ความหลัง-ความหวัง ตอนที่1*


ในฐานะที่อาวุโส(แก่)ที่สุดในคณะนิติศาสตร์ ผมถูกขอร้องกึ่งบังคับให้เขียนถึงความหลัง ตั้งแต่แรกเข้ามาเป็นนักศึกษาจนกระทั่งฟ้าลิขิตให้มาเป็นครู จากวันนั้นถึงวันนี้นับเป็เวลา40ปี ผมจึงจำเป็นต้องใช้วิธีย่อความเพื่อประหยัดหน้ากระดาษ

จำได้ว่าเมื่อจบมัธยม8(ม.6ปัจจุบัน)ผมเจาะจงตั้งใจเลือกสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งๆที่บ้านอยู่ใกล้สามย่านแต่สู้อุตส่าห์ไปเรียนไกลถึงท่าพระจันทร์ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยสมัยนั้น คนแข่งขันมีน้อยกว่าสมัยนี้ ใช้ระบบสอบรวม ใครอยากเรียนอะไรก็ต้องเลือกคณะและมหาวิทยาลัยก่อน จึงไปสอบทำคะแนน นักเรียนท่องหนังสือกันหัวโต เพราะวิธีการสอบเก็บคะแนนยังไม่มีใครคิด ล้าสมัยอยู่นานหลายศตวรรษ เมื่อผมสอบเข้าคณะนิติศาสตร์ได้สมใจนึก ก็อยู่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งบัดนี้กำลังจะต้องจากไป ผมอยู่ด้วยความกตัญญูเพราะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีบุญคุณมอบทุนให้ไปเรียนต่อต่างประเทศ เมื่อเรียนจบกลับมายังรับเข้าเป็นอาจารย์ประจำ ผมจึงรู้สึกผูกพันกับคณะฯเป็นพิเศษ ใครเอาสเต็กมาแลกก็ไม่ยอมไปไหน

พ.ศ.2507 ผู้สอบเข้าธรรมศาสตร์ได้ ต้องผ่านการเรียนวิชาพื้นฐานทั่วไปที่คณะศิลปศาสตร์เป็นเวลา1ปี การแบ่งชั้นเรียนใช้คะแนนภาษาอังกฤษตอนสอบเข้าเป็นเกณฑ์แต่ละห้องจึงมีนักศึกษาคณะต่างๆเรียนด้วยกัน ถึงแม้ว่าต้องแยกย้ายไปตามคณะที่ตนสังกัดเมื่อขึ้นปี2 แต่ก็ยังติดต่อกับเพื่อนต่างคณะเสมอ บรรยากาศในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงอบอุ่น แต่ถ้ามีใครออกมาเอ็กเซอร์ไซส์ก็จะร้อนระอุเป็นครั้งคราว

ศาสตราจารย์ ดร.อดุลย์ วิเชียรเจริญ ผู้ก่อตั้งคณะศิลปศาสตร์ ท่านสอนวิชาปรัชญาด้วย โดยมีเจตนาให้นักศึกษาเข้าใจโลกในหลายๆด้าน รู้จักใช้สติปัญญาตั้งคำถาม หาตำตอบ รู้จักตัวเองและเข้าใจผู้อื่น นักศึกษาบางคนไม่เข้าใจว่าปี1 จะเรียนรวมกันไปทำไม วิชาที่ให้เรียนก็ไม่้ห็นจะเกี่ยวกับคณะที่ตนเลือกเข้ามาเรียนเลย แต่ผลดีกลับตามมามากมายในภายหน้า

"ต้นโพธิ์"คือสิ่งที่ใครๆในธรรมศาสตร์ต้องรู้จัก ผมและเพื่อนๆรุ่นพี่รุ่นน้องจากหลายคณะถ้าไม่มีชั่วโมงเรียนมักจะรวมกันอยู่แถวลานโพธิ์ โดยใช้พื้นที่ส่วนที่ติดกับบันไดทางขึ้นห้องธุรการคณะศิลปศาสตร์เป็นที่เตะลูกบอลเล็กๆสีแดง เตะกันไปเตะกันมาให้เข้าโกล์ ซึ่งกว้างประมาณ2ฟุต สูง1ฟุต เราช่วยกันออกเงินซื้อตาข่ายมาทำกันเอง เป็นเกมที่สนุก ไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิด เตะกันอยู่4ปีทุกวัน เว้นวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดราชการ ใครเตะจนเหนื่อยหรือเบื่อก็ออกไปนั่งพักที่บันได ในที่สุดบันไดก็ถูกยึดเป็นที่สังสรรค์โดยปริยาย คนที่ผ่านไปผ่านมาแถวนั้นเรียกเราว่า"พวกกะได"

ทางซ้ายมือของบันไดจะมีสวนหย่อมขนาดย่อม ตรงกลางสวนมีรูปปั้นคน ท่าทางที่แสดงออกบอกอาการครุ่นคิดคงแก่เรียน แต่ไม่รู้ว่าใครชื่ออะไร พวกกะไดเรียกกันว่า"อนุสาวรีย์จิ๊งหน่อง" จิ๊งหน่องกับพวกะไดเห็นหน้ากันทุกวันจึงสนิทกัน

เพื่อนๆกะไดมีประเพณีที่ทำติดต่อกันมาจนวันสุดท้ายของการศึกษา คือ ถ้าใครเรียนดีนัก เพียงแค่สอบได้4ใน5วิชาที่ลงเรียน เพื่อนๆจะแสดงอาการชื่นชมโดยจับโยนลงไปในทางน้ำเล็กๆ รอบๆอนุสาวรีย์จิ๊งหน่อง ผู้ที่ถูกจับโยนบ่อยๆไม่ได้สังกัดคณะนิติศาสตร์ เท่าที่จำได้มี    ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน


*ที่มาจากหนังสือ70ปี นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 49816เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2006 01:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท