หม้ออะไรเอ่ยมีขา ?


อีกหนึ่งความคิดสร้างสรรค์ของบรรพชน

วันนี้เราทักทายกันด้วยคำถามนะคะ หม้ออะไรเอ่ยมีขา ? มีใครทราบคำตอบไหมค่ะ  ห้ามตอบว่าหม้อหุงข้าวไฟฟ้านะคะ  เฉลยเลยดีกว่า คำตอบคือ หม้อสามขา  สมัยก่อนประวัติศาสตร์ค่ะ  ถ้าใครเคยมาเที่ยวที่พิพิธภัณฑถสานแห่งชาติ  ชุมพร  คงเคยเห็นโบราณวัตถุที่ทำด้วยดินเผา รูปร่างยาวรีคล้ายทรงกระบอกและมีรู โบราณวัตถุชิ้นนี้คือ ส่วนขาของหม้อสามขา นั่นเองค่ะ  หม้อสามขาที่พบส่วนใหญ่จะอยู่ในสภาพชำรุด  โดยเฉพาะส่วนขาจะหักหลุดออกจากตัวหม้อเสมอค่ะ  หม้อรูปทรงแปลกๆ นี้มีความเป็นมาอย่างไร และทำไมต้องมีขายาวออกมาจากตัวหม้อ  มาติดตามหาคำตอบกันเลยค่ะ

หม้อสามขา

(หม้อสามขาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า  จ.กาญจนบุรี)

          หม้อสามขา (tripods) เป็นภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์  มีขา  3  ขา  ติดอยู่ที่สันภาชนะ  ขามีลักษณะกลมเรียวและกรวง  บริเวณส่วนบนหรือส่วนล่างของขาเจาะรู 1 - 2 รู ถ้าเป็นขาขนาดเล็กอาจมีเพียงรูเดียว  ตัวหม้อและขาทำคนละครั้ง เมื่อเสร็จแล้วจึงนำมาต่อกันจึงเห็นรอยต่อบนผิวหม้อเป็นสันนูน  หม้อสามขามีขนาดต่างๆ กัน ตั้งแต่ขนาดใหญ่มากจนถึงขนาดเล็ก 

การใช้งาน
สันนิษฐานว่าเป็นภาชนะที่นำมาใช้สอยในชีวิตประจำวัน  โดยขาที่ต่อออกมาจากตัวหม้อคงใช้วางคร่อมไฟแทนการตั้งบนเส้า และรูที่ขาคงช่วยเรื่องการระบายความร้อน 

ความเป็นมา
การผลิตหม้อสามขาสันนิษฐานว่าน่าจะเริ่มต้นในประเทศจีนก่อน  เพราะพบหลักฐานทางภาคกลางและทางใต้ของมณฑลชานสี (Shansi)  และในจังหวัดต่างๆ ทางด้านตะวันตกของมณฑลเหนอหนาน (Haunan) ซึ่งจัดอยู่ในวัฒนธรรมหินใหม่ของจีนที่เรียกว่า  วัฒนธรรมหยังเชา (Yang Shao) มีอายุประมาณ  7,000  ปีมาแล้ว  หม้อสามขาเริ่มได้รับความสนใจเมื่อได้มีการขุดค้นทางโบราณคดีที่ไทรโยก  โดยนายแวน เฮ็ดเคอเร็น นักโบราณคดีชาวฮอลแลนด์ และการขุดพบหม้อสามขาที่แหล่งโบราณคดีบ้านเก่า จังหวัดกาญจนบุรี โดยนายเปีย  ซอเร็นเซ็น  นักโบราณคดีชาวเดนมาร์ก  โดยให้ชื่อว่า  วัฒนธรรมบ้านเก่า  มีอายุระหว่าง  2,000 - 3,000 ปีมาแล้ว

หม้อสามขาที่พบในภาคใต้ 


                                                       (หม้อสามขา พิพิธภัณฑ์ฯ ชุมพร)

หม้อสามขาที่พบในบริเวณภาคใต้ของประเทศไทย  ตัวหม้อมักเป็นภาชนะรูปชามมีสัน โดยสันอยู่กลางลำตัวและต่ำ  ขอบปากผาย  ก้นตื้น ขาหม้อมักเป็นขาเรียวยาว  ค่อนไปทางทรงกระบอกมากกว่าทรงกรวย  ปลายล่างสุดของขาตัดตรง  แตกต่างจากหม้อสามขาที่พบที่จังหวัดกาญจนบุรี  ซึ่งตัวหม้อเป็นรูปหม้อมีสัน  ก้นลึก  ขอบปากค่อนข้างแคบ  และขามีลักษณะเป็นรูปกรวยปลายแหลม รูปแบบและขนาดสัดส่วนของภาชนะของหม้อสามขาในภาคใต้  ทั้งที่พบจากการขุดค้นทางโบราณคดีและการสำรวจในแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในจังหวัดชุมพร  สุราษฎร์ธานี
  กระบี่  พังงา  และตรัง  จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับหม้อสามขาที่พบที่  กัว  เบอร์ฮาลา (Gua Berhala)   และบูกิต  กาปลู (Bukit Kaplu) รัฐเคดาห์  ประเทศมาเลเซีย                                             

เอกสารอ้างอิง

- สถาบันทักษิณคดีศึกษา. สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้  พ.ศ.2529 เล่มที่  2 และเล่มที่  10. กรุงเทพฯ:อมรินทร์การพิมพ์, 2529.

หมายเลขบันทึก: 4954เขียนเมื่อ 5 ตุลาคม 2005 11:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)
อยากทราบว่า  ทำไมมนุษย์ในยุคต่อมาจึงเลิกใช้หม้อสามขา ทั้งที่หม้อสามขาให้ประโยชน์มากกว่า
ก็เพราะว่ามนุษย์ในยุคต่อมารู้จักการสร้างเตาไฟไงละคะ ไม่ต้องก่อเป็นกองฟืนเหมือนในยุคโบราณ  ขาจึงไม่จำเป็น

ถึง คุณผู้ไม่ประสงค์ออกนาม

     ขอบคุณที่ช่วยให้ความกระจ่าง

     ผมคิดมากเองว่า    มันน่าจะมีนัยยะมากกว่าการรู้จักดัดแปลงสร้างเตาไฟ     เพราะคิดง่ายๆ เองว่าแค่วางหินสามเส้าก็ตั้งหม้อที่ไม่มีขาได้ จากนั้นก็พัฒนาเป็นเตาไฟได้โดยไม่จำเป็นต้องคิดทำหม้อสามขาก่อน  

     การคิดทำหม้อสามขาจึงน่าจะมีนัยยะมากกว่าการใช้ขาแทนเส้า  การเกิดขึ้นของหม้อสามขาจึงน่าจะเกิดขึ้นจากคุณสมบัติพิเศษของหม้อสามขา  ที่เครื่องมือชนิดอื่นไม่สามารถทดแทนได้ ทำให้มีการใช้หม้อสามขาต่อเนื่องไปเป็นระยะเวลานาน นานมากพอที่จะคิดประดิษฐ์เตาไฟได้ด้วยซ้ำ   จนกระทั่งสามารถผลิตเครื่องมืออื่น (ที่ไม่ใช่เตาไฟ)ทดแทนหม้อสามขาได้

 

 

 มนุษย์พัฒนาอุปกรณ์ต่างๆขี้นมาก็เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตง่ายขึ้น สะดวกสบายขึ้น การวางหินมันไม่มั่นคงถาวร อาจทำให้หม้อคว่ำได้ มนุษย์จึงพยายามทำอะไรที่มั่นคงถาวร ซึ่งจะสามารถใช้ได้อย่างดีในบ้านที่ยังไม่มีเตาไฟใช้คะ ถึงแม้มีการคิดสร้างเตาไฟแล้ว แต่ก็ใช่จะมีทุกบ้าน ดังนั้นหม้อสามขาจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด  ขาเหล็ก 3 ขา ก็แทนหินสามเส้าไงละคะ

ถึง  คุณผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม

     ขอบคุณมากๆ อีกครั้ง   

     แต่ผมก็ยังไม่เห็นด้วยกับคุณนะ   ผมว่า มันน่าจะมีคำอธิบายที่ชัดเจนกว่านี้ 

     และช่วยออกนามได้ไหมครับ  จะได้รู้จักกัน

ดีใจจังค่ะ ที่มีผู้เข้ามาเสนอความคิดเห็นในหัวข้อนี้ ทางพิพิธภัณฑ์จะหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องการที่หม้อสามขาหมดความนิยมลงไปมาบอกเล่าให้เพื่อนๆ ฟังในคราวหน้านะคะ   

ดีใจจังค่ะ ที่ทางพิพิธภัณฑ์จะช่วยไขความกระจ่าง แต่ดิฉันก็ยังเชื่อว่า หม้อสามขาทำขึ้นเพื่อใช้แทนการตั้งบนหินซึ่งไม่มีความมั่นคง และต่อมามีการสร้างเตาไฟแต่ยังไม่แพร่หลายในหมู่ประชาชน หม้อสามขาจึงยังเป็นที่นิยมใช้ต่อมาเรื่อยๆ จนกระทั่งการใช้เตาไฟแพร่หลายมากขึ้นหม้อสามขาจึงค่อยๆลดความสำคัญลงไป

นี่เป็นเพียงความคิดของคนธรรมดาคนหนึ่งคิดไปตามสามัญสำนึกของความเป็นมนุษย์ว่าสิ่งต่างๆเกิดขึ้นได้อย่างไร พัฒนาไปอย่างไร เป็นความคิดขั้นพื้นฐานง่ายๆเท่านั้นคะ ไม่มีอะไรซับซ้อน

การใช้ไฟประกอบอาหารในยุคแรกๆ มีหลายรูปแบบ ที่ขุดหลุมลงไปก็มี  ที่วางหินก่อเป็นเส้าก็มี หรือด้วยวิธีอื่นก็มี     แต่ก็มีปัญหาในการควบคุมการลุกไหม้ของเชื้อเพลิง    จึงคิดทำเตาไฟขึ้น  เพื่อที่จะควบคุมการลุกไหม้ของเชื้อเพลิงให้ร้อนได้มากน้อยตามความต้องการ  หรือเพื่อให้ได้ความร้อนสูงขึ้น    เตาไฟที่ทำขึ้นนี้ก็มีหลากหลายรูปแบบ  เป็นเตาตั้งหม้อก็มี  เป็นเตาผิงก็มี  

ข้าวของเครื่องใช้ที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมา จะมีรูปลักษณ์อย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับประโยชน์ใช้สอยเป็นสำคัญ   นอกจากนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถ ทักษะฝีมือ เครื่องมือ วัสดุ ที่มนุษย์คนนั้นมีอยู่ เมื่อสิ่งใดหมดประโยชน์ใช้สอยด้วยมีสิ่งอื่นมาทดแทน  มนุษย์ก็จะเลิกใช้เลิกผลิตสิ่งนั้น      หากจะใช้สิ่งนั้นต่อไป ก็มุ่งประโยชน์อย่างอื่นแทน ของสิ่งนั้นก็จะเปลี่ยนหน้าที่ไป      

ขอตั้งข้อสังเกตว่า หม้อสามขาที่พบในประเทศไทยส่วนใหญ่จะพบทางด้านตะวันตกของประเทศ จากข้อมูลที่อ่านในเวบนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้หรือไม่ และการพบหม้อสามขาตั้งแต่ทางภาคเหนือลงมาถึงทางใต้ในด้านตะวันตกเข้าไปถึงในประเทศมาเลเซีย ก็อาจแสดงถึงการเคลื่อนย้ายหรือการติดต่อกลุ่มชนดังกล่าวก็เป็นได้

ขอบคุณมากค่ะ ช่วยเรื่องการทำค้นหาในรายงานได้เยอะเลย ถ้ามีวัตถุโบราณวัตถุอะไรที่แปลกๆ อีก ก็นำมาเสนอได้นะค่ะ THANK YOU

หม้อสามขามีความสำคัญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ยังไงหรอค่ะ

ช่วยตอบด้วยค้าาาาาาาา..........

แปลกนะค่ะหนูก็เคยอ่านมาแล้วค่ะ  มีสาระมากค่ะ   

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท