ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๒๑.บันทึกตามัว (๕) สุขในวิเวก


 


          วันอาทิตย์ที่ ๑๕ ก.ค. ๕๕วันที่ ๑๑ อาการตามัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย  เป็นความท้าทายให้ผมทำใจให้สงบในท่ามกลางวิกฤตความเจ็บป่วย   ซึ่งตลอดเวลา ๑๐ วันที่ผ่านมา ผมสบายใจ และนอนหลับดีด้วยความหวังว่าการนอนพักจะช่วยให้เลือดหยุด   และอาการตามัวดีขึ้น   แต่เมื่อไปตรวจซ้ำในวันที่ ๙ ก.ค. พบว่าตามัวเพิ่มขึ้น และเลือดยังคงออกเพิ่มต่อเนื่อง    และตรวจเองในเช้าวันนี้ พบว่าตามัวเพิ่มขึ้น

 

          เมื่อวันที่ ๖ ก.ค. อ. หมอจุฑาไล ถามว่าจะให้สั่งยากล่อมประสาทไหม    ผมตอบว่าไม่ต้อง    และกลับมาบ้านสาวน้อยชวนกินยากล่อมประสาทหลายครั้ง    ผมก็ตอบว่าไม่จำเป็น เพราะผมนอนหลับดี และจิตใจโปร่งโล่งดี   โดยผมก็แปลกใจเหมือนกันว่า จิตใจของผมนิ่งกว่าที่คิดไว้    ทำให้ดีใจว่า การฝึกปฏิบัติด้านจิตใจในชีวิตประจำวันมาโดยตลอดในหลายปีหลังนี้ คงจะให้อานิสงส์

 

          ผมติดใจธรรมบรรยายชุด จากจิตวิทยา สู่จิตภาวนามาก เช้านี้จึงฟังสลับกับฟังหนังสือนวนิยายเรื่อง Pride and Prejudice   ตอนฟังนิยายเรื่องนี้ ก็คิดถึงนิยายของดอกไม้สด ที่ผมอ่านสมัยหนุ่มๆ    ก็เป็นเรื่องรักของคนหนุ่มสาวในวงสังคมชั้นสูง    ทำให้ผมสงสัยว่า ดอกไม้สดอาจได้แรงบันดาลใจ หรือตัวอย่างจากนวนิยายของฝรั่งเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ ก็ได้ 

 

          การฟังธรรมบรรยาย โดยพระธรรมคุณาภรณ์ ช่วยให้ผมทำความเข้าใจภาคปริยัติ ของภาวนา ว่าแปลว่าพัฒนา หรือการเจริญ   ผมกำลังฟังเรื่อง กรรมฐาน ๔๐  และทำความเข้าใจกรรมฐานในชีวิตประจำวันของฆราวาส    ที่ใช้ได้โดยไม่ต้องมีพิธีกรรม หรือเลือกสถานที่   ที่ผมตั้งหน้าฝึกตนเองมาตลอดชีวิต   โดยมุ่งฝึกให้ตนเองมีจิตที่แน่วแน่อยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน   ผมได้เรียนรู้ว่า การฝึกเช่นนี้ เรียกว่า จิตภาวนา เพื่อให้เกิดสมาธิ

 

          ผมสังเกตว่า ธรรมชาติในตัวผมโน้มน้าวให้ชอบวิเวก คือความสงบเย็น ไม่วุ่นวาย   ไม่ชอบบรรยากาศหรูหรา วุ่นวาย อึกทึก   ดังนั้นเวลาไปในงานที่เน้นความเอิกเกริก เสียงดัง คนมาก ผมจะรู้สึกไม่สบาย   และจะพยายามจำกัดเวลาที่ตนเองต้องอยู่ในสภาพนั้น

 

          สัปปายะ (บรรยากาศที่ให้ความสบาย) ของผมคือสวน ทุ่งนา สนามหญ้า ป่า เขา   ยิ่งมีเสียงสัตว์ เช่นแมลง กบเขียด นก ยิ่งให้สัปปายะแก่ผม    ดังระหว่างนอนฟังธรรมบรรยายอยู่นี้ มีเสียงแมลง กบเขียด และนกแทรกอยู่ตลอดเวลา    ได้ทั้งปัญญา และสุนทรียะในธรรมชาติของที่พำนักสงฆ์สายใจธรรม  เขาสำโรงดงยาง  อ. พนมสารคาม  จ. ฉะเชิงเทรา   ผมเดาว่าผมได้พื้นฐานนี้จากการเป็นเด็กบ้านนอกอยู่ ๑๕ ปี

 

          ผมฟังเรื่องกรรมฐาน ๔๐ ตามลิ้งค์ที่ให้ไว้    พบว่าธรรมบรรยายที่ค้นได้ใน iPadยังไม่จบ   จึงค้นใหม่ พบ เว็บไซต์พลังจิต นี้ เป็นอีกแหล่งหนึ่งของ ธรรมะ ออนไลน์   แต่เมื่อผมดูใน MacBook Air ก็พบว่าธรรมบรรยายตอนต่อๆ ไปยังมีอยู่ในเว็บของวัดญาณเวศกวันตามที่ลิ้งค์ไว้ให้   ผมจึงได้เรียนรู้ข้อจำกัดของ iPadอีกอย่างหนึ่ง    ต่อไปนี้ผมจึงฟังธรรมบรรยายชุดนี้จาก MacBook Air แต่ก็พบว่า การฟังจาก MacBook Air ไม่สะดวก มันหยุดเป็นระยะๆ ต้องกลับเข้าไปใหม่ และต้องหาจุดที่ฟังไปแล้วจนถึงจุดที่มันหยุดไป

 

          ในที่สุดผมก็พบว่า ฟังด้วย iPadจาก เว็บไซต์ วัดญาณเวศกวัน ที่นี่ดีที่สุด สะดวกที่สุด    โดยต้องจิ้มที่แผงควบคุมที่อยู่ซ้ายมือ ให้มันเลื่อนมาที่ตอนล่างๆ    วันนี้ผมฟังธรรมบรรยายนี้เป็นส่วนใหญ่


          วันจันทร์ที่ ๑๖ ก.ค. ๕๕ วันที่ ๑๒ ของอาการตามัว   ทั้งผมและสาวน้อยเตรียมตัวไปอยู่โรงพยาบาล   หากหมอจับอยู่ก็อยู่เลย   เพราะอาการของผมยิ่งมากขึ้นอย่างชัดเจน    และปวดตาขวาเล็กน้อย เป็นบ่อยขึ้นมาก    ”เลขา” เพิ่งกลับบ้านเมื่อวานหลังจากไปทำงานเสีย ๑ สัปดาห์เต็มเมื่อทราบว่าอาการของผมมากขึ้นก็บอกว่าพร้อมแล้วที่จะไปนอนเฝ้าที่โรงพยาบาลและไปลง Facebook ว่า เตรียมไปนอนเฝ้าที่โรงพยาบาล ครั้งที่ ๕   คือเขาเป็นคนที่ไม่มีงานประจำ    จึงจัดเวลาช่วยเฝ้าคนในครอบครัวที่เข้าโรงพยาบาลได้    ตอนนี้หนังสือแปลของ เลขา ออกตลาด ๓ เล่ม พร้อมๆ กัน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๖ ก.ค. ๕๕

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 498062เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 13:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 สิงหาคม 2012 04:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เก็บภาพช่อลีลาวดีจากสวนหน้าบ้านมาฝากค...ขอเป็นกำลังใจค่ะ..

 

พีรพัฒน์ โกศลศักดิ์สกุล

พักผ่อนมากๆ นะครับ ฝากภาพวิวแม่น้ำจากเมืองเพิร์ท สกอตแลนต์ และดอกคามิเลีย สวนบอทานิกการ์เดน เอดเดนบะระ มาด้วยครับ

พีรพัฒน์ โกศลศักดิ์สกุล

ดอกคามีเลีย

ดอกกล้วยไม้ เมืองเหนือ ปลูกที่หน้าบ้าน ขอมอบแด่อาจารย์

ขอให้คุณพระ คุ้มครองท่านอาจารย์ให้หายไวไวนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท