ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี ภาคใต้ (1) นำเข้าสู่การเรียนรู้เพื่อ สว. ฟันดี


 

การประชุมสัมมนาขยายเครือข่ายฟันเทียมพระราชทาน และการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ภาคใต้ เป็นครั้งที่ 3 แล้ว จัดประชุมที่ โรงแรมเรือรัษฎา เมืองตรัง เมืองคนดี วันที่ 21-22 พฤษภาคม 2555 ค่ะ

ช่วงต้นของรายการ เป็นช่วงของการรับรู้ แนวคิด นโยบาย และความรู้ของการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก สำหรับผู้สูงอายุ และภาคีเครือข่าย เช่นเคย

วันนี้ ท่านท่านธีระศักดิ์ มักคุ้น ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการเขต 7 มาต้อนรับผู้เข้าประชุม ด้วยการแนะนำเมืองตรัง ที่ได้ชื่อว่า "คนตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี"

สิ่งสำคัญสิ่งแรกของเมืองตรัง ก็คือ เมืองคนดี ที่เป็นผู้นำ ผู้มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ

  • เมืองอดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย ฯพณฯ ชวน หลีกภัย และ ท่านทวี บุณยเกตุ ... ท่านเป็นตัวอย่างของคนทำงานการเมือง ที่เป็นต้นแบบประชาธิปไตย
  • เจ้าพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี ผู้พัฒนาจังหวัดตรัง รวม 4 จังหวัดภาคใต้ สมัยรัชกาลที่ 5 บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า มีโจรเยอะ จากพัทลุง นครศรีธรรมราช ต้องให้พระยารัษฎามาปกครอง ได้ระยะหนึ่งก็จับโจร ให้บอกเส้นทางลัดไปพัทลุง ก็กลายเป็นถนนเชื่อมตรังกับพัทลุง ขณะนี้ ... ที่สำคัญ ท่านนำเมล็ดยางพาราเม็ดแรกมาปลูกที่จังหวัดตรัง และได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจของคนจังหวัดตรัง 14 จังหวัดภาคใต้ เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ และภูมิภาคอาเซียนไปแล้ว
  • ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ อดีต อธิการบดีมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ คนย่านตาขาว เป็นหมอที่มีชื่อว่า ผ่าตัดสมองที่ดีที่สุดในประเทศไทย
  • นักกีฬาที่เก่ง โดยเฉพาะแม่ไม้มวยไทย คุณพุฒ ล้อเหล็ก เป็นคนอำเภอปะหลียน
  • ด้านความสวยความงาม มีดาราที่สวย คุณวันดี ศรีตรัง คนย่านตาขาว ภาพยนตร์เรื่องที่ดังที่สุด คือ "ชู้"
  • อดีตนางสาวไทย คือ คุณอารียา สิริโสภา เป็นคนอำเภอห้วยยอด
  • ด้านสาธารณสุขอีกท่านหนึ่ง คือ นายแพทย์เปล่ง ทองสม เป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข คนอำเภอนาโยง
  • ฯลฯ

คำขวัญ "คนตรังใจกว้าง สร้างแต่ความดี" สั้นๆ ง่ายๆ คือ บุคลิกคนตรัง ใจกว้าง ไม่ทำอะไรที่เป็นความชั่ว หน้าตาเข้ม แต่ใจดี พูดเหมือนดุ แต่ความจริงใจกว้าง นครเป็นเมืองพระ พัทลุงเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ก็จะเป็นเครือข่ายในการทำงาน ทางด้านเกษตร การท่องเที่ยว

ที่นี่ฝนแปดแดดสี่ สี่เดือนสามารถเดินท่องเที่ยวได้ ทางน้ำตก ทางเขา ทะเลจะเปิดให้ได้เที่ยว

สถานที่ท่องเที่ยว อาทิ

  • ถ้ำมรกต ทั่วโลก มี 2 ที่ คือ อิตาลี และถ้ำมรกต จังหวัดตรัง ช่วงเวลาที่ดี คือ ธันวาคม มกราคม อากาศกำลังเย็นสบาย
  • ถ้ำเลเขากอบ มีเรือพายไปชมภายในถ้ำ ที่วิจิตรพิสดาร
  • ถ้ำเจ้าบ่าวเจ้าสาว มี 3 ประตู ประตูกลางใหญ่หน่อย สำหรับคนแต่งงานแล้ว ครอบครัวมีความสุข ครอบครัวอบอุ่น ประตูขวา สำหรับคนที่ยังไม่มีคู่ คนที่เข้าประตูนี้ ออกมาจะได้คู่ ประตูซ้าย สำหรับคนที่มีคู่แล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ จะเปลี่ยนคู่ใหม่
  • ทิศตะวันตกติดทะเล มีธรรมชาติที่สวยงาม เกาะ ลิบง มุก และอื่นๆ
  • มีถนนสายน้ำตกที่มีน้ำตก

ตรังมีพี่น้องประชาชน 2 กลุ่ม ค่อนข้างแตกต่างเรื่องธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ส่วนหนึ่งเป็นมุสลิม ด้านภูเขา เป็นบังเขา ด้านทะเลเป็นบังเล ความแตกต่างในเรื่องศาสนา ที่นี่ไม่มีปัญหา มุสลิม ไทยพุทธ และศาสนาอื่นๆ ก็อยู่กันได้อย่างสนิทสนมกลมกลืน งานของคนไทยพุทธ พี่น้องมุสลิมก็จะมาร่วมงานของมุสลิม คนไทยพุทธ ก็ไปร่วม งานทอดกฐิน คนอิสลามก็จะมาด้วย งานฉลองมัสยิด คนไทยพุทธก็จะไปด้วย และที่สำคัญ ไทยพุทธ กับมุสลิม แต่งงานกัน

ที่นี่มี 10 อำเภอ ประชากรประมาณ 630,000 ปัญหาสาธารณสุขที่นี่ คนตรังไม่ได้ต่างจากคนอื่นๆ ในภาคใต้ สาเหตุการตายอันดับหนึ่งมาจากมะเร็งทุกชนิดรวมกัน ปีละ 50 ต่อ แสนประชากร หมายความว่า ประชากรจังหวัดตรังมีหกแสน ตายจากมะเร็งประมาณปีละ 300 คน ถือว่าเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรง โรคติดต่อเรื้อรัง เป็นปัญหาเมื่อสูงวัยขึ้น เพราะขาดการออกกำลังกาย ขาดการดูแลสุขภาพ

ที่นี่ เศรษฐกิจบางพาราเป็นจุดดี อาหารการกินก็ดีตามไปด้วย เกิดเป็นพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดโรคที่ไม่ควรจะเกิด ได้แก่ เบาหวาน ความดัน ค่อนข้างมาแรง

เรื่องฟัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงพระราชทานฟันเทียม รากฟันเทียมให้ แต่อย่างไรก็ตาม เราต้องดูแลกันตั้งแต่ต้น ตั้งแต่อยู่ในท้อง ผู้สูงอายุต้องกลับไปบอกลูกบอกหลาน ทันตบุคลากรต้องไปทำงานต่อ ให้ฟันซี่แรกของเด็ก ไม่ใช่ซี่แรกตอนที่เห็น แต่ตั้งแต่ตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจสุขภาพ รวมสุขภาพช่องปากด้วย เพราะถ้าฟันไม่แข็งแรง ลูกกำลังสร้างอวัยวะ สร้างกระดูก ก็จะใช้แคลเซียมไปสร้างเนื้อเยื่อ กระดูก แม่จึงต้องกินแคลเซียมในปริมาณที่มากพอ เมื่อเด็กออกมาแล้ว ตอนแรกคลอด ก็ต้องไปดู และฟันซี่แรกของเด็กก็ต้องดูกันตั้งแต่ต้น ให้เขารู้เรื่องแปรงฟัน ที่อยู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อนุบาล

"เมื่อเตรียมการดี ฟันก็จะดี เมื่อฟันแท้เริ่มขึ้น ก็จะมีความแข็งแรงไปด้วย"

เมื่อชั้นมัธยม เริ่มรักสวยรักงาม ก็จะดูแลตนเองได้ ... และไปดูอีกทีเมื่อวัยผู้สูงอายุ

ในหลวงท่านได้ทรงพระกรุณาพระราชทาน ฟันเทียม รากฟันเทียม ทำให้ผู้สูงอายุกินเคี้ยวอะไรก็อร่อย กระทรวงสาธารณสุขก็ได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติให้ในหลวง ให้บริการฟรีกับผู้สูงอายุ

วันนี้ เป็นการคุยกันเรื่อง เครือข่ายผู้สูงอายุ ความเข้มแข็ง ที่ไหนทำดี ออกมาโชว์ ท่านได้ประสบความสำเร็จอย่างไร มาเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง ที่อื่นจะได้เอาเป็นตัวอย่าง ... วันนี้ ข้อมูลที่ท่านจะบอกกับเราว่า ท่านทำดีอย่างไร จะได้ไปบอกที่อื่นๆ

การประชุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมนำเสนอกิจกรรม ด้วยการจัดนิทรรศการ 9 แห่ง และคุณหมอสัญญา เพ็ญอำมาศ นำทีมวิทยากรจากศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดยะลา และโรงพยาบาลไม้แก่น จังหวัดปัตตานี ค่ะ

ท่านประธาน ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข (ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย) ได้ให้ข้อคิดว่า ชมรมผู้สูงอายุที่มาในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ต่างๆ และกลับไปสร้างชมรมของเราเพื่อผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิก ให้เป็นผู้สูงวัยที่มีคุณค่า และชราอย่างมีศักดิ์ศรี

และได้ให้ข้อคิดในด้านวิชาการไว้ว่า

"... กรมอนามัย ให้ความสำคัญ เรื่องผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของกรมอนามัย เรื่องสุขภาพดี เรามีตัวชี้วัดว่า ผู้สูงอายุสุขภาพดี ต้องมีฟันใช้งานเคี้ยวอาหารได้อย่างเหมาะสม ยุทธศาสตร์นี้ ส่วนหนึ่งคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดี และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และที่สำคัญคือ เรื่องของการดูแลผู้สูงอายุในระยะยาว หรือเรื่องวัดส่งเสริมสุขภาพด้วย

ชมรมผู้สูงอายุเป็นหัวใจสำคัญ ทำให้สุขภาพช่องปากของผู้สูงวัยดี การรวมตัวกัน คุยกัน ทำให้เข้าใจกันมากขึ้น ชมรมผู้สูงอายุจึงเป็นหัวใจที่จะดูแลกัน และเมื่อเป็นโรคแล้ว ทางทันตบุคลากรจะได้มาช่วยดูแลได้

เราต้องมีเครือข่าย ชมรมผู้สูงอายุเป็นแกน มีท้องถิ่น อบต. อสม. มาร่วมดำเนินการ วัด โรงพยาบาล แกนนำชุมชน และบูรณาการกันทั้งหมด ..."

คุณหมอเอก นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา มาคุยเรื่องการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ กับผู้สูงอายุภาคใต้ มีประเด็นว่า

"... การที่คนเราจะอยู่ต่อไปให้มีอายุยืนนานเกิน 80 ปี ถึง 100 ปี จะอยู่ได้ เขาเชื่อว่า ต้องมีแรงบันดาลใจ ... เพราะเมื่อมีแรงบันดาลใจที่จะอยู่ให้ถึง เราถึงจะบรรลุ ทำอย่างไร ที่จะทำให้อยู่ถึง 100 ปี นั่นคือ ผู้สูงอายุต้องช่วยเหลือตนเอง อยู่ด้วยตัวของตัวเองให้ ไม่ต้องหวังให้ใครมาดูแลเรา เราต้องดูแลตัวเองให้นานที่สุด แต่ถ้าจำเป็นจะต้องมีคนดูแล สังคมไทยเชื่อว่า คนที่จะดูแลผู้สูงอายุได้ดีที่สุด คือ ลูกหลาน หรือญาติพี่น้อง"

และคุณหมออ้อย ทพญ.วรางคนา เวชวิธี ก็ได้นำความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มาฝากชาวใต้เช่นกัน

"... เรื่องของฟัน ไม่ใช่ว่า แค่บดเคี้ยว แค่สวยงาม แค่พูด แต่เป็นอวัยวะหนึ่งที่ถ้าอักเสบ ติดเชื้อ หรือว่าผุ แล้วเราไม่ได้ดูแล ก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกาย

เคล็ดไม่ลับ เรื่อง การดูแลสุขภาพช่องปาก เราจะต้องให้ความสำคัญ เรื่อง (1) ความสะอาด และ (2) การรับประทานอาหาร พร้อมทั้ง ลดความเสี่ยงในเรื่อง ไม่สูบบุหรี่ ประกอบกับต้องดูแลอนามัยช่องปาก ระวังปากแห้ง เพราะทำให้เกิดทั้งฟันผุ แผลในช่องปาก เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ การกินหมาก และพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

เรื่องของการดูแลไม่ใช่เรื่องยาก แต่ขอให้ทำสม่ำเสมอ

เรื่องของช่องปาก เริ่มในวันนี้ ก็จะไม่มีคำว่าสาย ..."

การประชุมครั้งนี้ มีพิธีกร และวิทยากรคนเก่ง ที่ให้บรรยากาศ ทำให้ สว. เรา คึกคักตลอด ทั้งกลางวัน และกลางคืน ... คุณวนิดา สุขขี ค่ะ

รวมเรื่อง ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี

 

หมายเลขบันทึก: 494438เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 16:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 13:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท