่า ๕ เรื่อง สกัดขุมความรู้ได้จำนวนหนึ่ง นำมาจัดหมวดหมู่และสังเคราะห์เป็น “แก่นความรู้” ได้ ๒ เรื่องคือใช้ทรัพยากรที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และจัดการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เราขออาสาสมัคร ๑๐ คนแบ่งกลุ่มละ ๕ คนช่วยกันสร้างเกณฑ์ระดับความสำเร็จ ซึ่งใช้เวลานานจนถึง ๑๑.๐๐ น. กว่าจะออกมาได้

๑๑.๐๐-๑๑.๓๐ น. เราเปิด VCD คุณค่าและมูลค่าของปัญญาปฏิบัติ บทเรียนจาก รพ.บ้านตาก ให้ชม หลังจากนั้นพัก-รับประทานอาหารกลางวัน

๑๒.๓๐-๑๓.๓๐ น. แบ่งกลุ่มย่อย ๕ กลุ่มตามเดิม ช่วยกันวิเคราะห์ว่าจากที่ดู VCD ไปนั้น KM คืออะไร จะทำ KM ให้ได้ดี ต้องทำอย่างไรบ้าง แล้วให้แต่ละกลุ่มมานำเสนอ กิจกรรมนี้ช่วยตรวจทานความเข้าใจเรื่อง KM กันอีกครั้งและได้ผลดีเกินความคาดหมาย แม้ดู VCD เรื่องเดียวกัน แต่ละกลุ่มก็สามารถดึงประเด็นสำคัญๆ ที่ไม่เหมือนกันและช่วยเสริมเติมเต็มให้ความเข้าใจสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เช่น KM ไม่ได้แยกจากงาน เป็นการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคน เป็นวิธีเรียนทางลัด ได้ทั้งความรู้ได้ทั้งใจ ฯลฯ

ช่วยกันคิดว่า KM คืออะไร

จะทำ KM ให้ได้ดี ต้องทำอย่างไรบ้าง

เมื่อตรวจทานความเข้าใจเรื่อง KM กันแล้ว ก็ถึงเวลามาช่วยกันวางแผนขับเคลื่อน KM ของ วพบ.สระบุรี ซึ่งอาจารย์ประกริตและอาจารย์พนิตนาฏคงจะช่วยกันนำไปดำเนินการต่อ ข้อเสนอที่น่าสนใจจะได้รับรางวัลเป็นหนังสือเกี่ยวกับการจัดการความรู้ (เพื่อให้เอาไปศึกษาและนำมา share ต่อไป) อาทิ
- ภารกิจมี 4 ด้าน ต้องหาสิ่งที่ดีในแต่ละด้านออกมาก่อน ถ้ากลุ่มใหญ่จะจับจุดยาก ควรตั้งกลุ่มตามภารกิจไม่ใช่กลุ่มงานที่ได้รับตามโครงสร้างที่แบ่งงาน
- การสอดแทรกในการทำงาน ปกติมีแผนงานทุกไตรมาสน่าจะเอางานที่ผ่านมาใน 1 ไตรมาสที่ประสบความสำเร็จ มา sharing เพื่อให้ทุกคนรับทราบโดยทั่วกัน เกิดบรรยากาศที่ดี
- น่าจะมีกระดานข่าวหรือบอร์ดที่จะสื่อสารทุกวันหรือใครจะเขียนเรื่องเล่า ไม่ต้องเป็นทางการก็ได้
- ในการที่จะขับเคลื่อนวิทยาลัยไปสู่ความสำเร็จ ตอนนี้อาจเริ่มที่อาจารย์ แต่ถ้ามองไปที่ป้าคนงาน นักศึกษา ก็น่าจะนำแนวคิดนี้ไปสู่สโมสรนักศึกษา ให้นักศึกษาได้มีความคิดพัฒนา เช่น ในการให้เขาถ่ายทอดระหว่างสโมสรกลุ่มเก่า กลุ่มใหม่  หรือป้าคนงานที่มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในการถูพื้นให้สะอาดเอามาแลกเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติ


ต่อจากนั้นเป็น AAR เราขอให้ผู้ที่ยังไม่ได้พูดในห้องประชุมใหญ่ได้แสดงความรู้สึก และอยากได้ยินใครพูดก็ให้ส่งต่อไปเรื่อยๆ เหมือน snowball sampling โดยให้ท่านผู้อำนวยการได้พูดเป็นคนสุดท้าย (อ่านบันทึกตอนต่อไป)

ก่อนปิดการประชุมชาว วพบ.สระบุรี ได้มอบผ้าไทยเป็นของที่ระลึกให้แก่ดิฉันและทีมงาน อาจารย์สุรางค์นำกระหรี่ปั๊ปขึ้นชื่อมาฝาก อาจารย์พนิตนาฏขับรถนำทางพาเราไปซื้อไส้กรอกและห่อหมกหน่อไม้ร้านที่ดิฉันติดใจ พร้อมบอกเส้นทางที่จะพาเราออกจากสระบุรีกลับสู่กรุงเทพ ระหว่างทางเราสามคนคุยกันในรถ คิดปรับกิจกรรมสำหรับ workshop ครั้งต่อไป

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 49838เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 10:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 15:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท