คุณภาพชีวิตที่ดีกับสังคมดิจิตอล


สังคมดิจิตอล

คุณภาพชีวิตที่ดีกับสังคมดิจิตอล Good quality of life and Digital society

เอนก สุวรรณบัณฑิต นักศึกษาปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาปรัชญาและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

วารสารปรัชญาเอนกประสงค์" ฉบับที่ 3 ปี พ.ศ.2555

ปัจจุบันสังคมในทุกภาคส่วนต่างเพรียกหาการพัฒนาสังคมให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น คุณภาพที่ต้องการ (require) นั้นเป็นคุณภาพในแง่ความสงบสุข (calmness) สันติภาพ (peace) มีน้ำใจ (kindness) เป็นพันธมิตร (alliance) คุณภาพเช่นนี้เป็นสิ่งที่ได้รบการยอมรับว่าดีกว่า การพัฒนาคุณภาพเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เมื่อผู้คนในสังคมพร้อมใจที่จะทำความดี มนุษย์ทำดีเพราะทำดีแล้วมีความสุข มนุษย์มีเสรีที่จะเลือกแสดงพฤติกรรมใดๆ ก็ได้ตามแต่ใจตนเอง การประพฤติดีให้ปรากฎนั้นก็เป็นการเลือกอย่างหนึ่ง ผู้ที่ตัดสินใจเลือกประพฤติดีก็เพราะเขามีจิตใจที่ฝักใฝ่ในความดี รู้สึกว่าเมื่อทำความดีแล้วมีความสุข เมื่อใช้มาตรการเช่นนี้ สังคมจึงไม่นับผู้ที่ทำดีเพื่อผลรางวัลหรือชื่อเสียงว่าเป็นผู้ประพฤติดี การทำความดีแล้วผู้ที่ทำมีความสุขอย่างไร ความปิติยินดีที่ได้ทำความดีได้รับการอธิบายไว้ในศาสนาต่างๆ หากแต่ผู้เขียนขอแสดงข้อคิดเห็นส่วนตัวว่าการที่มนุษย์จะเลือกทำความดี การตัดสินใจที่มีเสรีย่อมต้องไม่ตาบอดที่จะเลือกสุ่มว่าจะทำอะไร ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ถ้าเป็นเช่นนั้นมนุษย์คงทำลายล้างกันหมดสิ้นสูญพันธุ์กันไปนานแล้ว ไม่อาจสืบทอดอารยธรรมมาได้จนถึงทุกวันนี้ ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้จากศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือและยอมรับในเหตุผลอย่างนั้นโดยไม่มีข้อกังขา ปัจจัยนั้นก็คือมนุษย์เลือกทำสิ่งต่างๆ ตามสัญชาตญาณ สัญชาตญาณที่มนุษย์พยายามที่จะแสวงหาความสุขให้แก่ตนเอง คำถามสำคัญที่เกิดตามมาในทันทีคือ สัญชาตญาณมนุษย์มีหรือไม่ มโนทรรศน์อันหนึ่งที่มนุษย์เราได้เชื่อกันมาอย่างเป็นจริงเป็นจังก็คือเรามีสัญชาตญาณ (instinct) ที่จะเอาชีวิตรอด นั่นคือสามารถที่จะทำอะไรก็ได้หากมีภัยมาถึงตน คนที่บ้านไฟไหม้แล้วตกใจมาก สามารถยกตู้เย็นหรือตุ่มน้ำหนีออกมา แต่ลืมเงิน ของมีค่าไว้ในกองไฟได้ ในทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ว่าเป็นผลจากการที่ร่างกายผลิตสารเคมีกลุ่มฮอร์โมนที่ชื่ออดรีนาลีน (Adrenaline) ทำให้เรามีพลัง (power) แต่ก็ทำให้การตัดสินใจผิดพลาด (rational error) ที่นี้นักปรัชญามองกว้างออกไป แล้วคิดว่ามนุษย์มีสัญชาตญาณไม่เพียงแค่เท่านี้ มนุษย์พ้นจากสภาวะแห่งการหนีเอาชีวิตรอด มาเป็นต่อสู้ดิ้นรนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ดีขึ้นอย่างไรก็ขึ้นกับยุคสมัยนั้นๆ อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญชาตญาณมนุษย์ (ผู้เขียนได้ดูภาพยนตร์ทางโทรทัศน์เรื่อง Star Trek : the next generation ตอนหนึ่ง ยานสำรวจอวกาศได้พบปรากฏการณ์กลุ่มพลังงานที่เชื่อว่ามีรูปแบบคิด สั่งการ แต่ตัวละครในเรื่องได้กล่าวว่า ด้วยสัญชาญาณมนุษย์ (human instinct) ไม่มีสิ่งยืนยันว่าสิ่งที่พบเป็นสิ่งมีชีวิต) จุดคิดนี้ทำให้ผู้เขียนมองย้อนไปยังแนวคิดวิทยาศาสตร์ที่จะต้องวัดสิ่งต่างๆ ออกมาให้ได้ใน 2 มิติ และ 3 มิติ แต่ในด้านระบบคิดของมนุษย์นั้นไม่อาจแสดงออกเป็น 2 หรือ 3 มิติได้ ทุกสิ่งที่มนุษย์เข้าใจเป็นการแปลความหมายของสิ่งที่ผ่านกระบวนการคิดของสมองและสั่งการออกมา ในแง่จิตใจนั้นมนุษย์มีความซับซ้อนอย่างยิ่ง วิชาจิตวิทยาจึงได้พัฒนาและแยกตัวไปจากปรัชญาเพราะว่ามีหลักการพื้นฐานที่แน่ชัดของตน นักปรัชญาเพียงมองตามและพินิจพิเคราะห์สิ่งที่มีประโยชน์นำมาช่วยเสริมปรัชญาของตน

คุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์นั้นจะเป็น สิ่งดี ถ้ามนุษย์นั้นมีความพึงพอใจ ถ้าพอใจอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไร ไม่ต้องการความก้าวหน้าหรือการเปลี่ยนแปลง ขอแค่เท่านี้ ไม่แย่ไปกว่านี้ก็พอ ถ้าพอใจเท่านี้ก็มีนิยามที่พ้องต้องกันกับลักษณะเฉพาะของสสาร ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือ ก้อนหิน ด้วยชีวิตอันแสนสั้นของมนุษย์ ก้อนหินคือตัวอย่างของการหยุดเฉย ไม่เปลี่ยนแปลง มนุษย์ที่ชอบให้ตนมีคุณภาพชีวิตเช่นนี้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีสัญชาตญาณสสารอย่างแรงกล้า ถ้ามนุษย์มีความพึงพอใจในการได้มาเพื่อให้ตนเองอยู่ดีกินดี เติบโต มั่งคั่ง แสวงหาจากสิ่งรอบตัวเพื่อให้ตนมีระดับการดำรงชีวิตที่ดีกว่าผู้อื่น สิ่งที่เทียบเปรียบได้และเห็นชัดก็คือพืช พืชที่ว่านี้คงเป็นพวกวัชพืช กาฝาก มนุษย์ที่ชอบคุณภาพชีวิตเช่นนี้ คงต้องถือว่ามีสัญชาตญาณพืช ความต้องการอีกอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ต่างจากสัตว์และเข้ากันได้กับทฤษฎีการคัดสรรทางธรรมชาติของดาร์วิน (Darwin 1809-82) นั่นคือมนุษย์มีความต้องการทางเพศ ที่ไม่จำกัดฤดูกาล เป็นความต้องการสืบสายพันธุกรรม สืบทอดตระกูล เพื่อให้เกิดตัวเลือกที่แข็งแรงที่จะอยู่รอดในธรรมชาติ ความต้องการชนิดนี้ขยายมาเป็นความต้องการการมีสัมพันธภาพที่ดี มีเพื่อนฝูง การรวมกลุ่มกัน นั่นก็มีรูปแบบเช่นเดียวกับการรวมฝูงของสัตว์ มนุษย์ที่ชอบคุณภาพชีวิตเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีสัญชาตญาณสืบทอดยีนส์ (ผู้เขียนไม่ถือว่าเป็นสัญชาตญาณสัตว์ ไม่อย่างนั้นคงต้องแบ่งระดับกันอีกว่าเป็นระดับใด)

คุณภาพชีวิตของมนุษย์ที่เราถือได้ว่าเป็นมนุษย์ (homo) ก็คือการแสดงสัญชาตญาณปัญญา ซึ่งแอร์เริสทาทเทิล (Aristotle ก.ค.ศ. 384-322) ได้แสดงไว้ว่ามนุษย์เป็นสัตว์ปัญญา (man is a rational animal) การใช้ปัญญาเป็นคุณภาพชีวิตที่มนุษย์ชื่นชอบและพัฒนาอย่างต่อเนื่องนับแต่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ แต่กระนั้นมนุษย์ชอบมองธรรมชาติ ชื่นชม และเกิดมโนทรรศน์ในการเลียนแบบว่ามีคุณภาพชีวิตอย่างนั้นเป็นคุณภาพชีวิตที่ดี จึงแสดงสัญชาตญาณปัญญาเพื่อหนุนสัญชาตญาณในระดับอื่นที่ต่ำกว่าโดยถือว่าเป็นเป้าหมายในชีวิต (life goal) อย่างหนึ่งเช่นกัน สัญชาตญาณปัญญาของมนุษย์นั้นเป็นสิ่งที่นักปรัชญาสนใจ ที่ผ่านมานักปรัชญามองว่าเป็นพัฒนาการทางปรัชญา ความเจริญทางปัญญาได้ถูกแบ่งเป็นสมัยใหญ่ๆ ซึ่งมนุษย์ผู้มีปัญญาในสมัยนั้นๆ มีมโนทรรศน์ที่ใกล้เคียงกัน ศาสตราจารย์กีรติ บุญเจือได้แสดงมโนคติเช่นนี้ไว้โดยแบ่งปรัชญาออกเป็นกระบวนทรรศน์ 5 สมัย ได้แก่ ดึกดำบรรพ์ โบราณ ยุคกลาง นวยุคและหลังนวยุค ซึ่งต่อมาท่านก็ได้บูรณาการแนวคิดเหล่านี้ออกมาเป็นมโนคติสำคัญคือ มนุษย์แสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามสัญชาตญาณ มี 4 กลุ่ม 8 ระดับ ผู้เขียนขอสรุปออกเป็นลำดับดังนี้

  1. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณสสาร
  2. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณพืช
  3. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณสืบทอดยืนส์
  4. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญา

4.1. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญายุคดึกดำบรรพ์

4.2. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญายุคโบราณ

4.3. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญายุคกลาง

4.4. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญานวยุค

4.5. คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญาหลังนวยุค

คุณธรรมหายไปได้ไหม

การพัฒนาสังคมที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตนั้นไม่เพียงแต่ต้องการสังคมที่มีความเจริญทางด้านวัตถุ หากแต่ต้องการสังคมมีอารยะด้วย กระแสหลังนวยุคเองก็ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง คุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญาหลังนวยุคได้แสดงผลผ่านการพังทลายของกำแพงเบอร์ลิน คนรุ่นใหม่มีความใฝ่ฝันต่อคุณภาพชีวิตเช่นนี้โดยไม่ต้องมีใครมาหว่านล้อมหรือโฆษณาชวนเชื่อใดๆ แต่แล้วคำมหัศจรรย์คำหนึ่งก็กระตุกขาหลังของสังคมที่กำลังพุ่งไปข้างหน้า คำนั้นคือ “คุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมลดลง” อะไรเป็นสาเหตุ อะไรเป็นหลักฐานแสดงว่าคุณธรรมจริยธรรมของคนในสังคมลดลง การพัฒนาความเจริญทางวัตถุนั้นในอีกด้านหนึ่งก็เป็นตัวเร่งของการทำลายคุณภาพของสังคม แรงกระแทกทางวัฒนธรรมที่หลั่งไหลจากทุกมุมโลกทำให้อัตลักษณ์ของสังคมลดลง คำตอบที่ได้เช่นนี้ก็ยังไม่อาจยอมรับได้เสียทั้งหมด แต่คนในสังคมก็รู้สึกได้เหมือนๆ กัน ดังนั้นจึงพอให้ได้กระตุ้นเตือนให้คิดได้ว่าคุณธรรมจริยธรรมได้ลดลงไปจริง แต่ไม่ได้หายไปจนหมดสิ้น นักปรัชญาหลังนวยุคมักจะวิพากษ์ว่าผลพวงที่ทำให้คุณธรรมจริยธรรมลดลงไปก็คือผลของการใช้ปัญญานวยุคนั่นเอง เหตุผลหลักเพราะนวยุคไม่ปรองดองกับศาสนา ทำให้คนจำนวนมากจับผิดศาสนา ละเลยข้อปฏิบัติ คุณธรรมจึงหายไป หากส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กลับมาเฟื่องฟู สังคมก็จะมีคุณภาพดีขึ้น คุณธรรมจริยธรรมจึงเป็นเหมือนยาขนานเอกที่ทุกฝ่ายเชื่อว่าจะส่งเสริมคุณภาพสังคมให้ดีขึ้นได้ คุณธรรม (moral) และจริยธรรม (ethic) เป็นชุดหนึ่งของการปฏิบัติดีจนเคยชิน คำถามทีเกิดต่อมาคือคุณธรรมจริยธรรมชุดใดที่จะทำให้คนในสังคมได้ประพฤติดีและทำให้สังคมโดยรวมมีคุณภาพที่ดีขึ้น แน่นอนว่าไม่มีคำตอบใดที่ตอบได้อย่างแท้จริง คุณธรรมดึงเอาข้อธรรม ศีลของแต่ละศาสนามาแสดง จำนวนก็ยิ่งมาก การสรรหาบุคคลต้นแบบก็ทำให้รู้สึกว่าจะประพฤติตนเช่นท่านผู้นั้นก็ยาก ข้ออ้างสำคัญคือสังคมเปลี่ยนไป การจะประพฤติเช่นบุคคลต้นแบบย่อมไม่อาจทำได้ การอบรมคุณธรรมที่ผ่านมาจึงเป็นการสอนให้รู้ว่าความประพฤติดีนั้นมีอะไรบ้าง ทำอย่างไร แต่จะกระตุ้นให้ผู้ที่เรียนรู้ประพฤติตามนั้นเป็นเรื่องของสำนึกคิดของแต่ละบุคคล การอบรมจริยธรรมก็เป็นการแสดงชุดของความประพฤติที่ดี อาจตรงกับศีลธรรมของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง หรือไม่ตรงก็ได้ จริยธรรมสามารถปรับได้ตามขนบธรรมเนียมของสังคมนั้น เมื่อพิจารณาเช่นนี้ก็อาจมองได้ว่าการอบรมจริยธรรมน่าจะมีความคล่องตัวในการนำไปประพฤติปฏิบัติได้ง่ายกว่าการอบรมคุณธรรม หากแต่ทุกฝ่ายก็ประจักษ์อย่างยิ่งว่าการอบรมจริยธรรมนั้นก็พบปัญหาดุจเดียวกันกับการอบรมคุณธรรม ไม่มีผู้ใดบอกหรือพยากรณ์ได้ว่าผู้ที่ได้รับการอบรมจะประพฤติดีได้มากน้อยเพียงใด เหตุผลสำคัญคือคุณธรรมจริยธรรมมีความซับซ้อน ต้องมองผ่านปรัชญา จิตวิทยา ประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา โดยมีวิทยาศาสตร์ และนิยามเป็นเครื่องค้ำประกันความเข้าใจให้เห็นตรงกัน ถ้าศึกษาอัคฆวิทยาอย่างจริงจังคงตอบปัญหาได้อย่างลุ่มลึก ผู้เขียนมีภูมิหลังด้านจิตวิทยาซึ่งจิตวิทยาสายจิตวิเคราะห์ชื่นชอบที่จะตั้งชื่อให้แก่สิ่งต่างๆที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การหลงตัวเอง ก็เชื่อว่าเกิดจากต่อมหรือปมหลงตัวเอง (narcissus complex) จึงน้อมรับและเชื่อตามอาจารย์กีรติ บุญเจือที่ได้มองว่ามนุษย์นั้นมีคุณธรรมจริยธรรมอยู่แล้ว เรียกว่า มีต่อมคุณธรรม ผู้เขียนไม่ทราบว่าจะให้คำภาษาอังกฤษว่าอย่างไร ในทีนี้จึงขอใช้เป็น virtue complex ไปพลางๆก่อน ต่อมคุณธรรมนี้คือความซับซ้อนของกระบวนการทางจิตและไม่มีต่อมนี้อยู่จริงในทางชีววิทยา ดังนั้นถ้าหากต้องการปลุกฟื้นให้คุณธรรมจริยธรรมในสังคมเพิ่มขึ้นจากเดิมจะต้องทำให้ต่อมคุณธรรมแตก การแตกนี้ไม่ใช้การแตกทำลาย แต่เป็นการแตกกระจายเพื่อให้จิตที่มีปัญญา สามารถประเมิน ตัดสินในเนื้อหาคุณธรรมจริยธรรมได้เป็นอย่างดี ได้แทรกซึมไปในทุกรูขุมขน เหมือนที่ฮอร์โมนอดรีนาลีนซึบซาบไปทั้งร่างเมื่อตกใจ เมื่อคุณธรรมและจริยธรรมแทรกซึมในร่างของมนุษย์ มนุษย์คนนั้นก็จะใช้สัญชาตญาณปัญญาในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และเลือกประพฤติดี เมื่อประพฤติดีจนเคยชิน ก็เกิดเป็นอุปนิสัย ทั้งยังเป็นความสุขของชีวิตและเป็นคุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญาหลังนวยุค

ในฐานะนักปรัชญาก็คงต้องมองหาคำตอบของคำถามที่ว่า คุณธรรมจริยธรรมในสังคมลดลง จะแก้ปัญหานี้อย่างไร ก่อนที่จะคิดเองก็ลองฟังคำตอบจากนักคิดในสาขาต่างๆ เพื่อพินิจพิเคราะห์ว่าเขาทำอะไร อย่างไร แล้วผลเป็นอย่างไร นักปรัชญาต้องทำใจให้เป็นกลาง คงต้องเอาอย่างฮุซเซิร์ล (Husserl 1859-1938 ) แล้วค่อยให้ความหมายว่าที่พวกเขาทำกันนั้น พวกเขาได้ใช้สัญชาตญาณปัญญายุคไหน อย่างไร สิ่งที่นักปรัชญาจะสอนได้จริงๆ ก็คือสอนให้เห็นถึงสัญชาตญาณมนุษย์ สัญชาตญาณที่ปัญญาในยุคต่างๆ ปัญหาของแต่ละยุค มาตรการความจริงของแต่ละยุค คุณธรรมจริยธรรมของแต่ละยุค แล้วชี้ชวนให้ผู้เข้าร่วมการอบรม แสวงหา สร้างสรรค์ ร่วมมือ ประยุกต์ หนทางพัฒนาคุณภาพชีวิตตามสัญชาตญาณปัญญาตามเครือข่ายความคิดของเขาเอง และนั่นจะทำให้ต่อมคุณธรรมแตก การอบรมปรัชญาต้องเน้นให้ต่อมคุณธรรมแตก เมื่อต่อมคุณธรรมแตก ก็ไม่จำเป็นต้องสอนว่าคุณธรรมเป็นอย่างไร มีกี่ข้อ มีคนต้นแบบไหม เพียงแต่ให้เวลา เวลาที่มีอยู่อย่างมากมายพอที่คนเหล่านั้นจะได้พัฒนาคุณภาพชีวิตของเขาตามสัญชาตญาณปัญญา คนรุ่นใหม่ใจร้อน หากเขาพร้อมใจรับและคิดตาม คุณธรรมและจริยธรรมก็จะเบ่งบานสะพรั่งดุจดั่งดอกไม้ในยามลมฝนโชยพัด ความสุขสงบ สันติภาพก็จะแผ่กิ่งใบครอบคลุมไปทั้งโลก โลกที่ทุกคนนับแต่อดีตจนถึงปัจุบันใฝ่ฝันถึงนั่นเอง

สังคมดิจิตอล ต้นตอปัญหาและเครื่องมือช่วยแก้ปัญหา

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) สำคัญของรูปแบบความเจริญของเมือง เทคโนโลยีสารสนเทศ เน้นเสาหลักสำคัญของการพัฒนาได้แก่ การพัฒนาประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์ การพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และ ระบบสื่อสารที่รวดเร็ว การยอมรับความถูกต้องของข้อมูลที่ส่งผ่านระบบสารสนเทศ ได้สร้างให้เกิดวัฒนธรรมดิจิตอล ซึ่งลดคุณค่าของกระดาษและสิ่งพิมพ์ลง มนุษย์ในสังคมต่างๆ ที่เจริญแล้วใช้เวลาไปกับการอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีระบบอินเตอร์เน็ตร่วมด้วยวันละหลายชั่วโมง ผู้ที่มีข้อมูลมากกว่า ใหม่ล่าสุดกว่าจะได้เปรียบในการแข่งขันต่างๆ สังคมเช่นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น สังคมดิจิตอล วัฒนธรรมดิจิตอลเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เป็นผลมาจากอิทธิพลของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย นั่นคือมีการพัฒนาและเพิ่มโครงสร้างระบบสารสนเทศ และ การพัฒนาด้านการศึกษา แม้ต้นทุนของการพัฒนาโครงสร้างระบบสารสนเทศจะมาก แต่ก็เป็นความจำเป็นในระดับชาติที่ได้รับการยอมรับและส่งเสริมจากแหล่งเงินทุนผ่านการลงทุนทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน การศึกษาได้ยอมรับเป็นแนวทางสำคัญที่จะต้องพัฒนาคนในชาติให้ก้าวตามความทันสมัยนี้ วิชาคอมพิวเตอร์กลายเป็นวิชาสำคัญ วิชาอื่นๆ ก็เน้นการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำรายงานและการนำเสนอหน้าชั้นเรียน เด็กนักเรียน และวัยรุ่นต้องใช้เวลาอยู่หน้าคอมพิวเตอร์และใช้งานอินเตอร์เน็ตเพื่อค้นหาข้อมูลต่างๆ คัดลอกและใช้งาน ประเด็นปัญหาที่มองไม่เห็นแต่ซ่อนอยู่ (latent issues) คือการใช้งานเพื่อความบันเทิงและสิ่งล่อลวงต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต

ปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปในสังคมดิจิตอล เช่น เด็กนักเรียนทำรายงานในคอมพิวเตอร์และส่งครูผ่านทางอีเมล์ มีการเชื่อมโยงกลุ่มนักเรียนผ่านทางระบบสังคมออนไลน์ เช่น facebook อีกตัวอย่างหนึ่งที่พบเห็นอยู่ทุกวันและถือได้ว่าเป็นเรื่องปกติในสังคมเมืองที่จะมองไปในสถานที่ต่างๆ แม้กระทั่งท้องถนน ข้างทาง แล้วจะพบเด็กนักเรียน วัยรุ่น วัยทำงานก้มหน้าก้มตาอยู่กับโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต เพื่อเล่นเกมส์ หรือ ใช้งานอินเตอร์เน็ต โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง วัฒนธรรมดิจิตอลนี้กำลังเกิดขึ้นและกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วในสังคมของประเทศโลกกำลังพัฒนา การก้าวกระโดดของการพัฒนาระบบสารสนเทศและความจำเป็นของการใช้อินเตอร์เน็ต ทำให้จำนวนการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงขึ้นๆ ในขณะที่ราคาค่าบริการลดลงอย่างมาก ตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวไทยที่เปิดเผยล่าสุดโดยทรูฮิต (TrueHit) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตรายใหญ่นั้นสูงถึง 25 ล้านราย ( เดลินิส์ [17052555] )

อย่างไรก็ตามเครื่องมือพื้นฐานของสังคมดิจิตอล คือ อินเทอร์เน็ตนั้นเองก็เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่งของการศึกษาที่ช่วยเปิดโอกาสให้กว้างขยายขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะอินเตอร์เน็ตสามารถให้บริการไปทั่วโลก และช่วยให้เข้าถึงฐานข้อมูลต่างๆ ที่มีการรวบรวมไว้ การใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ถือได้ว่าเป็นพื้นฐานอย่างหนึ่งเสียแล้ว อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางของการส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วทั้งโลก และเป็นที่ประจักษ์ได้ว่าข่าวสารต่างๆ นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และด้านอื่น ๆ ได้นั้น ต้องอาศัยความรู้ในการจัดการการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษามีที่มีประโยชน์และ ไม่เป็นโทษ ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ข้อมูลและความรู้ที่ต้องการทางการศึกษานั่นเอง

สังคมคุณธรรมจริยธรรมกับสังคมดิจิตอล

ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าคนส่วนหนึ่งมองว่าการที่สังคมมีคุณภาพที่ต่ำลง คุณธรรมจริยธรรมลดลงนั้นเป็นผลจากสังคมดิจิตอล แน่นอนที่ต้องยอมรับว่าผลที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งย่อมมาจากการพัฒนาสังคมดิจิตอล การพัฒนาที่รวดเร็วนี้ทำให้สังคมที่แท้จริงตามสังคมเสมือนจริงไม่ทัน ช่องว่างนี้ทำให้เกิดการแปลกแยกของคนในสังคม ซึ่งย่อมต้องมีคนตกลงไปในช่องว่างและสูญหายไป แต่กระนั้นสังคมดิจิตอลในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสังคมที่ได้เตรียมเครื่องมือไว้อย่างพร้อมเพียงในการเก็บรวบรวม สะสม จัดระเบียบข้อมูลข่าวสารและสร้างให้เกิดความพร้อมใช้แก่ทุกคนที่แสวงหาความรู้ เนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่างๆ หากมองโอกาสที่วางตัวขนานไปกับวิกฤติอย่างไม่ดื้อดึงใดๆ การใช้เครื่องมือดิจิตอลในการเก็บข้อมูลและเผยแพร่เนื้อหาสาระด้านคุณธรรมจริยธรรมไม่ว่าจะเป็น คำสอน บทความ วิจารณ์ นิทาน การ์ตูน จนถึงภาพยนตร์ที่จะช่วยเป็นสื่อในการสอนคุณธรรมจริยธรรมแก่ผู้ที่เกิดและเติบโตในสังคมดิจิตอล ทางเลือกอันชาญฉลาดนี้จะเป็นตัวเร่งอย่างหนึ่งที่จะช่วยผลักดันให้สังคมใหม่นี้มีคุณธรรมจริยธรรมฟื้นตัวกลับมา

สรุป

ผู้เขียนมีทรรศนะว่ามนุษย์แสวงหาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับตน โดยมีสัญชาตญาณปัญญาเป็นตัวควบคุมว่าจะเป็นเช่นไร สัญชาตญาณปัญญาหลังนวยุคดูจะเปิดโอกาสให้มนุษย์ได้แสวงหาคุณภาพชีวิตที่ตนต้องการได้อย่างหลากหลายรูปแบบ การเปิดกว้างทำให้เกิดการพัฒนาสังคมในหลายๆ ด้าน ผลตรงกันข้ามที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปก็คือคุณธรรมจริยธรรมที่ลดลงไปในสังคม คนส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผลมาจาการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศจนเกิดเป็นสังคมดิจิตอล คุณธรรมจริยธรรมจึงได้ถูกยกขึ้นให้เป็นประเด็นที่ต้องส่งเสริม การจัดอบรมต่างๆ การเรียนการสอนที่เน้นคุณธรรมจริยธรรมได้รับการขานรับจากทุกภาคส่วน กระนั้นหลายฝ่ายก็ยังไม่อาจยืนยันได้ว่าคุณธรรมจริยธรรมได้พลิกฟื้นขึ้นมาอย่างเต็มที่แล้ว เพียงแต่มีกระแสในทางที่ดี ผู้เขียนขอเป็นอีกเสียงหนึ่งที่สนับสนุนการอบรมปรัชญาเพื่อชี้ให้ได้เห็นถึงสัญชาตญาณปัญญา เพื่อกระตุ้นให้ผู้ได้ฟังเกิดต่อมคุณธรรมแตก และสามารถเลือกตัดสินใจประพฤติดีจนเป็นอุปนิสัยได้ ทั้งนี้การส่งเสริมจะยั่งยืนคงไม่อาจดำเนินการผ่านการอบรมเท่านั้น แต่ต้องใช้สื่อดิจิตอลเป็นเครื่องมือในการเข้าถึงคนรุ่นใหม่ผู้อยู่ในสัญชาตญาณปัญญาหลังนวยุคแล้วโดยไม่รู้ตัว

บรรณานุกรม

  1. Morkunien J (2004). The Information Society as Knowledge Based Society, in Social Philosophy, Paradigm of Contemporary Thinking. Cultural heritage and contemporary change series IVA, Eastern and Central Europe ; Vol.23 :196-207 http://www.crvp.org/book/Series04/IVA-23/contents.htm
  2. กีรติ บุญเจือ (2546). เริ่มรู้จักปรัชญา ในชุดปรัชญาและศาสนาเซนต์จอห์น. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น
  3. ---------------- (2545). ปรัชญาหลังนวยุค แนวคิดเพื่อการศึกษายุคใหม่ .กรุงเทพฯ: บริษัทสำนักพิมพ์ดวงกมล จำกัด
หมายเลขบันทึก: 495852เขียนเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2016 17:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท