สรุปรายงานการสัมมนาเรื่อง
"เปิดตาเปิดใจมีส่วนร่วมในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม: กรณีขยะที่โคราช"
วันที่
22-23 กันยายน 2548
จ
.นครราชสีมา
ที่มาของโครงการ
หลังจากทีมวิจัย 3 ทีมที่ทำงานด้านการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุดโครงการ "การสื่อสารเพื่อชุมชน" (สกว.) ได้ดำเนินงานวิจัยสำเร็จลุล่วงไปแล้ว เพื่อมิให้ผลงานวิจัยกลายเป็นเพียงเอกสารที่วางอยู่ในห้องสมุด ทีมวิจัยด้านการสื่อสารสิ่งแวดล้อมทั้ง 3 ทีมได้ร่วมกันจัดการพูดคุยว่า จะมีรูปแบบการทำงานร่วมกันต่อไปอย่างไรในอนาคต โดยมีทีมประสานทำหน้าที่เป็นสื่อกลาง
ผลจากการร่วมปรึกษาหารือกัน ได้ข้อสรุปว่า ทั้ง 3 ทีมจะร่วมกันเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมเผยแพร่และใช้ผลการวิจัยในรูปแบบต่างๆ เวียนกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยพื้นที่แรกที่จะดำเนินงานก็คือ การจัดงานสัมมนาแบบครบวงจร (ทั้งพูดคุยในห้องประชุมและออกไปเรียนรู้ในพื้นที่สนามของจริง) อันเป็นที่มาของการสัมมนาเรื่อง "เปิดตาเปิดใจ..." ครั้งนี้
เป้าหมายของงานสัมมนาครั้งนี้มีอยู่ 4 ประการคือ
(1) เพื่อเปิดมุมมองใหม่ของผู้เข้าร่วมทุกฝ่ายในเรื่องการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมให้กว้างขวางออกไป
(2) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างฝ่ายต่างๆที่เข้าร่วม(3) เพื่อจุดประกายแนวคิดใหม่เรื่อง "นวัตกรรมด้านสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม"
(4) เพื่อวางรากฐานในการสร้างคน/สร้างเครือข่าย/และสร้างทีมงานการสื่อสารสิ่งแวดล้อม
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เจ้าภาพร่วมคือทีมวิจัย 3 ทีมและทีมประสานงานโครงการ "การสื่อสารเพื่อชุมชน" (สกว.) จึงได้กำหนดทั้งกลุ่มคนผู้เข้าร่วมสัมมนา เนื้อหาของการสัมมนา และกระบวนการขั้นตอนการสัมมนา ดังนี้
กลุ่มผู้เข้าร่วมสัมมนา มีจำนวนประมาณ 150 ท่าน ซึ่งประกอบด้วย
(1) ทีมประสานโครงการวิจัยชุด "การสื่อสารเพื่อชุมชน"
(2) ทีมวิจัยในชุดโครงการทั้ง 3 ทีม
(3) ชาวบ้านโนนป่าติ้ว (พื้นที่ศึกษากรณีขยะโคราช)
(4) เทศบาลเมือง อ.ปากช่อง
(5) นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาต่างๆ เช่น จากมหาวิทยาพายัพ
(6) นักวิชาการจากสถาบันที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม
(7) นักศึกษามหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล โดยเฉพาะนักศึกษานิเทศศาสตร์ และที่รวมตัวกันเป็นชมรม Green Media
จากกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมจะเห็นได้ว่า การสัมมนาครั้งนี้จะสามารถช่วยให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหลากหลายคือ
· ในระหว่างทีมวิจัย จะเป็นโอกาสที่ทีมวิจัยได้เข้าใจข้อมูลจากพื้นที่จริงเพิ่มเติมจากที่เคยเรียนรู้ผ่านการอ่านงานวิจัย
· กับพื้นที่วิจัย จะเป็นโอกาสที่ทีมวิจัย จ.โคราชจะได้คืนข้อมูลทั้งหมดให้กับชุมชน
· กับสถาบันการศึกษา เป็นโอกาสที่ทางทีมวิจัยจะได้นำเอาเรื่องการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมเข้าสู่ความสนใจของมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตอย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น (ท่านอธิการบดีมาเปิดการประชุม และมีการจัดนิทรรศการของนักศึกษากลุ่ม Green Media)
· กับหน่วยงานราชการ/ท้องถิ่น เป็นโอกาสอีกครั้งที่ทีมวิจัยจะได้เชื่อมประสานหน่วยงานเช่น เทศกาลที่จะมาร่วมแก้ไขปัญหาขยะกับชุมชน
สรุปเนื้อหาและกระบวนการ
การประชุมทั้ง 2 วันแบ่งเนื้อหาและกระบวนการได้เป็น 5 ส่วนคือ
· วันที่ 22 กันยายน 2548 (ห้องประชุมมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล)
ส่วนที่ 1: การบรรยายเรื่อง "นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม"
ส่วนที่ 2: การเรียนรู้จากงานวิจัยทั้ง 3 เรื่อง
ส่วนที่ 3: เวทีเสวนาเรื่อง "ความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน"
ส่วนที่ 4: การอภิปราย "รูปแบบความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในอนาคตของชุมชน"
· วันที่ 23 กันยายน 2548 (บ้านโนนป่าติ้ว ต.หนองสาหร่าย อ.ปากช่อง)ส่วนที่ 5: ลงดูงานในพื้นที่วิจัย บ้านโนนป่าติ้ว และร่วมเสวนากัน
ส่วนที่ 1: การบรรยายเรื่อง "นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อม" โดยรศ.ดร.กาญจนา แก้วเทพเนื้อหาส่วนนี้เกิดมาจากการวิเคราะห์งานวิจัยทั้ง 4 เรื่องของการสื่อสารเพื่อสิ่งแวดล้อมในชุดโครงการ บวกผสมกับการจัดประชุมพูดคุยเนื้อหาร่วมกับทีมวิจัยทั้ง 3 ทีม
ประเด็นหลักๆของหัวข้อนี้ก็คือ แม้ว่างานวิจัยเรื่องการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมทั้ง 4 เรื่อง จะเลือกเล่นประเด็นสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน เช่น ประเด็นขยะ ป่าชุมชน หรือแม่น้ำลำคลอง ฯลฯ แต่ทว่าจุดร่วมของงานวิจัยทั้ง 4 ก็คือ คณะวิจัยได้ใช้วิธีการสำรวจวิจัยสภาพการณ์ที่เป็นจริงก่อน แล้วจึงค่อยค้นคิดกิจกรรมเพื่อแก้ไขสถานการณ์แล้วจึงวัดผลอีกครั้งหนึ่ง (ที่ทีมประสานสรุปว่า "วัดตัวก่อน แล้วจึงตัดเสื้อ") ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของ "action based on research" และวิธีการดังกล่าวนี้ให้ข้อสรุปแล้วว่าได้ผลดีจริง
ส่วนหลักการเรื่อง "นวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม" นั้น จะประกอบด้วยมิติสำคัญๆ 5 มิติ คือ
หลักการสำคัญๆของนวัตกรรมการสื่อสารเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม เมื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนแบบทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) การสื่อสารที่นำมาใช้ก็ต้องเป็นการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงเช่นกัน
และเนื่องจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีลักษณะเชื่อมโยงกันเป็นตาข่าย วิธีการแก้ไขปัญหา ก็ต้องอาศัยเครือข่ายเช่นกัน เครือข่ายการสื่อสารจึงเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญ
ท้ายที่สุด เรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น จะอาศัยเพียง "ความเข้าใจ/ความรู้" (Knowledge) และทัศนคติ (Attitude) เท่านั้นไม่เพียงพอ แต่จะต้องก้าวไปให้ถึง "การลงมือกระทำ/ปฏิบัติ" (Performance) การสื่อสารเพื่อสร้างผลกระทบระดับพฤติกรรมหรือสื่อกิจกรรมจึงเป็นเรื่องท้าทายนักการสื่อสารด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนที่ 2: การเรียนรู้จากงานวิจัย 3 โครงการ(2.1) งานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อการจัดการป่าชุมชน : กรณีศึกษาป่าชุมชน สะมะแก อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี" โดย รศ.วราพร ศรีสุพรรณ
อ.วราพรได้เริ่มการนำเสนอโดยนำเอาแผนที่เพื่อชี้พื้นที่ตั้งของป่าสะมะแก รวมทั้งหมู่บ้านที่อยู่โดยรอบ จากนั้นก็ได้เล่าพัฒนาการการประกาศจัดตั้งป่าสะมะแกให้เป็นป่าชุมชนจากทางราชการ แต่เนื่องจากเป็นวิธีการแบบจากบนลงล่าง จึงไม่มีการมีส่วนร่วมจากชุมชน แม้ว่าในระยะที่สอง จะมีแกนนำของชุมชนมาจัดตั้งองค์กรเป็นคณะกรรมการป่าชุมชน แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมทุกหมู่บ้าน (กลุ่มผู้เข้าร่วมมีแต่ชาวเผ่าปกาเกอะญอ แต่พี่น้องชาวอีสานไม่ได้เข้าร่วม) การบริหารจัดการป่าชุมชนซึ่งต้องอาศัยการตกลงร่วมกันจากทุกกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียจึงไม่สำเร็จ การบุกรุกป่ายังมีอยู่ตลอดเวลา
จนกระทั่งทีมวิจัยของอ.วราพรได้เข้าทำหน้าที่เป็น "ตัวสื่อกลาง" (Mediating) จัดให้มีการประสานงานระหว่างทุกชุมชน ในช่วงเวลานี้ อ.วราพรได้ตอกย้ำให้เห็นวิธีการทำงานแบบ action research ตามที่ได้กล่าวมา
ผลจากการลงมือปฏิบัติการของทีมวิจัยร่วมกับชุมชน ก่อให้เกิดผลลัพธ์หลายประการ ทั้งผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม
ผลลัพธ์ส่วนที่เป็นรูปธรรมก็เช่น การมีคณะกรรมการป่าชุมชนที่เป็นตัวแทนของทุกชุมชน การมีแกนนำป่าชุมชน (ที่ขยายต่อจากคณะกรรมการ) การมีมาตรการรักษาพื้นที่ ฯลฯ
และส่วนที่สำคัญก็คือ ผลลัพธ์ส่วนที่เป็นนามธรรม อันได้แก่ การเปลี่ยนแปลงความรู้/ความเข้าใจ/ความหมายของป่าชุมชนให้หลากหลายยิ่งขึ้น และส่งผลถึงการเพิ่มขยายบทบาทหน้าที่ของ "ป่าชุมชน" ให้มากขึ้น เช่น นอกจากป่าจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต เป็นห้องรับแขก เป็นห้องเรียนของเยาวชน เป็นแหล่งท่องเที่ยว ฯลฯ นอกจากนั้น ป่ายังทำหน้าที่เป็น "สื่อ" ที่สานใยสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้าน ระหว่างวัฒนธรรม
(2.2) งานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารเพื่อการมีส่วนร่วมจัดการป่าชุมชนของชาวบ้านห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่ โดย อ.ศรีธรณ์ โรจน์สุพจน์
อ.ศรีธรณ์ได้เล่าพัฒนาการของป่าชุมชนห้วยแก้วที่ชุมชนเกิดความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก ในช่วงวิกฤติชุมชนได้ใช้การสื่อสารทุกรูปแบบเพื่อต่อสู้ช่วงชิงป่าชุมชนและประสบความสำเร็จ แต่ก็แลกมาด้วยความบอบช้ำของชุมชน หลังจากได้ป่าชุมชนมาแล้ว ชุมชนก็เลือกที่จะไม่สื่อสารกันเรื่องป่าเพื่อไม่ให้สะกิดบาดแผล ทำให้เรื่องการรักษาป่าชุมชนเป็นไปไม่ได้เพราะมีการดำเนินงานอยู่ในกลุ่มคนเล็กๆ ประมาณ 30 ครอบครัว ซึ่งอ่อนแรงลงทุกที และขาดการสืบทอดเรื่องการรักษาป่าไปให้เยาวชนคนรุ่นใหม่
เมื่อทีมวิจัยเข้าไปสำรวจสถานการณ์ของชุมชนและป่าชุมชนแล้ว ก็ได้ปรึกษาหารือร่วมกับชุมชนที่จะเลือกสื่อมาใช้ ชุมชนได้เลือกสื่อสมัยใหม่เช่น สไลด์ วิดิโอ วิทยุชุมชน เนื่องจากสื่อชุมชนที่มีอยู่ไม่อาจใช้งานได้
ผลที่เกิดขึ้นจากงานชุมชนนี้ก็คือ ชุมชนได้สร้างทั้ง "สื่อบุคคลผู้รู้จักและรักษาป่ารุ่นใหม่" คือ เยาวชน และสื่อบุคคลเหล่านี้ยังมีฐานความรู้ที่จะใช้สื่อประเภทอื่นๆ ทั้งนี้เนื่องจากวิธีการที่ทีมวิจัยใช้นั้น คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนในเรื่องการสื่อสาร ตั้งแต่ระดับการเป็นผู้ผลิต การแพร่กระจาย ไปจนถึงการบริโภคสื่อสำหรับในด้านสิ่งแวดล้อม ผลจากการวิจัยได้ปั้น "ดาราดวงใหม่" ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์ป่าชุมชน เช่น กลุ่มผู้หญิง กลุ่มเด็กและเยาวชน ฯลฯ ซึ่งมีบทบาทไม่เด่นชัดในช่วงเวลาวิกฤติที่ผ่านมา
(2.3) งานวิจัยเรื่อง "การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาขยะท้องถิ่น อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา" โดย อ.จตุรภัทร ชัยสุวรรณ
อ.จตุรภัทรได้เริ่มต้นเล่างานวิจัยโดยตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียในปัญหา เช่น กรณีปัญหาขยะที่บ้านโนนป่าติ้วนั้น มีผู้เกี่ยวข้องอยู่ 3 กลุ่มคือ
(1) เจ้าของปัญหา คือเทศกาลที่เอาขยะไปทิ้ง
(2) กลุ่มชาวบ้าน เป็นผู้รองรับปัญหาทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม
(3) กลุ่มผู้นำ/แกนนำ ที่เป็นกุญแจไขไปสู่ปัญหา
ทีมวิจัยได้ค้นพบว่า ในขณะที่มีปัญหาขยะเกิดขึ้นนั้น ก็ได้มีปัญหาการสื่อสารที่ไม่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นควบคู่ตามไปด้วย และเป็นตัวแปรในการธำรงรักษาปัญหา กล่าวคือไม่มีการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพภายในกลุ่มชาวบ้าน และระหว่างผู้นำกับชาวบ้าน ซึ่งส่งผลมาถึงการขาดการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาระหว่างชุมชนกับเทศบาล
คณะวิจัยได้ทดลองใส่กลยุทธ์การสื่อสาร5 แบบเข้าไปในชุมชน เช่น ทัศนศึกษา เวทีเสวนา ฯลฯ และได้พบว่า ระบบ/รูปแบบการสื่อสารที่เคยมีอยู่ของชุมชน ได้มีการพลิกตัว จากการสื่อสารแบบทางเดียว ไม่มีส่วนร่วม ไม่มีพลังในการแก้ปัญหา ได้กลายมาเป็นการสื่อสารแบบสองทาง/การสื่อสารแบบมีส่วนร่วมและมีพลังในการแก้ปัญหา หลังจากที่การสื่อสารภายในเข้มแข็งแล้ว คณะวิจัยก็ได้เล่นบทเป็น "ตัวสื่อกลาง" เชื่อมต่อให้มีการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมระหว่างเทศบาลและชุมชน ซึ่งส่งผลไปสู่การแก้ไขปัญหาขยะในระดับหนึ่งกล่าวโดยสรุป จากการนำเสนองานวิจัยทั้ง 3 ชิ้น ได้ยืนยันให้เห็นว่า การสื่อสารนั้นสามารถมีบทบาทในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้ หากแต่สำคัญว่า จะต้องเป็น "การสื่อสารแบบไหน/และอย่างไร"
ส่วนที่ 3: การจัดเวทีเสวนาเรื่อง "ความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในชุมชน"
โดยเป็นทัศนะจากฝ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับปัญหาขยะ 4 ฝ่ายคือ ฝ่ายตัวแทนเทศบาล ฝ่ายตัวแทนชุมชน ฝ่ายตัวแทนนักวิชาการ และฝ่ายตัวแทนนักศึกษา
· ฝ่ายตัวแทนชุมชน ได้เล่าถึงสภาพความรุนแรงของปัญหาขยะที่ชาวบ้านต้องประสบแต่ทว่าชาวบ้านยังแก้ไขไม่ได้ เพราะขาดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จนกระทั่งทีมวิจัยไปติดตั้งรูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพให้ การแก้ไขปัญหาจึงคลี่คลายไปได้
· ฝ่ายตัวแทนเทศบาล เสนอว่า การแก้ไขปัญหาขยะต้องการความร่วมมือจากคนทุกกลุ่มที่มีส่วนสร้างขยะ แก้ปัญหาขยะ รับปัญหาจากขยะ รวมทั้งต้องมีการมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีและมีความยั่งยืนด้วย
· ตัวแทนนักศึกษา มองตนเองว่า มีฐานะเป็น "ผู้สร้างขยะ" เช่นเดียวกับคนอื่นๆ เช่น ผู้ลงทุน เจ้าของโรงงาน ฯลฯ ซึ่งต้องระดมผู้สร้างขยะทุกกลุ่มให้เข้ามาร่วมรับผิดชอบ สำหรับนักศึกษาอาจจะเริ่มต้นที่ตนเอง สถาบันตนเอง แล้วใช้สื่อขยายผลออกไปถึงคนอื่นๆ
· ตัวแทนนักวิจัย/นักวิชาการ มองว่า บทบาทของสถาบันวิชาการท้องถิ่นที่จะมีต่อชุมชนนั้นมีได้อย่างหลากหลายมาก เริ่มตั้งแต่การฝึกอบรม การทัศนศึกษา การเป็นตัวกลางประสานงาน ฯลฯ โดยเฉพาะงานด้านการสื่อสารซึ่งมีข้อพิสูจน์จากงานวิจัยแล้วว่า การสื่อสารเป็นตัวแปร/ปัจจัยที่สำคัญตัวหนึ่งในการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม
ส่วนที่ 4: การอภิปราย "รูปแบบความร่วมมือเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมในอนาคตของชุมชน"
ซึ่งเป็นทัศนะจากนักวิชาการด้านการสื่อสารสิ่งแวดล้อม 2 ท่าน คือ อ.วรรณี พฤฒิถาวร จากสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.รัชชานนท์ ศุภพงศ์พิเชฎ จากโครงการสิ่งแวดล้อมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ทัศนะที่สำคัญจากนักวิชาการทั้ง 2 ท่านก็คือ
(1) การรวมตัวของชุมชน เช่น บ้านโนนป่าติ้วด้วยการอาศัยการสื่อสารแบบมีส่วนร่วมนั้น ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆอีกมากมาย เช่น การใช้สารเคมีในการเกษตรชุมชนจึงควร "ออกกำลังกาย" เพื่อให้กลุ่มเข้มแข็งด้วยการทำงานในประเด็นอื่นๆ ของสิ่งแวดล้อมต่อไป
(2) ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้น เป็นปัญหาที่มีหลายมิติ เช่นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านการเมือง ผลลัพธ์รูปธรรมจากบ้านโนนป่าติ้วได้แสดงให้เห็นถึง "เรื่องขี้ผงที่ทรงพลัง" กล่าวคือ ในระยะแรกนั้น ชุมชนไม่มีการแก้ไขปัญหาขยะ เนื่องจากมีผู้นำชุมชนที่อ่อนแอและหลังจากมีการรวมตัวแก้ไขปัญหาขยะแล้ว ชุมชนได้เริ่มสำแดงพลังขยะด้วยการปรับเปลี่ยนผู้นำท้องถิ่นของตน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หรืออบต. โดยเลือกคนที่เอาการเอางานในปัญหาของชุมชน(3) การบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมนั้น ต้องขยายกลุ่มคนที่เกี่ยวข้อง/มีส่วนได้ส่วนเสียให้ครบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องป่าชุมชน ขยะ ฯลฯ จะต้องไม่ลืมกลุ่มสตรี/แม่บ้าน กลุ่มเด็ก/เยาวชน และในการใช้การสื่อสารเพื่อการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นจะต้องให้ชาวบ้านร่วมกันคิดวิเคราะห์ปัญหาด้วยตนเอง เช่น บรรดาผลิตภัณฑ์ที่ใช้อยู่ในบ้านนั้น มีอันตรายต่อสุขภาพมากน้อยเพียงใด แต่เดิมปู่ย่าตายายเราเคยใช้อะไร เป็นต้น
(4) สำหรับการวางแผนด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จะต้องใช้การสื่อสารเพื่อเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การวางแผนจัดการสิ่งแวดล้อมแบบ top-down เช่น การสร้างเตาเผาขยะ การกลบฝัง ฯลฯ หากไม่พูดคุยปรึกษากับชุมชน แผนงานนั้นเมื่อแก้ปัญหาอย่างหนึ่ง ก็จะไปสร้างปัญหาอีกแบบหนึ่ง เป็นต้นส่วนที่ 5 : การเรียนรู้จากของจริง
ในวันที่ 23 ก.ย. 2548 อันเป็นวันที่สองของการประชุม ผู้เข้าร่วมสัมมนาก็ได้โยกย้ายเวทีการเรียนรู้จากห้องประชุม มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุลไปสู่บ้านโนนป่าติ้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ของทีมวิจัย หมู่บ้านนี้ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง ห่างจากตัวเมืองโคราชไปประมาณ 100 กิโลเมตร
เมื่อไปถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านได้เตรียมตัวต้อนรับคณะผู้ร่วมสัมมนาด้วยการจัดหารถอีแต๋นเอาไว้ประมาณ 10 คัน สำหรับบรรทุกพาคณะวิจัยซึ่งมีประมาณ 60 คนไปยังพื้นที่ที่ทิ้งขยะซึ่งอยู่อีกปีกหนึ่งของหมู่บ้าน
สำหรับทีมประสานซึ่งเคยเข้าไปเยี่ยมหมู่บ้านโนนป่าติ้วในช่วงแรกของงานวิจัย พบว่า หมู่บ้านมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอย่างมาก เริ่มตั้งแต่มีการทำถนนเข้าหมู่บ้าน บริเวณรอบๆหมู่บ้านมีลักษณะถูกสุขาภิบาลมากขึ้น ร่องน้ำรอบๆหมู่บ้านใส่สะอาดจนสัตว์เลี้ยงลงไปว่าย/กินได้ กลิ่นขยะน้อยลง ความชุกชุมของแมลงวันน้อยลง ฯลฯอย่างไรก็ตาม เมื่อรถอีแต๋นพาผู้เข้าร่วมประชุมไปถึงบริเวณที่ทิ้งขยะ ก็พบว่าในบริเวณนั้นมีกลิ่นเหม็นมาก วิธีการกำจัดขยะยังคงใช้การฝังกลบและขยายพื้นที่มากขึ้น จนทำให้ชาวบ้านที่มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดและมันในรอบบริเวณใกล้ๆประสบปัญหา รวมทั้งบริเวณที่ทิ้งขยะอยู่สูงกว่าหมู่บ้าน เมื่อเวลาฝนตก น้ำจากกองขยะจึงไหลเข้าหมู่บ้านหลังจากดูพื้นที่และรับประทานอาหารแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมพูดคุยกับชาวบ้านซึ่งมีทั้งตัวแทนชุมชน (ผู้ใหญ่บ้าน/อบต.) กลุ่มคนที่เดือดร้อน ซึ่งได้มาตอกย้ำถึงปัญหาของชุมชน
ในส่วนของผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่มคน 6-7 กลุ่ม (กลุ่มเดียวกับวันแรก) ก็ได้ออกไปแสดงความคิดเห็นต่อปัญหาขยะที่ชุมชนประสบอยู่ รวมทั้งข้อเสนอแนะแก้ปัญหาที่อยู่ในบทสรุปของ อ.นิคม ชัยชุมพล จากมหาวิทยาลัยพายัพว่า
ปัญหาขยะนี้จำเป็นต้องมี 5 ประสานคือ
(1) คนผลิตขยะ ซึ่งต้องรับผิดชอบทั้งด้านการลดปริมาณขยะ และจำเป็นต้องจ่ายในการกำจัดขยะ
(2) ฝ่ายปกครอง ได้แก่ เทศบาล ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ได้ลงมาเห็นปัญหาชุมชนด้วยตนเอง และได้แสดงจุดยืนว่า จะร่วมมือแก้ไขไปพร้อมๆกับชุมชน
(3) ฝ่ายนักวิชาการ อันได้แก่ คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล ซึ่งน่าจะเป็นตัวประสานความร่วมมือจากทุกๆฝ่าย
(4) ตัวชุมชนเอง ซึ่งผ่านประสบการณ์การต่อสู่มาอย่างเข้มแข็งและมีกำลังใจดี อย่างไรก็ตาม ชุมชนเองก็ต้องเป็นทั้งจุดเริ่มต้นและเป็นตัวกระตุ้นการแก้ปัญหาเพราะเป็นผู้รับผลกระทบโดยตรง
(5) ต้องมีการหนุนช่วยจากสื่อมวลชน เพื่อให้ปัญหาของชุมชนกลายเป็นปัญหาของสาธารณะ เนื่องจาก "สาธารณะ" เป็นผู้สร้างขยะด้วย
และการประชุมสัมมนาครั้งนี้เป็นที่น่ายินดีว่ามีตัวแทนจากทั้ง 5 ฝ่ายมาพบปะพูดคุยเพื่อหาทางออกร่วมกันในระดับหนึ่ง
ทีมประสาน
30 ก.ย. 2548
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นพ. ชาตรี เจริญศิริ ใน สื่อสารสุข
1.นามสกุล อ.นิคม เป็น"ชัยขุนพล" คะ ข้าน้อยผู้ตรวจปรู๊ฟสมควรตาย
2.อยากเห็นรูปผู้เข้าร่วมนั่งรถอีแต๋นคะ
กาญจนา