เตรียมเบิกจ่ายล่วงหน้าสำนักงบฯ พยุง ศก. ชาติ


เตรียมเบิกจ่ายล่วงหน้าสำนักงบฯ พยุง ศก. ชาติ
สำนักงบประมาณตื่นจัดสัมมนานัดแนะกับรัฐวิสาหกิจเตรียมพร้อมรับมือใช้จ่ายงบประมาณปี 49 ไปก่อน ไม่เกิน 3 ใน 4 เพื่อให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง  ปฏิบัติภารกิจต่อเนื่อง  จะได้ไม่กระทบเศรษฐกิจและประเทศโดยรวม เผยข้อจำกัดเวลายังทำให้งบประมาณปี 50-51 ต้องทำไปพร้อมกันแต่แยกส่วน    สศค. ระบุงบปี 50 ขาดดุลแต่อยู่ในกรอบความยั่งยืนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ไปพลางก่อนตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 โดยอ้างว่า    วันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ยังไม่แน่นอน ซึ่งมีผลทำให้พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ประกาศใช้ไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2549 อันเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 นั้นนายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวในการสัมมนาเรื่อง การใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ไปพลางก่อนและการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550” ว่า วานนี้ (11 ก.ย.) ที่อาคารอิมแพ็คคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี         สำนักงบประมาณได้จัดให้มีการสัมมนา เพื่อให้ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ มีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานได้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวอย่างถูกต้อง รวมทั้งเตรียมการในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่สาระสำคัญของหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549      ไปพลางก่อน เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณที่อนุญาตไว้ให้ฝ่ายบริหารสามารถใช้จ่ายเงินแผ่นดินได้ในกรณีที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีออกบังคับใช้ไม่ทันปีงบประมาณ  ทั้งนี้ เพื่อให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งสามารถปฏิบัติภารกิจในการให้บริการสาธารณะ (Public Service) แก่ประชาชนและประเทศชาติได้อย่างต่อเนื่อง  โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายได้ไม่เกินสามในสี่ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2549 ตามประมาณการระยะเวลาที่คาดว่าจะต้องใช้ในการจัดทำและการพิจารณาอนุมัติร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ของรัฐสภา และมีเงื่อนไขว่า เมื่อพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 ออกใช้บังคับแล้ว ให้ถือว่างบประมาณรายจ่ายที่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐได้จ่ายไปพลางก่อนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และให้หักออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่ได้รับตามพระราชบัญญัติดังกล่าว   ในส่วนของการเตรียมการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 นั้น เนื่องจากระยะเวลาที่มีอยู่ค่อนข้างจำกัดในทุกขั้นตอนของกระบวนการงบประมาณ การประชุมสัมมนาครั้งนี้จึงมุ่งเน้นซักซ้อมแนวทางการทำงานล่วงหน้าระหว่างสำนักงบประมาณกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความพร้อมในการจัดทำคำของบประมาณปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 เฉพาะโครงการรายการที่สำคัญ จำเป็น และมีลำดับความเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งการเตรียมการเพื่อให้เกิดความพร้อมและสามารถรองรับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ   "ระยะเวลาในการจัดทำงบประมาณของปีงบประมาณ พ.ศ. 2550-2551 ใกล้กันมากจนเกือบจะซ้อนทับกัน สำนักงบประมาณจึงมีแนวทางที่จะจัดทำงบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 และ 2551 ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์    ในด้านเวลา โดยการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีจะเสนอแยกฉบับของแต่ละปี เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง" นายวุฒิพันธุ์กล่าวนอกจากนี้ เพื่อให้กระบวนการงบประมาณสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงบประมาณก็จะร่วมกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ จัดทำประมาณการค่าใช้จ่ายล่วงหน้าระยะปานกลาง   เพื่อให้ทราบภาระในการใช้จ่ายที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องดำเนินงาน ให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารงานภาครัฐ ที่จะต้องให้บริการแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง และมีความสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10นายพงศ์นคร  โภชากรณ์   เศรษฐกร 5  สศค. กล่าวว่า สศค. ได้ประมาณการการจัดทำงบประมาณขาดดุลในปี 2550 เอาไว้ว่า ถ้าคิดที่งบประมาณสมดุล 1.4 ล้านล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าขยายตัวได้ 3.9% ต่อปี  แต่หากทำงบประมาณขาดดุล 1.5 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4% และหากทำงบขาดดุล 1.55 แสนล้านบาท ก็จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ถึง 4.2%   อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณขาดดุล จะทำให้ประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นด้วย แต่ไม่น่าจะเกิน 2% ของจีดีพี โดยหากทำงบสมดุล คาดว่าจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.2% จีดีพี ถ้าทำงบประมาณขาดดุล 1.5 แสนล้านบาท จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.3% จีดีพี   และหากทำงบประมาณขาดดุล 1.55 แสนล้านบาท จะทำให้ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.7% จีดีพีเท่านั้น       ส่วนผลกระทบต่อหนี้สาธารณะจะมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะยังอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังที่กำหนดว่า ไม่เกิน 50% ของจีดีพี

ผู้จัดการรายวัน  12  ก.ย.  49

คำสำคัญ (Tags): #งบประมาณ
หมายเลขบันทึก: 49823เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 07:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท