Punk_Bloom
นางสาว วัชราลักษณ์ วิริยะภาค

ลิขสิทธิ์


ทำไมต้องมีลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตและมีวิธีจัดการกับข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์อย่างไร

เหตุผลในการมีมาตรการพิเศษในการป้องกันลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต

เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ทำให้การผลิตงานพิมพ์ งานเขียนเป็นไปได้เร็วขึ้น เพียงแต่กดปุ่ม ทำซ้ำ "copy" หรือ ใช้วิธีตัดแปะ "cut and paste" ผลงานที่เกิดจากการทำซ้ำ โดยคอมพิวเตอร์นั้นเหมือนงานต้นฉบับมาก เกือบจะไม่มีความแตกต่างกับต้นฉบับเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันราคาถูกลงมาก ประชาชนในฐานะปานกลางสามารถหาซื้อมาใช้ได้ นี่ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กังวลใจเจ้าของลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ ผลงานสร้างสรรค์ถูกจัดเก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Digital Form อาจมีความเสี่ยงที่จะถูกลักลอบ นำไปทำซ้ำได้ง่าย

แต่ที่เป็นปัญหามากกว่านั้น ก็คือ ความแพร่หลายของอินเทอร์เน็ต ช่วงปี 1994- ปัจจุบัน ทำให้เกิดการเผยแพร่งานสร้างสรรค์โดยมิได้รับอนุญาต ทางอินเทอร์เน็ตมากมาย เพราะอินเทอร์เน็ต เป็นเสมือนพาหนะ หรือสื่อที่นำงานสร้างสรรค์ไปสู่ผู้ติดต่อกับเครือข่ายอย่างไม่จำกัดเขตแดนทางกายภาพ อย่างที่เราเรียก อินเทอร์เน็ตอีกอย่างว่า เครือข่ายของหลาย ๆเครือข่าย (Networks of Networks) การส่งต่อข้อมูลในเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นไปในลักษณะจากหลายจุด ไปสู่อีกหลาย หลายจุด (many to many) ซึ่งต่างจาก การเผยแพร่ของวิทยุ หรือ โทรทัศน์ซึ่งเป็นไปในลักษณะจุดเดียว ไปสู่หลายจุด หรือหลายผู้รับ (one to many)

ดังนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า ทั้งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ในการทำซ้ำ และศักยภาพในการเผยแพร่งานสร้างสรรค์ ของอินเทอร์เน็ตในลักษณะไร้เขตแดน ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นไปได้ง่ายทั้งในการทำและการเผยแพร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสร้างสรรค์ส่วนใหญ่ถูกสร้าง และถูกเก็บในรูปอิเล็กทรอนิกส์ ลองพิจารณาดูว่า นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันนี้ แทบจะไม่ได้ใช้ปากกาเขียนหนังสือ หากแต่ใช้คอมพิวเตอร์ในการพิมพ์ ใช้ PDA (Personal Data Assistance) หรือ ปาร์ม (Palm Pilot) ในการจดบันทึกย่อ ในธุรกิจบันเทิง บันทึกเพลง หรือ ภาพยนตร์ลงในซีดี หรือ ดีวีดี ก็อยู่ในรูปดิจิตอล ซึ่งคงอีกไม่นาน เราคงจะได้ดูทีวี ซึ่งโปรแกรมและถ่ายทอดในระบบดิจิตอล ที่เรียกว่า Digital TV ดังนั้น เราจะพบว่า งานสร้างสรรค์ต้นฉบับในปัจจุบัน นั้นพร้อมตลอดเวลาที่จะถูกทำซ้ำ เนื่องจากการเป็นข้อมูลดิจิตอลในตัวงานนั้น ๆ เอง

แม้บางท่านอาจโต้แย้งว่า ถ้าอย่างนั้นเราก็จัดเก็บงานเขียน หรือ ภาพวาดของเราไว้ในรูปกระดาษเหมือนเดิม จะได้ไม่ถูกลักลอบเอาไปทำซ้ำ ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลอีกเช่นกัน เพราะเทคโนโลยีของการทำซ้ำนั้นกว้าหน้ากว่ามาก เช่น สแกนเนอร์ (Scanners) เพียงแค่การนำงานเขียนที่บันทึกอยู่ในกระดาษมาทำการสแกน ก็กลายเป็นว่า งานสร้างสรรค์ของเราถูกทำซ้ำ และจัดเก็บในรูปดิจิตอลเรียบร้อยแล้ว

เหตุผลข้างต้นก็เป็นที่มาของมาตรการพิเศษทางกฎหมาย และทางเทคนิค ที่ต้องการจะปกป้องสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเผยแพร่งานของตนทางอินเทอร์เน็ต หรือ จัดเก็บงานของตนในรูปดิจิตอล มิให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของสิทธิดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง 4 เรื่องหลัก ดังนี้

1. The No Electronic Theft Act 1996 (the NET Act)
2. Digital Millennium Copyright Act 1998 (DMCA)
3. Anti- Circumvention and Anti-Trafficking Rules เป็นมาตรการหนึ่งใน DMCA
4. Copyright Management Information Rules (CMI) เป็นส่วนหนึ่งของ DMCA

การจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ (Copyright Management Information)

การจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์นี้ ถูกบัญญัติไว้ใน Chapter 12 ของ DMCA ข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะร่างบทบัญญัติดังกล่าวนี้ ได้ทำการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีหลายประเภท ซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันงานสร้างสรรค์ ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เป็นต้นว่า เทคนิคการเข้ารหัส (encryption techniques) เพื่อทำการผสมข้อมูล (scrambling) ของงานที่มีลิขสิทธิ์ เช่น ภาพดิจิตอล, เพลง หรือ ซอฟแวร์คอมพิวเตอร์ เทคนิคดังกล่าวจะอนุญาตให้ผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานอันมีลิขสิทธิ์เท่านั้น จึงจะสามารถถอดรหัสได้ การเข้ารหัสดังกล่าวยังเป็นการทำให้แน่ใจได้ว่า ข้อมูลของงานอันมีลิขสิทธิ์ดังกล่าวได้รับการรักษาความปลอดภัยจากผู้ที่พยายามเข้าถึงระบบ หรือ แฮคเอาข้อมูลไป ในระหว่างที่ข้อมูลถูกส่งจากเครือข่ายหนึ่งไปสู่อีกเครือข่ายหนึ่งทางอินเทอร์เน็ต

นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคนิคควบคุมการเข้าถึงได้ (access controls) ระบบนี้อนุญาตให้ใครก็ตาม สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ หากแต่มีการฝัง (embed) ข้อมูลพิเศษไว้ในข้อมูลนั้นๆ เป็นต้นว่า ลายเซ็นดิจิตอล ใช้ในการพิสูจน์ความแท้จริงของข้อมูล หรือ ไฟล์ ว่าเป็นงานที่ส่งมาจากผู้ส่งที่แท้จริงหรือไม่ และมิได้ถูกเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการทดสอบการใช้ "ซองจดหมายอิเล็กทรอนิกส์" (electronic envelops) ซึ่งบรรจุข้อมูลเกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์, ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์, วันที่สร้างสรรค์งาน, และ ข้อกำหนดและเงื่อนไขสำหรับการอนุญาตให้ใช้ ระบบป้องกันที่คล้ายกันอีกประเภท ก็เช่น การใช้ digital "watermarking" ซึ่งทำเป็นไฟล์พิเศษติดไปกับงานสร้างสรรค์ ซึ่งไม่ว่าจะมีการพยายามทำซ้ำอย่างไร watermarks นี้ก็ไม่สามารถแยกออกจากงานดังกล่าวได้ วิธีนี้ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถใช้ระบบการค้นหาที่เรียกว่า spiders หรือ robots ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของเซิร์ชเอนจิน (search engines) ในการค้นหางานของตนที่ถูก นำไปใช้ หรือทำซ้ำโดยมิได้รับอนุญาตได้ เพราะ spiders หรือ robots จะวิ่งไปหาข้อมูลที่มี watermarks ฝังอยู่

จะเห็นได้บทบัญญัติการจัดการกับข้อมูลอันมีลิขสิทธิ์ข้างต้น กฎหมายมีเจตนารมย์ที่จะให้ความคุ้มครอง มาตรการทางเทคโนโลยี ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ใช้ในการปกป้องสิทธิของตัวเอง ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าว มิได้เป็นการให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ในรูปแบบที่เพิ่มเติมพิเศษของงานสร้างสรรค์แต่อย่างใด DMCA เพียงแต่ทำให้ ความพยายามที่จะเจาะระบบป้องกันการทำซ้ำงานสร้างสรรค์กลายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย การละเมิดบทบัญญัติเช่นว่านี้ มีกำหนดโทษขั้นสูงทั้งในทางแพ่งและทางอาญา ค่าปรับสูงถึง $500,000 และจำคุกสูงสุด ห้าปีสำหรับการกระทำผิดครั้งแรก

โดยรวมเราจะเห็นว่ามาตรการการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานที่เผยแพร่ทางกฎหมายนั้น ต้องมีทั้งมาตรการทางกฎหมายที่เข้มงวด และมาตรการทางเทคนิคที่ประสิทธิภาพ ในการจัดการกับผู้กระทำผิด ในยุคดิจิตอล ที่น่าสังเกตเป็นพิเศษ ก็คือ ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางกฎหมาย เพื่อสนับสนุนการใช้มาตรการทางเทคนิคให้สัมฤทธิ์ผลในการป้องกันการลักลอบใช้ หรือลักลอบทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นแนวทางที่หลายประเทศกำลังเดินตาม โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการกับข้อมูล ที่มีระบบป้องกันพิเศษ ทั้งนี้ก็คือด้วยเหตุผลที่ว่า ถ้ารอให้รัฐออกกฎหมายที่มาจัดการกับกรณีเฉพาะทางเทคนิค ที่เกิดขึ้นทางอินเตอร์เน็ตทุกกรณีคงเป็นไปไม่ได้ ด้วยเอกชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองไปก่อน ส่วนกฎมายของรัฐจะออกมารับรอง หรือเพิ่มความคุ้มครองพิเศษให้กับมาตรการทางเทคนิคที่เอกชนนำมาใช้ ก็เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับความกระตือรือล้นของแต่ละรัฐบาล ในเรื่องการปรับปรุงกฎหมายกับเทคโนโลยีให้สอดคล้องกัน

คำสำคัญ (Tags): #rsu#it#ima
หมายเลขบันทึก: 49556เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 18:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท