เรื่องของDVDและประเภทของDVD


หลายคนคงสงสัยว่าDVD-RW กับ DVD+RWต่างกันอย่างไรเรามีคำตอบครับ
DVDเครื่องเขียนแผ่นดีวีดีได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้ราคาลดลงมาอย่างรวดเร็ว จนคาดว่าอีกไม่นาน (ก็คงสักสองสามปี) ราคาน่าจะลงมาอยู่ระดับเดียวกับซีดีอาร์ดับบลิวในปัจจุบัน แต่ยังไงก็ตามการใช้งานก็ยังเป็นงานเฉพาะด้านอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เหมาะสำหรับนำไปใช้ในงานแบ็กอัพข้อมูลมากกว่า เพราะด้วยความจุขนาดมหึมา ทำให้การแบ็กอัพข้อมูลง่ายขึ้น ไม่ต้องใช้แผ่นสำหรับเก็บข้อมูลเป็นจำนวนมากเหมือนกับซีดีอาร์ หรือว่าอาร์ดับบลิวปัญหาของเครื่องบันทึกดีวีดีมีอยู่ด้วยกัน 2 ข้อใหญ่ๆ อย่างแรกก็คือราคายังสูงอยู่ ทำให้ยังไม่เหมาะนำมาใช้กับเดสก์ทอปทั่วๆ ไป จะเรียกง่ายๆ ว่าไม่คุ้ม  อย่างที่สองก็คือมาตรฐานของไดรฟ์ยังไม่ลงตัวเพราะมีทั้งมาตรฐานที่เรียกว่า DVD-R/RW และ DVD+R/RW ซึ่งทั้งสองแบบก็ไม่ได้ปรับจูนเข้าหากัน ทำให้ใช้งานเฉพาะฟอร์แมตมาตรฐานใครมาตรฐานมันอยู่

มาตรฐานความจุสูง

ในปัจจุบันก็มีความจุให้เลือกซื้อกันอยู่2แบบที่เรียกกันว่า DVD-5 และ DVD-9 โดยDVD-5 จะมีชั้นความจุเพียงเลเยอร์เดียวคือเก็บข้อมูลได้ 4.7 กิกะไบต์ ส่วน DVD-9 จะเพิ่มชั้นความจุอีกชั้นหนึ่งทำให้เก็บข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็น 9.5 กิกะไบต์ แต่สำหรับดีวีดีที่บันทึกได้ในแต่ละมาตรฐานปัจจุบันสามารถบันทึกได้เพียงเลเยอร์เดียวคือเท่ากับ DVD-5 ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานไหนๆ ก็เก็บได้สูงสุดเพียง 4.7 กิกะไบต์ ทั้งมาตรฐาน +, - ,R หรือว่า RW

ดีวีดีที่สามารถบันทึกได้มีอยู่สามรูปแบบด้วยกัน คือ DVD-RAM, DVD-R/RW และ DVD+R/RW ซึ่ง DVD-RAM เราแทบจะเรียกว่าตัดออกจากการใช้งานทั่วๆ ไปได้เลย เพราะนอกจากใช้การบันทึกในรูปแบบคาร์ททริดจ์แล้วยังไม่สามารถใช้งานร่วมกับดีวีดีมาตรฐานอื่นๆ ได้ ส่วนข้อดีเพียงอย่างเดียวสำหรับ DV-RAM ก็คือการนำกลับมาบันทึกซ้ำใหม่ได้มากกว่า 100,000 ครั้ง จึงเหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปใช้ในการเป็นสื่อแบ็กอัพข้อมูล เพราะให้ความเชื่อถือในการบันทึกและนำกลับมาบันทึกซ้ำได้มากกว่า ดังนั้น ไดรฟ์ที่เราจะว่ากันถึงในที่นี้ ก็ขอยกเฉพาะรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากกว่าในปัจจุบัน ซึ่งก็คือมาตรฐาน DVD-R/RW และ DVD+R/RW นั่นเอง
DVD-R/RW และ DVD+R/RW คืออะไร

ทำไมถึงต้องมีเครื่องหมายบวกและเครื่องหมายลบสำหรับดีวีดีทั้งสองประเภทนี้ หลายคนอาจจะสงสัยใช่ไหมครับ อันที่จริงแล้ว ในตอนแรกมาตรฐาน DVD R/RW เริ่มต้นกับเครื่องหมายลบก่อน โดยเกิดจากการพัฒนาและวางมาตรฐานของกลุ่ม DVD Forum ซึ่งเรียกว่าเป็นสมาคมสำหรับควบคุมมาตรฐานสื่อบันทึกข้อมูลในรูปแบบของดีวีดีขึ้นมาตั้งแต่เริ่มต้น แต่ด้วยการพัฒนามาตรฐานของ DVD Forum ดูเหมือนว่าจะชักช้า และไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการใช้งาน รวมไปถึงการพัฒนาต่อไปในอนาคตด้วย ทางสมาชิกกลุ่มหนึ่งจึงร่วมมือกันพัฒนามาตรฐานดีวีดีที่บันทึกได้ในรูปแบบของ DVD+R/RW ขึ้นมา เป็นกลุ่ม DVD Alliance ทำให้มาตรฐานใหม่นี้ไม่ได้ถูกยอมรับจาก DVD Forum ที่เป็นผู้ดูแลมาตรฐานเดิมอยู่ มาตรฐาน DVD+R/RW จึงเป็นมาตรฐานต่างหากที่ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้กับมาตรฐานเดิม

แต่ด้วยการที่กลุ่มสมาชิกที่แยกตัวมาตั้งมาตรฐานใหม่ ต่างก็เป็นผู้นำด้านการผลิตทั้งสิ้น DVD+R/RW จึงได้เริ่มมีการยอมรับและไดรฟ์ดีวีดีรุ่นใหม่ๆ ต่างก็สามารถที่จะอ่านข้อมูลและใช้งาน DVD+R/RW มาตรฐานใหม่นี้ได้ด้วย จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าเมื่อซื้อไดรฟ์ประเภทนี้มาแล้วจะไม่สามารถนำไปใช้กับเครื่องเล่นใดๆ ได้ เพียงแต่ไดรฟ์ทั้งสองมาตรฐานจะไม่สามารถใช้งานมีเดียข้ามสายพันธุ์ไดรฟ์ประเภทไหนก็ต้องใช้มีเดียประเภทนั้น เช่น ไดรฟ์ DVD+R/RW จะไม่สามารถเขียนข้อมูลลงในแผ่น DVD-R/RW ได้ และไดรฟ์ DVD-R/RW ก็ไม่สามารถเขียนข้อมูลลงแผ่น DVD+R/RW ได้เช่นเดียวกัน แต่เมื่อเขียนแล้ว แผ่นทั้งสองมาตรฐานต่างก็สามารถนำไปใช้กับไดรฟ์ดีวีดีรอมรุ่นใหม่ๆ ได้อย่างไม่เป็นปัญหา ส่วนในการอ่านไม่ได้เป็นปัญหาแต่อย่างใด สามารถอ่านข้ามพันธุ์ได้อย่างสะดวกครับ

ความแตกต่างของทั้งสองมาตรฐานเท่าที่เห็นก็จะเป็นลักษณะของการบันทึกข้อมูลมากกว่า โดย DVD+R/RW เนื่องจากพัฒนาออกมาภายหลัง เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดของ DVD-R/RW จึงมีความสามารถบางอย่างที่เหนือกว่า เช่น สั่งให้หยุดการเขียนและเขียนต่อได้ทันที ไม่ต้องเสียเวลาในการรอ และใช้เทคโนโลยี Lossless Linking ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการบันทึกและอ่านข้อมูล ใช้งานได้ง่ายและสะดวกขึ้น ส่วนการบันทึกรูปแบบของ R และ RW ก็ไม่ได้ต่างไปจากเครื่องบันทึกซีดีปัจจุบันหรอกครับ เพราะก็หมายความว่า R คือ Recordable หรือบันทึกได้ครั้งเดียว และ RW คือ Re-Writeable ที่สามารถนำกลับมาบันทึกซ้ำใหม่ได้ ซึ่งทั้งสองมาตรฐาน DVD-R/RW และ DVD+R/RW ต่างก็สามารถบันทึกใหม่ได้ประมาณ 1,000 ครั้งเท่าๆ กัน

คำสำคัญ (Tags): #rsu#it#ima
หมายเลขบันทึก: 49552เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท