KM Workshop วพบ.สระบุรี (๒)


ผู้จัดประชุมบอกว่าได้ตามที่คาดไว้แล้วเพราะบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ผู้เข้าประชุมได้รู้เรื่อง KM และมี attitude ที่ดีต่อ KM

วันเสาร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๙ 

การประชุมครั้งนี้มีอาจารย์เข้าทั้งหมด ๓๙ คน มีอาจารย์ใหม่ ๓ หนุ่มเป็นผู้สังเกตการณ์ ร่วมกับ ๓ อาจารย์จากวิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้าที่นำโดยอาจารย์ปิ่นนเรศ กาศอุดม เมื่อถึงเวลา ๑๓.๐๐ น. อาจารย์วิมลนิจ สิงหะ กล่าวเปิดการประชุมอย่างเป็นกันเองสั้นๆ หลังจากนั้นเป็นกิจกรรม “เปิดตัวเปิดใจ” นำโดยคุณอาฬสา หุตะเจริญและคุณสุภาพรรณ ตันติภาสวศิน คราวนี้เราให้ผู้เข้าประชุมเตรียมเงินมาจ่ายตลาด ให้ผู้ชายมีเงิน ๑ บาท ผู้หญิงมี ๕๐ สตางค์ เล่นเกมส์จับกลุ่มตามที่คุณสุภาพรรณบอก เช่น ๓ บาท ๕๐ ก็ต้องรวมกลุ่มกันให้ได้เงินครบตามนั้น คนไหนช้าหรือกลุ่มไหนรวมแล้วขาดหรือเกินจะถูกเชิญมาหน้าห้อง มีกิจกรรมให้ทำเพิ่มเติมอีก การเปิดการประชุมแบบนี้ได้เสียงหัวเราะและความตื่นตัว สร้างบรรยากาศให้คึกคักดีทีเดียว

จับกลุ่มรวมเงินให้ได้ตรงตามที่บอก

ออกมาหน้าห้องอย่างนี้ ต้องทำกิจกรรมเพิ่ม

ดิฉันรับช่วงต่อด้วยการนำเสนอ Action Review Cycle และให้ผู้เข้าประชุมร่วมทำ BAR ผลัดกันบอกความคาดหวังและบทบาทของตัว คนแรกที่ขอพูดได้หนังสือ “การจัดการความรู้ ฉบับมือใหม่หัดขับ” เป็นรางวัล คนที่ไม่ได้พูดต่อหน้าเพื่อนก็ขอให้คิดทบทวนในใจด้วย เราเดินต่อด้วยการนำเสนอแนวคิดและวิธีการจัดการความรู้ตามแนวทางของ สคส.”หัวปลา” ในการทำ KM ของ วพบ.สระบุรีคือเพื่อพัฒนางานตามภารกิจ ๔ ด้าน ดิฉันได้บอกบทบาทของ “คุณกิจ” “คุณอำนวย” “คุณเอื้อ” พร้อมเล่าถึงเครื่องมือที่เคยใช้ในการจัดตลาดนัดความรู้ ก่อนที่จะพัก-รับประทานอาหารว่าง

กลับเข้าห้องประชุมอีกครั้ง ดิฉันนำเสนอรายละเอียดของกิจกรรมกลุ่มย่อยที่จะเป็นเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ “Best Practice” ของแต่ละคน บอกให้รู้ว่า best practice คือกระบวนการหรือวิธีการทำงานที่เคยใช้แล้วได้ผลดี (ใช้การได้และเกิดผลที่ดี) การ dialogue วิธีการเล่าเรื่องความสำเร็จแบบย้อนศร การฟังอย่างตั้งใจและด้วยความเข้าใจ การตีความจากเรื่องเล่าว่าเราต้องการความรู้เพื่อการปฏิบัติ ลักษณะของ “ขุมความรู้”

ผู้เข้าประชุมแยกย้ายกันเข้ากลุ่มของตนที่ตั้งชื่อกันมาเอง ๕ กลุ่มคือกลุ่มลีลาวดี เกินร้อย รักเอย เจ็ดประจัญบาน และ Academic Fantasia Nurse แต่ละกลุ่มทำงานกันอย่างตั้งอกตั้งใจ คุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณแวะเวียนไปสังเกตการณ์บรรยากาศและช่วยให้ความกระจ่างในบางประเด็นที่ยังมีข้อสงสัย เมื่อใกล้หมดเวลาเราพบว่ากลุ่มเจ็ดประจัญบานมีปัญหาสมาชิกเล่าเรื่องได้เพียง ๒ คนเท่านั้น เพราะเล่ากันนานบวกกับการซักถามเข้าไปอีกก็หมดเวลาพอดี เราไม่ว่ากันเพราะสิ่งที่ให้ทำเป็นเสมือนแบบฝึกหัด

กลุ่มนี้ที่ "เกินร้อย"

กลุ่มนี้น่าจะใช่ AF

ใกล้ ๑๖.๓๐ น. แต่ละกลุ่มนำเสนอ “ขุมความรู้” จากเรื่องเล่าด้วยลีลาที่สนุกสนาน ดิฉันฟังและจดบันทึกไปด้วย พบว่ามีเรื่องเล่าที่น่าประทับใจหลายเรื่อง เช่น สื่อสร้างสุข การเรียนรู้ holistic care จากญาติที่มีประสบการณ์ตรง วิธีสอนนักศึกษากลุ่มอ่อน ลดเวลาในการสอบปากเปล่า ฯลฯ แต่บางเรื่องที่นำมาเล่านั้นเป็นเรื่องใหญ่ๆ การตีความจึงได้ส่วนที่เป็น “ความรู้เพื่อการปฏิบัติ” น้อย จะได้เป็นเชิงหลักการ เช่น บริหารจัดการที่ดี self-directed เรียนรู้จากหลายแหล่ง เป็น role model เป็นต้น อาจารย์วารุณี มีเจริญ “คุณลิขิต” กลุ่มเกินร้อยบอกความรู้สึกว่าตอน orientation รู้สึกว่าเข้าใจ แต่พอมาทำหน้าที่ในกลุ่มจริงๆ บันทึกไม่ถูกเลยไม่รู้จะบันทึกอะไร

ตามกำหนดการเดิม เราจะจัดหมวดหมู่และสังเคราะห์ “ขุมความรู้” เป็น “แก่นความรู้” เมื่อเป็นเช่นนี้ดิฉันจึงขอปรับกิจกรรมใหม่ โดยให้ผู้ที่มีเรื่องเล่าดีๆ ๕ เรื่อง ไปคิดทบทวนให้ดีเพื่อมาเล่าให้ทุกคนฟังพรุ่งนี้เช้า แล้วช่วยกันตีความสกัดขุมความรู้ใหม่ ปิดประชุมเวลา ๑๗.๓๐ น.

ทีมวิทยากร ทีมผู้จัดงาน และผู้สังเกตการณ์จากวิทยาลัยพระปกเกล้า จันทบุรี คุย AAR กันต่อ แม้ผลงานยังไม่ได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ทั้งอาจารย์ประกริตและอาจารย์พนิตนาฏผู้จัดประชุมบอกว่าได้ตามที่คาดไว้แล้วเพราะบรรยากาศการประชุมเป็นไปด้วยดี ผู้เข้าประชุมได้รู้เรื่อง KM และมี attitude ที่ดีต่อ KM

ดิฉันใช้เวลาตอนค่ำพบเพื่อนเก่าสมัยเรียนมัธยมปลาย ๓ คน รับประทานอาหารเย็นด้วยกัน คุยกันเรื่องต่างๆ จนกระทั่งสามทุ่มกว่าจึงกลับมาหารือกับคุณอาฬสาและคุณสุภาพรรณ เตรียมการสำหรับกิจกรรมในวันรุ่งขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๙

หมายเลขบันทึก: 49759เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2006 17:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เครือข่ายเบาหวาน จ.ปัตตานี เปิดตัว blog

แล้วนะครับ อาจารย์ช่วย add เข้าไปใน planet ด้วยนะครับ

http://gotoknow.org/blog/dmpattani

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท