รู้จักกันที่ Gotoknow


การทำงานร่วมกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นความฉลาดของคนคิดนโยบายในสมัยนั้น

     ผู้เขียนเรียนจบวิชาผดุงครรภ์อนามัย หลักสูตร หนึ่งปี หกเดือน ที่โรงเรียนผดุงครรภ์อนามัยลำปางตัั้งแต่ปีพ.ศ. ๒๕๒๓  ขณะนั้นชนบทเมืองไทยเรานี้ พื้นที่ใดมีสถานีอนามัยตั้งอยู่ ก็นับเป็นโชคของคนที่นั่นแล้ว บางครั้งคหบดีหลายท่าน ก็กรุณามอบที่ดิน และทุนทรัพย์สร้างสถานีอนามัยให้เสร็จสรรพ แต่ก็ยังขาดแคลนหมออนามัยไปอยู่อยู่ดี ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงให้มีการสอบชิงทุนเข้าศึกษาวิชาผดุงครรภ็อนามัย(สำหรับผู้หญิง) และเจ้าพนักงานสาธารณสุข(สำหรับผู้ชาย) เรียนกันคนละโรงเรียน แต่เวลาฝึกงานก็มักถูกส่งมาฝึกที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยพร้อมๆกัน นับเป็นการทำงานร่วมกันตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ ซึ่งผู้เขียนคิดว่าเป็นความฉลาดของคนคิดนโยบายในสมัยนั้น

  ผู้เขียนได้ทุนของจังหวัดชลบุรี ที่ต้องไปเรียนถึงจังหวัดลำปาง ไกลก็ไกล คิดถึงบ้านก็คิดถึง ได้แต่อดทนเอา เนื่องจากหลักสูตรก็เร่งรัดเอาภาคปฏิบัติเป็นสำคัญ สำหรับผู้เขียนนั้น ถูกฝึกให้ทำคลอดจนชำนาญ ดูแลแม่และเด็กได้เป็นอย่างดี มีความเชื่อมั่นในวิชาชีพเป็นอย่างยิ่ง  ครูที่สอนผู้เขียนเป็นแพทย์ และพยาบาล ส่วนพี่เลี้ยงในเวลาฝึกงานคือหมออนามัยรุ่นพี่ ป้า น้า อา

  มีข้อห้ามมากมายสำหรับหลักสูตรนี้ ห้ามทำคลอดในเด็กท่าผิดปกติ เช่น เอาก้นลง (ปกติเด็กต้องเอาหัวคลอดก่อน) ห้ามทำคลอดคนท้องแฝด ห้ามล้วงรก และสิ่งที่ไม่ปกติทั้งหลาย แต่ครูผู้สอน ก็เมตตาสาธิตทุกเรื่องของข้อห้าม ให้นักเรียนได้ดูเป็นประสบการณ์ทั้งหมด อาจเป็นเพราะท่านคาดเดาเอาไว้แล้วว่า สักวันลูกศิษย์ของท่านจะต้องได้พบเจอกรณียากๆแบบนี้ เรียกว่า ให้รู้ไว้บ้างก็ยังดี  และผู้เขียนก็เคยเล่าไว้แล้วว่า ทุก case ที่ครูห้าม ผู้เขียนต้องทำหมดทุกอย่างมาแล้ว ด้วยความจำเป็นที่ต้องอยู่คนเดียว ในสถานที่แสนไกลโรงพยาบาลในเมืองอย่างนั้น และผลลัพธ์คนไข้ก็ปลอดภัยทุกราย

  การมีหมออนามัยลงไปอยู่สถานีอนามัยสักคนในขณะนั้น ดูเป็นเรื่องราวน่าตื่นเต้นยินดีของชาวบ้านเป็นอย่างมาก บางคีั้งก็มีชาวบ้านแวะเวียนมาดูหมอคนใหม่ ซึ่งต่อมาก็จะคุ้นเคยอย่างรวดเร็ว เพราะที่นี่มีหมอคนเดียว จำง่าย เรียกได้  ๒๔ ชั่วโมง ไม่นานหมออนามัยก็กลายเป็นคนของหมู่บ้านไป

 ทักษะแรกที่เรามีคือ การเข้ากับชาวบ้านให้ได้ ใจกว้างพร้อมจะโอบอุ้มคนทั้งหมู่บ้าน ให้รู้สึกอบอุ่นปลอดภัย อาศัยได้ในยามเจ็บไข้ได้ป่วย เพียงหลับตา ก็จะมองเห็นแผนที่ของหมู่บ้าน สามารถขับมอร์เตอร์ไซด์รุ่นล่า(ช้า) ไปถึงบ้านคนไข้ไม่มีหลงทาง

  สมัยนั้นไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงทุกครัวเรือน ผู้เขียนยังต้องทำคลอดให้ตามบ้าน โดยอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน ที่ให้แสงสว่างด้วยการเผาไส้ ที่เต็มไปด้วยเขม่าควัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนไข้เดินมาสถานีอนามัยไม่ไหว พาหนะไม่มี แต่ผู้เขียนถูกฝึกให้ทำงานคลอด ได้สะอาดปลอดภัยได้ทั้งที่บ้านและสถานีอนามัย

 คิดๆไปแล้วภาพทรงจำเก่าๆ ก็ปรากฏแจ่มชัด มองเห็นหมออนามัยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศทีเดียว เพราะถ้าไม่มีวันนั้น การยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นเรื่อยๆก็คงมาไม่ถึงวันนี้  และผู้เขียนก็ต้องขอบคุณ web site Gotoknow แห่งนี้ ที่ให้มีโอกาสถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งจะนำมาเล่าต่อไปอีก

  และคงต้องเรียนถึง ดร. จันทวรรณ ปิยะวัฒน์ ว่าช่วยเชื่อมโยงเรื่องเล่าเหล่านี้ ให้เข้าหัวข้อที่อาจารย์ตั้งไว้ด้วยนะคะ มีแรงบันดาลใจ จากบันทึกของอาจารย์ที่เชิญชวนมา ความตั้งใจอยากจะแบ่งปันประสบการณ์ของคนสาธารณสุขไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ

ขอขอบพระคุณมากค่ะ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 497093เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 สิงหาคม 2012 20:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

เรียนคุณหมอรุ่ง นักสร้างสุข
อ่านประโยคนี้แล้วความคิดแจ่มชัดถึงความอัตคัดของชนบท ( สมัยนั้นไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงทุกครัวเรือน ผู้เขียนยังต้องทำคลอดให้ตามบ้าน โดยอาศัยแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน ที่ให้แสงสว่างด้วยการเผาไส้ ที่เต็มไปด้วยเขม่าควัน ที่เป็นเช่นนี้ เพราะคนไข้เดินมาสถานีอนามัยไม่ไหว พาหนะไม่มี แต่ผู้เขียนถูกฝึกให้ทำงานคลอด ได้สะอาดปลอดภัยได้ทั้งที่บ้านและสถานีอนามัย)

สวัสดีค่ะคุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยมคนอาชีพเดียวกัน สาธารณสุขนะคะ เป็นความทรงจำที่ไม่ลืมเลยค่ะกับข้อความนั้น แม้ว่าทุกวันนี้เราจะนั่งทำงานกันแต่ห้องแอร์ก็ตาม เป็นกำลังใจให้คุณวอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei-- ด้วยนะคะ

สวัสดีค่ะคุณSila Phu-Chaya หมออนามัยคู่กับความอัตคัดของชนบท ปัจจุบันก็ยังมีหลายแห่งที่เป็นเช่นนี้อยู่ ติดตามตอนต่อไปนะคะ

นึกถึงหมออนามัยเอาวัคซีนแช่ในต้นกล้วย เจาะรูต้นกล้วยเอาวัคซีนใส่ นี้ก็เคยเห็นน่ะ

แล้วตอนที่ออกไปหยดโปลิโอให้เด็กในรรก็สนุกมาก วิ่งจับกันสนุก

Gotoknow ===> เป็นแหล่ง...แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อกันของสมาชิกนะคะ...ทำให้ได้เรียนรู้  ทั้งทางทฤษฎี และการปฏิบัตินะคะ

 

ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

คุณวอญ่าคะ แล้วต้องต้มเข็มฮีดวัคซีนกันอีก ซึ่งสมัยนี้คงยอมรับกันไม่ได้ แล้วก็ใช้ซึ้งนึ่งสำลี ก๊อสอีก ก็ต้องทำกันไปตามมี ตามเกิด เครื่องนึ่งอัดแรงดันไม่มีหรอกค่ะ ขอบคุณที่มาร่วมแบ่งปันกัน จะได้เห็นความเป็นไป และเป็นมาของงานสาธารณสุขค่ะ

สวัสดีค่ะคุณSomsri จริงนะคะ เวลาได้เล่าเรื่องราวของเราแล้วมีความสุข และได้อ่านเรื่องของคนอื่นก็มีความสุขเช่นกัน เหมือนเปิดโลกให้กว้างไกลในโกทูโนว์แห่งนี้ ขอบคุณมากค่ะ

สวัสดีค่ะคุณชลัญธร ขอขอบคุณดอกไม้กำลังใจ ชาวสาธารณสุขรู้สึกชื่นใจจังเลยค่ะ

ไม่ทันช่วงที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ค่ะ.. แต่อยากบอกว่าสมัยก่อน งานเยอะ คนน้อย อุปกรณ์ไม่เพียงพอ.. แต่สามารถทำงานกันได้อย่างมีความสุข และสนุกกับการทำงาน 

ระยะหลังมานี่ คนไข้มีความรู้มากขึ้น ใส่ใจตัวเองมากขึ้น การฟ้องร้องก็มากขึ้นตามตัว.. ส่งผลให้การทำงานต้องระมัดระวังมากขึ้นเยอะค่ะ

ขอบคุณนะคะสำหรับประสบการณ์ดีๆ

 

สวัสดีค่ะคุณปริม ขอบคุณสำหรับดอกไม้กำลังใจ ทำให้รู้สึกอยากถ่ายทอดประสบการณ์ยิ่งขึ้นค่ะ

ต้องขอขอบคุณคุณณัฐรดาเป็นอย่างยิ่ง ที่กรุณามาอ่านและมอบดอกไม้ให้ รวมถึงทุกท่านที่แวะเข้ามาอ่านด้วยนะคะ

คุณwasawat Deemarn คะ เรื่องเล่าที่กลายเป็นอดีตไปแล้วบางส่วน แต่เชื่อว่ายังมีบางสถานที่ที่เป็นแบบนี้ ตราบใดที่เรายังมีชนบทเป็นพื้นที่อาศัยของคนในบ้านเมืองเราค่ะ ขอบคุณดอกไม้กำลังใจค่ะ

สวัสดีค่ะคุณkunrapee ค่ะสมัยนั้นลำบากอยู่เหมือนกัน ใฟฟ้าจะมีเฉพาะตลาดที่มีคนอาศัยอยู่รวมกันมากๆ ส่วนบ้านโดดที่ห่างออกไปต้องจุดตะเกียง ส่วนบ้านที่มีฐานะแต่ห่างไกลก็มีเครื่องปั่นไฟของตัวเอง สมัยก่อนเราใช้คำว่าพึ่งพาอาศัยเป็นตัวเชื่อมใจกัน การร้องเรียนเกลียดชังจึงไม่มีให้เห็น ปัจจุบันสิ่งสำคัญที่ว่านี้หายไป การสร้างกฎเกณฑ์ขั้นตอนมากไป จึงทำให้ความรู้สึกดีต่อกันหายไปทุกที บริการ24ชั่วโมงยังมีอยู่หรือเปล่า...?ไม่แน่ใจค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันความคิดต่อกันค่ะ

สวัสดีค่ะท่านมหาเหรียญชัยที่คิดถึง แอบนึกว่าท่านคงมาเยี่ยมเพราะชอบงานสาธารณสุขเหมือนกัน ความสุขที่ส่งผ่านไปโดยไม่มีประมาณและเจาะจง งานชนบทเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนและมีวิธีการที่ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ที่สำคัญต้องปรับปรุงทัศนคติตนเองเสียก่อน สมัยนั้นคนที่คิดหลักสูตรให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจึงเป็นผู้ที่ผ่านงานนี้มาด้วยตนเองทั้งนั้น จึงเกิดเป็นหมออนามัยพิมเดียวกันมากมายแม้จะต่างสถาทนที่กันก็ตาม

ชื่นชมและดีใจแทนผู้ป่วยด้วยค่ะ..

สวัสดีค่ะคุณ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ ขอบพระคุณค่ะพี่ ดอกไม้ลีลาวดีสีสันสวยงามมาก ทำให้ได้กลิ่นอ่อนๆด้วยนะคะ การได้ทำในสิ่งที่รู้สึกดี ก็มีความชื่นบานเหมือนดอกไม้ของพี่เลยค่ะ

สวัสดีค่ะพี่รุ่ง เป็นกำลังใจให้นะค่ะ จบจากวิทยาลัยฯเดียวกันค่ะ แต่รุ่นหลังมาก รุ่น 64 ดีใจที่ได้มาเจอรุ่นพี่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณนงรัตน์ พี่รุ่น 46 เลขกลับกันพอดีแต่คงห่างไปหลายปี ยินดีที่รู้จักนะคะ มาเขียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ตามไปที่blogแล้ว ยังไม่มีบันทึกเลย ถือว่าเป็นพี่เสี่ยงก็แล้วกันนะคะ (เป็นประเพณีของเรา มีพี่เสี่ยง น้องเสี่ยงที่เอาใจใส่กันนะคะ )

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท