ปีเกิดปีหมูกลายเป็นปีช้าง : เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชากับชุมชนที่วัดห้วยส้ม


เมื่อวันอาสาฬหบูชา ขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ ที่ผ่านมา ผมได้ไปเวียนเทียนที่วัดห้วยส้มซึ่งอยู่ข้างบ้าน ในวิถีวัฒนธรรมชาวบ้านล้านนานั้น วิธีคิดและกระบวนการปฏิบัติต่างๆในกิจกรรมประเพณีทางศาสนา หลายอย่างจะมีรายละเอียดที่แตกต่างจากภาคกลางและภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งก็มักจะมีหลักคิดและความลึกซึ้งต่อการมองโลกและความเป็นจริงของสรรพชีวิต สอดแทรกให้เข้าถึงได้อยู่เบื้องหลังของวิธีปฏิบัติต่างๆเหล่านั้นด้วย

การจัดวัดมีสภาพที่เรียบง่าย สงบ ให้บรรยากาศทางสติปัญญาและมีพลังความงอกงามสว่างไสว ชาวบ้านจะมีธรรมเนียมการแต่งกายในงานอย่างนี้ด้วยชุดขาว ในทุกกิจกรรมจะให้ผู้ชายอยู่ข้างหน้า ทั้งการนั่งในโบสถ์ การเดินเวียนเทียน และนำการริเริ่มกิจกรรมต่างๆ

กิจกรรมการเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชา ประกอบด้วยกิจกรรมต่างๆ ๓-๔ กิจกรรม คือ

  • กราบพระและบูชาพระรัตนตรัย 
  • ทำวัตรสวดมนต์ 
  • นั่งกรรมฐาน 
  • จากนั้นก็จัดขบวนออกไปเดินเวียนเทียนร่วมกันรอบโบสถ์ ๓ รอบแล้วจึงกลับเข้าไปในโบสถ์อีกครั้ง 
  • อนุโมทนาบุญ แผ่เมตตา และกราบพระ 

ทั้งหมดใช้เวลาประมาณไม่ทันถึง ๒ ชั่วโมง ผู้ร่วมงานกำลังพอเหมาะ ไม่จอแจ โดยมากอยู่ในวัยทำงานและมากันเป็นครอบครัว มีกลุ่มผู้สูงอายุบ้างเล็กน้อย

การเดินเวียนเทียน ตั้งขบวนโดยให้พระสงฆ์นำหน้า ตามด้วยกลุ่มผู้ชาย แล้วจึงเป็นกลุ่มผู้หญิง เดินปทักษิณาวนขวาพร้อมกับจุดเทียนและสวดบูชาพระพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ โดยบทอิติปิโส บทสวากขาโต และบทสุปฏิปันโณ สำหรับบทอิติปิโสนั้น เนื่องจากเป็นบทสรรเสริญและบูชาพระพุทธคุณ ดังนั้น เมื่อครบรอบที่ประตูหน้าโบสถ์ ก็จะมีการหยุดและหันหน้าไหว้นมัสการองค์พระพุทธรูปในโบสถ์

เมื่อเดินสวดมนต์และทำปทักษิณาบูชาคุณพระรัตนตรัยแล้ว ก็วนไปหยุดเสร็จสิ้นการเวียนเทียนที่พระธาตุและพระเจดีย์ด้านหลังพระอุโบสถ ชาวบ้านต่างก็แยกย้ายกันไปปักเทียนและวางดอกไม้บูชาไว้ตรวงฐานโดยรอบเจดีย์ ซึ่งแต่เดิมนั้น ผมไปเข้าใจว่าวางกันไปตามอัธยาศัยให้รอบๆพระเจดีย์และพระธาตุ เลยวางและตั้งเทียนลงไปตรงส่วนที่ว่าง แต่ภรรยาได้เดินมากระซิบบอกว่าเขาเดินวางกันตามปีเกิด ให้หารูปปั้นสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ปีเกิดแล้วจึงค่อยวาง

เมื่อได้ทราบแล้ว ผมจึงเพิ่งได้สังเกตชาวบ้านและผู้มาร่วมงาน ว่ามีการเดินไปเดินมากันอยู่พอสมควร ไม่ได้มุ่งตั้งเทียนและวางดอกไม้บูชาตรงไหนก็ได้ตามฐานของเจดีย์และพระธาตุ ผมเกิดปีกุน จึงต้องเดินหารูปปั้นหมูตามฐานเจดีย์ แต่หาอย่างไรก็ไม่เจอ ทั้งๆที่ตำแหน่งที่คิดว่าจะใช่ ซึ่งอยู่ระหว่างรูปไก่ สุนัข และรูปหนู ก็ยังไม่สามารถเห็นรูปหมูตรงตำแหน่งที่น่าจะเป็นปีกุนอีก มีแต่รูปปั้นช้าง

แต่ในที่สุดก็ได้ทราบอีกว่าทางล้านนาไม่ได้เรียกชื่อปีอย่างภาคกลาง อย่างปีกุนอันเป็นปีเกิดของผมนั้น เขาเรียกปีไก๊ และสัญลักษณ์ของปีเกิดก็ไม่ใช่หมู แต่เป็นช้าง มีพระธาตุประจำปีเกิดอยู่ที่ดอยตุง.

หมายเลขบันทึก: 497616เขียนเมื่อ 8 สิงหาคม 2012 09:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะอาจารย์

อ่านและชมภาพแล้ว

อิ่มตามไปด้วยเลยค่ะ

  • สรุปว่าอาจารย์เกิดปีช้างใช่ไหม
  • 555

สวัสดีครับคุณณัฐรดาครับ
ได้ภาพบรรยากาศมาอย่างจำกัดมากเลยครับ เพราะงานดูเรียบร้อย เงียบสงบ เลยต้องนั่งอยู่กับที่และใช้วิธีชูมือบ้าง วางกล้องลงกับพื้นบ้าง ไม่กล้าเดินและเคลื่อนไหวมากให้เป็นที่ทำลายความเป็นสมาธิของผู้ร่วมงาน มีความสุขมากๆนะครับ

เพิ่งรู้นะครับเนี่ยอาจารย์ดร.ขจิตครับ เข้าท่าดีเหมือนกัน เพราะตอนนี้หุ่นชักกำลังเป็นหมู พอมีสัญลักษณ์เป็นปีช้าง ก็พอให้อุ่นใจหน่อยว่ามันก็ต้องอ้วนพีอย่างนี้ละสิ เพราะว่าเกิดปีช้างน่ะ ฮ่าาา 

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

เป็นอีกหนึ่ง culture shock นะคะเนี่ย

แต่ดูท่านอาจารย์ปรับตัวได้เร็วมากค่ะ ;)

สุข สงบ ในวันดีวันนี้ค่ะ

สวัสดีครับดร.ปริมครับ
ตอนนี้ยังฟังพระสวดไม่ออกเลยครับ สวดมนต์ตามท่วงทำนองและน้ำเสียงของล้านนาก็ยังไม่ได้ จะว่าไปแล้ว ฟังคนแก่ๆพูดก็ยังฟังไม่ค่อยออกครับ แต่รู้สัมผัสได้ครับถึงความมีอัธยาศัยเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ครับ   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท