มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
Mrs. Maleephan มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช Pooma

การศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน


ทำไมการศึกษาไทย ถึงสอนให้คนแข่งขันกัน?

Education is not a Race

การศึกษาไม่ใช่การแข่งขัน

 โดย  

Deborah Stipek

 --------------------------------------------------------------------------

นิตยสาร Science รายสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 24 มิถุนายน 2011 มีบทบรรณาธิการที่ผมได้อ่านแล้ว เกิดความรู้สึกชื่นชมยินดีมาก ข้อคิดของอาจารย์ Deborah Stipek มีคุณค่ามากและเป็นพลังกระตุ้นให้นักการศึกษาได้คิดเรื่องการปฏิรูปการศึกษากันอย่างจริงจังอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีปัญหาและกำลังหาทางออกกันอยู่ แต่ในประเทศไทยการปฏิรูปการศึกษาก็เดินทางเดิม ไม่ใช่การปฏิรูปการศึกษาที่จะแก้ปัญหาการพัฒนาชีวิตอย่างแท้จริงได้ การศึกษาในเอเชีย และในประเทศไทยเป็นการแข่งขันกันอย่างไม่มีความสุข เครียด และผิดทิศทาง ไม่ก่อประโยชน์ให้ชีวิตอนาคตเป็นสุขยั่งยืน เมื่ออ่านบทบรรณาธิการนี้ ของท่านคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด แล้ว ก็คิดว่าควรต้องแปลเผยแพร่ต่อให้ครูไทยได้อ่านกันและช่วยกันพัฒนาและปฏิรูปการศึกษาของไทยอย่างฉับพลันทันที บทความนี้นำเสนอเป็นการต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ของรัฐบาลไทยด้วย

--------------------------------------------------------------------------

 Science, Vol.332, 24 June 2011 p.1481

Editorial by Deborah Stipek

Dean of the Stanford University School of Education

Stanford, California, USA

E-mail: [email protected]

 

Science, ฉบับ 332, 24 มิถุนายน 2011, น.1481

บทบรรณาธิการ โดย เดบอราห์ สตีเพค 

คณบดี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด  

สแตนฟอร์ด, แคลิฟอร์เนีย, สหรัฐอเมริกา

E-mail: [email protected]

 [บทแปล โดยได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว]

 “ในสหรัฐอเมริกาและที่อื่น แรงกดดันเยาวชนให้แข่งขันในโรงเรียนกำลังทำลายหลายๆชีวิตที่ควรจะมีอนาคตอันสดใส. นอกจากการแข่งขันกันในโรงเรียนอย่างที่ว่านี้จะได้ก่อให้เกิดความเครียดความรู้สึกว้าวุ่นหวั่นวิตก และสร้างวัฒนธรรมการทุจริตคดโกงในหมู่นักเรียนแล้ว, การแก่งแย่งแข่งกันนี้ยังทำให้การเรียนในโรงเรียนหมดสนุกไปเลย. ภาพยนตร์เรื่อง Race to Nowhere, ซึ่งได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง หลังจากออกฉายเมื่อหนึ่งปีที่ผ่านมา, ได้บันทึกผลเสียที่เกิดกับนักเรียนสหรัฐจำนวนมากจากการบรรยากาศการแข่งขันแบบ “สอนเพื่อสอบ”. ในภาพยนตร์, ที่ดิฉันเองให้สัมภาษณ์ไว้ด้วย, ได้อธิบายแจ่มชัดถึงการที่ีจะควรได้ผ่อนคลายสภาพการณ์ที่เยาวชนต้องตกอยู่ใต้แรงกดดันเพื่อจะสอบเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาให้ได้กันมากๆ, เพื่อที่จะเป็นผู้ชนะในงานแข่งขันชิงรางวัลวิชาวิทยาศาสตร์, ให้โดดเด่นด้านศิลปะ และ การกีฬา, อีกทั้งทำตัวเองให้เก่งเป็นที่หนึ่งในการชิงที่เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่กี่แห่ง ซึ่งบรรดาพ่อแม่และโรงเรียนเชื่อว่าเป็นมาตรวัดอันสำคัญยิ่งยวดต่อความสำเร็จในอนาคตของเด็ก. งานวิจัยว่าด้วยเรื่องแรงจูงใจปรากฏชัดว่าการมุ่งความสนใจไปที่ผลการเรียนอย่างเดียวจนหมดสิ้น, ไม่ว่าจะผลการเรียนเป็นเกรดหรือเป็นคะแนนสอบ, ส่งผลทำลายคุณค่าความน่าสนใจที่อาจจะได้จากเนื้อหาวิชาที่เรียน.* แน่นอนว่าย่อมมีนักเรียนส่วนหนึ่งที่สนใจใฝ่เรียนรู้อย่างขยันขันแข็งและทุ่มเทจนบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนเองได้ ทั้งในวิชาการตามหลักสูตร และในกิจกรรมอื่นๆที่ทำได้อย่างน่าประทับใจ. แต่ใครจะรู้ว่ามีนักเรียนอีกจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพถึงขนาดจะได้รับรางวัลโนเบล หากแต่ว่าได้ทิ้งความสนใจในวิชาวิทยาศาสตร์ไปเสียก่อนจะจบมัธยมปลาย ด้วยเหตุที่ว่าโรงเรียนเอาแต่สอนแบบให้เตรียมตัวสอบ มากกว่าที่จะจัดการเรียนการสอนแบบให้ค้นหาคำตอบอย่างลึกซึ้งต่อคำถามที่มีความหมายสำคัญ? มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบบนี้เลย, แต่การเปลี่ยนแปลงจำต้องมีการประสานงานกันในหลายๆระดับ.

ความสำเร็จในชีวิตนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับปริญญาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำหนึ่งใน ๑๐  แห่ง. เราจำต้องประเมินโรงเรียนมัธยมปลาย (โรงเรียนระดับก่อนเข้ามหาวิทยาลัย) ในเรื่องที่ว่าโรงเรียนทำได้ดีเพียงใดในการช่วยหามหาวิทยาลัยที่เหมาะสมสอดคล้องกับความสนใจและเป้าหมายชีวิตของนักเรียน, ไม่ใช่ไปวัดกันที่ว่าจะส่งนักเรียนให้เข้าเรียนต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียงกันได้มากเท่าไร. และบรรดามหาวิทยาลัยอันเป็นที่ปราถนาของเด็กนักเรียนทั้งหลายก็เช่นกัน มหาวิทยาลัยทั้งหลายจำจะต้องแสดงให้เห็นว่ามีความสนใจในตัวนักเรียนผู้มีใจรักอย่างแท้จริงที่จะเรียนต่อเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ทางการศึกษาของตนในระดับมหาวิทยาลัย, ไม่ใช่เป็นเด็กที่เพียงแค่จะเพิ่มบัญชีรายการเรียนดีในบันทึกประวัตตัวเองตอนไปสมัครงานเท่านั้น.

ครูในสหรัฐอเมริกาจำนวนมากก็จะต้องเปลี่ยนวิธีสอนด้วย. งานวิจัยต่างๆชี้ว่านักเรียนจะมีอารมณ์ร่วมมากขึ้น (จนถึงกระทั่งมีความรักเรียนอย่างลึกซึ้ง) ถ้ามีการปฏิบัติต่อไปนี้: ถ้าสาระวิชาความรู้เชื่อมโยงกับชีวิตและความสนใจส่วนตัวของนักเรียน; ถ้านักเรียนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา หรือออกแบบการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาที่มีความสำคัญและปัญหาที่มีความซับซ้อนหลากหลายมิติ, ให้นักเรียนทำการทดลอง, ถกเถียงอภิปรายกันในเรื่องผลที่ได้จากการทดลอง, หรือให้มีการประสานการทำงานร่วมกัน; ถ้านักเรียนได้มีโอกาสเลือกที่หลากหลายในการทำเกรดหรือคะแนนให้ได้ดี (เช่นการทำรายงานส่งครู และ การสอบซ้ำใหม่); ถ้าพุ่งความสนใจไปที่ความรู้และทักษะของนักเรียน, ไม่ใช่ที่เกรดหรือคะแนน; และถ้าการพัฒนาการเรียนและทักษะได้รับการชื่นชมยกย่อง, ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในระดับใด.

โรงเรียนจะต้องสร้างนโยบายการให้การบ้านที่จะไม่ทำให้เด็กขยันต้องทำการบ้านจนดึกดื่น; จัดการสอบครั้งสำคัญๆให้ห่างกันพอควรและให้นักเรียนมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือพิเศษจากครูได้มากอย่างเต็มที่; ทำให้แน่ใจว่าจะมีผู้ใหญ่อย่างน้อยหนึ่งคนคอยใส่ใจดูแลเรื่องอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของนักเรียนแต่ละคนและทุกคน; ให้การศึกษาแก่พ่อแม่ผู้ปกครองในเรื่องจุดเด่นข้อดีของมหาวิทยาลัยต่างๆที่มีอยู่มากมายหลายหลาก ซึ่งควรจะเป็นที่สนใจของนักเรียนในการเข้าเรียนต่อ; สำรวจเด็กนักเรียนอย่างสม่ำเสมอในเรื่องต้นเหตุแห่งความเครียด และให้ผลการสำรวจสะท้อนถึงนโยบายของโรงเรียน; และให้โอกาสนักเรียนได้ศึกษาหาความรู้ในวิชาการตามความสนใจเฉพาะตน โดยไม่ให้เรื่องผลคะแนนการเรียนมาเป็นอุปสรรคขัดขวางการแสวงหาความรู้, เช่นจัดให้มีชั้นเรียนอิสระ หรือจัดตั้งกลุ่มชมรมนักเรียน.

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว. ทักษะการแก้ปัญหา และ วิธีคิดวิเคราะห์เชิงลึก ได้กลายมามีความสำคัญอย่างยิ่งยวดมากกว่าการเพียงมีความสามารถในการตอบคำถามธรรมดาๆในข้อสอบมารฐานต่างๆ. วิทยาศาสตร์การสอนและการเรียนอันทรงคุณค่านั้นมีอยู่และควรจะเอามาใช้นำทางเพื่อพัฒนาความสนใจของนักเรียน, พัฒนาการให้นักเรียนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น, พัฒนาทักษะแห่งสติปัญญา, ตลอดจนเพื่อลดความเครียดอันเสมือนเป็นโรคระบาด**ที่เป็นพลังกัดกร่อนเยาวชนในทุกวันนี้. โดยการให้ความใส่ใจในเรื่องที่เรารู้เท่านั้นเอง ก็จะทำให้เราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวเยาวชนได้ เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เยาวชนเองต้องการ เพื่อจะได้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างมีผลผลิตจากการงาน และมีชีวิตอันเป็นสุข.”

ผู้เขียน

Deborah Stipek

10.1126/science.1209339

 

ผู้แปล

สมเกียรติ อ่อนวิมล 

12 สิงหาคม 2554

 

[www.sciencemag.org]

หมายเหตุ เพิ่มเติม 9 กันยายน 2554

Science ฉบับใหม่ 19 August 2011 มีเรื่อง "Investing Early in Education" เป็น Special Section มี 10 บทความ เมื่ออ่านเสร็จแล้วจะพยายามสรุปย่อมาเป็น Note ต่อไป 

--------------------------------------------------------------------------

อ้างอิง:

*Motivation in Education: Theory, Research, and Applications (Pearson/Merrill Prentice Hall, ed. 3, Upper Saddle River, NJ, 2007). 

**National Research Council, Engaging Schools: Fostering High School Students’ Motivation to Learn (National Academies Press, Washington, D.C. 2003)

 

หมายเลขบันทึก: 494841เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 07:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 07:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท