ครูฟา..เข้าสาระวิชาภาษาไทย (ไม่ได้)


ครู 1.0 ในศตวรรษที่ 21

ครูฟา..เข้าสาระวิชาภาษาไทย (ไม่ได้)

 

ก่อนถึงวันวันภาษาไทย โรงเรียนขนาดใหญ่ทั้งหลายจะมีการเตรียมตัวเพื่อทำกิจกรรมวันวิชาภาษาไทย ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ การประกวดต่างๆ การทำค่าย ฯลฯ เพื่อไว้ใช้อ้างอิงทำผลงานในวันภาษาไทยของทุกปี หรือบางโรงเรียนจัดทำเพื่อแสดงผลงานเมื่อมีผู้ใหญ่มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน

 

แล้วมีกี่โรงเรียนที่ทำกิจกรรมด้วยจุดประสงค์หลักที่เด็กก่อน?

 

ปีนี้มีโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ติดต่อให้ครูฟาจังหวัดตราดของโรงเรียนนั้นช่วยออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อเข้าสู่สาระวิชาภาษาไทย โดยจัดเป็นค่ายกิจกรมการเรียนรู้หนึ่งวันเพื่อใช้แสดงผลงานในวันภาษาไทยแห่งชาติที่ 29 กรกฎาคม กำลังมาถึงนี้ เพราะเห็นว่าทีมครูฟาประสบความสำเร็จในการทำค่ายคุณธรรม “สานฝันปั้นเด็กดี” ให้กับโรงเรียนมาแล้วและยังเป็นข่าวระดับจังหวัด

ทีมครูฟาตอบตกลง เพราะนี่เป็นโอกาสดีที่จะได้ขยายการเรียนรู้แบบ project base learning เข้าไปในสาระวิชาหลัก

ทุกครั้งก่อนการทำงานพวกเราทีมครูฟา ซึ่งประกอบด้วยครูฟาชุดผู้นำ และโค้ชจะมีการนัดประชุมทีมงานเพื่ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับระดับชั้นการศึกษาของนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรม และระบุจำนวนนักเรียนที่สามารถรองรับได้ในการทำกิจกรรมกลุ่มของแต่ละสถานีการเรียนรู้ เพราะในการทำค่ายแต่ละครั้งเราจะประกาศเชิญให้โรงเรียนในศูนย์หรือไม่ก็โรงเรียนของสมาชิกครูฟาที่สนใจส่งนักเรียนมาเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี

 

การที่โรงเรียนขนาดใหญ่จัดกิจกรรม แล้วเชิญชวนนักเรียนจากโรงเรียนขนาดเล็กที่บางโรงเรียนมีครูทั้งโรงเรียนไม่ถึงมาเข้าร่วมกิจกรรมนั้น เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งต่อครูและเด็กนักเรียน เพราะเด็กๆ ได้มาเปิดหู เปิดตา เปิดโลก และสร้างภาพลักษณ์ของตนผ่านการเรียนรู้และรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมที่กว้างใหญ่ขึ้น ไม่ใช่มีแค่เพื่อนจำนวนหยิบมือกับครูอีก 3-4 คน ส่วนครูเองก็ได้มาเรียนรู้กระบวนการสอนในแบบที่ต่างออกไปจากที่เคยปฏิบัติกันมา

 

ขั้นตอนการทำงานสำหรับเข้าสาระวิชาภาษาไทยนี้ ถูกกำหนดเป็นขั้นตอนการเตรียมงาน 3 ขั้นอย่างชัดเจน ก่อนวันงานจริงจะเริ่มขึ้น ดังนี้

 

ขั้นตอนที่ 1 ประชุมทีม ซึ่งประกอบด้วย ครูเจ้าของโครงการ (ที่อาจจะผ่านหรือยังไม่ได้ผ่านหลักสูตรพัฒนาครูฟามาก่อน) กับครูฟาชุดผู้นำกิจกรรม และโค้ชปุ้ย เพื่ออกแบบกระบวนเรียนรู้ให้เข้ากับยุคสมัย

ขั้นตอนที่ 2 ประชุมครูที่รับผิดชอบการจัดกิจกรรมทุกฝ่ายของโครงการ เพื่อเล่าจุดหมายและขั้นตอนการทำงาน ในรายละเอียด ซึ่งการประชุมครั้งนี้ทีมครูฟาได้ติดต่อขอนุเคราะห์ใช้ห้องประชุมเสมารักษ์ ในสำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษาตราด ไว้เป็นที่เรียบร้อย (สพป. ตราด เอื้อเฟื้อสถานที่ เพราะเห็นความสำเร็จจากค่ายคุณธรรม “สานฝันปั้นเด็กดี” ของทีมครูฟามาแล้ว จึงอยากสนับสนุน)

ขั้นตอนที่ 3 ดำเนินการตามแผนงานและหน้าที่ของครูแต่ละคนในโรงเรียน ซึ่งตรงนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายในโรงเรียนเป็นอย่างมาก งานจึงจะสำเร็จลุล่วงได้

เราประชุมทีมผ่านขั้นตอนที่หนึ่ง ได้ข้อสรุปของกระบวนการเรียนรู้ออกมาเป็นสถานีกิจกรรมเรียบร้อย และเข้าหลักตามสาระวิชาภาษาไทยอย่างเข้มข้น ชัดเจน มีจุดมุ่งหมาย และได้ประโยชน์กับเด็กยุคดิจิตอล โดยมีสถานีการเรียนรู้ คือ

สถานีฟัง, สถานีพูด, สถานีอ่าน, สถานีเขียน, สถานีคิด และสถานีขับร้อง

กิจกรรมได้ถูกออกแบบมาอย่างสอดคล้อง กลมกลืม เข้ากับยุคสมัยและได้หัวใจที่เป็นสาระของการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลาง แต่น่าเสียดายที่เราไปต่อไม่ได้ เราทำจบกระบวนการที่ขั้นตอนหนึ่งเท่านั้น เพราะเจ้าของโครงการเกิดเปลี่ยนใจ ไม่สามารถผ่านด่านกำแพงการเมืองในโรงเรียนไปได้ อีกทั้งความกลัวการไม่ยอมรับจากเพื่อนร่วมงานเพื่อไปต่อในขั้นที่สองและสามมีมากกว่าความปรารถนาที่อยากให้ประโยชน์กับเด็ก ครูเจ้าของโครงการ(ซึ่งยังไม่เคยผ่านหลักสูตรการพัฒนาครูฟา) แจ้งเรามาว่า

“ไม่เป็นไร! ทำแบบเดิมที่ทำทุกปีดีแล้ว” .. บร๊ะ!!

 

 

 

เรื่องนี้คือข้อเท็จจริงที่กำลังบอกเราว่า แม้โรงเรียนนี้จะมีผู้อำนวยการ 3.0 ซึ่งสนับสนุนอยากให้มีโครงการเปลี่ยนรูปแบบใหม่มากกว่าที่จะเป็นเหมือนเดิม แบบเดิมอย่างที่เคยปฏิบัติกันมาทุกปีเป็นสิบๆ ปีผ่านมาแล้วก็ตาม แต่บรรดาครูที่มีอยู่ในโรงเรียนบางท่านยังเป็นครูยุค 1.0 มันก็เป็นธรรมดาที่การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจ และที่น่าสนใจคือว่า ครูบางท่านจบปริญญาโท เรียนต่อปริญญาเอก แต่ความรู้และปริญญาของท่านเหล่านั้นไม่ได้ช่วยให้ท่านยกระดับขึ้นมาเป็นครูยุค 3.0 หรือครูในศตวรรษที่ 21 ได้เลย

แล้วคุณคิดว่า เด็กที่เป็นผลผลิตจากครูยุค 1.0 มีแนวโน้มจะออกสู่สังคมในรูปแบบไหน?

พวกเค้าจะก้าวทันโลกยุคใหม่ได้หรือไม่?

แล้วอนาคตของชาติเราจะเป็นอย่างไร?

 

นี่มันศตวรรษที่ 21 แล้วนะท่าน!!

 

หมายเลขบันทึก: 494980เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กรกฎาคม 2012 10:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

น่าเสียดายจังค่ะ

ที่โรงเรียนจัดค่ายภาษาอังกฤษ เด็กกลัวมากเลย(ม.3) ไม่อยากมา แต่ต้องมาเพราะครูบังคับ พอเลิกค่าย(เราจัด1 วัน) พวกเขาเดินมาหาครู แล้วบอกว่า คุณครู ขา จัดอีกนะค่ะ พวกหนูชอบ ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด สนุกค่ะ แล้วพวกเขาก็อวดประโยคสั้นๆ ที่เขาประทับใจ

น่าเสียดายจังค่ะ

    น่าเสียดายร่วมด้วยอีกคนคะ.......เสียดายจริงๆ ดิฉันอ่านข้อความแล้วอยากลุ้นอยู่ว่าทีมงานครูฟา จะจัดกิจกรรมแต่ละสถานีอย่างไร เพราะดิฉันเตรียมเลียนแบบไว้ในใจ...นี่ไม่อยากบอกนะว่าว่าจะเลียนแบบ ก็เป็นแบบอย่างแนวทางที่ดี โดยเฉพาะผู้เรียนได้ความรู้และสนุกไปด้วย หายากนะแบบนี้
    ดิฉันเคยจัดค่ายภาษาไทยที่โรงเรียน กว่าจะฝ่าด่านคุณครูไม่เต็ม 3 โอ! เหนื่อยมาก  แต่เมื่อเห็นรอยยิ้มของเด็กๆแล้ว ..สุดยอดเราทำได้ ...แต่ทำไม และทำไม อะไรเกิดขึ้นทำไมและอะไรทำให้ความคิดของคุณครูไม่เต็ม 3 เป๋นจะอี๊ ...จ้างมันเต๊อะ ขอเป็นกำลังใจให้ทีมงานครูฟา สู้ๆๆๆเพื่อเด็กไทย อย่าท้อนะคะ ยังมีผู้บริหารที่เหลือน้อยเต็มทีเข้าใจพวกเราอยู่คะ  สู้ๆๆ

ขอเป็นกำลังใจค่ะ สักวันเร็วๆนี้ ..ควรบรรจุในหลักสูตรอบรมพัฒนาครู ผู้บริหารในครั้งต่อไปค่ะ

ขอบคุณครูเพ็ญศรีและทุกท่านสำหรับกำลังใจค่ะ D

 

@ ครูชลคะ รอติดตามบทความเกี่ยวกับกิจกรรมสำหรับทำค่ายคุณธรรมนะคะ

ทั้งหมด 8 สถานีที่ออกแบบให้เข้ากับกรอบหลักของทักษะในศตวรรษที่ 21 คะ

 

@ Krutoom คะ ปุ้ยก็คาดหวังอยากให้มีการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาและอัพเกรดครู

จากครูยุค 1.0 มาเป็นยุค 3.0 เหมือนกันคะ จะได้เข้ากับยุคสมัยหน่อย

 

จะให้มาใช้ระบบ DOS ในยุคที่ใครๆเค้าใช้ windows กับนั่นก็ดูจะไม่เวิร์คมั้งคะ หุหุ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท