เพื่อนช่วยเพื่อน: มีมะเร็งแต่ไม่เซ็งชีวิต


มะเร็งเหมือนเป็นสิ่งมาเตือนว่าต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซึ่งหากเข้าใจ ดูแลตนเองได้ดี ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้แบบ กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย

เมื่อปลายๆเดือนมิถุนายน(๒๕๕๕)นี้ ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้นานแล้วกับคุณหมอรุจิรา มังคละศิริ – คุณหมอตุ๊ แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ที่จะเชิญคุณหมอใช้สถานที่อยุธยาบุรีเทวี หรือ อยุธยาศึกษาเพื่อการออกแบบและพัฒนาเอกลักษณ์เมือง (ซึ่งคนข้างกายทำไว้สวยงาม ไม่ควรใช้กันอยู่แค่คนไม่กี่คน)จัดงานเสวนาคนทำงานด้านสุขภาพ หากไม่รังเกียจว่าไม่มีคนบริการแบบโรงแรม ไม่มีห้องปรับอากาศรับทั้งคณะ มีแต่ความโปร่งตา อาคารสถานที่สวยงามอย่างไทย แวดล้อมด้วยต้นไม้และสายน้ำป่าสัก มีลมพัดโชยเป็นระยะๆให้ได้ร้อนบ้างเย็นบ้างตามธรรมชาติ และที่จัดให้ได้ชนะโรงแรมแน่ๆคือความใส่ใจในการเตรียมอาหารและเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ และมีรสชาติที่จะหาทานได้ยากในยุคนี้

ดอกพุทธชาด

จึงเป็นที่มาของการที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลง โดยคุณเป้า-พนิต มโนการ ผู้ช่วยผู้อำนวยการของสำนักฯดังกล่าวเป็นผู้ผลักดัน เป็นเจ้าของเรื่องมาจัด กิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน “เรียนรู้ เสริมพลัง สร้างกำลังใจ” เป็นเวลาวันครึ่งที่อยุธยา โดยมีคุณหมอตุ๊ ซึ่งมีประสบการณ์ตรงที่เต็มเปี่ยมจากการมีมะเร็งแล้วรักษาใจ รักษากายตนได้ และได้ขยายสู่การช่วยผู้ป่วยในแนวทางที่คุณหมอเองได้ดำเนินมาถึงวันนี้จนเป็นตัวอย่างที่น่าชื่นชม และคุณพยาบาลเป้า-สิริกุล ปุสุรินท์คำมาคู่กันเป็นคุณอำนวยและวิทยากรตลอดงาน

วงนี้เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในสังกัดสปสช.เองซึ่งมาจากหลายหน่วย หลายจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้มีมะเร็งมาเยี่ยมเยียนแล้วสามารถบริหารจัดการชีวิตได้อย่างดีเยี่ยม หากไม่บอกว่าท่านเหล่านั้นมีมะเร็งหรือเคยมีมะเร็งในความรุนแรงระดับขั้นต่างๆจะดูไม่ออกเลย เพราะทุกท่านดูสดใส สดชื่นเบิกบานเป็นปกติ

ดอกมะขาม

สปสช.ต้องการจัดกิจกรรมนี้เพื่อเรียนรู้จากคนที่สามารถข้ามพ้นวิกฤตครั้งหนึ่งในชีวิตจากมะเร็งมาได้อย่างน่าน้อมรับเป็นตัวอย่าง เป็นการเสริมพลังให้กับคนทำงานทั้งวัยอาวุโส และรุ่นวัยหนุ่มสาวที่ก็กำลังหาวิธีการจัดการกับการมีมะเร็งเข้ามาในชีวิตแบบไม่ทันได้รู้ตัว หรือเตรียมใจมาก่อน

ผู้มาเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มไม่ใหญ่นัก ราวยี่สิบคน มีทั้งผู้ไม่มีและมีมะเร็งมาเยี่ยมแล้ว จำนวนครึ่งต่อครึ่งกัน ผู้เขียนได้รับความไว้วางใจและให้ร่วมกุศลในการถอดบทเรียนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ครั้งนี้เวลาน้อยไปหน่อย คิดว่าเป็นการจัดเพื่อหา-กำหนดหัวปลา(วิสัยทัศน์ร่วม-เป้าหมาย)ให้ชัดเจน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้คงต้องจัดอีกสักสองครั้งเป็นอย่างน้อย จึงจะได้ข้อมูลที่รอบด้านมากพอที่จะถอดบทเรียนสำคัญ ถือว่าเป็นการมาทำความรู้จักคุ้นเคยกันกันเพื่อสร้างชุมชนนักปฏิบัติ(Community of Practice) แบบกันเองสบายๆในแนวทางเพื่อนช่วยเพื่อน เสริมพลัง สร้างกำลังใจแก่กันต่อไปให้เข้มแข็ง

ดอกนมแมว

ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์แต่ละท่านซึ่งหลากหลายมากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในอันที่จะช่วยให้ผู้ที่กำลังมีมะเร็งมาเยือนได้นำไปปรับใช้ รวมทั้งผู้ที่ยังไม่มีหรือไม่ทราบก็จะได้เรียนรู้ด้วย เช่น วิธี “ฟังเสียงร่างกายตนเอง” ว่ามีอะไรที่ผิดปกติไปจากเดิมซึ่งเป็นสิ่งมาเตือนว่าคุณมะเร็งกำลังขอมาอยู่ด้วย และประเด็นสำคัญของวิธีการรักษาโดยยาและสมุนไพรตัวโน้นตัวนี้ที่เหล่าญาติมิตรผู้ปรารถนาดีหามาให้ ควรจะทำอย่างไร เชื่อใครดี อะไรที่ได้ผล

เนื่องจากผู้เข้าร่วมเสวนามีคุณหมอและพยาบาลหลายท่าน ซึ่งมีมะเร็งด้วย ไม่มีข้อยกเว้น (ผู้เยียวยาก็ต้องการการเยียวยาเช่นกัน) มีประเด็นหนึ่งผู้เขียนรู้สึกว่าโดนใจ คือมีการยกประเด็นจากประสบการณ์ของอาจารย์พยาบาลท่านหนึ่งว่าโรงพยาบาลควรจะมีหน่วยที่ดูแลให้คำแนะนำผู้ที่เพิ่งทราบจากผลวินิจฉัยจากแพทย์เป็นครั้งแรกว่ามะเร็งมาเยือนแล้ว ว่าควรจัดการกับจิตใจอย่างไร ขั้นตอนการรักษาเป็นอย่างไรในบรรยากาศที่เป็นมิตร ไม่ใช่ปล่อยผู้ป่วยให้ตกใจกระเจิดกระเจิงกลับบ้านไปพร้อมกับความรู้สึกว่าชีวิตถึงทางสิ้นสุดเหมือนที่ท่านรู้สึกเมื่อได้ฟังคำวินิจฉัยครั้งแรก ขนาดว่าก็มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มีความรู้เรื่องโรคมะเร็งดี ก็อดจะจิตกระเจิงไม่ได้ หากเป็นคนธรรมดา เป็นชาวบ้านเล่าคงทุกข์ใจสาหัส ผู้เขียนฟังแล้วนึกไม่ถึงว่าระบบสุขภาพเมืองไทยยังมีจุดอ่อนอยู่มากมาย เพราะนึกว่าหน่วยแบบนี้น่าจะมีอยู่แล้วทุกโรงพยาบาล

ได้สนทนากับผู้เข้าร่วมเสวนาพบว่าหลายคนพูดตรงกันว่า อารมณ์-ความเครียดจากงานที่รีบเร่งบีบคั้นมีผลต่อการที่มะเร็งมาเรียกหา อาหารการกินก็สำคัญมากน้องคนหนึ่งในกลุ่มที่มีมะเร็งเล่าว่าเธอมั่นใจว่าการโปรดปรานถึงขั้นกินไก่ทอดยี่ห้อดัง-ของทอดทุกวันของเธอนั้นพาให้มะเร็งมาเยือน

ดอกอเมซอน

อาหารที่ผู้เขียนจัดให้คณะฯจึงเน้นเรื่องการกินอย่างมีสติ กินอย่างพอเพียง ได้กินผัก พืชสมุนไพร หากต้องปรุงด้วยการทอด(มีน้ำพริกมะม่วง-ปลาทู) ก็ใช้น้ำมันชนิดดี คุณภาพดีเช่นน้ำมันรำข้าว ขอยกตัวอย่างเมนูค่ะ

  • วันแรกมีข้าวกล้องหอมมะลิหุงตะไคร้-ไก่/ปลาหมักสมุนไพรจี่ แกงเลียง ผัดไทยซึ่งมาผัดกันแบบถึงเครื่องให้ทานกันร้อนๆ
  • อีกวันมีข้าวดอกโสนใช้ข้าวกล้องสามกษัตริย์ น้ำพริกมะม่วง-ปลาทูทอด ผักสด/ผักลวก ไข่พะโล้ ต้มยำเห็ดสามอย่าง

ไม่มีการเสิร์ฟน้ำชา-กาแฟ มีน้ำเปล่าและน้ำสมุนไพร เช่น น้ำอัญชัน-มะนาว น้ำย่านาง-ใบเตย น้ำใบเตย-วุ้น น้ำฟักเขียว พวกนี้ทำหวานน้อยๆใส่น้ำแข็งดื่มชื่นใจ หากใครต้องการดื่มของร้อน ก็มี ชาเกสรทั้งห้า ไว้ให้ค่ะ (วันหลังจะเล่าเรื่องชาเกสรทั้งห้านะคะ)

ดอกมะแว้ง

ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตว่าผู้เขียนใช้คำว่า “มีมะเร็ง” แทนคำว่า “เป็นมะเร็ง” ด้วยผู้เข้าร่วมเสวนาเกือบทุกท่านที่มีมะเร็งกล่าวเองว่าท่านก้าวข้ามความทุกข์จากการ เข้าไปเป็นมะเร็ง การที่มะเร็งมาเยือนทำให้ได้เรียนรู้แง่งามต่างๆของชีวิตมากขึ้น มะเร็งเหมือนเป็นสิ่งมาเตือนว่าต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ซึ่งหากเข้าใจ ดูแลตนเองได้ดี ก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้แบบ กายป่วย แต่ใจไม่ป่วย เมื่อใจไม่ป่วยก็พาให้มีกำลังใจ มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นคุณหมอตุ๊จึงแนะว่าควรใช้คำว่า มีมะเร็ง เหมาะสมกว่าคำว่า เป็นมะเร็ง - มะเร็งไม่ใช่ทั้งหมดของตัวเรา และ ไม่ได้เป็นตัวเรา มะเร็งเพียงเข้ามาสู่ชีวิตเรา เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ที่จะดูแลรักษาร่างกาย-จิตใจอย่างเหมาะสมให้ดีที่สุด

 

ดอกกระทุ่มเขว้า

ได้อ่านข่าวสารเรื่องโรคมะเร็ง ซึ่งชี้ว่ามะเร็งเป็นโรคที่คุกคามประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แสดงว่ามันอยู่ใกล้เรามากอย่างที่เราไม่ควรนึกว่าไกลตัวหรือไม่ใช่เรื่องของเรา

สำนักงานเพื่อค้นคว้าวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (International Agency for Research on Cancer - IARC) หน่วยงานในสังกัด องค์การอนามัยโลก เปิดเผยเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานี้เองว่า ภายในปี พ.ศ. ๒๕๗๓ หรืออีก ๑๘ ปีข้างหน้า จะมีประชากรทั่วโลกป่วยด้วยมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่า ๗๕ % โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากเลียนแบบพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพของชาวตะวันตก

(ที่มาข้อมูล: จดหมายข่าว เพื่อนสุขภาพ Lemon Farm อ้างถึงจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันเสาร์ที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๕  )

 

 

ผลต้นครอบจักรวาล

 

ดูๆโรคสมัยนี้ส่วนใหญ่มาจากวิถีการใช้ชีวิต หากต้องการมีสุขภาพดี ห่างไกลโรคยุคพัฒนาเช่น มะเร็ง เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ฯลฯ เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่รีบเร่งจนไม่สามารถพิจารณาอะไรได้ มาเป็นการพยายามมีสติ กิน-อยู่แนวพอเพียง สอดคล้องกับธรรมชาติ และผดุงกายและใจให้สมดุลเกิดสุขภาวะ มีความสุขแบบเรียบง่ายเป็น ซึ่งทุกคนคงบอกว่าทราบดีแต่ทำยากมากแม้ว่าจะช่วยประหยัดเงินได้ด้วยซ้ำ แต่เราคงต้องพยายามขัดเกลากิเลสตนกันต่อไปหากไม่อยากป่วย ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของผู้ที่นำเรื่องของตนเองมาแบ่งปันเพื่อการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอย่างชาญฉลาด ห่างไกลมะเร็ง ร่วมสร้างสุขภาวะของสังคมไทยกันค่ะ

ผู้เขียนคงจะต้องติดตามวงเสวนาในรอบต่อๆไปเพื่อ เก็บ ย่อย สกัด จัดประเด็นต่างๆเพื่อใช้ในการถอดบทเรียนแล้วจะนำมาบอกเล่ากันต่อไปนะคะ

 

หมายเลขบันทึก: 494734เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 21:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 17:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

จำได้ว่าคุณ เขียนเรื่องหมอเขียวมาหลายปีก่อน

นำมาใช้ได้หรือเปล่าครับ

ชอบดอกอเมซอนที่สุดค่ะ สวยมากค่ะ มะเร็ง... โหดร้ายนะคะ รวดเร็ว รุนแรง ร้ายกาจ .. ในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน พฤติกรรมการบริโภคในปัจจุบัน .. กระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายเราดื้อด้าน เป็นมะเร็ง .. ขอบคุณบันทึกดีๆ ค่ะ

  • สวัสดีค่ะ อ.นุช ชอบบันทึกนี้ อ่านสบายๆ เหมือนกำลังฟังเล่าเรื่องจากผู้เล่าที่เก่ง
  • เดือนสองเดือนนี้ดิฉันมีเพื่อนใกล้ตัวที่ "มีมะเร็ง" ๒ คน  และกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการ "ก้าวข้ามมะเร็ง" เราให้กำลังใจเพื่อนรัก ๒ คนนี้เพื่อให้ "ข้ามพ้นวิกฤติ" เพราะดิฉันถ่องแท้ว่าการข้ามพ้นวิกฤตินั้นมีความหมายยิ่งนัก ด้วยตัวเองเคยเจอวิกฤติใหญ่ที่สุดในชีวิตมาแล้วเมื่อห้าปีก่อน ความเข้มแข็งและมองชีวิตตามที่มันเป็นเท่านั้นที่สำคัญ
  • "เราต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตที่รีบเร่งจนไม่สามารถพิจารณาอะไรได้ มาเป็นการพยายามมีสติ กิน-อยู่แนวพอเพียง สอดคล้องกับธรรมชาติ และผดุงกายและใจให้สมดุลเกิดสุขภาวะ มีความสุขแบบเรียบง่ายเป็น "    ข้อความของอ.นุชทั้งหมดนี้สำคัญมากค่ะ  ดิฉันกำลังพยายามทำอยู่ สำเร็จบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง
  • ขอบคุณค่ะ

ชีวิตต้องเรียนรู้ ==> เสริมพลัง ==> ให้กำลังใจ + ได้กำลังใจ

ขอบคุณมากค่ะ กับบทความดีดีนี้นะค

ขอบคุณอาจารย์ที่ถอดบทเรียนมาอย่างประณีตค่ะ ต่อไปจะพยายามระวังใช้คำว่า "มีมะเร็ง" แทนที่ "เป็นมะเร็ง" กับผู้ป่วย เรื่องการดูแลผู้ป่วยหลังแพทย์แจ้งข่าวร้าย ทำให้เห็นช่องทางพัฒนา คือ ตัวชี้วัดคุณภาพสถานพยาบาล ควรมีห้องสำหรับสงบจิตใจ ใน OPD โรคมะเร็ง และห้องฉุกเฉิน ใช้อเนกประสงค์ ทั้ง ผู้ให้บริการไว้เยียวยาตัวเอง และพูดคุยกับผู้ป่วยและครอบครัว .. ปล.อยากเห็นภาพสถานที่อยุธยาบุรีเทวี ด้วยค่ะ

อาจารย์นุชอย่าลืมเครือข่ายเบาหวานนะคะ

สวัสดีค่ะทุกท่านทั้งที่มาเยี่ยม มาทัก มาฝากความเห็น และมามอบดอกไม้ ขอขอบคุณอย่างยิ่งเลยค่ะ และขออภัยที่ไม่ค่อยได้ไปเยี่ยมแต่ละท่านดังที่เคย

  • ขอตอบคุณ คนบ้านไกล ว่าหลักการของหมอเขียวนั้นมาปรับใช้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอาหารฤทธิ์เย็น ส่วนข้ออื่นๆแต่ละท่านจะต้องลองปฏิบัติดูว่าเข้ากับตนเองไหม ร่างกายตนเองต้อนรับวิธีเช่นนี้ไหม อะไรทำนองนี้ค่ะ
  • พฤติกรรมชีวิตยุคนี้เป็นปัจจัยเปิดประตูรับมะเร็งจริงๆค่ะคุณBright Lily ดิฉันคิดว่าการได้มีโอกาสถอดบทเรียนของวงลปรร.นี้จะช่วยให้เข้าใจวิธีการใช้ชีวิตที่ควรจะเป็นค่ะ นับว่าเป็นการเรียนรู้ของตัวดิฉันเองด้วยค่ะ
  • คุณnui ชี้ประเด็นสำคัญยิ่งเลยค่ะ การก้าวพ้นวิกฤต เป็นสิ่งที่ต้องทำในอันดับแรกๆเมื่อถูกชี้ชะตานะคะและ กัลยาณมิตร เป็นสิ่งที่จำเป็นมากอนุโมทนาบุญที่สามารถนำประสบการณ์มาช่วยเพื่อนที่กำลังพบวิกฤต เรากำลังอยู่บนเส้นทางการขัดเกลากิเลส เพิ่มปัญญาเพื่อการมีชีวิตที่สงบเย็น เป็นสุข เช่นเดียวกันค่ะ
  • ชีวิตต้องเรียนรู้ไม่รู้จบจริงๆค่ะคุณSomsri และบนเส้นทางการเรียนรู้นั้นเราต่างต้องช่วยกัน ให้กำลังใจกัน
  • ดีใจที่เรื่องราวจากที่หนึ่งได้จุดประกายให้เกิดการนำไปปรับใช้อีกที่หนึ่งค่ะคุณหมอป. ขอถือโอกาสนี้แสดงความยินดีกับคุณหมอย้อนหลังที่ได้รับรางวัลสุดคะนึงนะคะ ตอนที่ทราบก็ติดขัดไม่สามารถเข้ามาแสดงความยินดีได้ทันที คงต้องเขียนบันทึกภาพและเรื่องราวของอยุธยาบุรีเทวีสักตอนหนึ่ง พอคุณหมอถามถึงไปค้นภาพดูจึงรู้ว่าไม่ได้เก็บภาพอยุธยาบุรีเทวีไว้เองอย่างเป็นเรื่องเป็นราวเลย
  •  นุชจะลืมเครือข่ายเบาหวานได้อย่างไรล่ะคะอาจารย์วัลลา ตันตโยทัย พบกันทีไรก็มีความสุข สนุกสนาน มีเรื่องดีๆเกิดขึ้นเสมอ พบกันในงานตลาดนัดการจัดการความรู้ฯ เดือนหน้า แน่นอนค่ะ

 

พี่นุชคะ 

เห็นข่าวดีนี้แล้วค่ะ http://www.gotoknow.org/blogs/posts/496595?refresh_cache=true

ไว้โทรไปหานะคะ

 

  • พี่นุชครับ
  • เห็นดอกมะขามแล้วคิดถึงแกงกะทิปลาสลิด
  • เดี๋ยวนี้ไม่มีคนทำแล้ว
  • ปัจจุบันคนเป็นมะเร็งเพิ่มมากจริงๆ
  • พี่นุชสบายดีนะครับ
  • สวัสดีค่ะ หนูได้ติดตามบล็อคพี่อยู่บ่อยๆ
  • หนูขอรบกวนไม่ทราบว่าคุณพี่พอจะทราบหรือว่ามีประวัติ ต.ท่าวาสุกรี อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยาบ้างไหมคะ 
  • อยากได้ข้อมูลน่ะค่ะ ขอบคุณค่ะ

ดอกมะขาม ชมนาด บัวอเมซอน
น้องรู้จักเพียงสามดอกจากทั้งหมด

ดอกที่สี่สวยจัง ชื่ออะไรหรือคะ
ดอกที่ห้าและหก คือดอกหญ้ากระมัง
ดอกสุดท้ายคนจีนใช้ปั๊มสีอาหารสีแดงบนขนมเข่งด้วย ถ้าจำไม่ผิดนะคะ

 

คิดถึงพี่นุชนะคะ ช่วงนี้ใช้คอมพ์ทำงานตลอด จึงเหมือนเกาะโกทูโนไปด้วยเลยค่ะ :-)

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาทักทาย ถามไถ่และแลกเปลี่ยนข้อคิดกันค่ะ

  • คุณชาดา ~natadee คงได้พบ ได้ร่วมงานกันในเร็วๆนี้นะคะ
  • พี่สบายดีค่ะอาจารย์ขจิต ฝอยทอง อาจารย์ทำงานมากมายเห็นจากในบันทึกรวมงาน ช่างมีพลังเหลือเฟือ
  • ขอบคุณที่ติดตามกันค่ะคุณอัจฉรีญาธร ประวัติท่าวาสุกรีนั้น พี่ไม่มีค่ะ คงต้องค้นหาจากหนังสือประวัติศาสตร์อยุธยานะคะ
  • น้องหมอเล็กภูสุภา มาเมืองไทยแป๊ปเดียวไม่ทันได้พบ ได้คุยกันยาวๆเลย กลับไปอังกฤษแล้ว

ชื่นชมกิจกรรมดีๆและภาพดอกไม้ไทยใช้ประโยชน์ใด้มากมาย..ขอบคุณค่ะ..

สวัสดีครับ พี่นุช(ขออนุญาติเรียกพี่ครับ)

   อ่านบันทึกแล้วแม้จะเกี่ยวกับโรคที่ดูจะร้ายมากในสายตาของคนทั่วไป แต่การใช้คำที่อ่อนลงเช่น เป็นมะเร็ง-->มีมะเร็ง ทำให้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่ทำให้น้อมรับที่จะอยู่กับมันอย่างเข้าใจ
อ่านแล้วสงบ เย็น เหมือนปล่อยวาง สบายใจ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท