ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 232, ระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 7 ว่าด้วยการกันผู้ต้องหาเป็นพยานในบางคดี

ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน [1]

ร.ต.ต.วัลลภ  วงศ์สุวรรณ [2]

         

การกันผู้ร่วมกระทำผิดไว้เป็นพยานนั้น มีประโยชน์ในการเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ เพราะตามระบบกฎหมายของไทยนั้น ก่อนที่จะนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้น จำเป็นต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงการกระทำความผิดนั้น โดยปราศจากข้อสงสัยก่อน ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ความผิดของจำเลยนั้น จึงจำเป็นต้องมีการหาพยานจากผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน ซึ่งพบว่ามีปัญหาทั้งทางปฏิบัติและทางข้อกฎหมายอยู่ ซึ่งอาจเป็นผลทำให้กระบวนการยุติธรรมไม่มีความชอบธรรมนัก ในทางปฏิบัติยังพบปัญหาที่ต้องนำมาแก้ไขในบางประการ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการได้พยานที่ได้กันไว้เป็นพยานมา การรับฟัง ตลอดถึงการลงโทษผู้ที่จะกันไว้เป็นพยาน ซึ่งยังมีข้อบกพร่องอยู่ จึงสมควรหาแนวทางแก้ไข เพื่อเป็นรูปธรรมในการปกครองโดยกฎหมาย

เมื่อมีการกระทำผิดอาญาเกิดขึ้น พนักงานสอบสวนก็จะดำเนินการแสวงหาและรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในการกระทำผิดตามที่ผู้เสียหายได้นำความมาแจ้งต่อพนักงานสอบสวน จากการศึกษาพบว่าแนวทางในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้นมีปัญหาหลายประการ พนักงานสอบสวนพึงระมัดระวังผู้ต้องหาที่ได้กันไว้เป็นพยาน เพราะผู้ต้องหาอาจให้การและซ้ำเติมพวกเดียวกัน  ซึ่งอาจเป็นความเท็จ เพื่อให้ตนรอดพ้นจากคดีและพนักงานสอบสวนไม่สมควรพูดจูงใจให้คำมั่นสัญญาในการให้คุณหรือประโยชน์ใด ๆ แก่เขา  อันเป็นการขัดต่อบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 มีผลทำให้เป็นพยานที่เกิดขึ้นจากการจูงใจหรือโดยมิชอบ  ต้องห้ามมิให้นำสืบและรับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิอาญา มาตรา 226 ตามประมวลระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะที่ 8 บทที่ 7 ว่าด้วยการกันผู้ต้องหาเป็นพยานในบางคดี

ขอนำเสนอปัญหาบางส่วนที่สำคัญซึ่งจะมีผลมาถึงกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล อันเป็นบรรทัดฐานทางวิธีปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อไป ในประเด็นความชอบด้วยกฎหมายในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น การกำหนดอำนาจหน้าที่ในการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น ไม่ได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการในทางอาญาเอาไว้ แต่ในเรื่องการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น ได้กำหนดไว้ในระเบียบตำรวจการเกี่ยวกับคดีแทน ซึ่งเมื่อดูถึงที่มาของระเบียบดังกล่าวแล้วนั้น  เป็นการเสนอให้ออกระเบียบโดยองค์กรภายในตำรวจเอง นอกจากนี้ได้มีบัญญัติเรื่องการกันเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 103/6 [3] ซึ่งการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้นถือว่าเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และในประเด็นในการอ้างจำเลยเป็นพยานนั้น เป็นความจำเป็นของฝ่ายโจทก์ที่จะนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย การอ้างผู้ร่วมกระทำผิดมาเป็นพยานนั้น จะเห็นได้ว่าขัดต่อเรื่องสิทธิไม่ให้การเป็นปฏิปักษ์กับตนเอง เพราะผู้จะมาให้การในชั้นศาลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดที่จะต้องกล่าวถึงการกระทำความผิดของตนด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อก่อนจะถูกกันไว้เป็นพยาน พนักงานอัยการย่อสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาผู้นั้น เพราะจะต้องห้ามตามมาตรา 232 ที่จะทำให้ไม่สามารถอ้างจำเลยได้แต่การไม่ถูกฟ้องคดีก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ถูกฟ้องคดีในภายหลังหากว่ามีพยานหลักฐานอื่นที่จะลงโทษพยานได้ การให้การในชั้นศาลของพยานที่ถูกกันไว้จึงเท่ากับเป็นการให้การเพื่อลงโทษตนเอง

ในประเด็นการรับฟังพยานจากผู้ต้องหาที่ได้กันไว้เป็นพยานนั้น ตามแนวคำพิพากษาได้วางแนวทางไว้ว่า ศาลจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะพบว่าศาลจะระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะศาลจะยึดหลักที่ว่า ปล่อยคนชั่วสิบคน ดีกว่าจับแพะหนึ่งคน ทำให้การรับฟังพยานที่ได้กันไว้ไม่มีน้ำหนักเท่าใดนัก ซึ่งดังที่ทราบกันว่า การกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานเป็นวิถีทางสุดท้ายในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย ซึ่งหากศาลไม่รับกระบวนการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานก็จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย ดังที่ทราบกันว่าผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยานนั้นก็คือประจักษ์พยาน ซึ่งเป็นพยานชั้นหนึ่ง แต่ด้วยความที่เป็นผู้ร่วมกระทำความผิดศาลจึงจะต้องรับฟังด้วยความระมัดระวัง จนนำไปสู่การที่ศาลยกฟ้องจำเลยเนื่องจาก ศาลไม่เชื่อคำให้การของจำเลย

ประเด็นสุดท้ายการรับฟังพยานจากผู้ต้องหาที่ได้กันไว้พยานนั้น ในปัจจุบันพบว่าเมื่อพนักงานสอบสวนมีความประสงค์ที่จะกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น  ก็จะมีความเห็นที่จะไม่ฟ้องคดีกับผู้นั้นส่งให้แก่พนักงานอัยการ การกันผู้ต้องหาเป็นพยานนั้นผู้ต้องหาจะได้รับประโยชน์จากการที่ตนยอมเป็นพยานให้แก่รัฐในบางประการ  ซึ่งนั่นก็คือการไม่ถูกดำเนินคดี เพื่อไม่ให้เป็นการขัดต่อมาตรา 232 และผู้ต้องหาก้จะเปลี่ยนสถานะจากการเป็นผู้ต้องหากลายมาเป็นพยานในคดีนั้นแทน ซึ่งการเป็นพยานก็จะไม่ต้องรับโทษใด ๆ เนื่องจากพนักงานอัยการจะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกกันไว้เป็นพยาน และประโยชน์จากการที่เป็นพยานนั้น  พยานที่ถูกกันไว้เป็นพยานก็จะไม่ถูกดำเนินคดีนั้น ก็หมายความถึงการไม่ต้องรับโทษที่ตนได้ก่อขึ้น

จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อีกทั้งจุดมุ่งหมายสูงสุดของกฎหมายลักษณะพยานคือ กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงให้ปรากฏชัดเพื่อให้ได้พยานหลักฐานที่ดีที่สุด (Best Evidence Rule) เป็นผลอันเนื่องมากจากการที่ไม่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม หากมีการกำหนดหลักการวิธีการต่าง ๆ เกี่ยวกับการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้นน่าที่จะมีความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติได้อย่างดีมากขึ้น

1.      ประเด็นการรับฟังผู้ร่วมกระทำความผิดหรือผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยาน

จากการศึกษาพบว่า การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการจับตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้นเป็นเสมือนการป้องปรามทางสังคมที่จะช่วยให้ประชาชนผู้อื่นไม่กล้ากระทำความผิด  การนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังที่ทราบว่าการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานเกิดจากการหาพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ความผิดจำเลยไม่ได้ จึงเกิดแนวคิดเรื่องนี้เกิดขึ้น เห็นว่าสมควรให้ความสำคัญแก่พยานที่ได้กันไว้เป็นพยาน เพราะพยานดังกล่าวหากไม่ได้ร่วมกระทำความผิด ก็จะถือว่าเป็นประจักษ์พยานชั้นดีที่ศาลควรจะรับฟัง คำพยานที่ได้ให้การในฐานะพยานที่ถูกกันไว้เป็นพยาน  สามารถรับฟังได้แต่ต้องมีพยานอื่นมาประกอบ  ซึ่งพยานอื่นนั้น  ผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยานย่อมสามารถหามาได้อยู่แล้ว  แต่การที่ศาลยึดหลักที่ว่า ปล่อยคนชั่วสิบคน ดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์หนึ่งคนนั้น  จะทำให้ดูเหมือนศาลจะไม่ค่อยยอมรับพยานหลักฐานที่พนักงานอัยการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานเท่าใดนัก  อันเนื่องมาจากความอันตรายของคำให้การของผู้ต้องหาที่ได้กันไว้เป็นพยานเอง  ซึ่งจะทำให้เป็นผลเสียของกระบวนการยุติธรรม  ทำให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวด้วยเหตุที่ศาลยกฟ้องจำเลย  เห็นว่าอันตรายของคำให้การของผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยาน  ก็มีความอันตราย แต่หากคำให้การของผู้ที่กันไว้เป็นพยาน ให้การในชั้นศาลเป็นเรื่องจริงแต่ศาลไม่ยอมรับฟัง ก็จะเป็นผลเสียแก่รูปคดีไม่น้อย  ฉะนั้น การรับฟังคำพยานที่มาจากการกันผู้ต้องหาเป็นพยานนั้น  ศาลควรที่จะรับฟังด้วยความระมัดระวัง  แต่ไม่ใช่ไม่รับฟังเลย  ควรรับฟังด้วยความระมัดระวังเฉพาะในเรื่องการโยนความผิดไปให้จำเลยเท่านั้น  แต่ในเรื่องพฤติกรรมในการกระทำความผิดของจำเลยนั้น   เห็นว่าศาลควรรับฟังได้ และหากพนักงานอัยการเอาพยานหลักฐานอื่นมาสืบประกอบให้ศาลเห็นถึงการกระทำผิดของจำเลยจากการให้การในชั้นสอบสวนก็จะเป็นผลดีไม่น้อยในการพิสูจน์ความผิดของจำเลย  เห็นว่าตาม มาตรา 227/1 แม้จะบัญญัติไว้เป็นการชัดแจ้งในเรื่องการบังคับให้ศาลพึงชั่งน้ำหนักพยานซัดทอดด้วยความระมัดระวัง  หากแต่การรับฟังพยานหลักฐาน และการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานของศาลก็ควรน่าจะคำนึงถึงพฤติการณ์ของการกระทำผิดในลักษณะที่เป็นกลุ่มกระบวนการที่มีความชั่วร้ายบ่งเฉพาะถึงลักษณะที่ปกปิดเป็นความลับสลับซับซ้อนแยบยล  ใช้อิทธิพลทางการเงิน เพราะองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้โดยปกติก็มักจะไม่ทิ้งร่องรอยในการกระทำผิดไว้เป็นแน่แท้  ซึ่งหลักที่ว่า ปล่อยคนชั่วสิบคน ดีกว่าจับผู้บริสุทธิ์หนึ่งคนนั้น  หากเกิดคดีเช่นนี้หลายครั้งอาจเป็นผลทำให้ผู้กระทำผิดหลายคนพ้นจากข้อหา  อันเนื่องมาจากการที่ศาลไม่รับฟังพยาน  เพราะการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้นมีที่มาจากการไม่มีพยานหลักฐานใดมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย  จึงเกิดแนวคิดนี้ขึ้น  เพราะเหตุที่ว่าผู้ร่วมกระทำผิดร่วมกันย่อมรู้ถึงพฤติกรรมในการกระทำความผิดของจำเลย  ซึ่งเรียกกันว่าประจักษ์พยานหรือพยานชั้นหนึ่งโดยไม่ต้องไปค้นหาเหตุผลหรือข้อสันนิษฐานใดอีก  เป็นพยานชั้นดีที่ศาลสมควรรับฟัง  แต่หากเกิดแนวคิดนี้ขึ้นแต่ศาลไม่รับฟังอีกนั้น  การกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานก็จะไม่มีประโยชน์อันใดเลย

          ในประเด็นการรับฟังของผู้ต้องหาที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั้น  เห็นว่าศาลต้องระมัดระวังคำให้การของผู้ต้องหาที่ถูกกันไว้เป็นพยานเป็นอย่างมาก  อันเนื่องมาจากอันตรายของคำให้การของพยานที่ถูกกันไว้เป็นพยาน  จึงขอเสนอให้ ศาลสามารถรับฟังคำพยานที่ถูกกันไว้เป็นพยานได้  แต่ต้องมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบการพิจารณาเพื่อให้ศาลเห็นถึงการกระทำผิดของจำเลย  การรับฟังผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยาน ศาลสามารถรับฟังได้นั้น เพราะผู้ต้องหาที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั้นย่อมรู้ถึงพฤติกรรมการกระทำความผิดของผู้ต้องหาคนอื่น  ซึ่งถือว่าเป็นประจักษ์พยาน  แต่อันตรายของคำให้การนั้น จำเลยย่อมสามารถซักค้านได้อยู่แล้ว การที่ศาลรับฟังพยานด้วยความระมัดระวังนั้นอาจเป็นผลถึงการตัดสินคดี หากมีการกำหนดถึงรูปแบบว่าการนำพยานที่ถูกกันไว้เป็นพยานว่าต้องมีพยานอื่นเข้ามาแสดงถึงความผิดของจำเลยด้วยนั้น  น่าที่จะแสดงถึงความผิดของจำเลยอย่างแน่ชัดและสามารถตัดสินคดีได้โดยง่าย

2. ประเด็นความชอบด้วยกฎหมายผู้ร่วมกระทำความผิดหรือผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยาน

          เห็นว่า การกำหนดกฎหมายที่ให้อำนาจพนักงานสอบสวนในการดำเนินการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานนั้น มีกฎหมายไว้เพียงระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดีกับระเบียบกรมอัยการว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ เห็นว่าในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ต้องหา การพิสูจน์ความผิดของจำเลย  โดยการกันผู้ต้องหารายหนึ่งไว้เป็นพยานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ สมควรกำหนดกฎหมายให้มีความชัดเจน  จึงเสนอให้มีการกำหนดไว้ในเรื่องการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานให้เป็นรูปธรรม  ที่ประชาชนสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ ไว้ใน ป.วิอาญา   

กรณีที่เป็นการขัดต่อ ป.วิอาญา มาตรา 232 ในเรื่องการห้ามไม่ให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยานนั้น  เห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ควรให้พนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการทำข้อตกลงกัน เปิดช่องให้สามารถเป็นพยานได้  เพื่อประโยชน์ในการแสวงหาพยานหลักฐาน ควรเพิ่มเติมใน ป.วิอาญา มาตรา 232 วรรคสองว่า “เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ในกรณีไม่สามารถหาพยานหลักฐานใดได้ ให้พนักงานสอบสวนสามารถกันผู้ต้องหาที่ร่วมกระทำความผิดคนใดคนหนึ่งเป็นพยานแห่งคดีนั้นได้”

3. ประเด็นการลงโทษผู้ร่วมกระทำความผิดหรือผู้ต้องหาที่กันไว้เป็นพยาน

เห็นว่า ผู้กระทำความผิดย่อมสมควรได้รับโทษที่ตนได้ก่อขึ้นมานั้น  แต่เนื่องจากใน ป.วิอาญา มาตรา 232 ห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน  จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนสถานะจาดจำเลยเป็นพยานก่อน  เพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักการให้การเป็นปรปักษ์ต่อตนเองซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เห็นว่าการที่จะกันผู้ต้องหาเป็นพยานนั้น  เอื้อประโยชน์ในการให้ผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยานไม่ต้องถูกลงโทษ  หลักการที่สมควรมีการแก้ไขให้ผู้ต้องหาที่ได้กันไว้เป็นพยานนั้นสมควรได้รับโทษที่ตนได้ก่อขึ้นร่วมกับผู้กระทำผิดคนอื่นด้วย  ซึ่งการกันไว้ให้เป็นพยานนั้นอาจจะเป็นเหตุลดโทษให้ผู้กระทำความผิดก็ได้  ซึ่งหากมองถึงกฎหมายในปัจจุบันหากเป็นกรณีเหตุลดโทษดังกล่าวนั้น  ย่อมขัดต่อหลักกฎหมาย ป.วิอาญา ในเรื่องการห้ามโจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน ตามมาตรา 232 จึงขอเสนอแนวคิดว่า หากผู้ต้องหาผู้ใดสมัครใจเป็นพยานนั้น  ผู้นั้นยังคงมีสถานะเป็นจำเลยในคดีอยู่แต่หากมีสิทธิได้รับการลดโทษหรื อเป็นการรอการลงโทษ  เพราะการที่จะให้ผู้ที่กระทำความผิดแล้วไม่ต้องรับโทษนั้นดูเหมือนจะขัดต่อความเสมอภาค และจะไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม  แต่หากเป็นกรณีให้ผู้ที่ได้รับการกันไว้เป็นพยานได้รับการลงโทษซึ่งอาจจะได้รับโทษน้อยลงหรือเป็นกรณีให้รอการลงโทษไว้ก่อนนั้น  อย่างน้อยก็เป็นการขัดเกลาไม่ให้เขากล้ากระทำผิดอีก  แต่ที่เป็นปัญหาในปัจจุบันที่ไม่สามารถกระทำตามที่เสนอได้ก็เนื่องจาก  จะขัดต่อบทบัญญัติ ป.วิอาญา มาตรา 232 ขัดต่อหลักการให้การเป็นปรปักษ์กับตนเอง เห็นควรไม่ใช้วิธีการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานโดยการสั่งไม่ฟ้องคดี แต่ใช้วิธีอื่น เช่น การแยกฟ้องจำเลยที่ถูกกันไว้เป็นพยานก่อนเพื่อให้จำเลยที่ถูกกันไว้เป็นพยานได้รับการพิพากษาจนเสร็จสิ้น  จนหมดสภาพการเป็นจำเลยในคดีเสียก่อน  โดยอาจจะได้รับการปราณีโทษหรือวิธีการดังได้กล่าวแล้วนั้น  แล้วจึงนำผู้นั้นมาเป็นพยานในศาล  เมื่อบุคคลดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นจำเลยในขณะที่เป็นพยานย่อมไม่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิอาญา มาตรา 232 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวให้มีความทัดเทียมและเสมอภาคกัน  ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา78 บัญญัติในเรื่องการลุการลงโทษต่อเจ้าพนักงาน หรือการให้การที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของผู้กระทำความผิดถือว่าเป็นเหตุบรรเทาโทษ

ดังนั้น  การให้ผลประโยชน์บางประการกับผู้กระทำความผิดที่ให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมจึงไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ในกระบวนการยุติธรรมทั้งในและต่างประเทศ และผู้ร่วมกระทำความผิดย่อมคาดหมายอยู่แล้วว่า  หากให้ความร่วมมือกับกระบวนการยุติธรรมก็จะได้รับผลตอบแทนบางประการ  เพราะประโยชน์จากการให้การของผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั้นจะมีประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก  การให้ผลตอบแทนที่ไม่มากเกินสมควรที่สังคมยอมรับได้นั้น  ก็น่าจะไม่ใช่สิ่งที่แปลกและเป็นที่สงสัยแก่สังคม  แต่ถ้าเป็นกรณีไม่ต้องได้รับโทษนั้น  น่าจะเป็นสิ่งที่ไม่สมควรในกระบวนการยุติธรรมของประเทศไทยเท่าใดนัก  และการคุ้มครองพยานที่ถูกกันไว้นั้น  ขอเสนอให้มีการกำหนดไว้ใน ป.วิอาญา ซึ่งในกรณีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง และได้กันผู้ต้องหาไว้เป็นพยานแล้วนั้น  ผู้เสียหายจะฟ้องคดีแก่ผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยานนั้นไม่ได้  เพราะคงจะไม่ยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยานเลยหากเขาถูกดำเนินคดีในภายหลัง  การกำหนดกรอบไว้อย่างมีความชัดเจนแน่นอนน่าจะเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติและเป็นบรรทัดฐานในคดีต่อ ๆ ไปด้วย

จึงเห็นสมควรให้มีมาตรการในการคุ้มครองป้องกันพยานที่ถูกกันไว้เป็นพยานให้ได้รับสิทธิ์ที่จะไม่ถูกฟ้องคดีจากผู้เสียหายอีก  โดยทำเป็นข้อตกลงระหว่างพนักงานอัยการและผู้เสียหายกันก่อน ว่าหากกันผู้ต้องหาคนหนึ่งคนใดไว้เป็นพยานแล้วจะไม่มีการฟ้องคดีต่อผู้ต้องหาคนนั้นโดยผู้เสียหายอีก เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมว่าผู้ที่ถูกกันไว้เป็นพยานจะได้รับสิทธิ์ไม่ถูกผู้เสียหายฟ้องอีกในภายหลัง  แต่หากผู้เสียหายยังยืนยันว่าจะฟ้องด้วยตนเองอีก  อาจใช้มาตรการทางกฎหมายยับยั้งโดยอ้างข้อตกลงที่ได้ให้ไว้ต่อพนักงานอัยการได้   ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก

เอกสารอ้างอิง

กุลพล  พลวัน. “การกันผู้ต้องหาเป็นพยาน,” วารสารสามพราน 39, 1 เมษายน 2532.

เกียรติขจร  วัจนะสวัสดิ์. คำอธิบายกฎหมายอาญา ภาค 1. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์พลสยามพริ้นติ้ง, 2551.

คณิต ณ นคร. กฎหมายอาญาภาคความผิด. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์นิติบรรณการ, 2532.

ประเวทย์  กอบการกาญจนสินธุ์. “การนำมาตรการต่อรองคำรับสารภาพมาใช้กับพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2552.

ศุภชัย  ฉัตรจรัสกูล. “ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับพยานบุคคลที่เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2551.

 



[1] บทความนี้เรียบเรียงจากการศึกษาอิสระเรื่อง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการกันผู้ต้องหาไว้เป็นพยาน โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคือรองศาสตราจารย์ ประเสริฐ  ตัณศิริ และคณะกรรมการสอบ คือรองศาสตราจารย์มยุรี พันแสงดาว รองศาสตร์จารย์นิมิต ชิณเครือ

[2] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิทยบริการเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

[3] มาตรา 103/6 บุคคลหรือผู้ถูกกล่าวหารายใดซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหารายอื่น หากได้ให้ถ้อยคำ หรือแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลอันเป็นสาระสำคัญในการที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยชี้มูลการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐรายอื่นนั้น และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรจะกันผู้นั้นไว้เป็นพยานโดยไม่ดำเนินคดีก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ประกาศกำหนด”

 

หมายเลขบันทึก: 497102เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 22:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 22:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท