Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

รวมกฎหมายไทยเกี่ยวกับคนต่างด้าวในประเทศไทย : คำนำในปี พ.ศ.๒๕๕๑


โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๑

หลังจากที่ดิฉันสอนวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดบุคคลมาได้ระยะหนึ่ง ก็มีหลายท่านมาแนะนำให้ดิฉันรวบรวมกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่มีชีวิตระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพราะมีคนสัญชาติไทยที่ออกไปอาศัยหรืประกอบอาชีพในต่างประเทศมากขึ้น และในทางกลับกัน ก็มีคนต่างด้าวเข้ามาอาศัยและประกอบอาชีพในประเทศไทยมากขึ้นเช่นกัน

ดิฉันได้แบ่งแยกหนังสือรวมกฎหมายเป็น ๒ เล่ม อันได้แก่ เล่มแรกเป็นการรวมกฎหมายลายลักษณ์อักษรของไทยที่ว่าด้วยสัญชาติไทยตั้งแต่ฉบับแรกจนถึงฉบับสุดท้าย และเล่มที่สองเป็นการรวมกฎหมายลายลักษณ์อักษรของไทยว่าด้วยคนต่างด้าว

ในที่ส่วนที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวนี้ ดิฉันมีความแปลกใจว่า มีผู้สนใจซื้อไปใช้มากมาย ไม่เฉพาะแต่ในมหาวิทยาลัย แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการพิมพ์ไปสักระยะหนึ่ง ดิฉันก็เริ่มรู้สึกอยากจะแปรเปลี่ยน “รวมกฎหมาย” มาเป็น “Cases and Material” ดังที่เห็นเขาทำกันในประเทศที่มีระบบกฎหมายแบบ Common Law แต่แล้วก็คนมาท้วงถามหารวมกฎหมายกันอยู่อีก  ทนายความผู้หนึ่งให้ความเห็นว่า มีหน้าที่ดูแลงานด้านกฎหมายของคนต่างด้าว ดังนั้น การมีรวมตัวบทกฎหมายเกี่ยวกับคนต่างด้าวสักหนึ่งหนึ่ง จึงเป็นความสะดวกอย่างมากที่จะพกพาไปด้วยในการทำงาน และเปิดขึ้นดูเมื่อต้องการศึกษาในประเด็นใดประเด็นหนึ่ง นักศึกษาหลายคนอยากมีตัวบทสักเล่มไว้กับตัวเมื่อมาเรียนหนังสือ ในที่สุด รวมกฎหมายไทยเกี่ยวกับคนต่างด้าวจึงกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

ในการเริ่มต้นอธิบายถึงเอกชนในวิชากฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เราก็จะต้องเริ่มอธิบายแยกแยะเอกชนที่เป็นบุคคลธรรมดาออกเป็น ๒ ประเภท กล่าวคือ (๑) บุคคลธรรมดาที่มีสถานะเป็นราษฎรของรัฐไทย และ (๒) บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสถานะเป็นราษฎรของรัฐไทย เรามักไม่ตระหนักว่า คำว่า “ราษฎร” นั้น อาจหมายถึงคนสัญชาติไทยหรือคนต่างด้าวก็ได้ คนต่างด้าวจึงอาจจะมีสถานะเป็นราษฎรของรัฐไทย หากว่าได้รับการลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎร

สำหรับการพิมพ์ครั้งนี้ จึงยังเริ่มต้นที่พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ อยู่ดี แต่เป็นฉบับที่มีการแก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งเพิ่งมีผลเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๕๑ การแก้ไขกฎหมายทะเบียนราษฎรในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมประสิทธิภาพให้กฎหมายสามารถจัดการปัญหาคนไร้รัฐในประเทศไทยให้ดีขึ้น

ในปัจจุบันนี้ กฎหมายไทยรับรองสิทธิของคนไร้รัฐหรือคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรที่จะได้รับการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร  พ.ศ.๒๕๓๔ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่นักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในยุคนี้จะต้องรู้จัก “ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘”

นอกจากนั้น คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยย่อมจะต้องถือบัตรประจำตัวตามกฎหมายทะเบียนราษฎร ดังนั้น นักกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลในยุคนี้จะต้องรู้จัก “ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.๒๕๕๑” อีกด้วย

ในส่วนแนวคิดของรัฐไทยในเรื่องการจัดการประชากรของรัฐไทย เราอาจเรียนรู้ได้จาก “ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล” ซึ่งได้รับการยอมรับโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ และเป็นไปบนพื้นฐานของกฎหมาย ๒ ลักษณะดังต่อไปนี้

กฎหมายเพื่อการจัดการประชากรฉบับแรก ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิในสัญชาติไทยของบุคคลธรรมดา ซึ่งฉบับที่มีผลในปัจจุบันนี้ ก็คือ พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมตลอดถึงพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

กฎหมายเพื่อการจัดการประชากรฉบับที่สอง ก็คือ กฎหมายไทยว่าด้วยสิทธิเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยของบุคคลธรรมดา ซึ่งฉบับหลักที่มีผลในปัจจุบันนี้ ก็คือ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  โดยมีกฎหมายเสริมอีกหลายฉบับ แต่ที่ควรจะรู้จัก ก็คือ (๑) พระราชบัญญัติการเนรเทศ พ.ศ.๒๔๙๙ และ (๒) พระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ.๒๔๙๓

นอกจากนั้น ยังจะต้องเรียนรู้กฎหมายที่สำคัญเกี่ยวกับสิทธิประกอบอาชีพของคนต่างด้าว ซึ่งอาจจำแนกออกเป็น ๒ ลักษณะเช่นกัน

กฎหมายเพื่ออนุญาตให้สิทธิทำงานแก่คนต่างด้าว อันได้แก่ (๑)  พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑  (๒) พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำงาน พ.ศ.๒๕๒๒  (๓) พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำงาน (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๖ (๔) พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำงาน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๓ และ (๕) พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำงาน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๘

กฎหมายเพื่ออนุญาตให้สิทธิลงทุนแก่คนต่างด้าว อันได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๔๒

ในลำดับต่อไป เราก็ควรจะต้องรู้จักกฎหมายอีก ๒ ฉบับที่เกี่ยวข้องสิทธิในทรัพย์สินของคนต่างด้าว กล่าวคือ (๑) พระราชบัญญัติควบคุมและจัดการกิจการหรือทรัพย์สินของคนต่างด้าวบางจำพวกในภาวะคับขัน พ.ศ.๒๔๘๑  (๒) ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ และ (๓) มาตรา ๑๙ ทั้งหมด แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒

และต้องไม่ลืมที่จะศึกษาถึงพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ. ๒๔๘๑ ซึ่งกำหนดการเลือกกฎหมายเอกชนเมื่อเกิดการขัดกันแห่งกฎหมายนี้ในนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายเอกชนที่มีลักษณะระหว่างประเทศ

จบลงด้วยรวมบทบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศสำคัญๆ ที่ผูกพันประเทศไทยในเรื่องสิทธิในการรับรองสถานะบุคคล กล่าวคือ (๑) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน พ.ศ.๒๔๙๑ (Universal Declaration on Human Rights 1948) ข้อ ๖,๑๓ และ ๑๔ (๒) กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง(พลเมือง)และทางการเมือง พ.ศ.๒๕๐๙ (International Covenant on Civil and Political Rights 1966) ข้อ ๑๒,๑๓,๑๖ และ ๒๔ และ (๓) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ.๒๕๓๒ (Convention on the Rights of the Child 1989)  ข้อ๗, ๑๐ และ ๑๑

หนังสือเล่มนี้มุ่งเพียงให้ภาพรวมของกฎหมายและนโยบายไทยสำคัญๆ ที่รองรับกฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับคนต่างด้าว ดังนั้น การศึกษาทุกเรื่องที่กล่าวมา ก็คือ สร้างสันติสุขแก่ชีวิตของมนุษย์ที่เป็นต่างด้าวบนแผ่นดินไทย

หมายเลขบันทึก: 497113เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2012 00:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กันยายน 2014 08:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท