รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย 2554-2555


สถานการณ์ค้ามนุษย์ประเทศไทยปีล่าสุด

รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย
พ.ศ. 2554-2555

โดย

เอกลักษณ์  หลุ่มชมแข



         มูลนิธิกระจกเงา ในฐานะองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ทำงานด้านการต่อต้านปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีเต็ม  มีโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดงานปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย  ได้แก่ ศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์  ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์   โครงการคุ้มครองสิทธิแรงงานประมง  โครงการยุติธุรกิจเด็กขอทาน และโครงการผู้ป่วยข้างถนน  ด้วยการดำเนินงานของมูลนิธิกระจกเงาตามกิจกรรมดังกล่าวข้างต้น  จึงทำให้มูลนิธิกระจกเงา  เป็นหน่วยงานที่สัมผัสกับสภาพปัญหาทั้งกระบวนการ ป้องกัน ช่วยเหลือ คุ้มครอง และเยียวยา   ในโอกาสนี้ มูลนิธิกระจกเงา จึงได้วิเคราะห์ และประเมินสถานการณ์การค้ามนุษย์ประเทศไทย ประจำปี 2554 และแนวโน้มในปี 2555 จากพื้นฐานของสภาพปัญหาที่พบเจอจากการดำเนินโครงการต่างๆ ของมูลนิธิกระจกเงา  ตลอดจนสถานการณ์ที่ปรากฏเป็นที่ประจักษ์ผ่านสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้


สถานการณ์การบังคับใช้แรงงานภาคประมง


          ในปี พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2555 ) ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา  รับแจ้งเหตุแรงงานประมง ร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากถูกล่อลวงและบังคับให้ทำงานโดยไม่สมัครใจ ตลอดจนถูกละเมิดสิทธิ กว่า  40  กรณี   ลักษณะการล่อล่วงและการบังคับใช้แรงงานยังคงเป็นไปในรูปแบบไม่ต่างจากอดีต  กล่าวคือ  การล่อลวงผ่านกระบวนการนายหน้าค่าหัว  โดยการหลอกลวงผู้เสียหายว่า จะมีงานสบายรายได้ดีให้ทำ ซึ่งเป็นการหลอกให้ผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นงานประเภทอื่นที่ไม่ใช่งานประมง  หรือ ชักชวนให้มาทำงานประมง แต่หลอกว่าเป็นประมงชายฝั่งที่ออกไปจับปลากลางทะเลในระยะเวลาสั้น   นายหน้าค่าหัวจะนำตัวผู้เสียหายไปขายต่อให้กับผู้ควบคุมเรือในราคาตั้งแต่ 7,000-30,000 บาท  นอกจากนี้ ยังมีการบังคับใช้แรงงานประมงในลักษณะแรงงานขัดหนี้ (Debt Bondage) โดยมีร้านคาราโอเกะตามท่าเรือประมง  ใช้กลอุบายในการหลอกล่อให้ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นลูกเรือประมง เข้าไปใช้บริการในร้านคาราโอเกะ โดยไม่ใช้ชำระเป็นเงินสด แต่สามารถติดเครดิตกับทางร้านไว้ได้  ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ร้านคาราโอเกะเหล่านี้ มักคิดค่าใช้จ่ายแพงเกินความเป็นจริงไปมาก  ลูกเรือจึงต้องตกอยู่ในสภาพลงเรือประมงไปทำงานชดใช้หนี้ให้กับร้านคาราโอเกะ โดยมีมูลค่าหนี้ ตั้งแต่ 12,000 – 30,000 บาท ลูกเรือจึงไม่ได้รับค่าจ้าง หรือได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานที่ตนเองต้องเสียไป  ทำให้การทำงานถูกบีบบังคับโดยสภาพ  ผู้เสียหายไม่มีแรงจูงใจในการทำงานและประสงค์จะออกจากสภาพการทำงานดังกล่าว  แต่ถูกปฏิเสธจากผู้ควบคุมเรือจึงทำให้เป็นการบังคับใช้แรงงานในที่สุด
         ทั้งนี้  สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย  ได้แถลงข่าวออกมาในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2554 ว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมประมงขาดแคลนลูกเรือประมงมากกว่า 70,000 อัตรา  ซึ่งปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง  นำมาซึ่งนายหน้าในการจัดหาลูกเรือประมงทั้งแรงงานไทยและแรงงานจากประเทศ เพื่อนบ้าน  โดยนายหน้ามักใช้วิธีการล่อลวง-บังคับ จนทำให้กลายสภาพเป็นการค้ามนุษย์ในที่สุด   ถึงแม้ว่าในกลไกด้านนโยบายของประเทศไทย จะได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและมาตรการในการป้องกันและปราบ ปรามการค้ามนุษย์รูปแบบด้านแรงงานประมง โดยมีข้อเสนอแนะเรื่องการจัดตั้งศูนย์จัดหาแรงงานเพื่อทำงานในเรือประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงอันเป็นปัจจัยสำคัญของปัญหาการค้า มนุษย์ในภาคแรงงานประมง  แต่ในรอบรายงานฉบับนี้ ยังไม่มีรูปธรรมที่สามารถดำเนินการได้จริง  กระนั้นก็ตามมีแนวโน้มที่ดีในอนาคตที่จะเกิดการจัดตั้งศูนย์จัดหาแรงงาน เพื่อทำงานในเรือประมง ภายหลังจากที่ผู้แทนกระทรวงแรงงานแสดงความคิดเห็นที่สอดคล้องกับแนวทางดัง กล่าวในที่ประชุมของคณะกรรมาธิการต่างประเทศวุฒิสภา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา   ทั้งนี้  หากปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานภาคประมงยังไม่สามารถหาทางออกที่เป็นรูปธรรม ได้ การค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
       ข้อเสนอแนะสำคัญต่อผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมประมง  เนื่องด้วยสภาพการจ้างงานในอุตสาหกรรมประมงทะเล ถูกจัดให้อยู่ในลักษณะการทำงานประเภท 3D  อันได้แก่  งานสกปรก (Dirty) งานอันตราย (Dangerous) และงานยากลำบาก (Difficult)  ซึ่งงานในลักษณะนี้มักจะขาดแคลนแรงงานเสมอ  ดังนั้นงานในอุตสาหกรรมประมงทะเล จึงควรสร้างแรงจูงใจในการให้ผลตอบแทนหรือค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้อสูงกว่างาน กรรมกรรับจ้างทั่วไป และมีการจ้างงานที่เป็นธรรมกับลูกจ้าง ซึ่งจะทำให้แรงงานตัดสินใจในการเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้  นอกจากนี้ระบบการขึ้นทะเบียนเรือประมงและทะเบียนลูกเรือประมง ควรถูกจับเก็บให้เป็นระบบเดียวกันที่สามารถตรวจสอบได้ง่าย หากสงสัยว่ามีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นในเรือประมงลำใด


สถานการณ์การค้าประเวณีที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์
            สถานการณ์การค้าประเวณีที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ในประเทศไทย อยู่ในสภาพปัญหาทั้ง 3 สถานะ คือ สถานะต้นทาง   ทางผ่านและปลายทาง   โดยปัญหาสำคัญที่สุดของเรื่องการค้าประเวณีที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์ใน ประเทศไทย มีด้วยกัน 2 รูปแบบ คือ   การแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็กหญิงจากประเทศเพื่อนบ้าน และการการแสวงหาผลประโยชน์จากการค้าประเวณีเด็กหญิงไทย 
         ปัญหาเรื่องการค้าประเวณีเด็กต่างชาติ ทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย กลายเป็นพื้นที่ทางผ่านและพื้นที่ปลายทางของการค้ามนุษย์   ลักษณะของสภาพปัญหามีการนำเด็กจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศลาวเข้ามาค้าประเวณีบริเวณชายแดนและจังหวัดใกล้เคียงในรูปแบบ ของซ่องและร้านคาราโอเกะ

        พื้นที่ใจกลางเมืองและอำเภอที่ติดตะเข็บชายแดนของจังหวัดอุดรธานี  หนองคาย  ถือเป็นแหล่งขายบริการทางเพศเด็กต่างชาติ ที่รุนแรงที่สุด มีการจับกุมโดยหน่วยงานภาครัฐ และถูกนำเสนอข่าวต่อสื่อมวลชนหลายครั้ง แต่ก็ยังมีการเปิดให้บริการอย่างโจ่งแจ้งจนถึงปัจจุบัน

     นอกจากนี้แล้วในพื้นที่จังหวัดชายแดนที่ติดกับแม่น้ำโขง ตั้งแต่ หนองคาย  นครพนม  มุกดาหาร จนกระทั่งถึงอุบลราชธานี ก็ประสบปัญหามีเด็กลาวถูกนำมาค้าบริการทางเพศแอบแฝงตามสถานบริการต่างๆ
        ในขณะเดียวกัน จังหวัดชายแดนลุ่มแม่น้ำโขง ยังเป็นทางผ่านให้ “นักล่าประเวณีเด็ก”จำนวนมาก ข้ามแดนเข้าไปซื้อบริการทางเพศเด็กในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะด้านจังหวัดหนองคาย มุกดาหาร   สุรินทร์ และศรีสะเกษ
       ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ติดกันสามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่าย ตลอดจนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศ ทำให้มีเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเข้าสู่การขายบริการทางเพศอย่างต่อเนื่อง  และแนวโน้มจะเคลื่อนย้ายเข้ามาขายบริการบริเวณชายแดนฝั่งไทยมากขึ้น เหตุผลหนึ่งเพราะรูปร่างภายนอกของเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นที่ต้องการของ กลุ่มลูกค้า และการสื่อสารภาษาที่ฟังกันรู้เรื่อง  ตลอดจนราคาในการซื้อบริการทางเพศเด็กจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีราคาถูกมาก ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาด
        สถานการณ์ในปัจจุบันนอกจากการนำเด็กมาขายบริการทางเพศ ในพื้นที่ชายแดนแล้ว  พบว่า มีการเคลื่อนย้ายเด็กจากประเทศลาวไปยังร้านคาราโอเกะและซ่อง ในพื้นที่ภาคกลาง  ภาคตะวันออก  ภาคตะวันตก และเลยไปถึงชายแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย  ซึ่งมีการดำเนินการเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายและจับกุมผู้กระทำความ ผิดหลายคดีโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)  

        ปัญหาการค้าประเวณีเด็กข้ามชาติ  มีลักษณะเป็นโครงข่ายอาชญากรรม กล่าวคือ มีนายหน้าจัดหาจากประเทศต้นทาง  ขบวนการในการลักลอบพาข้ามแดน และนายหน้าที่จัดส่งเด็กผู้หญิงไปตามสถานบริการต่างๆ  มีรายงานจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ผ่านบทวิเคราะห์ของสื่อสารธารณะว่า การเติบโตของธุรกิจค้าประเวณีข้ามชาติ ก็เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐได้รับประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม บทวิเคราะห์ฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ในการบุกเข้าไปให้ความช่วยเหลือเด็กหญิงจากประเทศลาวในร้านคาราโอเกะหลาย แห่ง มักพบบัญชีรายชื่อหน่วยงานรัฐ ที่ผู้กระทำความผิด ต้องส่งเงินในลักษณะส่วยเป็นรายเดือน เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบังคับใช้กฎหมาย 

           ปัญหาเรื่องการค้าประเวณีเด็กไทย  ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการค้าประเวณีที่เข้าข่ายเป็นการค้ามนุษย์  รูปแบบการค้าประเวณีเด็กไทย มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อน  ลักษณะไม่ใช่กลุ่มอาชญากรรมที่มีความซับซ้อน  นายหน้าหรือผู้เป็นธุระจัดหา  อยู่ในรูปแบบของบุคคลที่เด็กรู้จัก หรือ ผ่านการชักชวนจากเพื่อนของผู้เสียหายอีกทอดหนึ่ง  การค้าประเวณีเด็กไทย มักเกิดจากเด็กที่หายออกจากบ้านในลักษณะสมัครใจหนีออกจากบ้าน หรือมีปัญหาครอบครัว บางรายสมัครใจเข้าสู่การค้าประเวณีโดยผ่านนายหน้า เนื่องจากต้องการเงินไปใช้จ่าย  รูปแบบของการนำเด็กไทยมาหาผลประโยชน์ มีทั้งนำเด็กเข้าสู่สถานบริการ ซ่องบาร์ ร้านคาราโอเกะ และในรูปของไซค์ไลน์  ซึ่งนายหน้าจะติดต่อเป็นธุระจัดหากับลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์   แนวโน้มของเด็กที่จะตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในลักษณะนี้  มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น  โดยประเมินจากสถานการณ์เด็กหายออกจากบ้านภายในประเทศที่มีสถิติเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กหญิงอายุระหว่าง 11 – 15 ปี ที่หายออกจากบ้านด้วยสาเหตุสมัครใจ

        ปัญหา การค้าประเวณีเด็กไทย  จะควบคุมได้ยาก เนื่องจากไม่ได้อยู่ในสถานประกอบการที่เปิดเผยเหมือนการค้าประเวณีเด็กหญิง ข้ามชาติ  อีกทั้งปัญหานี้ไม่ได้เข้าข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ  จึงมักถูกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายละเลยหรือจัดให้อยู่ในความสำคัญลำดับรองลง มา  นอกจากนี้แล้วปัญหาการค้าประเวณีเด็กไทย ที่กระจายอยู่เกือบทุกจังหวัด กลุ่มลูกค้าสำคัญ คือ กลุ่มข้าราชการและผู้บังคับใช้กฎหมายในพื้นที่ เนื่องราคาของการใช้บริการมีราคาสูง กลุ่มลูกค้าดังกล่าว จึงเป็นผู้มีความสามารถในการซื้อบริการเด็กในพื้นที่ได้



การบังคับให้ขอทาน
      การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานยังเป็นกรณีการค้ามนุษย์ที่มีแนวโน้ม ของสถานการณ์ปัญหาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กที่ถูกนำพามาจากประเทศกัมพูชาและพม่า ตามลำดับ    ทั้งนี้จำนวนเด็กขอทานในประเทศไทยที่แน่นอนยังไม่มีหน่วยงานใดทำการสำรวจ ข้อมูลเชิงปริมาณอย่างชัดเจน เนื่องจากมีการกระจายตัวออกไปในหลายพื้นที่ เชียงใหม่  ชลบุรี  สงขลา  ภูเก็ต กรุงเทพมหานครและ ปริมณฑล เป็นต้น 
      การนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานเริ่มมีการเปลี่ยนรูปแบบจากการนำเด็กมา นั่งขอทานธรรมดา  เป็นการให้เด็กขายดอกไม้ หรือสินค้า ตามสถานบริการต่างๆ ในยามค่ำคืน 
     ภาพรวมของการค้ามนุษย์ โดยการนำเด็กมาเป็นเครื่องมือในการขอทานยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะเด็กขอทานต่อหนึ่งคนสามารถหาเงินได้ตั้งแต่ 300 บาทถึง 1,000 บาทขึ้นไป   ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ขบวนการค้ามนุษย์จะพยายามเคลื่อนย้ายเด็กเข้า มาขอทานในประเทศไทย แม้ว่าจะถูกจับกุมและส่งกลับไปประเทศต้นทางหลายครั้งแล้วก็ตาม
     นอกจากนี้ยังพบปัญหาสำคัญ คือ ครอบครัวชาวกัมพูชาที่เคยเดินทางเข้าประเทศไทยมากับขบวนการนายหน้าในครั้ง แรกแล้วถูกจับกุมผลักดันกลับประเทศไป จะนำลูกหลานของตัวเองเข้ามาขอทานในประเทศไทยอีกครั้ง โดยเดินทางเข้ามาด้วยตนเอง  นอกจากนี้เมื่อมีความชำนาญจะเริ่มชักชวนคนในชุมชนมาขอทานในประเทศไทย กลายเป็นการผันตัวเองเป็นนายหน้านำพาเด็กมาขอทานอีกทอดหนึ่ง
      พื้นที่สำคัญที่มีการลักลอบนำพาเด็กเข้ามาขอทานในประเทศไทย คือ ด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ทั้งนี้ จากคำให้การของเด็กขอทานที่ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ  ให้ข้อมูลตรงกันว่า เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยการโดยสารรถไฟเข้ามาในพื้นที่กรุงเทพฯ และฉะเชิงเทรา ก่อนกระจายตัวไปตามพื้นที่ต่างๆ
       ในรอบปี 2554 ถึงปัจจุบัน แม้ว่าจะมีรายงานการลักพาตัวเด็กในประเทศไทย เพื่อบังคับให้เร่ร่อนขอทาน  แต่ลักษณะการกระทำความผิด ไม่ใช่กลุ่มแก๊งค์เครือข่ายอาชญากรรม  ผู้กระทำความผิด มักก่อเหตุตามลำพัง และมีข้อคิดเห็นจากผู้ทำการสอบสวนผู้กระทำความผิดว่า  ผู้กระทำความผิดอาจมีอาการป่วยทางสุขภาพจิต  มากกว่าการเจตนาลักพาตัวเด็กไปเพื่อประสงค์นำเด็กไปขอทานโดยตรง   นอกจากนี้ในความเห็นของผู้ปฏิบัติการ มีความเห็นว่า การนำเด็กมาขอทานในประเทศไทย อาจมีเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวข้องเพียงแค่กระบวนการอำนวยความสะดวกในการหลบหนี เข้าเมือง  ส่วนการเรียกรับผลประโยชน์ หรือ ควบคุมแก๊งค์ขอทานในพื้นที่  ยังไม่มีปรากฏรายงานว่ามีการกระทำเช่นนั้นเกิดขึ้น


    ปัญหาการค้ามนุษย์อื่นๆ   
         ในรอบปี 2554 ถึงปัจจุบัน มีสถานการณ์การค้ามนุษย์ในประเทศไทย ในลักษณะอื่นๆ อีกหลายประเภท  มีแรงงานไทยจำนวนมากที่ยังถูกหลอกจากสายนายหน้าจัดหาแรงงานในการเดินทางไปทำ งานต่างประเทศ  โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายมากเกินความเป็นจริง หรือทำงานได้ค่าจ้างไม่คุ้มกับค่าเดินทางที่ต้องจ่ายให้กับนายหน้าอันเป็น ลักษณะของแรงงานขัดหนี้ (Debt Bondage) ซึ่งในมิติของผู้บังคับใช้กฎหมายในประเทศไทย ยังมีมุมมองว่า การกระทำผิดในลักษณะดังกล่าวเป็นความผิดทางแพ่ง หรือเป็นเพียงการฉ้อโกงประชาชน มิใช่ความผิดฐานการค้ามนุษย์   ซึ่งในมิติมุมมองของโลกสากล กำลังให้ความสนใจกรณีการค้ามนุษย์ในลักษณะของแรงงานขัดหนี้ ว่าผู้เสียหายต้องตกอยู่ในสภาพการถูกบังคับให้ทำงานเพื่อชดใช้หนี้ที่เกิด ขึ้น อันมีสภาพไม่ต่างจากการถูกค้ามนุษย์นั่นเอง    ทั้งนี้  ในกลไกระดับนโยบายได้มีการแต่งตั้ง อนุกรรมการพิจารณาระบบการจัดหางานให้คนไปทำงานต่างประเทศของภาครัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ขึ้น  แต่ก็ยังไม่มีรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
         ปัญหาการค้ามนุษย์อีกประเภทหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ การค้าประเวณีเด็กในเพศชายที่เกี่ยวเนื่องการการถ่ายภาพโป๊เปลือยอนาจาร เด็ก  โดยในรอบปีที่ผ่านมา มีการจับกุมดำเนินคดีแก่ชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องการกระทำทางเพศเด็ก (pedophiles) และมีการถ่ายภาพโป๊เปลือยอนาจารระหว่างมีเพศสัมพันธ์กับเด็ก เพื่อจำหน่ายหรือเผยแพร่ในกลุ่มผู้มีรสนิยมเดียวกัน   การซื้อประเวณีเด็กผู้ชาย  ส่วนใหญ่มีการติดต่อเด็กผ่านนายหน้า แต่การถูกจับกุมดำเนินคดีมักเกิดขึ้นในโรงแรม จึงทำให้การจับกุมดำเนินคดีเป็นในลักษณะกระทำอนาจารเด็ก  มิใช่การค้ามนุษย์ เพราะไม่มีการสืบสวนขยายผลถึงผู้เป็นธุระจัดหา   กลุ่ม pedophiles ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป มีเป้าหมายในการเข้ามาซื้อบริการทางเพศเด็กในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียง ใต้  โดยเฉพาะในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เนื่องจากเป็นพื้นที่ซึ่งหาซื้อบริการเด็กได้ง่าย และการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยานในเรื่องนี้   
        ปัญหาการหลอกลวงหญิงไทยไปค้าประเวณีที่ต่างประเทศ เป็นปัญหาที่ต้องใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากการไปทำงานในลักษณะนี้ที่ต่างประเทศ ส่วนใหญ่แล้วพื้นฐานของผู้ที่จะเดินทางไปทำงานเกิดจากความสมัครใจเป็นทุน เดิม แต่เงื่อนไขหรือสภาพการทำงานจริงเมื่อเดินทางไปถึง อาจกลายสภาพเป็นการค้ามนุษย์ในที่สุด ด้วยผู้เสียหายจำต้องติดภารหนี้สินค่าเดินทาง และไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตอิสระภายนอกได้ ทำให้กลายสภาพเป็นการกักขังและบังคับให้ค้าประเวณีในเวลาต่อมา  ซึ่งการใช้ดุลยพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย มักมีทัศนคติเชิงลบต่อผู้เสียหายในลักษณะนี้  อีกทั้งผู้เสียหายในลักษณะนี้  มักไม่ประสงค์จะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด
      นอกจากนี้ยังมีปัญหาบังคับใช้แรงงานหรือบริการอื่นๆ  เช่น  แรงงานรับใช้ในบ้าน ซึ่งข้อมูลการค้ามนุษย์ในประเภทนี้ยังมีไม่มากนัก  เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เข้าถึงยากเพราะอยู่ในที่รโหฐาน  นอกจากนี้ในรอบปีที่ผ่านมา มีกลุ่มค้ามนุษย์ในลักษณะ บังคับให้เด็กวัยรุ่นโกนผมเพื่อปลอมเป็นสามเณรออกเรี่ยไรเงินจากชาวบ้าน  โดยมีคดีเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และชลบุรี 

   


    การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย
       แม้ว่ารัฐบาลไทยจะประกาศให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติเมื่อหลายปี ก่อน   ทว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ภายในประเทศ  ท่าทีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทยกลับถูกกำหนดและถูกทำให้เดินไป ตาม รายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา (Trafficking in Person –TIP Report)   ซึ่งออกโดยกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาทุกปี   แนวนโยบายและกิจกรรม ด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของรัฐบาลไทย จึงเป็นแนวนโยบายเพื่อออกมาตอบโต้หรืออุดช่องว่างจากรายงานของรัฐบาลสหรัฐ อเมริกามากกว่าสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงทั้งหมดในประเทศ   ดังจะเห็นได้จากการ ตั้งอนุกรรมการบางอนุ ซึ่งมีการประชุมเพียงไม่กี่ครั้ง และไม่มีรูปธรรมของการแก้ไขปัญหา   หรือกิจกรรมในเชิงป้องกันบางกิจกรรมที่ไม่สอดคล้องหรือเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้า หมาย  ทิศทางหรือหลักสูตรในการทำงานเชิงป้องกันของแต่ละพื้นที่ ไม่เป็นหลักสูตรแบบแผนเดียวกัน  การทำงานให้ความรู้เชิงป้องกัน จึงไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร    นอกจากนี้การสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมในวงกว้าง หรือในระดับสาธารณะยังยึดติดอยู่ในรูปแบบเดิมๆ และขาดการประสานในการทำงานเชิงป้องกันระหว่างหน่วยงานเอกชนและหน่วยงานส่วน ท้องถิ่นในพื้นที่ 
      ปัญหาเรื่องการคัดแยกผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ โดยเฉพาะการบังคับเด็กให้ขอทาน ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ที่หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทย  ขาดประสิทธิภาพในการคัดแยกผู้เสียหาย มีหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายหลายหน่วยให้ความช่วยเหลือเด็กขอทานต่างชาติใน พื้นที่ต่างๆ จำนวนมาก ในลักษณะกวาดล้างตามข้างถนน  โดยขาดการสืบสวนขยายผลไปยังผู้อยู่เบื้องหลัง  การกวาดจับลักษณะดังกล่าวมีผลต่อตัวเลขในการช่วยเหลือเด็กในจำนวนที่สูง   แต่การคัดแยกผู้เสียหายกลับขาดล่ามแปลภาษาในการสอบสวน   การคัดแยกผู้เสียหายหลายกรณีมักให้ขอทานผู้ใหญ่ที่พูดภาษาไทยได้เป็นผู้แปล ภาษาให้เด็กขอทานฟัง  หรือหากเป็นกรณีเด็กเล็กที่ยังพูดไม่ได้  ก็จะรับฟังความการสอบสวนจากผู้ใหญ่ที่อุ้มเด็กมาฝ่ายเดียว โดยขาดการตรวจพิสูจน์ผลเลือด (DNA) เพื่อยืนยันสถานะความเป็นแม่ลูก   การคัดแยกผู้เสียหายในกรณีขอทาน   จึงมักด่วนสรุปว่าไม่ใช่ผู้เสียหายจากการถูกค้ามนุษย์ และถูกผลักดันออกนอกประเทศทันทีตามข้อหาเข้าเมืองโดยไม่ได้รับอนุญาต
       ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายและการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกค้า มนุษย์  เป็นปัญหาสำคัญที่ฝังรากลึกอีกประการหนึ่งของการจัดการปัญหาการค้ามนุษย์ใน ประเทศไทย  มีลักษณะ “บรรยากาศแห่งความกลัว” ระหว่างผู้เสียหายกับหน่วยงานภาครัฐ   หน่วยงานเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐ  แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐกับหน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง   ผู้เสียหายจำนวนมากไม่กล้าเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะหน่วยงานตำรวจ ด้วยเพราะเกรงว่าตำรวจอาจเข้าข้างหรือมีผลประโยชน์กับผู้กระทำความผิด  ในขณะที่หน่วยงานเอกชนส่วนใหญ่จำเป็นที่จะต้องสืบสวนหาข่าวกันเองจนแน่ชัด ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น แล้วจึงค่อยพิจารณาคัดเลือกหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการเข้าดำเนินการร่วม กัน สาเหตุเพราะกลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ “ข่าวรั่ว”   แม้ว่าปัจจุบันจะมีหน่วยงานตำรวจที่ทำงานด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์โดยตรง ก็ตาม  ทั้งนี้  กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งมีหน่วยงานศูนย์ต่อต้านการค้ามนุษย์อยู่ในสังกัด เริ่มที่จะทำงานสืบสวนขยายผลเครือข่ายการค้ามนุษย์อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า แต่ก่อน โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์ข้ามชาติ
       แม้ว่าคดีค้ามนุษย์ในรอบปีที่ผ่านมาอาจจะมีสถิติตัวเลขคดีน้อยกว่าปีก่อนๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีการค้ามนุษย์เกิดขึ้นในประเทศไทย  ซึ่งจำเป็นที่หน่วยงานรัฐต้องพิจารณาถึงสภาพการเข้าถึงผู้เสียหาย  ความไว้วางใจของผู้เสียหายต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย  ความรู้ความสามารถของพนักงานสอบสวนในการสวบสวนขยายผล และระยะเวลาในการดำเนินคดี ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ผู้เสียหายไม่ประสงค์จะดำเนินคดีต่อผู้กระทำความผิด

       แนว โน้มสภาพปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศไทย จะแปรผันไปตามสภาพความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมระหว่างประเทศไทยกับ ประเทศเพื่อนบ้าน  การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างไม่ปลอดภัยและการลดต้นทุนการผลิตด้านแรงงานใน กิจการที่ขาดแคลนแรงงาน จะนำมาซึ่งปัญหาการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง  ประเทศไทยอาจต้องตกอยู่ในสภาพตั้งรับกับปัญหาการค้ามนุษย์ในทุกประเภทที่ เข้ามารอบด้าน   ประเทศที่เผชิญกับบรรยากาศแห่งความกลัวในความยุติธรรมของกระบวนการยุติธรรม  เป็นสัญญาณอันตรายที่ทำให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในประเทศนั้น เคลื่อนตัวอยู่กับที่.

หมายเลขบันทึก: 495337เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2012 16:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 13:00 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เยี่ยมมากเลยครับ
  • เข้าระบบไปเพิ่มขนาดตัวอักษรนะครับ

เรื่อง "การค้ามนุษย์" น่ากลัวจริง ในชีวิตนี้ ไม่เคยคิดว่าจะมีจริงๆ ตอนเรียน ป.โท ที่ NIDA ท่าน อาจารย์ พูดบ่อบๆๆ แต่ไม่คิดว่าจะ รุนแรง + โหดร้ายเช่นนี้ โดยเฉพาะ "การค้าประเวณี" มนุษย์ ทำลาย ทำร้าย กันได้ ถึงเพียงนี้นะคะ

ขอบคุณ บทควมดีดีนี้นะคะ

ภาวรีย์ วงศ์วราภัทร์

ขอบคุณคุณเอกลักษณ์ค่ะ ขออนุญาตนำข้อมูลไปใช้อ้างอิงในงานวิจัยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท